Skip to main content

สรุปเผาโชว์รูมฮอนด้าปัตตานีสูญ 12.5 ล้าน ทำประกันภัยรถจากก่อการร้ายแค่ 2 คัน รัฐเยียวยาบึ้มรร.ซีเอสปัตตานี 8 ล้าน เสียหายรวม 17 ล้าน ทั้งสองธุรกิจเป็นของสว. อนุศาสน์ สุวรรณมงคล  จังหวัดเล็งกำหนดเซฟตี้โซน 2 จุดในปัตตานี หนุนรัฐ-เอกชนออกเงินคนละครึ่งติดวงจรปิด

สรุปเผาโชว์รูมฮอนด้าปัตตานีสูญ 12.5 ล้าน

            เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 สิงหาคม 2555 ที่ห้องปฏิบัติการชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดปัตตานีหลังเก่า มีการประชุมคณะกรรมการประเมินความเสียหายด้านทรัพย์สินระดับจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือ กรณีโรงแรมซีเอส.ปัตตานี และศูนย์บริการฮอนด้า บริษัท ปัตตานีฮอนด้า คาร์ส จำกัด และทรัพย์สินอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุไม่สงบ โดยมีว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุม พร้อมตัวแทนหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องและผู้เสียหายเข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน

นางสาวมยุรี สงแก้ว ผู้จัดการ บริษัท ปัตตานีฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด รายงานต่อที่ประชุมว่า มูลค่าความเสียหายจากเหตุคนร้ายลอบเผารถยนต์ของบริษัทปัตตานีฮอนด้า คาร์ส จำกัด เมื่อกลางดึกวันที่  background:#FDFFF2">22 สิงหาคม 2555 มีรถยนต์เสียหาย 15 คัน คิดจากราคาทุนของรถยนต์ จึงมีมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 12,572,695.05 บาท

นางสาวมยุรี เปิดเผยอีกว่า ในจำนวน 15 คันดังกล่าว มีเพียง 4 คันที่บริษัท ปัตตานีฮอนด้า คาร์ส์ จำกัดได้ทำประกันภัยรถยนต์ไว้ โดยมี 2 คันที่ทำประกันภัยกับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด ซึ่งคุ้มครองภัยก่อการร้ายด้วย จึงได้รับเงินประกันคืนจากความเสียหายครั้งนี้ ส่วนอีก 2 คัน ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด ซึ่งตามกรมธรรม์ไม่ได้รองรับความเสียหายจากภัยการก่อการร้าย จึงไม่มั่นใจว่าจะได้เงินประกันภัยคืนหรือไม่

ส่วนความเสียหายของอาคารเก็บรถยนต์ดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวน 697,528.12 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 13,270,223 บาท โดยบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด จะให้เงินประกันคืนจำนวน 5,000,000 บาท 

โรงแรมซีเอส.ปัตตานีเสียหาย 17 ล้าน เยียวยาให้ 8 ล้าน

สำหรับโรงแรมซีเอส.ปัตตานี และศูนย์บริการฮอนด้า บริษัท ปัตตานีฮอนด้า คาร์ส จำกัด เป็นองค์กรธุรกิจในเครือเดียวกันที่มีนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  ปัจจุบันนายอนุศาสน์เป็นสมาชิกวุฒิสภา จ.ปัตตานี ที่มาจากการแต่งตั้ง

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังมีการรายงานความเสียหายของโรงแรมซีเอส.ปัตตานี ที่ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 แบ่งความเสียหายออกเป็น 10 ส่วน ได้แก่ 1.ระบบไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องตรวจสอบว่าจะหักค่าเสื่อมราคาหรือไม่ 2.ระบบห้องประชุม 3.ห้องพัก 4.ห้องน้ำพราว 5.ห้องสต๊อกเก็บของ 6.ห้องครัวจัดเลี้ยง 7.ห้องสจ๊วต 8.ความเสียหายของชั้น 8 9.ความเสียหายของห้อง 718 ซึ่งเสียหายมากที่สุด โดยถูกไฟไหม้ทั้งห้อง และ 10.ความเสียหายอื่นๆ รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 17,004,507 บาท

ทั้งนี้ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า ต้องตรวจสอบราคาสิ่งของบางส่วนจากท้องตลาดอีกครั้ง เพื่อประเมินมูลค่าความเสียหาย ประกอบการพิจารณาขออนุมัติงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยา และจะอนุมัติงบประมาณรอบแรกเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นหรือประมาณ 8,500,000 บาทเท่านั้น

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติแจ้งต่อที่ประชุมว่า การให้ความช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายของรถยนต์ที่ไม่ใช้รถใหม่จะต้องหักค่าเสื่อมราคาด้วย รวมถึงจะต้องนำกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้มาเป็นหลักฐานประกอบการขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาด้วย ซึ่งตามหลักเกณฑ์การเยียวยา คือ การชดเชยเพื่อให้คงไว้สภาพเดิมเท่านั้น

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ แจ้งอีกว่า เมื่อบริษัทประกันภัยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว หน่วยงานราชการจึงจะให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เหลือ ซึ่งไม่ควรผลักภาระการช่วยเหลือเยียวยาให้ราชการเพียงฝ่ายเดียว แต่เนื่องจากโรงแรมซีเอส.ปัตตานีไม่ได้ต่ออายุการทำประกันภัยก่อการร้าย จึงไม่สามารถสรุปในที่ประชุมได้ว่าจะให้ความช่วยเหลือได้หรือไม่ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทประกันภัยจะไปประชุมหารือและจำต้องนำผลสรุปมารายงานในที่ประชุมคณะกรรมการประเมินความเสียหายฯ อีกครั้งในวันที่ 5 กันยายน 2555

 

                นายอนุศาสน์ให้สัมภาษณ์กับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2555 ว่าในเรื่องของสาเหตุของการก่อเหตุระเบิดและวางเพลิงธุรกิจของตนทั้งสองแห่ง ตนขอให้เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ   และอยากให้ประชาชนในละแวกใกล้เคียงช่วยเป็นหูเป็นตาในการสอดส่องดูแลเพื่อช่วยยับยั้งไม่ให้คนร้ายมีโอกาสก่อเหตุขึ้นได้อีก  ส่วนเรื่องมาตรการในการลดผลกระทบทางธุรกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่น  ตนจะได้ปรึกษาหารือกับทางสภาอุตสาหกรรมหรือหอการค้าจ.ปัตตานีต่อไป  

เล็งกำหนดเซฟตี้โซน 2 จุดในปัตตานี

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ เปิดเผยด้วยว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ตนได้รับทราบข้อสรุปในการประชุมของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานีที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานีว่า มีข้อเสนอให้หน่วยงานราชการในพื้นที่มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ให้มากกว่านี้เพื่อเรียกว่าเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

“แม้นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อต้านการจัดพื้นที่เซฟตี้โซน เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบทำให้ยอดขายลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีจำเป็นต้องมีพื้นที่เซฟตี้โซน เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยตรง โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในช่วงกลางคืน ซึ่งการกำหนดเซฟตีโซนอาจเป็นบริเวณถนนพิพิธหรือย่านตลาดมะกรูด ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เป็นพื้นที่นำร่อง” ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าว

สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ เปิดเผยว่า ตนได้เน้นให้กองกำกับการจังหวัดปัตตานีที่มาร่วมประชุมวันนี้ด้วยดูแลพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานีมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญๆ ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยมีมานานแล้ว แต่การปฏิบัติยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าถึงพื้นที่ให้เร็วที่สุดอย่างไร 

หนุนรัฐ-เอกชนออกเงินคนละครึ่งติดวงจรปิด

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ เปิดเผยอีกว่า จะให้สถานประกอบการและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความปลอดภัยด้วย เช่น พนักงานต้องมีความรู้และคอยสังเกตสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียง เพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่สามารถดูแลความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้นจึงควรติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อเป็นตัวช่วยในการสอดส่องดูแลด้วย โดยขอให้เจ้าของหรือบริษัทที่มีกำลังความสามารถลงทุนติดตั้งวงจรปิดเอง ปัจจุบันราคาประมาณ 5-6 หมื่นบาท

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าวว่า หน่วยงานราชการต้องสนับสนุนเอกชนในพื้นที่มากกว่านี้ เช่น งดเว้นภาษีการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือออกเงินติดตั้งหรือจัดซื้อ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะมีการประชุมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดและหอการค้าจังหวัดในเรื่องนี้ ซึ่งตนเห็นด้วย

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าวอีกว่า ขอให้เจ้าหน้าที่นำภาพรถที่ถูกโจรกรรมมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อให้ชาวบ้านทราบและช่วยสอดส่องดูแล ซึ่งก่อนเกิดเหตุระเบิดที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี ชาวบ้านเห็นรถยนต์คาร์บอมบ์จอดอยู่บริเวณหลังโรงแรม แต่ไม่ทราบว่าเป็นรถคาร์บอมบ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้เผยแพร่ภาพให้ชาวบ้านทราบก่อน