Skip to main content

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หน้า 5 วันที่ 24 มกราคม 2554

ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงครั้งล่า บุกถล่มฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ สังกัดร้อย ร.15121 ฉก.นราธิวาส 38 ถนนมะรือโบตก-รือเสาะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส อย่างเป็นระบบ...

กลุ่มผู้ก่อเหตุปล้นปืนไปกว่า 50 กระบอก พร้อมกระสุนอีกกว่า 5,000 นัด หากไล่เรียงจากสถิติ...ก็จะพบสัญญาณเตือนมาเป็นระลอก นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ ภาคใต้... "DeepSouthWatch" มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า ดูจากสถิติจะเห็นว่าสถานการณ์ยังมีแนวโน้มไม่แน่นอน...ยังแกว่งอยู่

"ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว...ก็แกว่งขึ้น แล้วพอตอนมกราคมดูเหมือนจะขึ้นอีก...

ครึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ก็อยู่ที่สี่สิบกว่าครั้ง  เข้าใจว่าถ้าหากทั้งเดือนนี้เกิดเหตุการณ์ รวมกัน 80 ครั้ง แนวโน้มก็จะรุนแรงขึ้น"

ความรุนแรงล่าสุด ส่งสัญญาณให้เห็นอะไรบ้าง?

อาจารย์ศรีสมภพเข้าใจว่าการจัดการความรุนแรงของรัฐในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นเรื่อง การเมืองนำการทหาร เน้นความพยายามในการแก้ปัญหาในเรื่องของการใช้เรื่องนโยบาย กฎหมายใหม่ๆของ ศอ.บต. รวมถึงความพยายามที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในทางการเมือง...ฝ่ายรัฐจะได้เปรียบมากขึ้น

ตรงกันข้าม ฝ่ายขบวนการก็พยายามที่จะรุกทางการทหาร เพื่อที่จะเปิดแนวรุกตอบโต้ความสมดุลที่เสียไปในทางการเมือง...ถ้าหากว่า ทางการเมืองตันก็จะใช้แนวทางการทหารเพื่อให้เกิด... "สถานการณ์ใหม่"

เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี ก็แสดงให้เห็นว่าปีนี้ ถ้าหากว่าแนวทางนี้จะต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จากสถิติต้นปีที่สูงขึ้นก็จะทำให้ แนวโน้มความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงทั้งปีขยับสูงขึ้น

สถานการณ์ใหม่ ความรุนแรง...ความถี่จะมากขึ้น?

"คิดว่าอาจจะไม่ถึงกับสูงขึ้นในแง่ความรุนแรง...ความถี่ เข้าใจว่าจะมีลักษณะการใช้ความรุนแรงเชิงคุณภาพ เช่น โจมตีเป้าใหญ่ ก่อเหตุให้มีการตาย...การสูญเสีย

ในแง่ความถี่ เนื่องจากทางรัฐ...ฝ่ายทหาร ควบคุมพื้นที่ กระจายกำลังควบคุมสถานการณ์สูงอยู่แล้ว ฉะนั้นการเกิดเหตุจะต้องเกิดเหตุสำคัญๆ...มีการเตรียมการเป็นอย่างดี"

เป็น...ความรุนแรงเชิงคุณภาพ

ฝ่ายรัฐ ทหารตั้งรับเต็มที่ แต่ถ้าพลาด...กลุ่มก่อความไม่สงบก็มีโอกาสสร้างสถานการณ์ เหตุความรุนแรงขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก

"ความรุนแรงเชิงคุณภาพ...เป็นจุดที่สร้างข่าว เป็นเหตุที่สร้างการสะเทือนขวัญ เพื่อที่จะทำให้เกิดกระแสตอบโต้..."

การโจมตีฐาน ฆ่าเสียชีวิตในฐานทหารได้ และมีการยึดอาวุธไปเป็นจำนวนมาก เป็นลักษณะการโจมตีใหญ่...แสดงให้เห็นว่ากองกำลังแนวร่วมของเขา ทั้งแรงและขีดความสามารถยังไม่ตกลง ยังปฏิบัติการได้

และ...ในช่วง เวลาเดียวกัน ก็ยังก่อเหตุในหลายๆจุดพร้อมๆกัน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานการทหาร ประสานงานในการโจมตีที่ทำได้ด้วยดี

ถึงตรงนี้หลายคนที่อยู่นอก พื้นที่อาจตั้งคำถามในใจ...หมายความว่าการข่าวเรายังอ่อน เข้าไม่ถึง...หรือชาวบ้านยังไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐเท่าที่ควรใช่ไหม?

คำถามเหล่านี้ อาจารย์ศรีสมภพมองว่า วันนี้การข่าวเท่าที่ทราบมาในช่วงหลังๆถือว่าดีขึ้น แต่ว่าจุดที่เสียเปรียบของฝ่ายความมั่นคง...ฝ่ายทหารในพื้นที่ คือความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ เพราะผลสำรวจในรอบปีที่ผ่านมายังไม่ค่อยดี

"สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังมีความรู้สึกไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อมั่นฝ่ายทหาร ยังมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว...ชาวบ้านยังมองทหารด้านลบอยู่มาก"

ข้อมูลนี้ถือว่ามีนัยสำคัญเหมือนกันในแง่ของงานเชิงมวลชน สังคมจิตวิทยาฝ่ายทหารยังมีช่องว่างอยู่ แม้ว่าจะพยายามทำไปเยอะ...แต่หัวใจชาวบ้านในเชิงลบก็ยังเป็นปัญหา

ให้น้ำหนักไปที่นโยบาย...การเมืองนำทหาร ที่ผ่านมารัฐเน้นนโยบายการเมืองนำการทหาร เนื่องจากได้เปรียบในการจัดการในพื้นที่ที่จะลดความรุนแรงในช่วงปีที่ผ่านมาได้

แต่ว่า...อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการป้องกัน การถูกโจมตีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง...ยังเกิดขึ้น...ยังเป็นจุดอ่อนที่ป้องกันได้ยาก

"บวกกับแนวโน้มนโยบายหลายอย่างในการแก้ปัญหาในทางการเมือง ยังต้องเพิ่มในเรื่องนโยบายการช่วยเหลือประชาชน การเยียวยา

หลายอย่างที่ทำอยู่ ยังต้องทำต่อไป ต้องเร่งให้มากขึ้น...เพื่อจะเอาชนะจิตใจประชาชนในแง่ความรู้สึกที่มีต่อ ทหารในมุมลบ เป็นภาพความรู้สึกเก่าๆที่ยังติดอยู่มากและรุนแรง"

อาจารย์ศรีสมภพ ย้ำว่า ภาครัฐจะต้องใช้เวลา ฉะนั้นการตอบโต้ฝ่ายรัฐที่ยังต้องเป็นฝ่ายรับ ถ้าตอบโต้แรงก็จะต้องเสียต้นทุนไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง

"การเมืองนำการทหารยังต้องเป็นแนวนโยบายหลัก ไม่ใช่แก้แค้น...ตอบโต้ ถ้าตอบโต้แรงก็เข้าทางฝ่ายกลุ่มผู้ก่อการที่ต้องการให้เป็นเช่น นั้น...ต้องการให้รัฐหันมาใช้วิธีการทางการทหารอย่างรุนแรง"

พอตอบโต้ "ต้นทุนประชาชน" ที่เปราะอยู่แล้ว...ก็จะเสียไปอีก

หลายคนมองเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ เป็นรอบวัฏจักรรายปี มาจาก...การต่ออายุ พ.ร.ก.หรืองบประมาณดับไฟใต้ ที่ถูกชำแหละว่าต้องใช้มหาศาลในแต่ละปีที่ผ่านมา แล้วก็ถามหาถึงความคุ้มค่ากับผลที่ได้รับเป็นรูปธรรม...

"ผมมองว่าไม่ใช่ทุกปัจจัยที่คิดกัน..." อาจารย์ศรีสมภพ ว่า "แต่...เป็นขบวนการที่เป็นแบบแผนที่มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 50"

หมายความว่า...เหตุการณ์สถิติลดลงตั้งแต่ปีนั้น แล้วก็ขยับขึ้นเป็นช่วงๆ แล้วแต่ละช่วงก็มีสาเหตุ...มีปัจจัยเฉพาะ ซึ่งสะท้อนความพยายามที่จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา

"ฝ่ายตรงข้ามมีเป้าหมายรุกในทางการเมือง...การทหารพร้อมกัน เพื่อสร้างความรู้สึกการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ ว่ายังมีอำนาจในการต่อสู้อยู่ เพื่อที่จะต่อรองในทางการเมือง...เป็นวัฏจักรต่อสู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่"

คำถามสุดท้าย วันนี้...เจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ รวมถึงผู้บริหารจากส่วนกลาง ชัดเจนหรือยังว่ากำลังสู้อยู่กับใคร?

อาจารย์ศรีสมภพ บอกว่า ฝ่ายรัฐรู้ว่าสู้กับใคร...จับต้นชนปลายได้แล้ว เพียงไม่ได้พูดโดยตรง เห็นได้จากมีขบวนการเจรจาในทางลับ...ไม่เป็นทางการ รู้ว่ามี...กลุ่มขบวนการ มีแกนนำ เครือข่าย โครงสร้างองค์กรในการต่อสู้ที่เกิดขึ้น

"น้ำหนักนี้คือปัญหาหลักและก็มีปัญหาธุรกิจมืด ยาเสพติด ประเด็นการเมือง เรื่องส่วนตัวแทรกซ้อนเข้ามาอยู่บ้าง แต่เหตุการณ์ใหญ่...ปฏิบัติการเป็นแบบแผนบุกฐานทหาร ระเบิดเช่นนี้ ไม่ใช่กรณีแทรกซ้อนแน่ๆ

หลักฐานค่อนข้างชี้ชัด ตั้งแต่อาวุธที่ใช้ รูปแบบ เป็นฝีมือกลุ่มขบวนการที่เคยก่อเหตุ"

บทสรุปความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จะยืดเยื้ออีกยาวไกลแค่ไหน อาจารย์ศรีสมภพประเมินว่า คงต้องยืดเยื้ออีกเป็นปี ถ้าลักษณะเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้

"ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ สามารถใช้นโยบายในการจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม"

แนวทางการเมืองนำการทหาร การจัดการความยุติธรรม รูปแบบการบริหารการปกครองในพื้นที่ที่เหมาะสม หลายปัจจัยต้องผสมกันไป เพื่อเข้ามาช่วยลดเงื่อนไข

"เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ารัฐจัดการถูกแนวเดินถูกทาง โอกาสที่เหตุการณ์จะสงบยุติลงเร็วก็จะมีมากขึ้น...กลับกัน ถ้าเดินผิดทาง สถานการณ์ก็จะยืดเยื้อต่อไป"

ตอนนี้รัฐกำลังซื้อบทเรียนในเรื่องเหล่านี้ ในภาพรวมรัฐคลำทางถูกแล้ว แต่ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่แก้ไม่ได้  การเมืองนำ  สร้างความยุติธรรม การบริหารจัดการแบบพิเศษเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่เป็นแนวทางที่ถูกต้อง...

เพียงแต่ว่า...ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพื่อจะเข้าถึงปัญหาได้จริงๆ เมื่อรู้ว่าทิศทางถูกต้องแล้ว ก็ต้องเดินต่อไป

นี่ คือมุมสะท้อนมุมเล็กๆมุมหนึ่งที่ดูจะเป็นความหวังใหญ่...ท่ามกลางสถานการณ์ ความไม่สงบรายวันที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้.
.