Skip to main content

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ณ ตอนนี้เป็นไปอย่างแบ่งขั้วชัดเจน แม้ดูจะปรากฏ ทางลง ขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลและ บช.น. แล้ว แต่เงื่อนไขการใช้ความรุนแรงและยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงยังคงดำรงอยู่ และแม้การพูดคุยเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งดูจะเป็นทางออกที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน แต่ในกรณีเฉพาะบ้านป่าเมืองเรานี้ไม่เหมือนที่ใดในโลก ดูจะมีปัญหาติดขัดไปเสียหมด แม้รัฐบาลจะมีท่าทีโอนอ่อน กลุ่มผู้ชุมนุมภายใต้การนำของคุณสุเทพก็ยังคงปฏิเสธและยืนหยัดจะสู้ต่อ ขณะเดียวกัน ในวงพูดคุยระหว่างนายกยิ่งลักษณ์ กับคุณสุเทพเมื่อไม่กี่วันก่อนนั้น หลายคนก็กังขาและวิตกกับบทบาทของกองทัพในการเป็นตัวประสานการพูดคุย พร้อมกับประสงค์ให้การพูดคุยเจรจาเกิดขึ้นโดยมีคนกลาง เป็นคนอื่น หรือกลุ่มอื่น แทนที่จะเป็นกองทัพ ซึ่งโดยกฎหมายแล้ว เป็นเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้รัฐบาล มิใช่ตัวแสดงทางการเมือง อีกขั้วหนึ่ง (แม้ในสภาพจริงของการเมืองไทย กองทัพไม่เพียงเป็นตัวแสดงทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นตัวแสดงนำที่สำคัญโคตรๆ ต่างหากก็ตาม)

 

ประเด็นสำคัญที่หลายคนถามถึงจึงเป็นทำนองว่า โอเค การพูดคุยเจรจาก็คงจะเป็นทางออก ..แต่ ..แล้วเราจะหาคนกลางได้จากที่ไหน ???

 

บทความนี้ แม้จะจั่วหัวว่าเขียนเกี่ยวกับคนกลางก็จริง แต่โดยสาระ ผู้เขียนเชื่อว่า สถานการณ์การเมืองไทยบ้านเราปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า (แม่ง)ไม่มีหรอก คนกลาง จะมีก็แต่คนที่ตอแหลว่าเป็นกลาง!!!

 

คำว่าคนกลาง ในบทความนี้ จึงมิได้หมายถึง ตัวบุคคล ที่มีความเป็นกลางทางการเมือง หากแต่ หมายถึงบทบาท ของการเป็นคนกลาง ซึ่งมิได้จำกัดที่ตัวบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ในสถานการณ์ความขัดแย้งแบบแบ่งขั้ว ไม่มีคนกลาง มีแต่ การทำหน้าที่คนกลาง ดังนั้น ความเป็นคนกลางจึงสามารถเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปให้บุคคลต่างๆ และกลุ่มคนต่างๆ สามารถผลัดเปลี่ยนหรือร่วมกันเข้ามาได้ คนกลาง ในความหมายนี้ จึงมีความหมายไม่ต่างมากจากคำว่าพื้นที่กลาง ผู้เขียนขอขยายความเพื่อเสนอทางออกให้กับสถานการณ์บ้านเรา ดังนี้

 

คนกลาง ในบทความนี้ หมายถึง คนที่สามารถเคลื่อนไหวไป-มาระหว่างคู่ขัดแย้ง และสามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมสื่อสารประเด็นระหว่างสองฝ่ายให้เห็น ความปรารถนา เป้าหมาย และแนวทางการเคลื่อนไหวกว้างๆ ของกันมากขึ้นได้ เพื่อจะลดทอนอคติ ความเกลียดชัง และความเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นวางใจระหว่างกันมากขึ้น

 

ตัวอย่างเชิงรูปธรรม คือ คนกลาง ในที่นี้ สามารถประกอบขึ้นจากตัวแทนของทั้งสองฝ่าย ที่มีบุคลิกประนีประนอม และไม่นิยมการใช้กำลัง/ความรุนแรง พร้อมที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกับกลุ่มที่มีความคิดตรงข้ามกับตนและร่วมกับตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับความขัดแย้ง อาทิ ภาคธุรกิจ กลุ่มเกษตรกร ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ โดยมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านสันติวิธีเป็นผู้อำนวยกระบวนการพูดคุย (facilitator) เป็นต้น

 

 คนกลาง เหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทางการเมือง ยิ่งเห็นต่างกันยิ่งสนุก เพราะจะสะท้อนมุมมองที่หลากหลายออกมา การเปิดพื้นที่ให้เกิดความหลากหลายทางความคิด จะช่วยให้ความขัดแย้งมีทางเลือกที่ไม่ใช่ความรุนแรงมากขึ้น ถนนที่สังคมจะเดินผ่านความขัดแย้งโดยไม่ตกหลุมบ่อของความรุนแรงก็จะกว้างขึ้น แต่ทั้งนี้ แม้จะมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย แต่คนกลางจะต้องมีจุดร่วมกันประการหนึ่ง คือ การไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงทุกชนิดจากทุกฝ่าย การยึดมั่นร่วมกันว่าสิ่งสำคัญเหนือเป้าหมายการต่อสู้ใดใด ก็คือ ชีวิตคนที่ไม่ว่าจะเป็นคนฝ่ายใดต่างก็มีคุณค่าเท่าเทียมกัน

 

เป้าหมายของการทำหน้าที่ คนกลาง ดังกล่าว ไม่ได้อยู่ที่การต่อรองเพื่อชัยชนะของฝ่ายใด หากแต่มีเป้าหมายเฉพาะหน้าอยู่ที่การประคับประคองความขัดแย้ง หรือการเคลื่อนไหวของคู่ขัดแย้งทั้งฝ่ายตนและฝ่ายตรงข้ามให้เป็นไปในวิถีที่ไม่ใช้ความรุนแรง และมีเป้าหมายระยะยาวอยู่ตรงการประกาศวงพูดคุยของตนเป็นพื้นที่กลาง อันเป็นพื้นที่ปลอดภัย” (safety zone) ที่ต้อนรับคนกลุ่ม/ฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นได้โดยเสรีและปลอดภัย ภายใต้กติกาง่ายๆ ร่วมกันข้อเดียว คือ ต้องไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงของทุกฝ่าย

 

 ในบริบทของความขัดแย้งที่แบ่งขั้วชัดเจนของประเทศไทย คนที่อยู่ตรงกลาง มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนคนที่อยู่สุดขั้วสองฝั่งมักมีจำนวนไม่มากเท่า แต่เสียงดังกว่า เและมีอำนาจกำหนดทิศทางของสังคมทั้งหมด เนื่องด้วยการอ้างความเป็นตัวแทนของคนที่ไม่ได้พูด” (หรือพูดไม่ออกบอกไม่ถูกจนไม่ได้พูด) คุณค่าของการเปิดพื้นที่กลาง ขยายจากวงคุยของคนกลางจึงอยู่ที่การเอื้อให้คนที่อยู่ตรงกลางได้มีพื้นที่เสรีและปลอดภัยในการแสดงความต้องการของตนที่ไม่ถูกกลืนกิน กล่าวอ้างจากขั้วใดขั้วหนึ่ง

 

 พร้อมไปกับ ขยายรวมเอา (include) มวลชนจากสองขั้วขัดแย้งที่เห็นด้วยกับแนวทางสันติเข้าสู่วงพูดคุยให้มากขึ้น เพื่อยกระดับ พื้นที่กลางให้เป็นพื้นที่ต่อสู้ต่อรองทางการเมืองที่ชอบธรรมมากกว่าพื้นที่แห่งการแบ่งขั้วเผชิญหน้า ยกระดับให้พื้นที่กลางเป็นพื้นที่เดียวที่จะมอบแนวทางก้าวพ้นความขัดแย้งได้โดยชอบธรรมเพราะเป็นที่รวมเอามวลมหาประชาชน จำนวนมากกว่าคนที่ยังคงยืนอยู่สองขั้วที่แบ่งข้างอย่างสุดติ่ง ปฏิเสธรับฟังฝ่ายอื่น และพร้อมสู้หัวชนฝาด้วยสรรพวิธีอันไม่คัดสรรเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน

 

การยกระดับพื้นที่กลาง ในแง่นี้จึงเท่ากับเป็นการลดทอนบ่อนทำลายความชอบธรรมของการใช้วิธีการรุนแรงใดใดหรือแนวคิด/แนวทางเคลื่อนไหวมวลชนในลักษณะยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง ฝังรากของความเกลียดชัง หรือลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายอื่น อันเท่ากับเป็นการกีดกัน (exclude) คนที่นิยมใช้ความรุนแรงเป็นวิธีต่อสู้ทางการเมือง ออกจากการมีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางและชะตากรรมของสังคมในสถานการณ์ความขัดแย้ง

 

การปฏิเสธความรุนแรงไม่ว่าจะจากฝ่ายใด จึงเป็นหลักการสำคัญที่คนกลาง และคนที่เข้ามาใช้พื้นที่กลางเคลื่อนไหวเป้าหมายทางการเมืองของแต่ละคน/แต่ละกลุ่ม จะต้องรักษายึดมั่นร่วมกันให้ดี ข้อเสนอนี้ไม่ใช่เพียงข้อเสนอเฉพาะหน้า แต่มุ่งหวังจะวางบรรทัดฐานให้กับการข้ามผ่านความขัดแย้งของสังคมไทยในอนาคต ...เป็นอนาคต ที่พวกหัวรุนแรง สุดโต่ง บ้าอำนาจ จะหมดอนาคตลงทุกขณะ