ไอเอสโจมตีสเปนและยุโรป ยุทธศาสตร์การก่อการร้าย “Divide and Provoke”
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
หลังเกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้ายหลายจุดที่กรุงบาร์เซโลนา ผมได้มีโอกาสสนทนากับคุณต้น อุรชัย ศรแก้ว ผู้สื่อข่าวสถานที่โทรทัศน์ไทยพีบีเอส เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมจึงอยากนำเนื้อหามาสรุปและขยายเพิ่มเติมในบ้างประเด็น
กลุ่มไอเอสได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบว่าเป็นฝีมือของทหารไอเอสที่ตอบโต้ปฏิบัติการร่วมกันของนานาประเทศที่โจมตีกลุ่มนักรบของไอเอสในซีเรียและอิรัก ทั้งนี้ แม้สเปนจะไม่ได้ส่งทหารของตัวเองเข้าไปต่อสู้กับกลุ่มไอเอสโดยตรง แต่สเปนก็เป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมให้การสนับสนุนททางทหารด้านอื่น ๆ อีกทั้งยังมีความร่วมมือด้านการข่าวกับหลายประเทศยุโรปในการกวาดล้างจับกุ่มผู้ต้องสงสัยสมาชิกกลุ่มไอเอสอย่างเข้มข้น
เหตุการณ์ก่อการร้ายที่บาร์เซโลน่า เกิดขึ้นหลายจุดเริ่มตั้งแต่ วันที่ 17 สิงหาคม ( 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น) คนร้ายขับรถตู้ไล่ชนคนบริเวณด้านนอกสถานีรถไฟ เดอะพลาซ่า กาตาลุญญา เมโทร จากนั้นวิ่งไล่บดขยี้ผู้คนไปตามถนนคนเดิน ลาส รัมบลาส ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อีกจุดหนึ่งเกิดขึ้นในวันถัดมา (1.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น) มีกลุ่มคนร้ายราว 5 คน ขับรถยนต์ออดี้ สีดำไล่พุ่งเข้าชนคนบริเวณใกล้ชายหาดในเมืองแคมบริลส์
เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน เป็นอีกเหตุการณ์ณ์หนึ่งที่สร้างความหวาดกลัวให้กับคนสเปนและสังคมยุโรปทั่วไป
คุณอุรชัย ศรแก้ว เปิดประเด็นที่น่าสนใจครับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สเปน แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกของสเปนหรือในยุโรปก็เกิดเหตุลักษณะแบบนี้บ่อยขึ้น กรณีการก่อเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นที่สเปนเมื่อ 14 ปีที่แล้วหรือการโจมตีระเบิดรถไฟ 4 ขบวนในกรุงมาดริด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2004 นั้น เป็นฝีมือของกลุ่มอัลกออิดะห์ แต่ครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มไอเอสที่ประกาศจัดตั้งรัฐอิสลามมาตั้งแต่ปี 2014 จะมีนัยเกี่ยวข้องกับการโจมตีสเปนที่ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอิสลามที่รุ่งเรืองหรือไม่อย่างไร
คงเป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดว่ากลุ่มไอเอสคิดอย่างไรกับสเปนในเชิงประวัติศาสตร์หรือมีความมุ่งหวังที่จะรื้อฟื้นอาณาจักรอิสลามในดินแดนแห่งนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนว่าจุดมุ่งหมายของไอเอสที่โฆษณาว่าต้องการสร้าง ”รัฐอิสลาม” นั้น เป็นรัฐอิสลามในความหมายของรัฐชาติสมัยใหม่หรือไม่อย่างไร ซึ่งในยุคที่สเปนเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอิสลามหรือตั้งแต่ ค.ศ. 711-1492 ก็มีลักษณะของความเป็นอาณาจักรในรูปแบบเดิม ยังไม่ได้เป็นรัฐชาติสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นกลุ่มไอเอสหรือหากจะแปลเป็นไทยว่ากลุ่มรัฐอิสลาม จึงน่าจะมีจุดมุ่งหมายของการตั้งรัฐอิสลามในความหมายของรัฐสมัยใหม่มากกว่า ถ้าไม่เช่นนั้นก็น่าจะใช้คำว่า Islamic Empire มากกว่า หากแต่คำว่า Islamic State ซึ่งเป็นชื่อล่าสุดที่ใช้เรียกกลุ่มไอเอสยังหาขอบเขตเชิงพื้นที่ไม่ได้ ทำให้อนุมานไปได้ว่าไอเอสหมายถึงการสถาปนาเขตอำนาจของตัวเองไปทั่วโลก
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็น่าสนใจว่าไอเอสอาจกำลังวางสถานะตัวเองเป็นศูนย์กลางอำนาจเทียบเท่าสมัยคิลาฟะห์ในราชวงศ์อุมัยยะห์ ( ค.ศ. 711-750 ) ในยุคนั้นสเปนภายใต้ราชวงศ์อุมัยยะห์มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ที่สำคัญคือราชวงศ์นี้มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองชาม (ดินแดนอิรักและซีเรียในปัจจุบัน) ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปดูพัฒนาการของการตั้งชื่อของกลุ่มไอเอส ก็จะพบว่ากว่าจะมาเป็นชื่อที่เรียกขานกันในปัจจุบันอย่างกว้างขวางว่ากลุ่ม Islamic State นั้น ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า Islamic State of Iraq and Syria หรือ ISIS อีกชื่อคือ Islamic State of Iraq and Levant หรือ ISIL ซึ่งทั้งสองหมายถึงดินแดนชามในอดีต ประเด็นนี้อาจไม่มีความเชื่อมโยงกับเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น แต่ในมุมประวัติศาสตร์ของสเปนก็ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตไอเอสอาจจะใช้ประเด็นความรุ่งเรื่องของมุสลิมจุดกระแสก่อการร้ายในสเปนก็ได้
ส่วนการโจมตีบาร์เซโลน่าครั้งนี้ ก็อาจจะไม่ต่างจากการโจมตีครั้งอื่น ๆ ในยุโรปมากนักทั้งมูลเหตุจูงใจและวิธีการในการก่อเหตุ ยุโรปเองก็รู้ดีว่ากำลังตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีหลังจากที่ไอเอสเริ่มสูญเสียที่มั่นในตะวันออกกลาง นักรบไอเอสจำนวนมากต่างกระจัดกระจายไปยังประเทศต้นทางของตัวเอง ก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ก็มีการแจ้งเตือนด้านการข่าวแล้วว่าไอเอสเตรียมก่อเหตุในหลายพื้นพื้นที่ รวมทั้งสเปน ไอเอสเองก็เรียกร้องให้สมาชิกของตัวเองในยุโรปหรือที่เดินทางกลับไปยุโรปออกมาก่อเหตุโดยใช้อะไรก็ได้เป็นอาวุธ อะไรก็ได้เท่าที่จะหาได้ และด้วยวิธีการใดก็ได้
ในกรณีของสเปน แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้ส่งทหารของตัวเองเข้าไปปฏิบัติการหรือไปมีบทบาทโดยตรงในการโจมตีกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลาง แต่สเปนก็เป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนทางทหารด้านอื่น ๆ ในปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกับนาโต้และสหรัฐอเมริกา สเปนได้ยกระดับการเฝ้าระวังการก่อการร้ายสูงสุดมาตั้งแต่ ค.ศ. 2015 นำไปสู่การจับกลุ่มผู้ต้องสงสัยสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายจำนวนมากโดยร่วมมือกับโมร็อคโค อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นต้น สเปนเองมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสกัดกั้นแผนก่อการร้ายและการจัดหานักรบที่จะไปร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรีย ด้วยบทบาทของสเปนและความเป็นยุโรปจึงน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ไอเอสเลือกโจมตี แม้จะไม่สามารถก่อเหตุได้รุนแรงหรือสร้างความเสียหายได้มากเท่ากับฝีมือของอัลกออิดะห์ในอดีต แต่ด้วยลักษณะของการก่อเหตุแบบนี้ได้สร้างความหวาดกลัวอย่างมากเพราะยากต่อการป้องกันและสามารถเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้
แต่สิ่งที่มักตามมาหลังการก่อการร้ายในยุโรป (นอกจากความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน หรือการแสดงศักยภาพของไอเอสว่ายังคงดำรงอิทธิพลในแง่ของการสั่งการได้ทั่วโลก) คือ การเพิ่มขึ้นของกระแสความโกรธแค้นและการเกลียดชังของบางกลุ่มต่อสังคมมุสลิมในภาพรวม (Islamophobia) โดยผลพวงที่มักจะตามมาคือการปะทะกัน การก่ออาชญากรรมจากความเกียดชัง การเลือกปฏิบัติ การเหยียดเชื้อชาติ ฯลฯ กรณีของสเปนก็มีการตั้งสาขาของ “กลุ่มยุโรปรักชาติต่อต้านการทำโลกตะวันตกให้เป็นอิสลาม” ขึ้นมาในค.ศ. 2015 (กลุ่มนี้เริ่มที่เยอรมันและกำลังขยายสาขาทั่วยุโรป)
กระแสความหวาดกลัวอิสลามจากปัญหาจากปัญหาการก่อการร้าย ยังส่งผลต่อให้คนยุโรปต่อต้านนโยบายรับผู้ลี้ภัย แต่กระนั่นก็มีคนยุโรปอีกไม่น้อยที่สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพจากประเทศมุสลิมเพราะเหตุผลด้านมนุษยธรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 ผลสำรวจของ Chatam House ที่เก็บข้อมูลจากคนยุโรปมากกว่า 100,000 คนใน 10 ประเทศ (ออสเตรีย เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมัน กรีซ ฮังการี อิตาลี โปแลนด์ สเปน และอังกฤษ) พบว่าแต่ละประเทศเฉลี่ยร้อยละ 55 คิดว่าควรหยุดรับผู้อพยพชาวมุสลิม ในจำนวนนี้ประเทศที่มีระดับความคิดเห็นว่าควรหยุดรับสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ได้ โปแลนด์ร้อยละ 71 ออสเตรีย ร้อยละ 65 เยอรมัน ร้อยละ 53 อิตาลี ร้อยละ 51 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 47 และ สเปนร้อยละ 41 ในขณะที่ผลสำรวจของ Pew Survey เผยว่าชาวยุโรปกว่าร้อยละ 59 มีความเห็นว่า การเข้ามาของผู้ลี้ภัยนั้นจะทำให้มีความเสี่ยงต่อภัยก่อการร้ายเพิ่มขึ้น ( ข้อมูลจาก The Momentum เว็บไซต์ http://themomentum.co/momentum-feature-negative-views-that-…)
ในกรณีของสเปนเคยมีการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของสถาบันแอคคาโนในปี 2015 ว่าชาวสเปนร้อยละ 68 มองว่าสังคมมุสลิมเป็นสังคมแห่งความรุนแรงและอีกร้อยละ 74 เชื่อว่าได้เกิดการปะทะทางอาระยธรรมระหว่างประเทศตะวันตกและโลกมุสลิมแล้ว (ดูในบทความของ อุสตาซอับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ ความหวาดกลัวอิสลาม ทั้งโลกตะวันตกและไทย ในมติชนออนไลน์ วันที่ 6 กันยายน 2558)
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการก่อการร้ายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเกลียดกลัวอิสลามและกระแสต่อต้านชาวมุสลิมมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการขยายตัวของลัทธิชาตินิยมขวาจัด ยิ่งทำให้เกิด “การแบ่งแยกทางสังคม” โดยเฉพาะระหว่างสังคมตะวันตกกับชุมชนมุสลิมที่แสดงออกมาในรูปแบบของความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติมากขึ้น ปรากฏการณ์ลักษณะนี้น่าจะเป็นผลผลิตที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดประการหนึ่งของการก่อการร้ายในยุโรปและโลกตะวันตก ทำให้คิดถึงคำพูดของ Patrick J. Kennedy อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ที่เคยพูดว่า “การก่อการร้าย คือ สงครามจิตวิทยาแบบหนึ่ง ที่ผู้ก่อการร้ายพยายามที่จะปลุกปั่นให้พวกเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการสร้างความหวาดกลัว ความไม่แน่นอนในชีวิต และการแบ่งแยกทางสังคม”
การแบ่งแยกทางสังคมจากโรคเกียดกลัวอิสลามและแรงกดดันที่โถมใส่ชุมชนมุสลิมในโลกตะวันตกมาตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 หรือกว่า 17 ปี แม้ชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติหรือสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นเพราะมักจะมีข่าวการทำร้ายมุสลิมอยู่เรื่อย ๆ ตกเป็นโดยเฉพาะการคุกคามสตรีมุสลิมที่สวมฮิญาบ รวมทั้งการลอบโจมตีศาสนสถานหรือบุคคลสำคัญ ๆ อย่างอิหม่ามและผู้นำทางศาสนาอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่น่าสนใจคือโรคเกลียดกลัวอิสลามในสังคมตะวันตกทำให้ชาวมุสลิมบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มผู้อพยพรุ่นหลัง ไม่สามารถรับมือกับแรงกดดันนี้ได้ ทำให้เกิดความเครียด เก็บกดและเกิดแค้นสะสม จนสุดท้ายกลายเป็นปัญหาทางจิตและหันไปนิยมชมชอบไอเอสบ้าง หันไปสนับสนุนและเป็นสมาชิกไอเอสบ้าง หรือไม่ก็หันไประบายออกด้วยความรุนแรงแบบบ้าคลั่งในลักษณะหมาป่าเดี่ยวดายหรือก่อเหตุโดยลำพังบ้าง เราจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ไอเอสออกมาเรียกร้องให้ชาวมุสลิมในยุโรปก่อเหตุรุนแรง ก็จะมีคลื่นการก่อเหตุรุนแรงตามมาทั้งในลักษณะเดี่ยวและเป็นเครือข่าย เมื่อมีความรุนแรงก็ยิ่งผลิตความความโกรธแค้นเกลียดชังกันในสังคมมากขึ้น ยิ่งแบ่งแยกแตกร้าวกันมากขึ้นก็ยิ่งผลักดันคนจำนวนหนึ่งไปใช้ความรุนแรง กลายเป็นวงจรของการผลิตซ้ำความเกลียดชัง การแบ่งแยกทางสังคม และความรุนแรงที่ขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ
ดังนั้น อาวุธที่ทรงอนุภาพหนึ่งที่กลุ่มไอเอสใช้มาตลอดคือความเกลียดชังและการแบ่งแยกทางสังคม ซึ่งก็ผลิดอกออกผลดีโดยเฉพาะในยามที่ไอเอสกำลังพ่ายแพ้ในสมรภูมิตะวันออกกลาง แต่ก็สามารถสร้างความปั่นป่วนให้ยุโรปได้ตลอดเวลา
เรามักคุ้นกับยุทธศาสตร์แบ่งแยกแล้วปกครอง ( divide and rule) หรือไม่ก็แบ่งแยกแล้วพิชิต (divide and conquer) แต่ในยุทธศาสตร์ของกลุ่มก่อการร้ายของไอเอส ผมเสนอคำว่า “การแบ่งแยกแล้วปลุกปั่น” (divide and provoke) ครับ