Skip to main content

 

มหกรรม “เสียงแดนใต้  สานใจสู่สันติภาพ

วันที่ 8 กันยายน 2556 ณ ชั้น 4 ห้างโคลีเซี่ยมยะลา จัดโดย สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
 
            ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับการสูญเสียบุคคลซึ่งเป็นที่รักในครอบครัวไป ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่สมารถออกไปประกอบอาชีพได้  ปัญหาความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลถึงความเครียดของคนในชุมชน นำมาซึ่งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การหย่าร้าง และปัญหายาเสพติด แต่ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงในระบายเรื่องราวให้สาธารณะได้รับทราบถึงความทุกข์ที่แท้จริง ของคนที่เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นพี่สาว น้องสาว และลูกสาว ที่ต้องแบกรับภาระทั้งหมด  นโยบายการแก้ปัญหาในพื้นที่ ก็ไม่ต้องกับปัญหาความเดือดร้อนของผู้หญิงอย่างแท้จริง หลายครั้งที่ผู้หญิงเองพยามส่งเสียงเพื่อให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา แต่ก็เป็นแค่ลมที่ไม่ได้ถูกรับฟัง และแก้ไข  มหกรรมเสียงแดนใต้สานใจสู่สันติภาพจึงจัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มีพื้นที่ในการสะท้อนมุมมองความทุกข์ ความเดือดร้อนของตนเอง และอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่เพื่อให้เกิดสันติภาพ  ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนถึงความพยายามของกลุ่มผู้หญิงที่อยากเห็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนของผู้หญิงอย่างแท้จริงเกิดขึ้น  ผู้หญิงแบกเก้าอี้เอง จากที่เคยอยู่แต่บ้าน เลี้ยงลูก กรีดยาง ลุกขึ้นมาออกแบบการจัดเวที เตรียมงาน เดินทางไปส่งหนังสือเชิญแขกที่เข้าร่วมงาน ด้วยครั้งแรกของการจัดงานของผู้หญิง ผู้หญิงหลายคนรู้สึกกล้าๆกลัวๆกับการไปเชิญแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน แต่ส่วนลึกแอบรู้สึกดีใจและประทับใจที่ตนเองได้เป็นเจ้าของงานที่กำลังจะเกิดขึ้น  
            ช่วงของการเตรียมการจัดงานผู้หญิงผู้เป็นแม่ ผู้ที่เป็นภรรยา และผู้ที่เป็นลูกสาวต้องมาพักที่สำนักงาน สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ จำนวน 20 ชีวิต เพื่อเตรียมงาน ด้วยความตื่นเต้น บวกกับความกังวลว่าในวันจัดงานจริงจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ด้วยความสบประมาณจากหลายหน่วยงาน และหลายคนว่าผู้หญิงไม่มีความสามารถ และไม่มีศักยภาพ จึงเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนต้องทุ้มแรงเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด
            วันจัดงาน  ด้วยการประสานงานของสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ เพื่อเชิญท่านเลขาธิการ ศอ.บต  เป็นประธานในวันจัดงาน และได้รับการยืนยันจากตัวท่านเลขาฯเองว่าว่างวันที่ 8 กันยายน  2556  จึงทำให้จากเดิม พวกเราเตรียมจัดงานในวันที่ 2 กันยายน 2556 และต้องเลื่อน เพื่ออยากให้ท่านมาเห็นศักยภาพของกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้าน รากหญ้าอย่างแท้จริงที่ใจจด ใจจ่อ อยากให้ท่านมาเห็น  จนวินาทีสุดท้ายได้รับการประสานงานจากเลขา ของท่านเลขาฯ ศอ.บต ว่าท่านได้ส่งตัวแทนว่าเป็นประธานเปิดพิธี  ทำให้กลุ่มผู้หญิงที่ยอมเสียสละเวลาจากบ้านมาเตรียมงาน เป็นอาทิตย์ต้องผิดหวังกับความตั้งใจเกินร้อย  แต่งานต้องเดินต่อไป ในวันงานเราได้รับเกียรติจาก หอการค้าจังหวัดยะลา, สโมสรไลอ้อนยะลา, สโมสรโรตารี่ยะลา, หน่วยงานภาคประชาสังคม กอ.รมน.ภาค 4 สน, หน่วยประสานงานการข่าว กอ.รมน. ภาค 4 สน, ช่อง 11, ช่อง5, และเจ้าของเพจเสียงจากแผ่นดินแม่, สมาชิกเทศบาลนครยะลา, ร่วมเป็นแขกผู้มีเกียรติเข้ามาร่วมในการเปิดพิธี ทำให้กลุ่มผู้หญิงที่จัดงานและกลุ่มผู้หญิงที่มาร่วมในงานประทับใจและรู้สึกมีกำลังใจในการจัดงาน
            หลังจากพิธีเปิด เป็นการการอ่าน สุนทรพจน์ (ซาเจาะ)  โดย คุณรอมือละ ราซิ จาก จ.นราธิวาส  ซึ่งเป็นอีกคนที่เตรียมการซ้อมบทสุนทรพจน์  เพื่อเป็นตัวแทนผู้หญิงในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่ได้สะท้อนถึงความเจ็บปวด ชีวิตหลังการสูญเสีย การสูญเสีย ชีวิตต่อชีวิตที่จากโลกใบนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับมาจากฝีมือของผู้ไม่หวังดี ชะตากรรมของชีวิตที่เหลืออยู่ ยังต้องดำเนินต่อไป ถ้ำกลางความหวาดกลัว อย่างไม่มีวี่แววของการแก้ปัญหาและไม่รู้ว่าความรุนแรงในพื้นที่จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ด้วยความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน ทำให้กลุ่มผู้หญิงที่เข้ามาร่วมงาน หลายคนน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว
เสวนา  “พลังผู้หญิงในพื้นที่ จะช่วยให้เกิดสันติภาพได้อย่างไร”
การเสวนาหัวข้อดังกล่าวดำเนินรายการโดยคุณเรืองรวี พิชัยกุล โดยถือได้ว่าเป็นการเปิดใจผู้ร่วมเสวนาที่มาจากหลายพื้นที่และศาสนา รวมถึงบทบาทความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนวิถีชีวิตของตนเองในการต้องเผชิญความหวาดกลัว ปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งในการเสวนาพูดถึงการเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาของรัฐ งบประมาณที่ลงมาในพื้นที่ทำไมคนในพื้นที่ยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้ นับวันยิ่งแย่ลง การเข้าไปเป็นผู้แทนของประชาชนในการแก้ปัญหาไม่ใช่ผู้แทนที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เป็นการได้มาซึ่งมิชอบ อำนาจที่ครอบงำทำให้คนดี คนเก่ง และคนที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้สงบสุขจริงๆ ไม่มีพื้นที่ ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงเป็นไฟลามทุ่ง เพราะคนที่แก้ปัญหาไม่ใช่ผู้แทนของคนในพื้นที่ และไม่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง   หน่วยงานหลายหน่วยงานบอกว่าพลังที่ยิ่งใหญ่ คือพลังของคนในพื้นที่  การแก้ปัญหาอยู่ที่ชุมชน แต่พอคนในพื้นที่รวมพลังส่งเสียง กลับไม่มีผู้แทนของหน่วยงานเข้าร่วมรับฟังเลย ส่วนใหญ่แค่มาเปิดงานแล้วก็กลับ  แล้วจะเอาปัญหาไปแก้ได้อย่างไร
นางจินตนา  เจริญธรภัทร ตัวแทนกลุ่มผู้หญิง คนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลาตั้งแต่เกิดได้สะท้อนความคิดเห็น การเสวนามีข้อเสนอจากผู้ร่วมเสวนาว่าถ้ามีการจัดกิจกรรมอีกครั้ง อยากให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานนี่แหละในฐานะเจ้าของพื้นที่มาเปิดงานเอง  และพยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้หญิงช่วยกันเป็นหูเป็นตา และผลักดันพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงให้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ รวมทั้งผู้หญิงจะไม่นิ่งเฉยกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่าอีกต่อไป พวกเราจะติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการทำงานและนโยบายในการแก้ปัญหาที่จะส่งผลต่อลมหายใจของคนในพื้นที่
อย่างไรก็ดี การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงต่อกระบวนการสันติภาพและประเด็นการสื่อสารของผู้หญิงเพื่อส่งเสียงของพวกเธอออกมาสู่สาธารณะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งการเสวนามีกระบวนการที่จะดึงข้อคิดเห็นทั้งหมดของผู้หญิงที่เข้าร่วมครั้งนี้ โดยแบ่งเป็นการสะท้อนทัศนะของผู้หญิงใน 4 ประเด็นหลัก คือ ความหวัง ความกังวล ความต้องการ และข้อเสนอต่อกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่
ผลกระทบ  ความรุนแรงมีผลต่อการพัฒนาแดนใต้อย่างไร
            คุณปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช  สมาชิกจากสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. ตัวแทนจากภาคธุรกิจ หอการค้านราธิวาส ได้ชวนผู้ร่วมเสวนาซึ่งมาจากทุกสาขาอาชีพ โดยมี คุณมัสยา ดอฆอ  ตัวแทนพยาบาลในพื้นที่, คุณสมภพ สุภนรานนท์  จากผู้ประกอบการในจังหวัดยะลาและโดนระเบิดถึง 8 ครั้ง ในร้านค้าตนเอง รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมและสร้างความเสียหายกับธุรกิจอย่างตั้งตัวไม่ได้ หันมาเป็นนักข่าวอิสระในพื้นที่ เจ้าของเพจข่าวเสียงจากแผ่นดินแม่ให้สาธารณะได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา โดยในทุนในการทำข่าวจากกระเป๋าตังค์ตัวเอง  มีแฟนเพจที่ติดตามจากทุกมุมโลกนับแสน, คุณประสิทธิศักดิ์ ลิ่มกาญจนา รองประธานหอการค้าจังหวัดยะลา เจ้าของโรงงานยางพาราที่โดนเผา เหลือแต่ซาก ,คุณอภิรัตน์  สำเร  ตัวแทนครู ที่ต้องทำหน้าที่พ่อพิมพ์ของชาติในพื้นที่สีแดง ที่ผ่านมาโดนซุ้มยิงมาถึงสองครั้ง เป็นผู้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่ แต่ละท่านผ่านการรอดชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ทั้งหมด 
            อาชีพพยาบาลคือหนึ่งในคำตอบหนึ่งจากเด็กๆในคำถามที่ว่า  “โตขึ้นหนูจะเป็นอะไร?” โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงหลายๆคนพวกเธอเฝ้าถึงการสวมใส่เครื่องแบบพยาบาลอันสง่างาม ภาพหญิงสาวหน้าตาสะสวย รอยยิ้มที่อิ่มด้วยความใจดี ชุดขาวที่ช่วยทำให้รู้สึกอบอุ่นในท่วงท่าที่อ่อนโยน หมวกกะบังที่เสริมความเข้มขลังแสดงสัญลักษณ์ของความเป็นผู้อภิบาล ดั่งคำเปรียบเปรยนางพยาบาลว่าเป็นนางฟ้าหรือแม่พระที่ค่อยปรนนิบัติผู้ตกทุกข์ได้ยาก แต่ในความเป็นจริง อาชีพพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และผู้ดูแลผู้ป่วยนั้นต้องเผชิญกับสภาวการณ์ที่กดดันมากมายในแต่ละวัน ทั้งเหตุการณ์ที่เตรียมตัวรับมือ หรือเหตุการณ์ที่ไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าคุณพยาบาลจะเข้าเวรกะไหน ได้นอนเต็มอิ่มหรือไม่ก็ตาม คุณพยาบาลต้องพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกเวลา  การเจาะเลือด ล้างแผล เย็บแผลสด การผ่าตัด สอดใส่ท่ออาหาร ชำระล้างของเสียในร่างกาย ในท่วงท่าที่รวดเร็วแข่งกับจำนวนผู้ป่วย ความเป็นความตายที่ยากเกินกว่าจะรักษาท่วงท่าของนางฟ้าผู้อ่อนโยนเอาไว้ได้
คุณมัสยา  ดอฆอ เล่าต่อถึงการทำงานในพื้นที่ความรุนแรง ซึ่งบ่อยครั้งที่เหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นไม่ไกลจากโรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่ แต่เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่จึงเข้าใจสถานการณ์ดี ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยจึงไม่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไปมากนัก ในความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของฝ่ายขบวนการที่จ้องทำร้าย หากเปรียบเทียบกับ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและครู สาเหตุหนึ่งเนื่องจากงานพยาบาลที่ทำงานด้านมนุษยธรรม ไม่ว่าฝ่ายไหนได้รับบาดเจ็บมา โรงพยาบาลรับดูแลรักษาเพื่อช่วยชีวิตอย่างถึงที่สุด แม้ในช่วงที่ผ่านมาได้การตั้งข้อสงสัยในประสิทธิภาพการทำงานของพยาบาลในโครงการ 3,000 คน และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องพยาบาลในโรงพยาบาลต่าง แต่ทางหน่วยงานหลักได้จัดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง  
สำหรับอุปสรรคในการทำงานนั้น เรื่องภาษานั้นมีไม่มากนัก เพราะพยาบาลได้รับการฝึกให้ใช้ภาษามลายูถิ่นพื้นฐาน ในคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล อาทิเช่น เจ็บ,ไข้, กินยา, เบาหวาน, ความดัน, น้ำเกลือ, ฉีดยา, ก่อนอาหาร, หลังอาหาร อย่างไรก็ตามปัญหาอุปสรรคจากความเชื่อตามหลักศาสนาบางอย่าง พยาบาลต้องทำความเข้าใจกับคนป่วยมุสลิมที่ไม่ยอมรับเลือดคนต่างศาสนา หรือหากจำเป็นจริงๆก็ต้องขอบริจาคเลือดจากญาติพี่น้องที่ยอมรับ กรณีตัวยาบางชนิดที่ไม่ฮาลาล เพราะมีกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ส่วนประกอบจากสุกร ซึ่งจำเป็นต้องรณรงค์ส่งเสริมเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่การต่อสู้ด้วยวิธีการก่อการร้าย การดักซุ่มโจมตีทำร้ายเจ้าหน้าหน่วยงานของรัฐ ทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งเป็นยุคเร่งรัดพัฒนาจนกระทั่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่องว่างในเรื่องคุณภาพชีวิตที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ระหว่างทัศนคติในระดับปัจเจกบุคคล ประชาชนที่เปิดใจรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขรัฐ เพื่อการพัฒนาสุขลักษณะในการดำเนินชีวิตประจำวันที่เอื้อต่อการมีสุขภาพร่างกายที่ดี กับสภาพความพร้อมในการทำงานของเจ้าหน้าที่พยาบาลและสาธารณสุข เชื่อมโยงสู่ปัญหาการพัฒนาในระดับโครงสร้าง ความพร้อมของรัฐในการขยายอาคารสถานที่พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ และผลิตบุคคลากรด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์พยาบาลให้เพียงพอต่อสัดส่วนประชากร
ในขณะเดียวกัน หากการปิดกั้นการทำงานส่งเสริมสุขภาพ จากการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการที่ต่อต้านอำนาจรัฐยังทำงานได้ผล การทำงานด้านมนุษยธรรมก็ชะงักงันขาดความต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลาไม่นานภาพความเหลื่อมล้ำทางด้านคุณภาพชีวิตจะปรากฏชัดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือวัตถุดิบชั้นดีในการจุดเชื้อไฟปลุกระดมมวลชนของฝ่ายขบวนการ โดยการตั้งกำแพงปฏิปักษ์ต่อความไม่จริงใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของรัฐ ด้วยข้ออ้างทางศักดิ์ศรีที่จะไม่รับการพัฒนาเพราะความไม่ศรัทธาในรัฐ นั้นคือโจทย์ที่ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำเป็นต้องรับไว้พิจารณา หากเจ้าหน้าที่งานพยาบาลสาธารณสุขผู้ชูธงนำในนามมนุษยธรรม ยังไม่สามารถทำงานส่งเสริมสุขภาพได้ คำถามคือคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใด.
คุณประสิทธิศักดิ์ ลิ่มกาญจนา รองประธานหอการค้าจังหวัดยะลาเอ่ย "ผมรู้สึกเสียดายว่า 3 จังหวัดภาคใต้ของเรานี่ ถ้าไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น เศรษฐกิจจะดีมาก ชาวบ้านจะมีรายได้ดีกว่านี้มาก เพราะว่ายางราคาแพง ประชาชนร้อยละ 70 ประกอบธุรกิจสวนยางพารา ถ้ายางพาราได้ราคาดี เขาก็อยู่อย่างสุขสบาย ผมยังอิจฉาคนตั้งแต่จังหวัดสงขลาขึ้นไป อย่างที่สุราษฎร์ฯ ชุมพรนี่ ชาวบ้านรวยมากนะ ผมได้ข้อมูลจากลูกสาวของผมที่ทำงานอยู่ที่อำเภอพระแสง เขาบอกว่าเป็นอำเภอเล็กๆ แต่มีร้านทอง 12 ร้าน แล้วชาวบ้านนี่ใส่ทองเส้นใหญ่ๆ แล้วไม่ได้ใส่ข้างในนะ ใส่ออกนอกเสื้อด้วย คือเดินตามท้องตลาด ใส่สร้อยทองออกนอกเสื้อ นั่นแสดงว่าโจรผู้ร้ายไม่มี เศรษฐกิจเขาดี ผมยังนึกเสียดายเลยว่า 3 จังหวัดภาคใต้เรานี่ ถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้เกิด ขึ้น เราอยู่กันสบายมาก"
“อยู่ในพื้นที่นี้แล้วเป็นอย่างไร พูดตรงๆ เราก็เครียดเพราะว่าทำงานได้ไม่เต็มที่ ต้องคอยระแวดระวัง เดี๋ยวนี้กลางคืนถ้าไม่จำเป็นเราไม่ออกไปไหน มีความเครียดขนาดที่ว่าขับรถ อยู่ก็ไม่รู้ว่าจะถูกยิงใส่เมื่อไร คือหวาดระแวง คนขับมอเตอร์ไซค์มาจอดเทียบข้างๆ เวลาติดสี่แยกก็กลัว เดี๋ยวนี้มีระเบิดใกล้เข้ามาทุกที อย่างผมนี่เวลาไปจอดรถในที่ที่เราไม่คุ้นเคย กลับขึ้นรถเราต้องดูว่าใต้ท้องรถมีอะไรหรือเปล่า ผมว่าทุกคนเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาเจอกันก็ได้แต่ปลอบใจกัน ถามข่าวคราวกันว่าเป็นอย่างไร ควรจะพกปืน ควรจะขอใบอนุญาตพกปืนเวลาเดิน ทางดีไหม ตอนนี้ผมว่าคนใน 3 จังหวัดนี้มีโรคเครียดและโรคจิตเกิดขึ้น"
"ปากบอกอยากให้เกิดความสามัคคี ไปพับนกกระดาษแล้วเอามาปล่อยที่นี่ วุ่นวายกันไปหมด โจรมันนั่งหัวเราะ เดี๋ยวก็เอาลูกปืนเอาระเบิดไปให้อีก มันได้บ้างในเรื่องของจิตวิทยาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เป็นกระแสนิดเดียวเอง มันเหมือนกับของเด็กเล่น ทำแล้วมันไม่จีรังยั่งยืน เรื่องอย่างนี้มันจะต้องเป็นเรื่องที่ทำไปแล้วมันเห็นผลระยะยาวได้ ไม่ใช่โปรยนกวันนี้แล้ว พี่น้องคนไทยมีความห่วงใยพี่น้องชายแดนใต้ รถบรรทุกเครื่องบินไปเป็นสิบๆ ลำ มีรางวัลของท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้คนไปแห่ เก็บกัน ผมปวดหัวมากๆ ต้องเอาเข่งไปตามเก็บกัน ตามหลังคาบ้าน บนต้นไม้ก็มี ต้องไปเขี่ยลงมา"
หากพิจารณาความสูญเสียในด้านเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากไฟใต้ที่ถูกจุดให้คุโชนระลอกใหม่ใน 9 ปีมานี้ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหาจุดจบได้นั้น คำตอบที่ได้รับจากทุกวงสนทนา ตรงกันคือ ยากยิ่งจะประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ สถานการณ์ที่มีผลต่อความไม่ปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินเช่นปัจจุบันนี้ ผู้รับเหมาที่เคยเข้าไปรับงานจากหน่วยงานของภาครัฐต่างๆ ต่างหนีหายไปจนแทบไม่เหลือ งานใหญ่ๆ ของภาครัฐก็แทบจะไร้ผู้รับเหมาไปรับดำเนินการ ในช่วง 2 ปีที่เกิดไฟใต้หนใหม่ มีผู้รับเหมาทิ้งงานจำนวนมาก หรือหากรายใดยังคงพยายามที่จะทำต่อไปให้แล้วเสร็จ แต่ก็มีปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในห้วงขาดแคลนอย่างหนัก แถมโรงโม่หินก็ถูกควบคุมจนไม่สามารถป้อนวัตถุดิบให้ผู้ประกอบการได้ ด้านราคาก็พุงกระฉูดกว่าเท่าตัว แม้ว่า รัฐบาลพยายามออกมาตรการช่วยเหลือแล้วก็ตาม”
"แต่ทั้งหมดทั้งปวงจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมยางต้องลดลงไปถึงประมาณ 30% ถามว่าเรายังพออยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ เราต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยสูงสุด ส่วนเรื่องกำไรมากน้อยแค่ไหนเราไม่ค่อยคำนึงสักเท่าไรตอนนี้"คุณประสิทธิศักดิ์ กล่าว
 ในเรื่องของพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน พืชผักผลไม้ในหลาย พื้นที่เจ้าของสวนไม่กล้าเข้าไปเก็บผลผลิต เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของกลุ่มผู้ไม่หวังดี อีกทั้ง ราคาผลผลิตก็ตกต่ำจนไม่คุ้มกับค่าจ้างแรงงานเก็บเกี่ยว สิ่งที่เห็นชัดเจนคือไม่ว่าจะเป็นเงาะ ลองกอง มังคุด เมื่อปีที่แล้วประสบปัญหาหนักหน่วง จนรัฐบาลต้องมีมาตรการพิเศษเข้าช่วยเหลือ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาไฟใต้ที่ถูกโหมกระหน่ำขึ้นมาระลอกใหม่ได้สั่นคลอนเศรษฐกิจของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสาหัสสากรรจ์พอสมควร ในทุกกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจต่างได้รับส่งผลสะเทือนกันถ้วนหน้า จึงไม่แปลกที่เสียงโอดครวญของนักธุรกิจชายแดนใต้ เมื่อมีโอกาสก็จะดังขึ้นให้ผู้คนได้ยิน และแทบทุกครั้งที่มีเสียงโอดครวญ ก็มักจะมีคำว่า "เครียด", "อึดอัด", "เบื่อ" และ "เซ็ง" ปะปนให้ได้ยินด้วย 
"สิ่งแรกที่เราจะต้องแสดงออกถึงการทำธุรกิจที่นี่ก็คือ นักธุรกิจที่อยู่ที่นี่ต้องประคองตัวเองให้อยู่ได้ เพราะเราไม่รู้จะหนีไปไหน รากฐานทางธุรกิจของเราอยู่ที่นี่ เราก็ต้องทำที่นี่ต่อไป ตอนนี้สิ่งที่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการมากที่สุดคือ กำลังใจ หลายครั้งเราคุยกับคนพื้นที่อื่นเหมือนกับโดนซ้ำเติมทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา รังเกียจคนปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ทั้งที่คนชายแดนใต้ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด คนที่ก่อความไม่สงบมีอยู่แค่หยิบมือเดียว ถ้าทุกคนให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ ให้การเยียวยา รัฐบาลไม่ช่วยก็ช่าง พวกเราช่วยกันเอง ทุกอย่างมันก็ดีขึ้น แทนที่คุณจะพับนกส่งมา ตัวคุณเองเดินทางมาได้ไหม ผิดกันนะ คนละเรื่องเลยถ้าคุณมอง"
เหมือนใบไม้ร่วง” !! 
คุณอภิรัตน์ กล่าว  นั่นคือคำนิยามที่ถูกใช้เปรียบเทียบกับสถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ ซึ่ง ครู รวมถึงประชาชนทั่วไป กลายเป็นเป้าหมายของ “กลุ่มก่อการร้าย” จนเกิดเหตุ “ตายรายวัน” วันละหลายๆ เหตุการณ์ จนทำให้สถานการณ์ที่ดีขึ้นระยะหนึ่งก่อนเดือนรอมฎอน กลับมาสู่โหมดของความรุนแรง และเลวร้ายอีกคราครั้ง จะเห็นว่านอกจากกลุ่มก่อการร้ายจะซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ด้วยระเบิดแสวงเครื่องแล้ว วันนี้ “ยุทธวิธี” ยังเปลี่ยนเป็นการใช้ “อาวุธปืน” ในการซุ่มโจมตีมากยิ่งขึ้น และจากการไม่ปฏิบัติการกับ “ครู” มาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี วันนี้ก็กลับมาปฏิบัติการมุ่งหมายเอาชีวิตครูเป็นเหยื่ออีกครั้ง เฉพาะในห้วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีครูใน จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี ถูกฆ่าไปแล้ว 3 ราย บาดเจ็บอีก 1 ราย
ชีวิตของ “ครู” ในขณะนี้จึงเหมือน “แขวนอยู่บนเส้นด้าย” อีกครั้ง  
ในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา ครู กลายเป็นเหยื่อสถานการณ์ จนต้องสูญเสียชีวิตไปไม่น้อยกว่า 5 ราย ซึ่งทั้ง 5 รายหลังจากที่เสียชีวิตแล้ว ยังตกเป็น “เหยื่อของสถานการณ์” ของการปลุกระดม และโฆษณาชวนเชื่อจากกลุ่มก่อการร้ายว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสร้างความเคลือบแคลงให้แก่ประชาชน และก็ได้ผล เพราะประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะเชื่อการ “สื่อสาร” ของกลุ่มก่อการร้าย และเห็นว่าการแถลงข่าวของ “กอ.รมน.” และ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เป็นการ “แก้ตัว”
แน่นอนว่าถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศชต. ยังปล่อยให้ “วงจร” การปฏิบัติการยังเป็นไปในรูปแบบเดิมๆ คือ จับกุมได้ผู้ต้องสงสัย แต่ปล่อยให้ประชาชน ครู ต้องเป็นเหยื่อของการเอาคืน เพื่อแก้แค้นจากกลุ่มก่อการร้าย ความสูญเสียก็จะเกิดขึ้นกับเป้าหมายอ่อนแออย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจะเพิ่มมากขึ้นทุกขณะตามความถี่ของการ “รุก” ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย
เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเชิงรุกที่ได้ผล อย่าง “ได้ศพ” หรือ “ได้ตัว” ผู้ต้องสงสัย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการ “เพิ่มศพ” ของเป้าหมายอ่อนแอคือ ครู วงจรนี้จะขยายมากขึ้นจนยากที่จะทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดความรุนแรงลงได้
สิ่งที่กลุ่มก่อการร้ายมุ่งหวังจากการเสียชีวิตของครู ก็คือ การสร้างผลสะเทือนให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพราะครูตายหนึ่งศพจะมีผลกระทบต่อการจัดการศึกษา และกระทบต่อความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ในขณะที่ผู้นำศาสนา และครูสอนศาสนาตาย จะเป็นการสร้างผลงานในการสร้างมวลชนของกลุ่มก่อการร้าย จากการปลุกระดม และโฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
สุดท้าย “ช่องว่าง” ระหว่างรัฐกับประชาชนที่เป็นมุสลิมก็ถูกถ่างกว้างออกมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ทุกภาคส่วน ทุกองคาพยพ ตั้งแต่รัฐบาล กองทัพ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศชต. ศอ.บต. และหน่วยงานอื่นๆ ในส่วนภูมิภาคจะต้องร่วมกันในการ “แก้โจทย์” และ “ตอบคำถาม” แก่คนในพื้นที่ว่า  เราจะปล่อยให้การแก้ปัญหาความไม่สงบติดอยู่ใน “วงจร” แบบที่เกิดขึ้นต่อไป เพื่อที่จะ “หล่อเลี้ยง” ความรุนแรงเอาไว้เป็น “บ่อน้ำซับ” ของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป?!  หรือเราจะร่วมกันสร้าง “เอกภาพ” ในการสร้างนโยบายใหม่เพื่อตัด “วงจรความชั่วร้าย” ที่เกิดขึ้นให้หมดไป เพื่อความสงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้!!
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ "ขึ้นๆ ลงๆ" มาตลอด9ปีเศษที่ผ่านมา ได้รับการอธิบายจากหลากหลายทฤษฎี ทั้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และนักวิชาการ บ้างก็ว่าเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นถี่ยิบในช่วงปฏิบัติการยิงในมัสยิดบ้านไอปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของฝ่ายก่อความไม่สงบ บ้างก็ว่าสาเหตุที่สถานการณ์เงียบสงบลงในช่วงนี้ เป็นการรอจังหวะก่อเหตุรุนแรงระลอกใหม่ ฝ่ายผู้ก่อการยังไม่เพลี้ยงพล้ำในสงครามที่ชายแดนใต้ หนำซ้ำยังครองความได้เปรียบ มีแต่รัฐที่วิ่งตามหลัง ฯลฯ
ถึงวันนี้ยังไม่มีใครล่วงรู้ว่าทฤษฎีไหนถูก บทวิเคราะห์ใดผิด...คงต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์     แต่ยังมีความเห็นจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือแง่มุมของ "ผู้ทำข่าว" ที่เกาะติดพื้นที่มาเนิ่นนาน ว่าพวกเขามองอย่างไรกับสถานการณ์ไฟใต้ในช่วงที่ผ่านมา 
คุณสมภพ  บอกว่า เหตุการณ์ ณ เวลานี้ในความรู้สึกของเขาถือว่ารุนแรงขึ้น แม้หากเทียบในแง่สถิติเหตุการณ์ที่ดูแล้วความถี่อาจจะลดลงก็ตาม แต่ว่าความรุนแรงของเหตุมันเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ระเบิดเมื่อก่อนหนัก 3 กิโลกรัม เดี๋ยวนี้น้ำหนัก 5 กิโลกรัมขึ้นไป เมื่อความแรงมากขึ้น ความสูญเสียก็ย่อมเยอะขึ้นตามมาด้วย
“ตอนนี้ผลกระทบที่เห็นชัดเจนก็คือ ข่าวบางข่าวสื่อในพื้นที่ไม่กล้านำเสนอ และหากเลือกที่จะนำเสนอก็จะหนักไปทางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้เช่นกัน ถามว่าความเป็นมุสลิม เวลาลงพื้นที่ได้เปรียบไหมตอนนี้ บอกได้เลยว่ามันไม่มากเท่าไรนัก เพราะชาวบ้านมองสื่อว่าเป็นคนของเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว ตัวผมเอง จึงพยายามนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน ให้น้ำหนักเท่าๆ กัน เพื่อลดความขัดแย้งให้เบาบางลง”
ส่วนต้นตอของปัญหา คุณสมภพ เทน้ำหนักไปที่ความไม่เข้าใจกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน
รัฐยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ที่สำคัญยังมีการสร้างเงื่อนไขอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรมที่ประชาชนควรจะได้รับ 4-5 ปีที่ผ่านมายังไม่ทั่วถึง หนำซ้ำรัฐยังไม่มีความจริงใจมากพอ งบประมาณที่ส่งลงมาตั้งมากมาย หากเทียบกับผลงาน สิ่งที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติยังไม่สมดุลและมีประสิทธิผลน้อย" 
          แม้ว่าสถานการณ์จะขึ้นๆ ลงๆ ในลักษณะคาดเดายาก แต่การทำงานของคุณสมภพ ก็ยังเหมือนเดิม เพราะระมัดระวังตัวเต็มที่อยู่แล้ว สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือการปรับกลยุทธ์
          "ทุกครั้งที่มีเหตุรุนแรง เราต้องปรับกลยุทธ์บ้างเหมือนกัน เช่น การวางแผนเข้าที่เกิดเหตุ การตัดสินใจเลือกใช้เส้นทาง และการประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ เพราะตอนนี้มีกับดักระเบิดลูกสอง ลูกสาม ความปลอดภัยระหว่างทางถ้าไม่มั่นใจเส้นทางหนึ่งก็อาจจะเลี่ยงไปอีกเส้นทางหนึ่ง หรือถ้าไม่สะดวกที่จะไปคนเดียว ก็อาจต้องไปเป็นทีม" 
          คุณสมภพ บอกว่า การลงพื้นที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ผู้สื่อข่าวทำงานไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน 
"สาเหตุคือข้อมูลจากพื้นที่มีน้อย เราไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน บางเหตุการณ์โดนสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปเก็บรูป บ่อยครั้งที่คนในพื้นที่เริ่มหวาดระแวงสื่อ เพราะผลจากการนำเสนอข่าวที่เราได้รับจากเจ้าหน้าที่มากกว่าชาวบ้าน" นักข่าว ระบุ 
ช่วงท้ายของการเสวนา มีการยืนร้องเพลง “ขวานไทยใจหนึ่งเดียว” พร้อมกัน ทั้งบนเวทีและผู้เข้าร่วม ด้วยความรู้สึกมีพลังและโบกมือพร้อมกัน ทำให้อดที่จะหลั่นน้ำตาออกมาไม่ได้  สร้างความประทับใจทั้งผู้เข้าร่วม วิทยากรและผู้ร่วมเสวนา รวมถึงผู้จัดงาน
ผลสำเร็จอีกอย่างที่ทำให้พวกเราหายเหนื่อย คือจากที่เราตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายมาร่วมงานจำนวน 200 คน  แต่มาลงทะเบียนถึง จำนวน 320  คน และที่คาดการณ์ กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาร่วมในการทั่วไปอีก 200  คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 520 คน ทำให้ในการมีทั้งน้ำตาของความประทับใจ และรอยยิ้มที่สร้างแรงบัลดาลใจให้กลุ่มผู้หญิงก้าวเดิน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย สันติภาพชายแดนใต้ต่อไป
ข้อเสนอแนะ
            อยากให้มีการจัดมหกรรม อย่างนี้ ในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาสด้วย  รวมถึงสร้างกระบวนการพูดคุยในการสร้างสันติภาพของกลุ่มผู้หญิง ในทุกชุมชน และจัดมหกรรม เพื่อนำเสนอผลจากการพูดคุย การสร้างสันติภาพในพื้นที่ของแต่ละชุมชน  รวมถึงหาประเด็นขับเคลื่อนร่วมกันทั้ง 3 จังหวัด