วันที่ 7 กันยายน 2557 สถาบันสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่ ได้จัดบรรยายเพื่อให้ความรู้กับอาจารย์และนักวิจัย เพื่อการเรียนการสอน ด้านสันติภาพและความขัดแย้ง โดย ดร.นอเบิร์ต โรเปอร์ นักวิจัยอาวุโส จากสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม (CSCD) ซึ่งมีตัวแทนจากคณะและสถาบันต่างๆ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขต ปัตตานีและวิทยาเขตหาดใหญ่เข้าร่วมรับฟังและอภิปราย ในการนี้ ทาง CSCD จึงขอถ่ายทอดบางส่วนจากการบรรยายของ ดร.นอเบิร์ต แก่ผู้ที่สนใจดังนี้
ศาสตร์ว่าด้วยสันติภาพและความขัดแย้ง (Peace and Conflict Studies – PSC)
การศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง เป็นศาสตร์ที่เกิดขึ้นในขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 ซึ่งเป็นช่วงกระแสการต่อต้านสงครามเวียดนามในยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นโลกกำลังให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทหาร ดังนั้น เพื่อที่จะก้าวข้ามศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับแนวทางสัจนิยม และการแบ่งแยกระหว่างศาสตร์ต่างๆ อย่างชัดเจน แนวทางการศึกษา PCS จึงพยายามเข้ามาบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เช่น สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงของความเป็นจริง ผู้บุกเบิกวงการการศึกษา Peace and Conflict Studies หรือ PSC คนแรกๆ คือ Johan Galtung เดิมเขาเป็นนักวิชาการที่มีพื้นฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็มีผู้ให้ความสนใจศึกษาเรื่องความรุนแรง ความขัดแย้งและสันติภาพมาก่อน เช่น Immanuel Kant นักปรัชญาชาวเยอรมันที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าสากลของสันติภาพ
ลักษณะของ PSC ไม่ใช่ศาสตร์ที่ให้ความสำคัญเพียงแค่ในเชิงทฤษฎี แต่ให้ความสำคัญกับการนำมาปฏิบัติใช้เพื่อที่ตอบคำถามว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อลดความรุนแรงและจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นสังคม PCS สามารถเทียบเคียงได้กับศาสตร์ทางการแพทย์ ที่ตั้งคำถามว่า เราจะทำให้คนมีชีวิตรอดได้อย่างไรและการยึดมั่นในคำปฏิญาณของทางการแพทย์ ซึ่งกว่า 50 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันการศึกษาด้านสันติภาพและความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ เช่น องค์กรวิจัย หรือ สถาบันศึกษาที่เน้นหลักสูตรสันติภาพกว่า 400 แห่ง สถาบันเก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดคือ คือ สมาคมวิจัยสันติภาพนานาชาติ หรือ IPRA (International Peace Research Association)
ในช่วงแรก มีการถกเถียงในเรื่องชื่อของสาขาวิชาว่าจะเรียกศาสตร์ดังกล่าวว่าอะไร ไม่ว่าจะเป็น Conflict Studies/Peace and Conflict Studies/ Conflict Resolution ซึ่งหากเราพิจารณาแล้วธรรมชาติศาสตร์ดังกล่าว มีลักษณะที่ใกล้กับศาสตร์ทางการเมือง ที่ต้องมีลักษณะร่วมกับศาสตร์ด้านอื่นๆ ดังนั้น แม้ว่าจะมีชื่อเรียกต่างกันหรือ ในการศึกษาความรุนแรงกับการศึกษาสันติภาพจะแยกการศึกษาดังกล่าวจากกัน แต่ในเชิงความคิดไม่ได้แยกออกจากกัน
โครงสร้างสำหรับการทำงานสันติภาพ (Infrastructure for Peace - I4P)
กล่าวได้ว่าสหประชาชาตินำเอาความคิดเกี่ยวกับ I4P มาใช้เป็นครั้งแรก ไม่มีการแปลภาษาไทยที่ตายตัว แต่ในความหมายโดยรวม คือการทำให้สันติภาพถูกสถาปนาในเชิงกายภาพ เป็นสถาบันทางสังคม เพื่อที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินไปข้างหน้า ไม่วนกลับมาสู่ความรุนแรงหรือความขัดแย้งแบบเดิมอีก I4P จะอยู่ในโครงสร้างภายในสังคมของตัวเอง เพื่อเชื่อมต่อการทำงานระหว่างผู้นำระดับบนและผู้ตามระดับในระดับล่าง I4P เกิดในที่แรกๆ คือในบอสเนีย-เฮอเซโกวิน่า การเกิดขึ้นของ I4P จะช่วงทำให้เส้นทางของความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพที่มีลักษณะไม่ต่อเนื่อง มีความสมดุลมากขึ้น แต่ละ party หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียในสันติภาพและความขัดแย้งก็จะมี I4P เป็นของตัวเอง ลักษณะของ I4P อาจมีลักษณะที่รวมเอาทุกฝ่ายหรือกีดกันผู้มีส่วนได้เสียออกไปก็ได้ (inclusive or exclusive)
ตัวอย่าง Infrastructure for Peace ที่รวมเอาทุกฝ่าย (Inclusive)
1. สำนักเลขาธิการเพื่อสันติภาพ (Peace Secretariat) ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ หรือ OPAPP (Office of the Presidential Adviser on the Peace Process) เป็นตัวอย่างของ Peace Structure ที่ก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่ม
2. Myanmar Peace Center เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีผู้ลี้ภัยกลับเข้ามาทำงานด้านกระบวนการสันติภาพ ซึ่งรวมเอาชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มเข้ามา แนวความคิดของศูนย์นี้ คือ ต้องการให้กระบวนการสันติภาพเป็นของทุกคน
3. National Dialogue Conference ในเยเมน เป็นตัวอย่างของ I4P ที่ดีที่สุดในโลก ทำงานในประเด็นการแบ่งแยกเยเมนเหนือและเยเมนใต้ กว่า 30 % ของผู้เข้ามาร่วมกระบวนสันติภาพเป็นหนุ่มสาวจากพื้นที่ความขัดแย้ง รูปแบบของ National dialogue ดังกล่าวได้รวมเอาทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมือง กลุ่มติดอาวุธ ประชาชนเข้ามา ร่วมพูดคุยกันสองปี ก่อนที่จะมีข้อตกลงร่วมกัน
ตัวอย่าง Infrastructure for Peace ที่ไม่รวมทุกฝ่าย (exclusive)
ในความขัดแย้งที่ศรีลังกา แต่ละฝ่ายจะมี Peace Secretariat เป็นของตนเองแยกส่วนกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มที่ติดอาวุธ
ดร. นอเบิร์ต ได้สรุปรวมเอาตัวอย่าง I4P ทั่วโลกมาไว้ในที่เดียวเพื่อให้ดูง่าย (ของจริงจะมีความซับซ้อนมาก) จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลา (Time) ที่ดำเนินไป ระดับของความขัดแย้ง (Level of Conflict Escalation) จะมีลักษณะขึ้นลงไม่เท่ากัน การสถาปนา I4P นั้นก็จะเกิดขึ้นตามสภาพและช่วงเวลาที่ความขัดแย้งเกิดขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น I4P ในบางระดับจะมีคณะกรรมการติดตามการหยุดยิง (Domestic Ceasefire Monitoring) ที่เกิดขึ้นแล้ว เช่นใน อาเจะห์ เนปาล หรือ อินโดนีเซีย ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งพุ่งสูง หรือ ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งลดลงมา อาจมีการตั้งกระทรวงสันติภาพ (Ministry of Peace)ดั งที่เกิดขึ้นในกานา เนปาล จากนั้นในช่วงหลังความขัดแย้ง การเกิดคณะกรรมการค้นหาความจริง (TRCs) จนกระทั่งความขัดแย้งนั้นสงบลงทุกฝ่ายจะบันทึกความทรงจำด้านสันติภาพไว้ในพิพิธภัณฑ์สันติภาพเพื่อเป็นบทเรียน (Peace Memorial + Museum) กระนั้นในบางประเทศก็ยังไม่มีกลไก I4P ใดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่น ในลิเบีย หรือ อิรัก
ในภาพต่อมา ดร.นอร์เบิร์ต อธิบายถึงการรวมเอาหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง (Level of Inclusion) จะสัมพันธ์กับกับระดับให้ความร่วมมือทำงานร่วมกัน (Level of collaboration) ของ I4P อย่างไร ซึ่งสะท้อนถึงความยั่งยืนของกระบวนการสันติภาพ
ระดับของความร่วมมือและการรวมเอาหลายฝ่ายของ I4P ตามภาพ เป็นความร่วมมือที่เน้นใน Track 2-3 เช่น การมีศูนย์ทรัพยากรสันติ (PRC) เป็นการสถาปนา I4P ที่มีลักษณะร่วมเอาหลายฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน แต่ระดับของความร่วมมือจริงๆ ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจต้องมีโครงสร้างอื่น ของ I4P เข้ามาเพิ่มความร่วมมือ ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เป็นการก่อตั้ง I4P ที่รวมเอาคนหลากหลายเข้ามาทำงานด้านสมานฉันท์ (All Party Conference on Reconciliation) แต่ในข้อเสนอของ กอส.ก็ไม่ได้มีการเสนอถึงเรื่องการปกครองที่สอดคล้องกับในพื้นที่ หรือแม้แต่การสานเสวนาระดับชาติ (National dialogue) ที่อาจต้องนำเอาคนหลายกลุ่มเข้ามาพูดคุย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับบริบทของความร่วมมือของประเทศนั้น และการสถาปนา IP4 อื่นๆ เพื่อเข้าหนุนเสริมความร่วมมือในการพูดคุยสันติภาพให้มากขึ้นอีกด้วย