Skip to main content

 ต้นฉบับคำแถลงต่อสื่อมวลชน

 
 
 
สำนวนแปลแรก
โดย Hara Shintaro
อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
color:#333333">

คำแถลงการณ์ 
ความเข้าใจรวมกันเพื่อการริเริ่มเดือนรอมฎอนแห่งสันติสุข 

ตัวแทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติประเทศไทย (ซึ่งต่อไปเรียกว่า Party A) กับตัวแทนของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (ซึ่งต่อไปเรียกว่า Party B) ตามข้อตกลงหลักในการพูดคุยครั้งที่สี่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2013 ที่ผ่านมา บรรลุความเข้าใจในการปฏิบัติเพื่อริเริ่มความพยายามให้มีเดือนรอมฎอน 2013 อันปราศจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย 

ช่วงเวลาในการดำเนินความพยายามรวมดังกล่าวนี้เป็นเวลา 40 วัน ตั้งแต่ วันที่ 10 กรกฎาคม 2013 ถึง วันที่ 18 สิงหาคม 2013 (วันที่ 1 เดือนรอมฎอน 1434 ฮิจเราะห์ศักราช ถึงวันที่ 10 เดือนเชาวัล 1434 ฮิจเราะห์ศักราช) และปฏิบัติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาศ รวมห้าอำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ นาทวี สะเดา จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย 

ในช่วงเวลาดังกล่าว Party A จะมีความรับผิดชอบต่อการป้องกันอาชญกรรมและการเฝ้าสังเกตเพื่อรักษาความปลอดภัยของสาธารณชน Party A ก็รับรองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา หรือฐานะอย่างไรก็ตาม Party A จะงดใช้ปฏิบัติการเชิงบุกเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ด้วย 

ในช่วงเวลาดังกล่าว Party B ต้องพยายามและพิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง รวมไปถึงการโจมตีทางอาวุธ การวางระเบิด และการซุ่มโจมตีต่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและประชาชนทั่วไป Party B ก็ต้องพยายามที่จะติดตามข้อตกลงครั้งนี้ โดยไม่ทำลายทรัพย์สินของรัฐและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับประชาชน Party B รับรองว่าจะให้เกียรติ เคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของคนที่ไม่นับถือศาสนาอิสลามด้วย 

ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้ง Party A และ Party B จะปฏิบัติอย่างจิงจังเพื่อทำให้เดือนรอมฏอนแห่งปี 2013 เป็นเดือนที่ปราศจากความรุนแรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความเอาจริงเอาจังและความตั้งใจจากทั้งสองฝ่ายในการแสวงหาแนวทางแก้ไข้ปัญหาความไม่สงบโดยมีเวทีสันติสนทนาเป็นเวทีกลาง ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าสันติสนทนาเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับสร้างสันติภาพอันยั่งยืนและถาวรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ฝ่ายใดที่ฝ่าฝืน รบกวน หรือไม่ปฏิบัิติตามความเข้าใจรวมกันครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นฝ่ายที่ไม่รักสันติภาพ ฝ่ายที่ไม่เคารพความใฝ่ฝันและความหวังของประชาชน 

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าใจ เคารพและยึดถือหลักการในความเข้าใจรวมกันครั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการริ่เริ่มเดือนรอมฎอนแห่งสันติสุขในปี 2013 

ผู้อำนวยความสะดวกจากรัฐบาลมาเลเซีย 
สำนักเลขาธิการ 
คณะทำงานร่วมเพื่อสันติสนทนาในภาคใต้ของประเทศไทย 
สภาความมั่นคงแห่งชาติ 
สำนักนายกรัฐมนตรี 
วันที่ 12 กรกฎาคม 2013

 
สำนวนแปลที่ 2
แปลโดย เอกอัคราชทูต กำธร สิทธิโชติ
ที่ปรึกษาเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
1. สมช. (ในแถลงข่าวเรียก Party A) และ BRN (ในแถลงข่าวเรียก Party B) ได้ตกลงในหลักการในระหว่างการพูดคุยครั้งที่ 4 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2013 ว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุถึงเดือนรอมฎอนที่ปราศจากความรุนแรงใน จชต.
 
 2. ช่วงเวลาที่ 2 ฝ่ายกำหนดคือ 40 วัน นับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2013 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2013 ในพื้นที่ 4 จชต. คือ จ. ปัตตานี จ. นราธิวาส จ. ยะลา และ 5 อำเภอใน จังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.นาทวี อ.สะเดา อ.จะนะ อ.เทพา และ อ. สะบ้าย้อย
 
 3. Party A ได้ตกลง (ในการพูดคุยครั้งที่ 4) ว่าจะดำเนินการ ดังนี้
 
 - ยังคงรับผิดชอบต่อการการดำเนินการป้องกันอาชญากรรม การเฝ้าระวัง เพื่อรักษาความปลอดภัยของสาธารณชน
 
 - รับประกันความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงพื้นเพ เชื้อชาติ ศาสนา และสถานภาพ
 
 - จะยับยั้ง (refrain) การดำเนินการที่ก้าวร้าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงซึ่งมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้
 
 4. Party B ได้ตกลง (ในการพูดคุยครั้งที่ 4) ว่าจะดำเนินการดังนี้
 
 - จะพยายามและพิจารณาที่จะไม่สร้างความรุนแรงใดๆ ซึ่งรวมถึงการโจมตีด้วยอาวุธ การวางระเบิด และการซุ่มโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคง และสาธารณชน
 
 - จะพยายามที่จะไม่ก่อวินาศกรรมหรือสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของทางราชการและสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ
 
 - รับประกันว่า สิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม จะได้รับความเคารพ ให้คุณค่า และพิทักษ์ไว้ในระยะเวลานี้ ทั้ง 2 ฝ่ายตกลง ดังนี้
 
 - จะทำงานหนักเพื่อให้เดือนรอมฎอน ปี 2013 เป็นเดือนที่ปราศจากความรุนแรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความตั้งใจ และความจริงจังของทั้งสองฝ่ายในการแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาที่มีร่วมกัน ผ่านเวทีการพูดคุยสันติภาพ โดยทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อว่าการพูดคุยเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับสันติภาพอันถาวรและยั่งยืนในภาคใต้ของไทย
 
 - ฝ่ายใดที่ฝ่าฝืน ขัดขวางหรือทำลายล้างความเข้าใจอันนี้ ถือว่าเป็นฝ่ายที่ไม่รักสันติภาพ และไม่เคารพเจตนารมณ์และความประสงค์ของประชาชนชาวไทย
 
 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องพยายามเข้าใจ ให้เกียรติและยึดมั่นปฏิบัติตามหลักการของความเข้าใจร่วมนี้ เพื่อบรรลุจุดประสงค์ของความปรารถนาร่วมเรื่องข้อริเริ่มเรื่องสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2013 นี้
 
สำนวนแปลที่ 3
แปลโดย หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
 
เวทีการประชุมร่วมครั้งที่ 4 ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี  (บีอาร์เอ็น) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้บรรลุความเข้าใจร่วมกันเพื่อลดระดับความรุนแรงในช่วงเดือนถือศีลอด (รอมฎอน)  ประจำปี 2556 ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย
 
แถลงการณ์ระบุว่า ความพยายามร่วมกันของสองฝ่ายเพื่อรักษาความสงบในช่วงเวลา 40 วัน คือตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. - 18 ส.ค. ปี 2556 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดทางภาคใต้ของไทยได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา โดยจังหวัดสงขลาจะอยู่ในพื้นที่ภายใน 5 อำเภอคือ นาทวี สะเดา จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย
 
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนรอมฎอน สภาความมั่นคงแห่งชาติจะรับผิดชอบดูแลป้องกันปัญหาอาชญากรรมรุนแรง รวมถึงเฝ้าระวังตามจุดต่างๆ ในพื้นที่โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะชนเป็นหลัก โดยทางสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ให้การรับรองว่าจะดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัยพ์สินของพลเรือนทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ สัญชาติ ภูมิหลัง สถานะ และศาสนาใดๆ ก็ตาม
 
พร้อมกันนี้ ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติย้ำชัดว่าจะไม่อดทนต่อการกระทำรุนแรงใดๆ ก็ตาม ที่จะเป็นปัญหานำไปสู่เหตุความไม่สงบรุนแรงในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศ
 
ด้านขบวนการบีอาร์เอ็นระบุว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน ทางกลุ่มจะพยายามควบคุมตรวจตราดูแลไม่ให้สมาชิกก่อเหตุความรุนแรง โดยรวมถึงการใช้อาวุธโจมตี การวางระเบิด การซุ่มโจมตี ต่อเจ้าหน้าที่และสาธารณะชน นอกจากนี้ ทางกลุ่มจะพยายามไม่ให้เกิดการบ่อนทำลายหรือสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินทางราชการ และเครื่องอำนวยความสะดวกของส่วนร่วม
 
ทั้งนี้ ทางขบวนการบีอาร์เอ็นได้ให้การรับรองว่าจะปกป้อง เคารพ และตระหนักในคุณค่าสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม
 
แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายกล่าวคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นจะทำงานอย่างหนักเพื่อให้มั่นใจได้ว่า เดือนถือศีลอดรอมฎอนปี 2556 นี้จะเป็นเดือนที่ปลอดจากเหตุการณ์รุนแรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความรับผิดชอบ และความเอาจริงเอาจังที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกันในการแก้ไขปัญหา โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า การพูดคุยตามแนวทางสันติภาพคือหนทางที่ดีที่สุดที่จะสร้างความสงบและสันติภาพอย่างยั่งยืนและคงทนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยต่อไป
 
ฝ่ายใดก็ตามที่ทำลาย ละเมิด ขัดขวาง หรือบ่อนทำลายข้อตกลงความเข้าใจร่วมกันในครั้งนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะถือว่าคนผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่ยึดถือแนวทางสันติภาพและไม่ควรค่าแก่การเคารพอย่างยิ่ง
 
ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงสมควรพยายามทำความเข้าใจ ให้เกียรติ และยึดมั่นในแนวทางปฎิบัติของข้อตกลงเพื่อความเข้าใจร่วมกันเบื้องต้นฉบับนี้ เพื่อให้บรรลุความต้องการตามแนวทางสันติภาพในเดือนรอมฎอนปี 2556