สตูล ในมลายูที่ไม่รู้สึก?
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
ความรู้สึกหลงและค้างคาจากงานเสวนาหนังสือมลายูที่รู้สึก ของ PATANIFORUM.COM จาก ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ-Prachyakiat Waroh
หลังจาก 'แบมะ-แวหามะ แวกือจิก' แห่งสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ว่าคนมลายูสตูล อย่าง 'ใบ-ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ' คือมลายูที่สยบยอมต่อรัฐไทย
'บังเช-ซาการียา อมตยา' กวีซีไรต์ 2553 ว่า 'ใบ-ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ' เป็นมลายูไม่รู้สึก มลายูไร้ราก
'ตูแว-ตูแวดานียา ตูแวแมแง' แห่งสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ว่า 'ใบ-ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ' คือ อนุสาวรีย์มลายูที่ถูกทำให้เป็นไทย แต่ยังเหลือสำนึกมลายูบ้าง
.......
จึงอยากอธิบายถึงมลายูของสตูลดังต่อไปนี้
สตูล ในอดีต คือ 1 ใน 4 หัวเมืองของราชอาณาจักรเคดะห์โบราณ (ไทรบุรี) ซึ่งเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์โบราณ
กระทั่งปี 2452 ราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์โบราณยกรัฐกะลันตัน เคดะห์ เปอร์ลิส และตรังกานูให้อังกฤษตามสนธิสัญญาแองโกล-สยาม 2452
เช่นกันทว่า ปี 2452 ปาตานี (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ) สตูล และสะเดา ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเคดะห์โบราณ (ไทรบุรี) ถูกผนวกเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ แห่ง 'ราชอาณาจักรสยาม' โดยสมบูรณ์
ท่ามกลางการต่อสู้และขัดขืนของปาตานี แต่สตูลกลับไม่มีปัญหาอันใด มีหลายสมมติฐานและทฤษฎีว่าทำไมถึงไม่ขัดขืนต่อรัฐชาติสมัยใหม่ แห่ง 'ราชอาณาจักรสยาม'
งานวิจัยเรื่อง Maintaining Peace in a Neighborhood Torn by Separatism: The Case of Satun Province in Southern Thailand โดย Thomas I. Parks อธิบายว่า
1. ชาวมุสลิมในจังหวัดสตูลไม่ซาบซึ้งใน "อัตลักษณ์ความเป็นมาเลย์" หากถามชาวสตูลคิดว่าอัตลักษณ์ของเขาคืออะไร ส่วนใหญ่จะตอบว่าเขาเป็น "คนไทย" หรือ "ไทยมุสลิม" เพราะ "สตูลเป็นส่วนหนึ่งของไทย เขาอยู่ที่นี่เขาก็ต้องเป็นคนไทย" นอกจากนี้ยังอ้างอิงได้จากบรรพบุรุษของเขาที่เติบโตบนแผ่นดินไทย ภาษาที่เขาใช้ ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับรัฐบาลไทย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือชาวมุสลิมที่นี่แทบจะไม่รู้สึกอะไรกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่เมื่อครั้งหนึ่งสตูลเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรี เพราะถือว่านั่นเป็นอดีตที่ผ่านมานานแล้ว
2. ประชากรกว่าร้อยละ 99 ใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสาร ในฐานะที่เป็นภาษาแรกและภาษาที่สอง บางทีปัจจัยข้อนี้อาจจะเป็นข้อแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดก็ว่าได้ เป็นเวลากว่าครึ่งทศวรรษแล้วที่มีการเรียนการสอนภาษาไทยกันอย่างกว้างขวางในโรงเรียน เด็กๆ มักจะเริ่มเรียนภาษามาเลย์จากที่บ้าน แต่เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วพวกเขาจะได้เรียนภาษาไทย สำหรับรัฐบาลไทยแล้ว สตูลถือได้ว่าเป็นผลผลิตแห่งอุดมคติของนโยบายการศึกษาที่จะใช้กับภาคใต้ของไทยเลยทีเดียว นโยบายดังกล่าวมีเป้าประสงค์ที่จะให้ชาวมุสลิมใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันและในโรงเรียน และใช้ภาษาอาราบิกในกิจกรรมและการเรียนการสอนทางศาสนา เป็นการใช้สองภาษาควบคู่กันได้อย่างอิสระ
ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ภาษามาเลย์มาเป็นภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว เริ่มจากรุ่นปู่ย่าตายายที่พูดได้แต่ภาษามาเลย์ พอมารุ่นลูกเริ่มพูดได้ 2 ภาษา เพราะได้รับการศึกษาจากโรงเรียน ครั้นมาถึงรุ่นหลานและเหลนบางคนพูดภาษาไทยได้เพียงภาษาเดียวเท่านั้น เหตุที่ผู้นำท้องถิ่นยอมรับการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นเพราะ นี่เป็นวิธีเดียวที่ชาวมุสลิมในจังหวัดสตูลจะได้รับโอกาสทางการศึกษาสายสามัญจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ปกครองท้องถิ่นบางท่าน เช่น พระยาสมานทราช บุรินทร์ (Tui bin Abdullah) ยังก่อตั้งโรงเรียนที่สอนภาษาไทยอีกหลายแห่งด้วย
3. การมีพรมแดนทางธรรมชาติเป็นแนวเขาที่ทอดตัวยาว กอปรกับป่าดงดิบตลอดแนวเขานั้น ทำให้ติดต่อกับชาวมาเลย์ในประเทศมาเลเซียยากลำบาก ยังผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันจืดจางหรือขาดสะบั้นลง
ในขณะที่พรมแดนทางด้านนราธิวาสและยะลากลับอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับชาวมาเลย์เป็นอย่างยิ่ง พี่น้องมุสลิมทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ทั้งจากการสมรส การใช้ภาษาที่มีสำเนียงเกือบจะเหมือนกันอย่างไม่ผิดเพี้ยน การมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ที่สำคัญแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นมักจะได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ จากบริเวณตะเข็บชายแดนนี้เป็นอย่างดีอีกด้วย
4. การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชนพุทธและชุมชนมุสลิม และการมีประวัติศาสตร์แห่งความสมานฉันท์มายาวนาน ที่นี่เราสามารถพบเห็นบ้านเรือนของชาวพุทธและชาวมุสลิมตั้งอยู่ปะปนกันในชุมชนเดียวกัน เรียกได้ว่าแทบจะหาชุมชนที่มีแต่ชาวพุทธหรือชาวมุสลิมทั้งชุมชนไม่ได้เลยในพื้นที่จังหวัดสตูล ชาวสตูลต่างภาคภูมิใจในความสมานฉันท์บนความแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรมที่บังเกิดขึ้นที่นี่ พวกเขามั่นใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างพุทธและมุสลิมที่นี่ดีมาโดยตลอด และจะดีอย่างนี้ตลอดไป ในขณะที่ชุมชนมุสลิมและชุมชนพุทธในยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จะแยกออกจากกันด้วยระยะทางที่ไกลอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนั้น ปัจจัยด้านภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถหาคำตอบแห่งสันติภาพท่ามกลางหมอกควันความคลุมเครือและความขัดแย้งที่ปกแผ่แผ่นดินไทยอยู่
1. ผู้ปกครองสตูลซึ่งเป็นชาวมุสลิมที่มาจากไทรบุรีในอดีต ซึ่งช่วงเวลานั้นกำลังถูกละเลยจากแหล่งที่มาของอำนาจเดิมคือไทรบุรี แต่กลับมาได้รับอำนาจการปกครองจากสยาม พวกชนชั้นปกครองเหล่านั้นจึง "เลือก" ที่จะให้ความร่วมมือฉันท์มิตรกับรัฐบาลสยาม ด้วยระบบการปกครองของสยาม แทนที่จะต่อต้านเหมือนผู้ปกครองจังหวัดอื่นๆ อีก 3 จังหวัดที่สูญเสียอำนาจการปกครอง และอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่เคยมี เหตุนี้เอง เมล็ดพันธุ์แห่งการแบ่งแยกดินแดนและการต่อต้านจึงยิ่งฝังรากลงในแผ่นดินรัฐปัตตานีอย่างชอบธรรม
นอกจากนี้ชาวสตูลยังรู้สึกอีกด้วยว่า การมีส่วนร่วมกับการเมืองการปกครองไทยจะทำให้พวกเขาได้รับความชอบธรรมในเรื่องต่างๆ มากขึ้น การปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยช่วยปกป้องสิทธิของชาวมุสลิมได้ และสามารถกำจัดการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ไปในที่สุด
2. ชาวมุสลิมในจังหวัดสตูลยึดมั่นในตำราทางประวัติศาสตร์ฉบับ "ไทย" ที่เชื่อว่าไทรบุรีอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของสยามมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เพราะมีการส่งเครื่องบรรณาการอย่างสม่ำเสมอ แม้ในโรงเรียนปอเนาะในจังหวัดสตูลก็ยังใช้ตำรานี้สอนเด็กๆ ในขณะที่ประวัติศาสตร์ฉบับ "มาเลย์" กล่าวว่า สตูลเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรี ซึ่งเป็นรัฐสุลต่านของมาเลเซีย การส่งเครื่องบรรณาการนั้นเป็นเพียงการแสดงถึงมิตรภาพเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของสยามแต่อย่างไร ซึ่งประวัติศาสตร์ฉบับ "มาเลย์" นี้เองที่แพร่กระจายแบบปากต่อปาก ส่งอิทธิพลเหนือความเชื่อของชาวมุสลิมในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
3. การที่สตูลเป็นเมือง "ชายขอบ" ของทั้งไทรบุรี และหัวเมืองนครศรีธรรมราชของสยาม ส่งผลให้ผู้ปกครองสตูลเรียนรู้การจัดการกับอำนาจที่มาจากภายนอกได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่ได้รับอิทธิพลจากทั้งสองฝ่ายรุมเร้าจนเสียสมดุลดังเช่นในจังหวัดอื่นๆ
4. รัฐบาลไทยมีนโยบาย "สมานฉันท์" โดยการให้อิสระแก่สตูลในการดำรง "อัตลักษณ์" ของตนเอง ไม่เคยมองว่าสตูลเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อความมั่นคงภายในประเทศ ทำให้ผู้ปกครองท้องถิ่นของสตูลยังสามารถคงอำนาจในการปกครองตนเองตลอดมา ในทางกลับกันกลับใช้แรงกดดันทางการเมือง และใช้กองกำลังทหารเข้าคุกคามและควบคุม "อัตลักษณ์" ของปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านบนวิถีทางความรุนแรงในที่สุด
(อ่านรายละเอียด http://prachatai.com/journal/2006/01/6855)
ขณะที่วิทยานิพนธ์ 'การเมืองของการนิยมความเป็นสตูล: ศึกษาเน้นมุมมองของรัฐไทยระหว่างพ.ศ. 2475 – 2480' ของสุภาลักษณ์ ตั้งจิตต์ศีล ระบุว่า
การที่สตูลมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างจากปาตานี คือ ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่เชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม แต่พูดภาษาไทย เป็นผลจากประวัติศาสตร์ร่วมของสตูลและรัฐไทยตั้งแต่ภายหลังการทำสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอังกฤษใน พ.ศ. 2452โดยรัฐไทยมีมาตรการผสานสตูลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยอย่างเร่งรีบ การเร่งปักปันเขตแดน ปฏิรูปทางการเมือง ให้การศึกษาภาษาไทยพร้อมกับการขยายอำนาจการปกครอง โดยส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้าไปดูแลกิจการของจังหวัดอย่างใกล้ชิด
...
จึงไม่แปลกที่ 'แบมะ-แวหามะ แวกือจิก' แห่งสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ว่าคนมลายูสตูล อย่าง 'ใบ-ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ' คือมลายูที่สยบยอมต่อรัฐไทย
'บังเช-ซาการียา อมตยา' กวีซีไรต์ 2553 ว่า 'ใบ-ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ' เป็นมลายูไม่รู้สึก มลายูไร้ราก
'ตูแว-ตูแวดานียา ตูแวแมแง' แห่งสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ว่า 'ใบ-ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ' คือ อนุสาวรีย์มลายูที่ถูกทำให้เป็นไทย แต่ยังเหลือสำนึกมลายูบ้าง
.....
สุดท้ายก็ได้แต่หวังว่า 'ความเป็นมลายู' คงไม่คับแคบ และแข็งตัว เหมือนกับ 'ความเป็นไทย' ที่แข็งตัว และคับแคบ พร้อมปฏิเสธความเป็นอื่นอยู่ตลอดเวลา
..
ในรัฐผูกขาดคับแคบและเห็นแก่ตัว ไม่ว่าชาติพันธุ์ไหน ศาสนาไหน พร้อมถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา นับมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอาจล่วงถึงอนาคต
.
เราต่างก็ฝันถึงรัฐของประชาชน ไม่ว่าชาติพันธุ์ไหน และศาสนาไหน ใช่หรือเปล่า