วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน เวลา 13.00-16.30 น. ห้องประชุมจุมภฎ-พันธ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางคณะนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “คนหนุ่มสาวมุสลิมกับโลกสมัยใหม่” ซึ่งได้รับ ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเปิดพรมแดนทางความรู้มุสลิมศึกษา สร้างความตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย อีกทั้งสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกันทั้งในหมู่มุสลิมและเพื่อนต่างศาสนา โดยมีคณะผู้ร่วมจัด ได้แก่ คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
หนังสือคนหนุ่มสาวกับโลกมุสลิมสมัยใหม่ ประกอบด้วยบทความ 16 เรื่อง โดยแบ่งบทความออก 5 กลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่มมีบรรณาธิการบทความ ดังนี้
1. อิสลามกับการเมืองในโลกสมัยใหม่ : ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี บรรณาธิการ
2. อัตลักษณ์มุสลิมในกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ : ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี บรรณาธิการ
3. ความเคลื่อนไหวของสตรีมุสลิมในโลกสมัยใหม่ : ดร.วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ บรรณาธิการ
4. ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในโลกอิสลาม: ดร.วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ บรรณาธิการ
5. ความเคลื่อนไหวในสามจังหวัดภาคใต้: ดร.วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ บรรณาธิการ
เปิดตัวหนังสือช่วงที่ 1
ในหัวขอ “ความท้าทายในโลกสมัยใหม่” กล่าวนำโดย ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี บรรณาธิการ อ.สุชาติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ ม.พายัพ และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ท่านกล่าวว่า โลกสมัยใหม่ หรือ “Modernity” กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจในแวดวงวิชาการทั่วโลก แต่งานวิชาการส่วนใหญ่ก็มาจากฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะงานวิชาการเกี่ยวกับโลกอิสลามที่มักถูกมองเป็นก้อนๆ เช่น การมองเป็นวัฒนธรรมอิสลาม จากงานวิชาการ The Clash of Civilizations ของ Huntington เป็นต้น แต่หากเราได้อ่านหนังสือ “คนหนุ่มสาวกับโลกมุสลิมสมัยใหม่” เล่มนี้ เราจะเห็นความหลากหลาย เห็นพลวัตมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมอิสลาม โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มศึกษา และประกอบไปด้วย 16 บทความที่น่าสนใจ ดังนี้
1. อิสลามกับการเมืองในโลกสมัยใหม่ โดย ประทับจิต นีละไพจิตร
ประทับจิตเริ่มแนะนำบทความ “พื้นที่การเมืองแบบอิสลามในโลกสมัยใหม่” ด้วย วลีที่ว่า “มุสลิมเป็นผู้ที่ผูกพันกับความรุ่งเรืองในอดีต เจ็บปวดกับปัจจุบัน แต่ก็ยังอุตส่าห์ฝันถึงอนาคต” เป็นคำกล่าวที่ตนเองอึดอัดใจมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีภาคภูมิใจกับความเป็นอิสลามว่า “อิสลามเคยเป็นอารยะธรรมที่รุ่งเรืองในอดีต” แต่เหตุใดจึงกลายมาเป็นเป้าหมายของแหล่งอ้างอิงความหวาดกลัวของผู้คนไปทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวเรื่องรัฐอิสลามเป็นอุดมการณ์หลัก ที่พูดถึงกันมากในปัจจุบันนี้คือ กลุ่ม IS หรือ ISIS (The Islamic State in Iraq and Syria)
เมื่อนักศึกษามุสลิมไม่กล้าตัดสินใจที่จะให้ความเห็นต่อกรณีที่ว่า ผู้รู้บางท่านตีความว่า กลุ่ม IS ไม่ใช่แนวทางแบบอิสลาม แต่ผู้รู้บางท่านกลับบอกว่า การต่อสู้ของกลุ่ม IS มีความชอบธรรม เพราะการใช้ความรุนแรงครั้งนี้ ถือเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ที่มุ่งทำลายโครงสร้างที่กำลังครอบงำโลกและเป็นแบบตะวันตกอยู่ ทั้งๆที่เป็นการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงและการฆ่ากันที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย จึงนำมาซึ่ง ความพยายามของตนเองในการ คิดสรุปรวบยอดว่า มีมายาคติอย่างน้อย 3 ประการ เกี่ยวกับมายาคติ 3 ประการ ได้แก่
1) อุดมการณ์รัฐอิสลามเป็นของที่มีอยู่แล้ว เป็นของเดิม และเป็นของจริง
ประทับจิตขอนำเสนอว่า “อุดมการณ์รัฐอิสลาม เป็นของใหม่” ถึงแม้ว่ารัฐชาติว่าใหม่แล้ว รัฐอิสลามก็ใหม่ด้วย ไม่ใช่ของเก่า ดังนั้นการศึกษาจำนวนมากยืนยันว่า คำว่า “รัฐอิสลาม” เป็นคำที่ดึงขึ้นมาใช้ในเวทีการถกเถียงในระดับโลก ตั้งแต่ปี ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา
2) มุสลิมกับความเป็นเอกภาพมุสลิมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูง
ในความเป็นจริงจากการศึกษาพบว่า “การปกครองโดยรัฐอิสลาม ไม่มีที่ไหนเหมือนกันสักที่” งานวิจัยจำนวนมากพบว่า อิทธิพล ประวัติศาสตร์ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจการเมืองของโลก ทำให้รูปแบบการปกครองของมุสลิมมีลักษณะเฉพาะตัวและแตกต่างกันความเปลี่ยนแปลงภายในสังคมและการตีความทางศาสนาภายในสังคม ต่างก็มีผลต่อการก่อร่างสร้างรูปที่แตกต่างกันขึ้นมา จึงสงสัยว่าเหตุใดมุสลิมส่วนใหญ่จึงมองว่า มุสลิมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูง และไม่มีความหลากหลายภายใน ซึ่งบางครั้ง “ความหลากหลาย” ก็ถือว่าเป็นความผิดในบางกาลเทศะด้วยซ้ำ
3) รัฐอิสลามเป็นเป้าหมายสูงสุด
เป็นมายาคติอีกตัวหนึ่งที่สามารถตอบบทบาทที่มุสลิมละเลยที่จะให้อะไร ต่อโลกใบนี้คือมายาคติว่า “รัฐอิสลามเป็นเป้าหมายสูงสุด” ในบทความ ดิฉันเขียนไว้ว่า “รัฐอิสลาม อาจจะไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่เป็นพื้นที่ทางการเมืองแบบข้ามพรมแดน คือ ประชาชาติอิสลามมากกว่า” ซึ่งการเมืองการจัดการการปกครองแบบอิสลาม จริงๆ แล้วมีความลื่นไหล เพราะไม่มีพิมพ์เขียว นอกจากหลักการกว้างๆ ที่ท่านศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้วางเอาไว้ และมีกลไกการปรึกษาหารือและการใช้กฎหมายอิสลาม ประเด็นสำคัญก็คือว่า การใช้กฎหมายอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่เล็ก ๆ หรือในพื้นที่ระดับที่เป็นประเทศ เป็นรัฐ จำเป็นจะต้องคิดเชื่อมโยงและตอบสนองรองรับต่อแนวคิดที่เป็นเป้าหมายหลักมากกว่าเป้าหมายเรื่องประชาชาติในคราวเดียวกัน
ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือว่า ประชาชาติอิสลาม หรือ อุมมะฮฺอิสลามียะฮฺ นั้นหมายถึงใคร รวมใครและแยกใครออกไปบ้าง ตามการศึกษาจำนวนมากได้ให้ความเห็นไว้ว่า คำว่า ”อุมมะฮฺอิสลาม” เป็น “ช่วงชั้นที่ครอบคลุมและรวบรวมผู้คนไว้เป็นชุมชนเดียวกัน ไม่ได้มีพื้นฐานทางชาติพันธุ์ ถิ่นฐาน ความเป็นพี่น้องและผลประโยชน์” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของท่านศาสดาศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมยังได้รวมชาวยิวและผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามด้วย แปลว่า พื้นฐานการตีความประชาชาติของอิสลาม มีพื้นฐานอยู่บนการตีความถึงความเป็นมนุษย์หรือมนุษยชาติ หรือ Humanity
นี่คือการมองว่า การสร้างรัฐอิสลาม จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ถึงรากถึงโคน (radical) อย่างที่หลายคนมักจะกล่าวอ้างกัน ความคิดเรื่อง “ประชาชาติอิสลาม”radical มากกว่า เพราะมุ่งตรงมีเป้าหมายที่การมองบรรลุแต่ละคนที่อยู่ในพื้นที่ ที่อยู่บนโลกใบนี้ น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ในชุมชนมุสลิมของเรา ทำไมจึงไม่มีพัฒนาการ “การถกเถียง” ทำไมถึงไม่มีพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาชาติ ทำไมขบวนการของการสร้างประชาชาติ จึงไม่เฟื่องฟูเท่ากับการพยายามผลักดันให้มีรัฐอิสลามบนโลก รัฐอิสลามเฟื่องฟูและเป็นที่ถกเถียง ในขณะที่คำสำคัญยิ่งกว่า อย่างคำว่า “ประชาชาติ” ถูกละทิ้ง และมันยิ่งสะท้อนความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวดว่า “อุดมการณ์รัฐอิสลาม” หลายครั้งเป็นเพียงเครื่องมือที่จะถูกนำมาใช้รองรับการสถาปนาอำนาจ และบางครั้งก็น่ากลัวกว่านั้นคือ การใช้เพื่อเป็นการรองรับการใช้ความรุนแรง
“วาทกรรมรัฐอิสลาม” ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกตีความให้แคบลงเรื่อย ๆ เป็นการกดดันที่สะท้อนได้ถึงความกลัวของสังคมมุสลิมเอง ที่สำคัญก็คือ เรายังไม่มีการถกเถียงเรื่องประชาชาติอิสลาม เพราะเรายังไม่กล้าที่จะยอมรับความเสี่ยงในโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน คงไม่ใช่ที่คนจำนวนมากกล่าวหาเราว่าเรา หยุดนิ่ง(static) แต่ตัวเราเองต่างหากที่ไม่ยอมรับความเสี่ยงที่จะตีความใช้ศาสนาเพื่อสันติภาพของคนทั้งมวล ด้วยสันติวิธี ไม่ตีความและละทิ้งคำว่าประชาชาติ เพราะเราแต่ละคนยังอยู่ในความกลัว และการไม่ยอมรับความเสี่ยงในการที่จะเข้าไปร่วมกับความคิดต่าง ๆ บนโลกที่มีอยู่
อย่างที่เรากล่าวอ้างไว้ว่าเราเป็นผู้นำ เราเป็นประชาชาติตัวอย่าง แนวทางในอนาคต ดิฉันขอเสนอให้มีการ”ถกเถียงเรื่องประชาชาติ” ความเป็นประชาติ ความเป็นชุมชนที่อยู่ข้ามพรมแดนไร้ข้อจำกัดเรื่องเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมซึ่งอันนี้น่าจะเป็นจุดที่สามารถทำให้มุสลิมมีความกล้าหาญในการที่จะมี Contribution ต่อโลกในอนาคต
2. ประชาธิปไตยในโลกอิสลาม โดย บูฆอรี ยีหมะ
บทความของบูฆอรี ต้องการยืนยันว่า “ประชาธิปไตย” สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ได้ขัดแย้งกับหลักการของศาสนาอิสลาม ระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นปัญหาในโลกอิสลามเกิดขึ้นทุกที่ไม่ใช่เฉพาะในตะวันออกกลางและประเทศอื่น ๆ เช่น ปากีสถาน และอินโดนีเซียที่เพิ่งจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่
แนวทางที่ใช้บูฆอรี ศึกษาคือการใช้กรอบของ “Political Economy” หรือกรอบทางเศรษฐกิจการเมือง มาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ซึ่งการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นปัญหาในโลกอิสลาม ซึ่งเป็นคนละแนวกับ “Political Islam” และไม่ได้ไปแตะในประเด็นนี้ เขาใช้กรอบของเศรษฐกิจการเมืองมาอธิบาย ข้อสรุปจากการศึกษา พบว่า ปรากฏการณ์ความล้มเหลวของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในโลกอิสลามในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากเศรษฐกิจสังคม มีหลายประเด็นที่ บูฆอรี เห็นก็คือ
1) การเป็นรัฐอิสลาม: รัฐอิสลามที่ได้แบบในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่มีรัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ต่างๆ ชัดเจนในเรื่องการปกครอง สะท้อนสิ่งที่การเมืองการปกครองที่ในระบอบประชาธิปไตยยึดถืออยู่ในปัจจุบัน เช่น กฎกติกาทางการเมืองที่ระบุไว้ชัดเจน เรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผ่านกระบวนการที่ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการต่าง ๆ ให้สามารถการตรวจสอบถ่วงดุลได้
2) ปรากฏความล้มเหลวของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในโลกอิสลามเป็นผลมาจากประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคม: เนื่องจากว่าหากพิจารณาประเทศมุสลิมทั้งหลาย พบว่ามีลักษณะร่วมบางประการ เช่น เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกมาก่อน นอกจากนี้ ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจในช่วงที่พัฒนาเศรษฐกิจแล้วถูกทำให้เป็นสมัยใหม่ หรือ Modernization เกิดเป็นช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนอย่างมาก จนเกิดการหลั่งไหลของคนชนบทเข้าสู่เมืองโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจในลักษณะที่ไม่สมดุล นำไปสู่การกระจุกตัวของโครงสร้างทางการเมือง ทำให้อำนาจตกไปอยู่ในมือของชนชั้นนำทางสังคมเศรษฐกิจ จนทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนค่อนข้างเป็นปัญหามุสลิมที่ถูกจัดอยู่ในประเทศโลกที่สาม ก็ไม่ต่างประเทศโลกที่สามอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจสังคม และมีผลในทางการเมือง