กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีกลุ่มก่อเหตุรุนแรงทิ้งใบปลิวขู่คนพุทธ ยกตัวเลขโต้ ยันคนพุทธไม่ได้ย้ายหนี
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2555 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์กลุ่มผู้ไม่หวังดีได้ปล่อยใบปลิวขับไล่ราษฎรไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบนิยมใช้ คือ การข่มขู่และสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธและเชื้อสายจีนกับประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม เพื่อให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งยังข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว โดยอาศัยเงื่อนไขทางอัตลักษณ์ทางด้านศาสนาและเชื้อชาติ
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า เพื่อหยุดยั้งเงื่อนไขการสร้างความแตกแยกดังกล่าว กอ.รมน.ภาค 4 สน. จึงขอความร่วมมือและชี้แจงต่อพี่น้องประชาชนได้ทราบว่า จากการตรวจสอบข้อมูลราษฎรไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำเดือน มิ.ย.2555 พบว่า มีราษฎรไทยพุทธใน จ.ยะลา 103,774 คน แต่ข้อมูลที่ปรากฏในแผ่นปลิว ระบุว่ามีจำนวน 19,000 คน ในจ.ปัตตานีมี 95,020 คน ในแผ่นปลิวระบุจำนวน 17,902 คน และใน จ.นราธิวาส 73,753 คน ในแผ่นปลิว ระบุจำนวน 13,905 คน จากข้อมูลเชิงประจักษ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าไม่มีการย้ายถิ่นฐานหรืออพยพออกจากพื้นที่ของราษฎรไทยพุทธเป็นจำนวนมากดังที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวอีกว่าเพื่อเป็นการป้องกันประชาชนพี่น้องพุทธและอิสลามในพื้นที่ รวมทั้งสาธารณชนทั่วไปให้ไม่หลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อ การยั่วยุข่มขู่ของขบวนการในการสร้างความแตกแยก ขอให้ประชาชนมีความสามัคคี ยึดมั่นในความเป็นพี่น้องกัน ความผูกพัน และความสงบสุขนับตั้งแต่อดีตและมีความหวงแหนในแผ่นดินถิ่นเกิด เป็นต้น กอ.รมน.ภาค 4 สน. ประสงค์ให้พี่น้องประชาชนที่พบเห็นผู้กระทำผิด บุคคล/กลุ่มบุคคลต้องสงสัย หรือมีพฤติกรรมในการสนับสนุนการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ โดยแจ้งที่สายด่วนความมั่นคง หมายเลข 1341 และ 1881 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
พ.อ.ปราโมทย์ ยังชี้แจงอีกว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มขบวนการยังคงใช้เงื่อนไขทางอัตลักษณ์ในเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา เป็นแรงขับเคลื่อน เพื่อให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และผลักดันให้เป็นเงื่อนไขสู่เวทีโลก แต่แท้จริงแล้วปัจจุบันประชาคมโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN), องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่มขบวนการ ทั้งยังไม่สนับสนุนให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน และประกาศว่าสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่ใช่เงื่อนไขทางศาสนา
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันในหลายประเทศที่เป็นสังคมมุสลิมเช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน แม้แต่โลกอาหรับเองเช่น ตุรกี, ซาอุดิอาระเบีย, อียิปต์ ล้วนต่างมีการพัฒนาถึงความสัมพันธ์กับประชาชาติอื่นๆ โดยมุ่งสู่ความเจริญและความสุขของประชาชนเป็นส่วนรวม ทุกชาติ ทุกภาษา และศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเฉพาะประชาคมอาเซียนที่มีวิถีชีวิตที่หลากหลาย ประชาชนในภูมิภาคนี้มีโอกาสที่ได้เรียนรู้ เสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และโลกทัศน์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะมีโอกาสที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสื่อกลางติดต่อสัมพันธ์กับประเทศมุสลิม
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ดินแดน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสงขลา ตั้งแต่ในอดีตนับเป็นเวลาหลายร้อยปีมีประชาชนที่อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู, พุทธ และอิสลาม ติดต่อค้าขายและเป็นญาติมิตร พี่น้องกันอย่างสงบสุข ดังเช่นหลักฐานที่สำคัญคือพระพุทธรูปปางไสยาตร์ สร้างขึ้นสมัยศรีวิชัย พ.ศ.1300 ภายในวัดถ้ำคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งปัจจุบัน หลายพื้นที่พี่น้องประชาชนทั้งสองศาสนาก็ยังอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขถึงปัจจุบัน