สภาที่ปรึกษาศอ.บต. ออกโรงค้านการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่กทม. ยันไม่เห็นด้วยกับการให้อำนาจกองทัพคุมงานด้านพลเรือนและอำนวยความยุติธรรม
สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกแถลงการณ์หลังมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555 ว่าไม่เห็นด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้” ที่กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐบาลจะมีการเรียกประชุมหารือประเด็นนี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 8 สิงหาคม 2555
โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่าการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวซึ่งเป็น แนวคิดของรัฐบาลที่จะรวมหน่วยงาน 16 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับงานความมั่นคงและงานการพัฒนา โดยให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้กำกับดูแลงานของฝ่ายพลเรือนทั้งหมด รวมทั้งศอ.บต. ทางสภาที่ปรึกษาเห็นว่า ตั้งข้อสังเกตว่าแม้ว่ารัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ แต่ว่าก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และจากการฟังการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนพบว่าประชาชน “เริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายของกองทัพในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังชี้แจงเหตุผล 4 ข้อ ดังนี้ ประการที่ 1 นโยบายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 - 2557 ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟัง และสะท้อนความเห็นจากภาคประชาชนกับภาครัฐ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ และเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้แยกงานระหว่างฝ่ายความมั่นคงที่มี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ) กับงานด้านการพัฒนาฝ่ายพลเรือน ที่มี พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. ศอ.บต.) ไว้อย่างชัดเจน และดำเนินยุทธศาสตร์สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบแล้ว จึงเห็นว่า รัฐบาลควรบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว
ประการที่ 2 ไม่เห็นด้วยในการมอบหมายให้แม่ทัพภาค 4 เป็นผู้กำกับดูแลกิจการในพื้นที่ครอบคลุมไปถึงกิจการฝ่ายพลเรือนและการอำนวยความยุติธรรม โดยควรที่จะแยกงานการพัฒนาและความมั่นคงออกจากกัน ภารกิจของกองทัพมีมากอยู่แล้วจึงควรเน้นการรักษาอธิปไตยและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐให้มากยิ่งขึ้น
ประการที่ 3 รัฐบาลควรจะใช้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. เป็นศูนย์ปฏิบัติการที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และจะต้องผลักดันให้กระทรวงต่างๆ มีความเข้มแข็ง ทั้งกำลังคน และงบประมาณ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ศอ.บต. ซึ่งต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ปัญหา รัฐบาลจึงควรรับฟังเสียงจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เป็นการพิจารณาและสั่งการมาจากส่วนกลางอย่างเดียว
ประการที่ 4 ในกรณีมีการกล่าวอ้างว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมี พ.ร.บ.ศอ.บต. และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซ้ำซ้อนกันอยู่ ขอเรียนว่า พ.ร.บ. ศอ.บต. ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างกว้างขวางและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้ว เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ศอ.บต. จึงไม่ได้ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รับผิดชอบในด้านการดูแลรักษาความสงบและอธิปไตยของชาติ ส่วน พ.ร.บ. ศอ.บต. รับผิดชอบเรื่องการเมือง การปกครอง และการพัฒนา จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในทางกลับกัน ยังเป็นการหนุนเสริม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อีกด้วย อีกทั้งประชาชนค่อนข้างพึงพอใจกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ศอ.บต.
นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช โฆษกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สัมภาษณ์กับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้เพิ่มเติมว่าศูนย์ดังกล่าวที่มีพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รมว.มหาดไทย เป็นผู้ควบคุมเชิงนโยบายจากศูนย์กลาง และมีแม่ทัพภาค 4 เป็นประธานในการอำนวยการการแก้ไขในพื้นที่ผ่านศูนย์ดังกล่าว ทางสภาที่ปรึกษาฯ เห็นว่าจะเป็นการให้อำนาจแก่ทหารมากเกินไป