เราเดินตามชาวบ้านกลุ่มใหญ่เข้าไปในป่าสวนยาง ผ่านหลุมสองหลุมที่ว่ากันว่าเป็นหลุมที่เจ้าหน้าที่ขุดพบอาวุธที่ซุกซ่อนเอาไว้ เดินลึกเข้าไปอีกนิดตามทางเท้าที่มีรอยเหยียบย่ำไว้ราบเรียบ เจอที่โล่งหย่อมเล็กๆ ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชี้ให้ดูรอยแดงคล้ำสองหย่อมใหญ่บนพื้นหญ้าพร้อมกับบอกว่า “นี่คือที่ที่เจออุสมาน”
“หลังจากจนท.ไปแล้ว ยังมีกระดูกกรามที่หลุดตกอยู่ เราก็เก็บเอาไปฝังไว้กับศพด้วย”
อุสมาน เด็งสาแมเป็นหนึ่งในสี่ศพของผู้ต้องสงสัยที่เสียชีวิตจากการปะทะกับจนท.เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ตค.ที่ผ่านมาที่บ้านสะแนะ หมู่1 ต.เรียง อ.รือเสาะ ในข่าวอุสมานเสียชีวิตพร้อมชายอีกสามคนในการปะทะกับจนท.ในบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้าน
จากภาพถ่ายและรายงานข่าว ปรากฏภาพศพของอุสมานนอนอยู่ในที่โล่งกลางป่าที่มีสภาพคล้ายพื้นที่ป่าสวนยางที่ชาวบ้านนำพวกเราเข้าไปดู สภาพศพนอนหงายอยู่ในชุดโสร่งกับเสื้อ แต่โสร่งถูกถลกขึ้นเผยให้เห็นท่อนขาที่เต็มไปด้วยรอยบาดแผล แถบหนึ่งบนใบหน้านั้นยับเยิน
เราเดินตามทางเท้ามาออกหลังบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่ริมถนนในหมู่บ้านและที่อยู่ติดๆกัน พวกเขาชี้ให้ดูบ้านหลังใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จสูงขนาดสองชั้นริมถนนพลางบอกว่า นั่นก็คือที่ที่มีการปะทะกันเมื่อวันเสาร์
สภาพบ้านชั้น 2 หลังจากเกิดการปะทะ
เมื่อเข้าไปดูภายในบ้านก็พบว่าเต็มไปด้วยข้าวของเกลื่อนบ้านไม่ว่าจะข้างล่างหรือข้างบน เห็นได้ชัดว่ามีการค้นพื้นที่ในบ้านนี้มาแล้วทุกตารางนิ้วไม่มีเว้น ที่ปรากฏแทบจะทุกตารางนิ้วเช่นกันโดยเฉพาะตามฝาผนังบ้านด้านติดถนนที่ยังเป็นเพียงอิฐก่อยังไม่ทันได้ฉาบปูนและเรื่อยไปจนถึงพื้นบ้านบางส่วนและบนหลังคาทั้งหลังคา ก็คือรอยกระสุนน้อยใหญ่ที่แทบจะทำให้พื้นที่เหล่านั้นปรุพรุนไปหมด
รอยเลือดปรากฏตัวบนขั้นบันไดและด้านนอกของชานบ้าน ตำแหน่งตรงกันกับภาพที่ปรากฎบนข่าวว่าเป็นที่ที่ ”เปเล่ดำ” นอนตายอยู่ กลิ่นคาวเลือดยังคงคละคลุ้ง ชาวบ้านยังชี้จุดที่พบศพมะดารี หรือที่ตามข่าวเรียกซุลกีฟลี และซูเฟียน สาและด้วย ทั้งหมดอยู่บนชั้นสอง และท่ามกลางข้าวของที่แตกร้าว สายไฟและเสื้อผ้าที่ห้อยระโยงระยาง กับผ้าโสร่งผืนหนึ่งที่ยังวางพาดอยู่บนหน้าต่าง ข้าวของในบ้านที่ครั้งหนึ่งอาจจะเคยรับใช้เจ้าของ มาวันนี้มันได้กลายไปเป็นขยะไร้ประโยชน์ เรียกว่าตายไปพร้อมๆกับคนที่นอนตายในที่นั้นนั่นเอง
สิ่งมีชีวิตอย่างเดียวในบ้านคือไก่ตัวหนึ่งที่เดินหาเศษอาหาร และไม่ปรากฏว่าจะมีสิ่งกีดขวางกั้นสาธารณชนมิให้เข้าไปยังพื้นที่แห่งนี้เหมือนสถานที่เกิดอาชญากรรมทั่วไปแต่อย่างใด
ชาวบ้านบอกว่า การปะทะระหว่างกลุ่มคนในบ้านกับจนท.จำนวนร่วมครึ่งร้อยหรือมากกว่านั้นเริ่มตั้งแต่เวลาก่อนบ่ายสองโมงกว่าจะจบคือห้าโมงเย็น ก่อนหน้านั้นจนท.ได้เข้าไปในหมู่บ้านในเวลาประมาณเที่ยงวัน มีการควบคุมตัวบุคคลในหมู่บ้านรวมทั้งเจ้าของบ้านที่สร้างไม่เสร็จหลังดังกล่าวไปสอบปากคำและเจ้าของบ้านหลังที่จนท.พบตัวบุคคลเหล่านั้นถูกสอบปากคำในฐานะว่าอาจมีความผิดฐานช่วยเหลือผู้ต้องสงสัยหลบหนีเจ้าหน้าที่
การปิดล้อมเพื่อจับกุมเปเล่ดำหรืออับดุลรอฮิง ดาอีซอและพวกนั้น ข่าวระบุว่าจนท.ได้เบาะแสความเคลื่อนไหวจากสายข่าว ชาวบ้านเล่าว่า ก่อนหน้านั้นพวกเขาไม่ค่อยได้เห็นจนท.ในหมู่บ้าน และการปะทะกันหนนี้คือเหตุการณ์ใหญ่เหตุการณ์เดียวในหมู่บ้าน
เสียงปืนนานาชนิดจากการระดมยิงกันหลายชั่วโมงดังขึ้นไปถึงบนภูเขาที่ซึ่งมารดาของซูเฟียน สาและ กำลังอยู่ในขณะนั้น ผลการโทรศัพท์สอบถามเพื่อนบ้านทำให้รู้ว่าเสียงปืนนั้นดังมาจากหมู่บ้านที่ลูกชาย ลูกสะไภ้กับหลานสองคนอาศัยอยู่ แต่มารู้ว่าซุเฟียนเสียชีวิตก็เมื่อเดินทางกลับบ้านที่อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งในเวลาเย็นและมีคนแจ้งให้ไปรับศพลูกที่โรงพยาบาล สภาพศพทำให้คนในครอบครัวอึ้ง เพราะไม่ใช่แค่เรื่องถูกยิงเท่านั้น แต่พวกเขาบอกว่า บนใบหน้าและที่ท้องของซูเฟียนยังมีรอยมีดกรีดเป็นทางยาว เฉพาะที่ท้องนั้นพวกเขาเล่าว่า บาดแผลลึกถึงขนาดที่ส่วนที่อยู่ข้างในทะลักออกมาให้เห็น แต่ที่พวกเขาบอกว่า สร้างความคับแค้นมากยิ่งกว่าคือข้อมูลที่พวกเขาบอกว่า มีผู้เห็นว่าทั้งซูเฟียนและอุสมานนั้นยอมมอบตัวแล้ว และมีพยานที่เห็นว่าทั้งสองคนอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะมีการยิงปะทะกันด้วยซ้ำ
การบอกเล่าที่ต้องอาศัยความพยายามอย่างสูงในการปะติดปะต่อเรื่องราวจากชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์คนละด้านและคนละมุมสรุปได้ว่า มีบางเรื่องบางอย่างที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่า ความจริงจากเหตุปะทะกันที่บ้านสะแนะเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หรือ “วันดับเปเล่ดำ” นั้นมิได้เป็นไปอย่างที่สื่อทั้งหลายรายงาน
ข่าวการปะทะเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ตค.นั้น ผู้ต้องสงสัยสี่รายที่ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ถูกวิสามัญเสียชีวิตที่บ้านหลังหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งตายในป่าสวนยาง
ชาวบ้านหลายคนเล่าว่า สิ่งสำคัญที่พวกเขาเห็น ก็คือการที่เจ้าหน้าที่ที่ใช้ลูกสาวของเจ้าของบ้านไม่มีเลขที่และกำลังก่อสร้างหลังดังกล่าวให้เข้าไปเปิดประตูบ้านให้ แล้วต่อมาจนท.สามารถเข้าไปเอาตัวของซูเฟียนและอุสมานออกมาได้โดยละม่อม อุสมานถูกมัดมือไขว้หลังด้วยวัสดุสีขาวที่มีที่ลอคแล้วถูกนำตัวเดินอ้อมไปป่าสวนยางด้านหลังบ้าน หลังจากนั้นอุสมานก็กลายเป็นศพ ภาพถัดมาของเขาคือภาพที่ปรากฏในข่าวนั่นเอง
ชาวบ้านเล่าต่อว่า ขณะที่ซูเฟียนถูกนำตัวกลับเข้าไปในบ้านในสภาพถูกมัดมือไขว้หลัง เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปพร้อมซูเฟียนกลับถูกคนที่ซุ่มอยู่ในบ้านบนชั้นสองยิงจนเสียชีวิต หลังจากนั้นจึงมีการยิงปะทะกันระหว่างคนที่อยู่บนชั้นสองของบ้านและเจ้าหน้าที่กลุ่มใหญ่นอกบ้านตั้งแต่เวลาประมาณบ่ายสองจนถึงห้าโมงเย็น ผลของการปะทะพบศพเปเล่ดำ มะดารีและซูเฟียนนอนตายอยู่บนชั้นสองทั้งหมด
แต่ภรรยาและแม่ของซูเฟียนรวมทั้งชาวบ้านต่างเชื่อว่าซูเฟียนไม่ได้เสียชีวิตในบ้านและไม่ได้เสียชีวิตจากการปะทะแต่อย่างใด
พวกเขาเชื่อว่า หลังจากที่จนท.นำตัวซูเฟียนกลับเข้าไปและยังไม่ได้ขึ้นไปยังบริเวณชั้นบนของบ้านนั้น ซูเฟียนได้มีโอกาสกลับออกมายังด้านนอกของบ้านอีกครั้ง และมีโอกาสขอร้องญาติโดยเฉพาะให้ช่วยไปเก็บเงินสดจำนวน 490,000 บาทที่ห่อกระดาษนสพ.ซ่อนไว้ในบ้านหลังนั้น เงินจำนวนนั้นญาติของซูเฟียนยืนยันว่า มันคือเงินที่ขอยืมจากแม่เพื่อจะเอาไปจ่ายซื้อไม้
“ซูเฟียนเป็นคนทำไม้ เขามีลูกน้องสิบกว่าคน เป็นคนทำธุรกิจเก่ง เขามาขอยืมเงินแม่เพื่อจะไปจ่ายค่าไม้ แม่ก็ไปเบิกมาจากธนาคารให้ทีละเล็กละน้อย เงินจำนวนนี้ได้มาเพราะการขายที่ดินของตัวเอง” แม่ของซุเฟียนเล่า
แน่นอนว่า เงินจำนวนนี้หายไปจากบ้านที่เกิดเหตุ และญาติของซูเฟียนมีข้อข้องใจว่า จนท.ได้อายัดเงินจำนวนดังกล่าวไปเพราะสงสัยว่าเป็นเงินที่ได้มาอย่างไม่สุจริตและเมื่อไต่ถาม จนท.ก็ระบุให้ญาติไปหาหลักฐานยืนยันหากต้องการเงินดังกล่าวคืน
ซัมซียะห์ ภรรยาของซูเฟียนยืนยันด้วยว่า สามีตนไม่เคยมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ อยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ไม่เคยไปไหนนานๆ และที่ผ่านมาก็เจอจนท.เรื่อยมา นอกจากนี้เธอบอกว่า เขาไม่มีหมายจับติดตัวแต่อย่างใด แม่ของซูเฟียนชี้อีกว่า เขาไม่เคยมีปัญหาเวลาผ่านด่านตรวจที่มีเกลื่อนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำถามของพวกเขาก็คือเหตุใดซูเฟียนที่มอบตัวแล้วจึงตาย
“มอบตัวแล้วฆ่าเขาทำไม” แม่ของซูเฟียนตั้งคำถามด้วยใบหน้าที่บรรจุความไม่เข้าใจมากเสียยิ่งกว่าความเศร้า
“แล้วอย่างนี้เรื่องจะจบได้ยังไง มันไม่จบ คนที่เป็นญาติเขา เพื่อนเขา คนแถวนี้เขาเห็นกันทั้งนั้น เขาไม่ยอมหรอก คนที่สู้ถูกยิงตายก็ว่ากันไป แต่คนที่เขามอบตัวแล้วทำไมต้องตาย ทำไมไม่เอาตัวไปดำเนินคดีให้สู้คดีกันไป” ชาวบ้านอีกรายสมทบความเห็น
เมื่อถามว่า ชาวบ้านได้ถ่ายรูปเหตุการณ์ต่างๆไว้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่ามีคนถ่ายไว้แต่ถูกจนท.สั่งให้ลบภาพ พวกเขาบอกว่าระหว่างการปะทะกัน จนท.ได้ห้ามชาวบ้านมิให้ออกนอกบ้าน และไม่มีการชี้แจงเรื่องราวใดๆ แม้แต่ในการมาขุดหาอาวุธในเวลาต่อมาก็ไม่มีชาวบ้านรายใดได้ตามไปดู
แล้วถ้าเช่นนั้นผู้อาวุโสในหมู่บ้านเช่นผู้ใหญ่บ้านทำอะไรอยู่ไม่ได้มาช่วยเป็นพยาน คือคำถามถัดไป
“ชอคจากเหตุการณ์ ไม่สบายไปแล้ว ตอนนี้ยังนอนให้น้ำเกลืออยู่” เป็นคำตอบจากชาวบ้านคนหนึ่ง
พวกเราออกจากบ้านสะแนะด้วยความรู้สึกอันหนักอึ้ง ภาพศพคนตายที่เต็มไปด้วยร่องรอยบาดแผลและความเห็นของชาวบ้านประกอบกันเข้าเป็นข้อกล่าวหาที่สาหัสอย่างยิ่ง และยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รับฟังเสียงของชาวบ้านโดยเฉพาะในสถานการณ์ของความขัดแย้งเช่นนี้ เราตัดสินใจเดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรรือเสาะเพื่อขอความกระจ่าง โดยเริ่มคำถามจากสิ่งที่เป็นเรื่องง่ายไปยังประเด็นที่ยาก
เจ้าหน้าที่ตำรวจในสภอ.รือเสาะชี้แจงว่า การดำเนินคดีชาวบ้านเรื่องให้ที่พักพิงนั้นอันที่จริงยังอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวน และข้อหาคือเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยหลบหนีจากการจับกุมของจนท.
แต่ข้อมูลของจนท.ในอีกสองประเด็นสำคัญดูเหมือนจะไปกันคนละทางอย่างสิ้นเขิงกับข้อมูลของชาวบ้าน
รตท. รัชสิทธิ์ ลือลั่น ให้ข้อมูลกรณีเงินหายว่า จนท.ไม่ได้พบของกลางคือเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด! และเมื่อไม่ได้พบเงิน ก็หมายความว่าไม่ได้มีการยึดเงินนั้นไว้
จนท.ตร.บอกว่า เมื่อญาติของซูเฟียนไปร้องเรียนเรื่องนี้กับตร. จนท.จึงได้แจ้งให้ไปหาหลักฐานมายืนยัน เพราะหากยืนยันได้ว่ามีจริง ก็อาจได้รับการ “เยียวยา” ได้
แต่กับประเด็นสำคัญคือเรื่องที่ว่าซูเฟียนนั้นมอบตัวแล้วแต่เหตุใดจึงยังถูกวิสามัญจนเสียชีวิตนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าไม่มีการมอบตัว และผู้ต้องสงสัยที่ยิงต่อสู้กับจนท.ในวันเกิดเหตุจากบ้านหลังดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น สี่ คนซึ่งก็คือทั้งสี่คนที่ถูกยิงตายในวันนั้นทั้งหมด และระบุอีกว่าซูเฟียนก็คือคนที่ยิงพตท.อติพัฒน์ สุพรรณวิวัฒน์เสียชีวิตพร้อมยืนยันว่า ซัมซียะห์ ภรรยาของซูเฟียนมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยซ้ำไป ดังนั้นข้อมูลนี้ย่อมไม่ถูกต้อง ยิ่งกว่านั้นรตท.รัชสิทธิ์ยืนยันว่าซูเฟียนมีหมายจับติดตัวถึง 7 หมาย
จนท.ยืนยันว่า หลังการปะทะกัน จนท.ได้ให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและโต๊ะอิหม่ามในหมู่บ้านไปเป็นพยานการดำเนินการของจนท.
สิ่งเดียวที่จนท.และชาวบ้านพูดตรงกันดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาของการปะทะที่ระบุว่าตั้งแต่ประมาณก่อนบ่ายสองโมงจนถึงห้าโมงเย็น
แต่โดยทั่วไป ข้อมูลของจนท.นับเป็นข้อมูลที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับของชาวบ้านอย่างชนิดคนละขั้ว
ทำให้คิดไปถึงประโยคที่หลายคนมักพูดเรื่องเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ว่า พื้นที่นี้ชาวบ้านและจนท.กำความจริงกันไว้คนละชุด และสิ่งที่สำคัญด้วย อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูล แต่มันอาจจะหมายรวมไปถึงเรื่องของ “การตีความ” หรือธงที่มีกันคนละผืนด้วย
ปัญหาก็คือ ในเมื่อคำพูดของฝ่ายหนึ่งเป็นการโต้แย้งกับอีกฝ่ายหนึ่งโดยที่ไม่มีใครมาเป็นฝ่ายที่สามเพื่อมาเป็นพยาน ในกรณีเช่นนี้สังคมและจนท.จะทำอย่างไรจึงจะแก้ไขความขัดแย้งอันนี้ได้