ใบแถลงระบุว่าในเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายนายมะเซาฟี และด.ช.อาดิล โดยการเตะ ตบ ใช้ด้ามปืนตีที่ศีรษะ และตบที่กกหู และท้ายทอย จนทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ โดยต่อมาพนักงานอัยการศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวเป็นคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายจนทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ และวันที่ 26 เมษายน 2553 จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีได้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีความประพฤติดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้บังคับโทษปรับ คดีอาญาดังกล่าวเป็นอันถึงที่สุด และนำมาสู่การฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดในคดีนี้
17 August 2012
ศาลปกครองสงขลาพิพากษาสั่งสำนักนายกฯ ฐานะต้นสังกัดกอ.รมน. ชดเชยสองเยาวชนถูกทหารทำร้ายร่างกายระหว่างค้นตัวเมื่อปี 2552 รายละ 1 แสน
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกใบแถลงข่าวเพื่อชี้แจงว่าศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ให้สำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายมะเซาฟี แขวงบู อายุ 20 ปี และเด็กชายอาดิล สาแม อายุ 14 ปี สองเยาวชนที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายในระหว่างการลาดตระเวนและตรวจค้นตัวโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม. 2552 บริเวณถนนริมแม่น้ำปัตตานี ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ศาลได้พิพากษาว่า แม้กฎอัยการศึกจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะ แต่ในระหว่างตรวจค้นได้มีการทำร้ายเยาวชนทั้งสองจนได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิด เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดให้นายมะเซาฟีเป็นค่าขาดแรงงานในครัวเรือนและประโยชน์จากการทำงาน ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดยะลา วันละ 250 บาท และแพทย์มีความเห็นให้หยุดพัก 5 วัน จึงคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 1,200 บาท ส่วนเด็กชายอาดิล สาแม กำลังศึกษาอยู่ จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้
นอกจากนี้ศาลยังได้สั่งให้จ่ายค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย อนามัย และจิตใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารได้กระทำการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกายและจิตใจของบุคคลทั้งสองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เพื่อเยียวยาความเสียหายตามวรรค 5 จึงกำหนดให้คนละ 100,000 บาท