Skip to main content

 

หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข …...

สิ่งที่เหลืออยู่...

อรอุมา ธานี
ดลยารัตน์ บากา
ภาพประกอบโดย: วิเชียร ไกรเทพ

          แว่นตาเลนส์สีชา วางอยู่ในตู้ล็อคเกอร์ไม้สี่เหลี่ยมใบเล็กๆ ฉันหยิบมันออกมาพร้อมกับมือที่สั่นเล็กน้อย ค่อยๆ หยิบมันขึ้นมาลูบอย่างแผ่วเบา ไม่ได้มีเพียงแค่ฝุ่นเกาะอยู่เท่านั้น แต่ยังคงมีคราบเลือดหลงเหลืออยู่ ภาพของอาเบ๊าะยังคงชัดเจนอยู่ในความทรงจำเสมอ เหมือนกับเขาไม่ได้จากฉันไปไหน หัวใจของฉันเต้นผิดจังหวะทุกครั้งเมื่อมองไปยังเลนส์แว่นตาสีชาที่คุ้นเคย มันช่างมีความหมายที่ทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวในอดีตมากมาย รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น 

       …………………..

          ในพื้นที่เล็กๆ ของบ้านเช่าหลังหนึ่ง บนโต๊ะเต็มไปด้วยข้าวของที่เพิ่งซื้อมาจากตลาดนัดในตัวเมือง เพื่อที่จะทำไปขายที่ตลาดนัดบาบอเซะ ตลาดนัดใกล้ๆ บ้าน หน้าปอเนาะบาบอเซะ ตำบลตะลุโบะ ชุมชนเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ชานเมือง จังหวัดปัตตานี ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนก็ล้วนแล้วแต่ทำมาค้าขายเล็กน้อยๆ บ้างก็ปลูกผักสวนครัวนำไปขายในตลาด วันนี้เป็นวันแรกที่ฉันจะไปขายของ ทั้งยุ่งทั้งเหนื่อย แต่ก็มีความสุข เมื่อหันไปมองชายรูปร่างสูงใหญ่ ผิวกร้านคล้ำ นุ่งกางเกงเล สวมเสื้อกล้ามสีขาวที่ฉันคุ้นเคย

          “ตอนที่เป็นตำรวจ อาเบ๊าะต้องฝึกหนักมาก ผิวก็เลยคล้ำ แต่จริงๆ แล้วอาเบ๊าะผิวขาวนะ” เขาเงยหน้าบอกกับฉัน หลังรู้สึกตัวว่ามีคนแอบมองอยู่

          อาเบ๊าะกำลังสาละวนอยู่กับการทอดปลาบนเตา พร้อมเหงื่อที่ไหลไล่มาจนเสื้อบางส่วนเปียก ฉันอดไม่ได้เข้าไปกอดและถามว่า 

          “เหนื่อยไหม” 

           อาเบ๊าะหันมายิ้มให้ฉัน แววตาของเขาช่างอบอุ่นและเต็มไปด้วยความรัก  มันทำให้ฉันเชื่อมั่นและศรัทธาในความรักที่เขามีให้ และนี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ฉันเลือกที่จะอยู่เคียงข้าง แม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งอย่างฉัน จะตัดสินใจจากบ้าน จากครอบครัว มาจากแดนไกลจากขอนแก่น มาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ .....จังหวัดปัตตานี 

           ฉันเลือกที่จะอยู่เคียงข้างกับชายที่ฉันรักและศรัทธา และอาเบ๊าะก็เป็นคนแรกที่สอนให้ฉันรักและศรัทธาในอิสลาม  

           ใช่! ฉันไม่ใช่มุสลิมโดยกำเนิด ฉันเป็นคนต่างศาสนาที่ได้เข้ารับอิสลาม

           “เราต้องขายดีและขายหมดแน่ๆ เลยเจ๊ะ” อาเบ๊าะพูดให้กำลังใจฉัน

           เราช่วยกันทำไปหยอกล้อกันไปโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลย  ไม่ไกลนัก ลูกทั้งสี่คนกำลังเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนานอยู่หน้าบ้าน ทั้งน้องปอนด์ลูกสาวคนโต วัย 11 ขวบ น้องมัซลูกสาวอีกคน วัย 7 ขวบ น้องธัน ลูกชายวัย 4 ขวบ และน้องดาลูกสาวคนเล็กวัย 2 ขวบ พร้อมกับนาเดียลูกของเพื่อนบ้านด้วย 

           ได้เวลาที่จะต้องขนของขึ้นรถไปขายที่ตลาดแล้ว เราต่างก็ช่วยกันอย่างขะมักเขม้น ขนของเสร็จ เขาก็กลับบ้าน ฉันไม่คิดเลยว่าการกลับบ้านของเขาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้เจอกัน อยู่ด้วยกัน ไม่มีคำพูด ไม่มีคำลา ไม่มีสัญญาณใดๆ บอกให้ฉันล่วงรู้ว่าเขากำลังจะจากฉันกับลูกไป ขายของได้สักพักนึง น้องปอนด์ก็มาช่วยฉันขายของ ฉันถามว่าใครมาส่ง 

          “อาเบ๊าะมาส่งและจะไปทำธุระต่อ น้องก็ไปกันหมดเลย นาเดียก็ไปด้วย” น้องปอนด์ตอบ 

          ยังจำเวลานั้นได้ดี ราว 6 โมงเย็นกว่าของวันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม 2550 น้องมัซนั่'มอเตอร์ไซค์มากับใครก็ไม่รู้ หน้าซีด ตาแดง เหมือนคนจะร้องไห้ 

          “อาเบ๊าะขับรถชนต้นไม้ ถูกยิงด้วย” เสียงของน้องมัซดังก้องอยู่ในหัว

          “แล้วน้องอยู่ไหน” ฉันรีบถามหาลูกคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มาพร้อมกันด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

          “มีคนไปส่งน้องที่บ้านแล้ว” น้องมัซตอบด้วยน้ำเสียงที่ยังตื่นตระหนกอยู่

          มันเหมือนหัวใจของฉันหยุดเต้น สมองไม่ทำงาน รถตำรวจ รถปอเต็กตึ๊ง วิ่งผ่านหน้าฉันอย่างเร่งรีบไปยังที่เกิดเหตุ แล้วฉันก็มุ่งหน้าไปยังที่เกิดเหตุทันที คนมุงดูเยอะมาก เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาฟังไม่ได้ศัพท์ หูอื้อไปหมด

          ทันทีที่ฉันเห็นร่างไร้วิญญาณของชายผู้เป็นที่รัก ฉันทรุดตัวลง ไม่มีแม้แต่เรี่ยวแรง ไม่มีแม้แต่น้ำตา มีแต่คำถามมากมาย มันเป็นการสูญเสียที่เจ็บปวด บรรยายไม่ถูก เพราะในเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายนั้น ลูกของฉัน เด็กตัวน้อยๆ ทั้ง 3 คน ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ต้องเผชิญหน้ากับคนที่ได้พรากเอาชีวิตของพ่อพวกเขาไปต่อหน้าต่อตาอย่างเลือดเย็น ความรู้สึกและหัวใจอ่อนบางของพวกเขาจะเจ็บปวดเพียงใด เสียงปืนที่ดังก้องกังวาน เสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยเลือด รวมทั้งเสียงวิงวอนร้องขอชีวิต 

          “พี่อย่าทำอะไรหนูนะ” คำพูดของน้องมัซ ในขณะที่เผชิญหน้าอยู่กับคนร้ายซึ่งกำลังรื้อค้นข้าวของในรถ 

          “ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร” คำตอบของคนที่กระชากหัวใจดวงน้อยๆ ออกจากร่างพร้อมกับพ่อของเขา 

          มันช่างโหดร้ายและเจ็บปวดเหลือเกิน แต่ในโชคร้ายก็ยังมีโชคดีที่ลูกๆ ไม่ได้รับอันตรายใดๆ เลย ไม่มีแม้แต่ร่องรอยบาดแผลบนร่างกาย นอกจากหัวใจที่บอบช้ำ และนี่คือบททดสอบของการเป็นมุสลิมของฉัน 

          หลังงานศพผ่านพ้นไป ฉันเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในฝันร้ายที่ยังไม่ตื่น  คืนแล้วคืนเล่าที่ต้องนอนลืมตาอยู่ในความมืดพร้อมกับมองดูลูกน้อยที่นอนหลับอยู่เคียงข้างกายฉันอย่างไร้เดียงสา ฉันไม่เคยคิดเลยว่าลูกๆ จะต้องกำพร้าพ่อเหมือนฉัน ความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวเหมือนอยู่คนเดียวในโลก คิดถึงแม่ คิดถึงพี่ๆ ซึ่งก็อยู่ไกลกันเหลือเกิน ในเวลานี้คงมีเพียงน้ำตาที่คอยอยู่เป็นเพื่อนกัน จากนี้ต่อไป ฉันจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ในวันที่ไม่มีอาเบ๊าะ ฉันจะทำอย่างไรดีหนอ

           ฉันเหลียวหันไปมองรอบข้าง ภาพของเด็กน้อยที่นอนหลับอยู่เคียงข้าง ทำให้คิดได้ว่าถ้าฉันอ่อนแอแล้วลูกจะอยู่อย่างไร 

          “ใช่ ฉันยังมีลูก ยังมีสิ่งดีๆ ที่เหลืออยู่ สิ่งที่ดีที่สุดที่อัลลอฮฺทรงมอบให้” 

           และนี่ก็คือกำลังใจสุดท้ายที่ทำให้ฉันลุกขึ้นมา พร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอีกครั้ง

           ฉันเริ่มต้นที่จะออกไปขายส้มตำตามตลาดนัดต่างๆ ตามชานเมืองปัตตานี ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดบานา ตลาดนัดบาราโหม ตลาดนัดสะพานปลา ตลาดนัดยือโมะ ที่ไหนที่เขาบอกว่าขายดีก็จะไปขาย ถึงแม้ว่าบางที่อาจจะอยู่ไกลบ้าง บางที่อาจจะเปลี่ยวบ้าง ช่วงที่ไปขายส้มตำก็จะฝากลูกๆ ไว้กับเจ้าของบ้านที่ฉันเช่าอยู่ บางวันเจ้าของบ้านเช่าก็ให้ลูกสาวของเขาซึ่งยังเป็นเด็กในวัยเรียนมัธยมต้นไปช่วยขายเป็นเพื่อนฉัน เพราะถนนหนทางบางเส้นทางค่อนข้างจะเปลี่ยว ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้เจ้าของบ้านเช่ายังคงคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจฉันเสมอ ตั้งแต่ออกไปขายของตามตลาดต่างๆ ทำให้กลับบ้านไม่เป็นเวลา บางวันก็กลับบ้านเร็ว บางวันก็กลับดึก แม้จะเหนื่อยเพียงใด แต่ก็ต้องอดทนเพื่อคนที่เหลืออยู่

          วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ฉันกลับมาจากการขายส้มตำที่ตลาดนัดยือโมะ รู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน มอเตอร์ไซค์โชเล่คันเดิมแล่นผ่านบนถนนเส้นที่มีแสงไฟส่องเพียงบางช่วงถนนเท่านั้น บางช่วงไม่มีแม้แต่แสงไฟ ทำให้ถนนเส้นนั้นมืดมิด รถราวิ่งบางตาบอกให้รู้ว่าดึกมากแล้ว เสียงจักจั่นร้องเซ็งแซ่ดังตลอดทางพร้อมกับแรงลมที่พัดมากระทบกับใบหน้าของฉัน มือหนึ่งก็บิดคันเร่ง มือหนึ่งก็ปาดน้ำตาที่ไหลรินลงมาเป็นทาง มองไปทางไหนก็มืดมนไปหมด ณ เวลานั้นทำให้หวนนึกถึงคำๆ หนึ่งที่มีคนบอกฉันว่า 

          “เรายังมีอัลลอฮฺอยู่ ไม่ต้องกลัว อัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือเรา ขอเพียงแค่เราเชื่อมั่นและศรัทธา” และฉันก็เชื่อเช่นนั้น 

          วันเวลาผ่านไปอย่างช้าๆ ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น จิตใจแข็งแรงขึ้น ลูกๆ ก็โตขึ้น ลูกคนโตก็ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่มูลนิธิอัลเกาษัร ที่พระประแดง สมุทรปราการ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ส่งเสริมและให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาส ส่วนลูกๆ อีกสามคนก็ได้เรียนในโรงเรียนที่ดี มีศาสนา ส่วนฉันก็ได้ทำงานดูแลคนป่วยเป็นอัมพาต  ซึ่งเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้ฉันมีความสุขกับการดูแลปรนนิบัติแต่ทำได้เกือบปี คนป่วยก็ได้เสียชีวิตลง และได้ทำให้ฉันได้รู้จักกับคนใจดีชวนให้ฉันกับเพื่อนๆ รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวและมีอาชีพที่มั่นคงภายใต้ชื่อ “กลุ่มน้ำพริกเซากูน่า” 

            …………………..

          “เซากูน่า” เป็นรสชาติของชีวิตที่มีผู้คนหลากหลายมารวมกลุ่มกัน ประกอบไปด้วยหญิงหม้ายจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้หญิงที่ประสบปัญหาความยากจนและด้อยโอกาส เหมือนดั่งความหมายของ “เซากูน่า (ZAUQUNA)” ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ มีความหมายว่า “รสชาติของเรา” โดยฉันได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาในปี 2552 

            เริ่มแรกเดิมทีนั้นทางกลุ่มได้ทำน้ำพริกไม่มากนัก เช่น น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกขิงปลาดุกฟู น้ำพริกนรก ต่อมาได้ลองทำเมี่ยงคำสำเร็จรูปด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเรามุ่งเน้นในเรื่องของการคัดสรรวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดมะม่วงหิมพานต์ กุ้งแห้ง มะพร้าว มีวางขายตามร้านขายของฝากบรรดาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ร้านอาหารในตัวเมืองปัตตานี ไปรษณีย์เมืองปัตตานี ร้านค้าชุมชน งานแสดงสินค้าต่างๆ ออกร้านขายตามสถานที่ที่จัดงานประชุม นอกจากนี้ยังมีการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าอีกด้วย

           ทุกวันนี้ทุกอย่างก็กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี เรามีโรงเรือนซึ่งเป็นสถานที่ผลิตน้ำพริกและเมี่ยง ตั้งอยู่ในชุมชนตะลุโบะ หน้าโรงเรียนอามานะศักดิ์ แถวชานเมืองปัตตานี และในอนาคตเราหวังว่า เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐาน อ.ย. และมาตรฐานฮาลาล ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างยื่นขอขึ้นทะเบียน ก็จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสามารถเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและขยายตลาดได้มากขึ้น ส่งผลทำให้มีรายได้ที่มากขึ้นและมั่นคง และยังเป็นการส่งเสริมการจ้างงานให้กับคนที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้อีกด้วย

          นอกเหนือจากการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยกันสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแล้ว เรายังคงช่วยกันเยียวยาจิตใจ เป็นกำลังใจให้แก่กันและกันกับเพื่อนๆ ภายในกลุ่ม มีการจัดตั้ง 'กองทุนบริสุทธิ์' โดยหักเงินจากกำไรสุทธิ (รายได้หลังจากหักต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายแล้ว) เป็นจำนวน 15 % เข้ากองทุน เพื่อให้สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ หรือกู้ยืมไว้ใช้ในยามที่เดือดร้อนจำเป็น โดยได้ดำเนินการตามหลักการของอิสลาม ปลอดดอกเบี้ย อย่างเช่นมีเพื่อนสมาชิกในกลุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นหญิงหม้ายและพิการ ต้องการกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุนเปิดกิจการของตัวเอง ให้สามารถที่จะทำงานอยู่กับบ้านได้ จากเดิมที่เคยเป็นลูกจ้าง ซึ่งทุกวันนี้ก็มีกิจการเป็นของตัวเองแล้ว และในบางครั้งที่สมาชิกในกลุ่มเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็จะนำเงินจากกองทุนบริสุทธิ์ไปช่วยเหลือให้กับเพื่อนๆ สมาชิกอีกด้วย 

          ระยะหลัง ฉันมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้หลายอย่าง เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมจัดรายการวิทยุเสียงผู้หญิงจากชายแดนใต้ มันเป็นงานที่ท้าทายที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่จากการได้เข้ารับการฝึกอบรม ก็ทำให้ฉันมีความมั่นใจในการจัดรายการวิทยุ และรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นกระบอกเสียงแทนหญิงมุอัลลัฟ* ที่แม้ในวันที่ต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัว แต่หากเพราะความศรัทธาในศาสนาอันแข็งแกร่งและการมีกลุ่มอาชีพ จึงทำให้สามารถเยียวยาตัวเองและยืนหยัดได้จนถึงทุกวันนี้

          อีกกี่ชีวิต อีกกี่ครอบครัวที่ต้องสูญเสียไปกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ข่าวระเบิด ยิงไม่เว้นแต่ละวัน เด็กกำพร้าและหญิงหม้ายมากมายที่ต้องแบกรับภาระดูแลลูกเพียงลำพัง ดูเถิดสิ่งที่เขาทำ ถูกแล้วหรือสำหรับการทำลายชีวิต ทำเพื่อสิ่งใดกันเล่า มันคงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ แต่ฉันยังคงมีความหวัง ฉันได้แต่เฝ้าวิงวอนขอดุอาต่อเอกองค์อัลลอฮฺ

         “ขอให้เหตุการณ์สงบ และเกิดความสันติในพื้นที่แห่งนี้”

         …………………..

           มือที่จับแว่นตาเลนส์สีชาค้างอยู่นานนับชั่วโมง ค่อยๆ วางมันลงอย่างแผ่วเบา หลายครั้งมีคนเฝ้าถามว่า “ทำไมไม่เช็ดล้างคราบเลือดออกจากแว่นตา” ฉันไม่ตอบ แต่รู้อยู่แก่ใจ เพราะมันเป็นการคงสภาพความทรงจำที่ฉันยังคงอยากจะเก็บไว้ เพื่อที่จะทำให้ฉันระลึกถึงเขาตลอดไป…

00000000000000000

พลังส่งกลับ | จากธอ สู่ ฉัน

ฉันชื่อ....ดลยา บากา

          “ฉันเป็นพี่เลี้ยงการเขียนประสบการณ์ชีวิตของอรอุมา ผู้หญิงที่ทำให้ฉันถึงกับต้องทบทวนชีวิตตัวเอง และเกิดคำถามประดังประเดมากมายในระหว่างที่ฟังเรื่องราวที่เธอถ่ายทอดออกมา

          ระหว่างการเขียนบันทึกความทรงจำให้กลายออกมาเป็นเรื่องเล่า ฉันยังสามารถได้ยินเสียงหัวเราะและเห็นรอยยิ้มของเธอ ที่อยู่ตรงหน้าฉันบ้าง ซึ่งมันกำลังแสดงให้ฉันเห็นว่า “เธอ” ได้ผ่านพ้นบททดสอบที่หนักหนาไปได้แล้ว เธอทำได้อย่างไร ฉันเฝ้าถามตัวเอง ยิ่งฉันได้คุยกับเธอมากเท่าไหร่ ฉันยิ่งรู้จักเธอมากขึ้นเท่านั้น มันก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ทำให้เรื่องราว อันเจ็บปวดเหล่านั้นไม่สามารถทำร้ายจิตใจเธอไปมากกว่านี้ นั้นคือ“ลูก” และ “ศาสนา” เป็นพลังทำให้คนอย่าง อรอุมา ผ่านสิ่งนั้นไปได้”
 

 

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี  

ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา