Skip to main content

เวทีเสวนานักการเมืองชายแดนใต้ เสนอรัฐ 4 ข้อ แก้รัฐธรรมนูญ กำหนดจำนวนส.ว.และ ส.ส.คำนึงถึงสัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ แนะศอ.บต.เจ้าภาพพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนไทย-มาเลย์ จี้บังคับเข้มกฎหมายคุมโซนสถานบริการ ขอผ่อนผันให้ชาวบ้านเขาบูโดได้ทำกินในเขตอุทยานทับที่

 

เสวนา

การเมืองกับไฟใต้ - นายยูโซ๊ะ แวยูโซ๊ะ (ที่ 2 จากซ้าย) ตัวแทนพรรคเพื่อไทย จังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนักการเมืองจากพรรคต่างๆ แถลงผลการเสวนานักการเมืองในการหาทางออกในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ 10 กรกฎาคม 2555 ที่จังหวัดนราธิวาส

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ที่ห้องพิกุลทอง โรงแรมอิมพีเรียล อ.เมือง จ.นราธิวาส สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 7 เพื่อเดินหน้าสู่สันติสุขที่มั่นคง มีนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 20 คน

จากนั้น เวลา 13.00 น. นายยูโซ๊ะ แวยูโซ๊ะ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย เขต 3 จังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายบูราฮานูดิง อุเซ็ง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคความหวังใหม่ เป็นตัวแทนผู้ร่วมเสวนาแถลงข่าวข้อสรุปที่ได้จากการสานเสวนา ซึ่งมี 4 ประเด็น

นายยูโซ๊ะ แถลงสรุปว่า ประเด็นแรก คือขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ background:#FDFFF2">.ศ.2550 มาตรา 114 วรรคสองในเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยให้มีการกำหนดจำนวนสมาชิกวุฒิสภาโดยคำนึงถึงสัดส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย และให้แก้ไขมาตรา 97 เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบบัญชีรายชื่อ โดยให้กำหนดจำนวน ส.ส.โดยคำนึงถึงสัดส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน

นายยูโซ๊ะ แถลงอีกว่า ประเด็นที่ 2 ขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชายแดนไทย – มาเลเซียสำหรับจังหวัดนราธิวาสให้มีความเท่าเทียมกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย

นายยูโซ๊ะ แถลงต่อไปว่า ประเด็นที่ 3 ให้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 5 ที่ว่าด้วยเรื่องของการจัดแบ่งโซนของสถานบริการซึ่งเป็นสถานที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลามอย่างจริงจังในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายยูโซ๊ะ แถลงปิดท้ายว่า ประเด็นที่ 4 ขอให้ศอ.บต. ผ่อนผันให้ชาวบ้าน 16,000 กว่าราย สามารถทำมาหากินตามปกติในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้าน

รศ.ดร.โคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า ข้อสรุปของการสานเสวนาแต่ละครั้ง สถาบันจะส่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ทันที เนื่องจากมีบางประเด็นที่เป็นเรื่องเร่งด่วน

รศ.คร.โคทม เปิดเผยว่า โครงการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนภาคใต้จัดขึ้นเพื่อให้มีข้อเสนอจากพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นข้อเสนอของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยเริ่มจากการที่ตนได้พูดคุยกับนายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส.ปัตตานีหลายสมัย จากนั้นได้เชิญนักการเมืองคนอื่นๆ ในพื้นที่มาเข้าร่วม โดยสลับกันจัดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

“ตอนนี้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมองข้ามความเป็นพรรคการเมืองไปแล้ว”  รศ.ดร.โคทม กล่าว