ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
13 ปีตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 ที่มีเหตุการณ์ปล้นปืน ‘ค่ายปิเหล็ง’ อันเป็นการปะทุของสถานการณ์ความขัดแย้งชายแดนใต้รอบใหม่ และ 11 ปี ของความขัดแย้งทางการเมืองไทย นับจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทั่งถึงปัจจุบันแนวโน้มความขัดแย้งทั้ง 2 มีทีท่ายืดเยื้อและเรื้อรัง การทำความเข้าใจความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นจำเป็น คนทำสื่อยิ่งต้องทำความเข้าใจ ยิ่งคนทำสื่อในชายแดนใต้ยิ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจความขัดแย้ง
ระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2558 PATANI FORUM จัดอบรมเชิงปฏิบัติการณ์ (Work Shop) วิเคราะห์และพัฒนาประเด็นข่าวเพื่อสร้างผลกระทบต่อสาธารณะ ใน‘โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรสื่อภาคพลเมืองเพื่อการสื่อสารสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้’ ภายใต้โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ช.ช.ต.) ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute-LDI) ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก (World Bank) และกระทรวงการคลังของไทย
‘บทบาท และท่าทีของสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งปาตานี / ชายแดนใต้ และการเมืองไทย ปัจจุบัน-อนาคต ควรเป็นไปอย่างไร’ คือ หัวข้อหนึ่งที่ ‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น นักข่าวอาวุโสผู้ผ่านประสบการณ์การทำข่าวความขัดแย้งในลาว กัมพูชา เวียดนาม และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนกับสื่อทางเลือกชายแดนใต้ประมาณ 20 คน จากโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, สำนักสื่อ WARTANI, สถานีวิทยุ MEDIA SELATAN , กลุ่ม InSouth, AWAN BOOK , SAIBURI LOOKER ,FreeVoiceMedia รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมที่ผลิตสื่อ อย่าง ศูนย์วัฒนธรรมสลาตัน (BUMI) และกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมชายแดนใต้ ณ ห้องประชุมโรงแรมบูม ฟอร์เรส ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558
ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์เลว เพราะเอื้อคนจนและกระทบผลประโยชน์ชนชั้นสูง
‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ เริ่มด้วยการอธิบายมุมมองต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย
…..
สถานการณ์โลกสมัยใหม่ที่ไร้พรมแดนมีการติดต่อสื่อสารกันมากและหลากหลาย ทำให้แต่ละประเทศสูญเสียลักษณะเด่นไปค่อนข้างมาก แต่ละรัฐ แต่ละประเทศพยายามเน้นมากกว่าความเป็นรัฐสมัยใหม่ ทั้งเรื่องอำนาจและดินแดนของตัวเองต่อประชากรภายในรัฐ สิ่งที่รัฐต่างๆ ในโลกพยายามหาลักษณะผูกคนภายในรัฐให้อยู่ร่วมกันอย่างมั่นคงเป็นหนึ่งเดียว ทว่าด้วยกระแสการเคลื่อนย้ายด้านเศรษฐกิจและประชากรอย่างรวดเร็วและหลากหลาย จึงทำให้อัตลักษณ์ของชาติของรัฐสั่นคลอน อย่างประเทศไทยพยายามสร้างการเป็นรัฐเดี่ยว ทั้งในความหมายของการเป็นรัฐ ไม่มีรัฐเล็กๆ ภายในรัฐใหญ่ และเป็นรัฐเดี่ยวในของอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมเพียงหนึ่งเดียว ภาษาต้องใช้ภาษาไทย วัฒนธรรมต้องเป็นวัฒนธรรมไทย เมื่อมีสิ่งสั่นคลอนความเป็นชาติจึงเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง
ชนชั้นนำ ชนชั้นสูงไทยเองรู้สึกอยู่ลำบากกับความเป็นโลกสมัยใหม่ และรู้สึกไม่มั่นคงท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง ถ้าสังเกตุคนในประเทศไทยที่ออกอาการห่วงใยชาติ อยากเห็นการรัฐประหาร อยากเห็นการปฏิรูป ฯลฯ เป็นคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปแล้วทั้งสิ้น รู้สึกรับมือและแข่งขันไม่ได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ เช่นการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ต้องรับไม่ได้กับการที่คนแปลกถิ่นเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นนำเอาภาษา วิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม รสนิยมเข้ามาด้วย เมื่อมีการปะทะทางวัฒนธรรม คนกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจว่าสังคมอยู่อย่างสงบมานานรู้สึกรับไม่ได้ ทั้งที่ความจริงสังคมไทยไม่เคยสงบ มีการรบทำสงครามกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ รัฐชาติไทยสมัยใหม่สร้างมาจากการรบราฆ่าฟันกันระหว่างอาณาจักร ต่อมาก็รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่มีอุดมการณ์ทางเมืองที่แตกต่าง รบกับขบวนการปลดปล่อยปาตานี อันที่จริงความขัดแย้งไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทยเลย มีคนพูดว่าสังคมไทยอยู่กันแบบโอบอ้อมอารี อยู่กันฉันมิตร ล้วนแต่เป็นการโกหกทั้งสิ้น
เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ไหล่บ่า คนกลุ่มที่เข้าใจว่าสังคมอยู่อย่างสงบมานานรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมที่เอื้อประโยชน์แก่ชนชั้นที่ต่ำกว่า คนชนชั้นสูงรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ โครงสร้างสังคม คนชั้นสูงรู้สึกว่าชนชั้นล่างกำลังแย่งอำนาจการเป็นเจ้าของประเทศ กระบวนการกำหนดทิศทางประเทศผ่านระบอบประชาธิปไตยไปจากเขา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากชนบทมาแย่งทรัพยากรงบประมาณส่วนกลางแล้วแบ่งปันกลับคืนสู่ชนบทบ้านเกิด ผ่านการสร้างถนนคอนกรีตในจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านของตัวเอง แม้จะเอื้อให้เฉพาะกลุ่มก้อนของตัวเองแต่อย่างน้อยผลประโยชน์ก็ได้รับกับท้องถิ่นชนบทอยู่ดี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีอำนาจเก็บภาษีท้องถิ่น พิจารณางบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้ชนชั้นสูงที่อยู่ในกรุงเทพฯ รู้สึกสูญเสียอำนาจที่เคยมีไป
ทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นตัวแทนของสิ่งชั่วร้ายทั้งหมด ทั้งที่ในสังคมไทยมีวัฒนธรรมการคอรัปชั่นกันทั่วไป แต่ชนชั้นสูงสร้างภาพชี้นำว่านักการเมืองเท่านั้นที่คอรัปชั่น ก่อนหน้านี้ความมั่งคั่งถูกผูกขาดโดยชนชั้นสูง ประเทศไทยคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทว่าคน 90 เปอร์เซ็นเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ทว่าระบอบประชาธิปไตย ทำให้ความมั่งคั่งถูกกระจายมาสู่คนชนบทผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นรัฐมนตรีที่มาจากชนบทดึงงบประมาณจากส่วนกลางกระจายสู่ชนบท
แน่นอนคนจนในสังคมก็ยังจนอยู่ดี แต่ก็มีคนในชนบทส่วนหนึ่งที่สามารถผลักดันตัวเองสู่ชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม พอสังคมชนบทขยายตัวกลุ่มนายทุนก็ไม่สามารถกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางได้อีกต่อไป นำมาสู่การกระจายไปยังนายทุนกลุ่มใหม่ และทักษิณ ชินวัตร เป็นกลุ่มทุนใหม่ที่ไม่สามารถไปกันได้กับการจัดสรรทรัพยากรในวิธีการแบบเดิมๆ ที่กองทัพเป็นนายหน้าเอื้อให้กับกลุ่มทุนเก่า
ทักษิณ ชินวัตร มาเปิดพื้นที่ให้กับนายทุนกลุ่มใหม่ ในหมู่บ้านชนบทมีโอกาสจับเงินล้านสมัยทักษิณ ชินวัตร ด้วยวิธีคิดให้คนปรับตัวเป็นนายทุนลงทุนธุรกิจขนาดเล็กสามารถมีกิจการเป็นของตัวเอง และด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงสั่นคลอนกลุ่มทุนเก่า แนวคิดเกี่ยวกับจำนำข้าวเป็นแนวคิดของอาจารย์อัมมาร สยามวาลา อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่รณรงค์
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แค่นำการจำนำข้าวมาดำเนินนโยบายเท่านั้น แม้การจำนำข้าวอาจมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้นบ้าง แต่การจำนำข้าวทำให้ข้าวของคนจนได้ราคาแต่มันกลับทำลายกลไกตลาดเดิม ทำลายกลุ่มนายทุนเดิมที่เคยผูกขาดตลาดส่งออกข้าวมานาน
เกษตรกรขายข้าวได้ 1,5000 บาท รัฐโดยพรรคเพื่อไทยเข้ามาจัดการตลาดข้าวทำให้กลุ่มนายทุนเดิมเดือดร้อน นโยบายต่างๆ ขึ้นค่าแรง 300 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ส่งผลกระทบกับกลุ่มนายทุนเดิมอย่างมาก และผลจากความเดือดร้อนของนายทุนที่สูญเสียผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวอย่างทักษิณ ยิ่งลักษณ์จึงถูกสร้างให้กลายเป็นคนชั่วร้าย
ถ้ากลัวว่านโยบายประชานิยมของทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ว่า เป็นการเอาเงินส่วนกลางของประเทศมาอุดหนุนนโยบายการจำนำข้าวที่ขาดทุน ครั้งหนึ่งในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งรัฐบาลเคยมีนโยบายเอาเงินอุดหนุนธนาคารที่ส่อล่ม เป็นแสนๆล้าน เช่นกัน การอุดหนุนธนาคารเมื่อปี 2540 ก็ไม่ได้คืนเหมือนกันกับนโยบายจำนำข้าว แต่การจำนำข้าวคือการเอาเงินให้คนจน ทุกวันนี้เศรษฐกิจไม่ดีเพราะไม่สามารถเอาเงินให้คนจนได้ วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีทีสุดคือการเอาเงินให้คนจน แต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ดำเนินนโยบายประชานิยมไม่ได้เพราะเป็นรัฐบาลของคนรวย และอาจด้วยวาทกรรม การแจกเงินมันทำให้ชาวไร่ชาวนานิสัยเสีย
นักการเมืองจึงถูกมองว่าเป็นพวกชั่วร้าย เพราะนักการเมืองเข้ามาแบ่งปันอำนาจและแบ่งปันผลประโยชน์จากชนชั้นสูง ขณะที่กองทัพคอยเก็บค่าหัวคิวทางเศรษฐกิจ ทหารค่อยๆ ฟื้นภาพลักษณ์หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เริ่มกลายเป็นความหวังของชนชั้นสูงเมื่อทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วดำเนินนโยบายประชานิยมที่ทำให้กลุ่มทุนเก่ารู้สึกสูญเสียผลประโยชน์จนนำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งๆที่รู้ว่าทหารไม่มีฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจ แต่อยากให้ทหาร คอยการรักษาระเบียบและความมั่นคงให้สังคม
มีคำถามว่าแล้วอะไรคือภัยคุกคามความมั่นคงในปัจจุบันของประเทศไทย ทั้งที่ภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้านไม่มี ทว่ามีภัยคุกคามจากภายใน คือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ไม่ต้องการเผด็จการ แม้แต่การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ก็เป็นภัยคุกคามของรัฐ รัฐบาลทหารรู้สึกไม่มั่นคงจากการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนขาดเสรีภาพมากขึ้นทั้งที่ประเทศอยู่การเปลี่ยนผ่าน
ปฏิรูประเทศกันแบบไหนให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่เอาเข้าจริงการปฏิรูปก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนและชนชั้นสูงอยู่รอดอย่างมั่นคงด้วยการสูญเสียความมั่นคง สิทธิ เสรีภาพของประชาชนและความตกต่ำทางเศรษฐกิจไทย
เรียนรู้ปฏิบัติการข่าวสาร-โฆษณาชวนเชื่อ และวาทกรรม
จากนั้น ‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ พูดถึงวิธีการหนึ่งในสงคราม คือ การปฏิบัติการข่าวสาร โฆษณาชวนเชื่อ และวาทกรรม พร้อมทำความเข้าใจสื่อสงครามและสื่อสันติภาพ (War Journalism-Peace Journalism)
…..
ยุทธวิธีของสงคราม มีด้วยกัน 3 วิธี คือ การโต้ตอบด้วยอาวุธ การปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation : IO) และการปฏิบัติการจิตวิทยามวลชน การใช้กำลังอาวุธกับกลุ่มจับอาวุธ การใช้ IO กับสื่อมวลชน และการใช้การปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนกับประชาชน
การปฏิบัติการข่าวสาร คือการใช้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกตัดตอน ล่อลวง หรือการปล่อยข่าวลวงเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นหรือความสนใจของสังคม ทำให้ไขว้เขว มีมูลความจริงเพียงบางส่วน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องโกหกเสมอไป จุดประสงค์เพื่อสร้างความชอบธรรมหรือสนับสนุนข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การปฏิบัติการข่าวสารใช้เพื่อเสริมภาพลักษณ์ของชาติ ของกองทัพ
การปฏิบัติการข่าวสาร ถูกปฏิบัติการเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านโฆษกรัฐบาล โฆษกของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation : IO) เช่นกัน ยิ่งในสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นช่องทางเผยแพร่กระจายให้คนอื่นแชร์ได้เร็วที่สุดโดยไม่มีการตรวจสอบ เช่น ในเพจเสธ.น้ำเงิน มีการเผยแพร่เรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพื่อสังคมทั่วไปรับรู้ข้อมูลไขว้เขว เผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดทั้งบทบาทของอเมริกา สงครามโลกครั้งที่ 3 ระหว่างจีนกับอเมริกากำลังจะเกิดขึ้น ผังล้มอุทยานราชภักดิ์ ผังล้มเจ้า ฯลฯ
ในชายแดนใต้ น่าจะเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อนกรุงเทพฯ เจอปฏิบัติอาจการข่าวสารจากทหารมาตลอด แม้แต่โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โฆษก (ศอ.บต.) ออกมาชี้แจงก็เป็นปฏิบัติการข่าวสารรูปแบบหนึ่ง มีการปล่อยข้อมูลเท็จบ้างจริงบ้าง ยิ่งในสื่อสังคมออนไลน์น่าจะมีเยอะมากกว่า
แนวทางแก้หรือตอบโต้การการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation : IO) มี 3 วิธีการ คือ 1.ทำให้สิ่งที่ไอโอกล่าวถึงเป็นเรื่องที่เหลวไหลหรือดูตลกไร้สาระ เช่น การเขียนการ์ตูนล้อเลียน 2.การค้นหาความจริงมาชี้แจง เช่น โดยสื่อแต่ต้องมีความเป็นกลาง นำเสนอความจริงมากที่สุด เขียนรายงานอย่างที่มันเป็นไม่ใช่อย่างที่อยากให้เป็น เช่นกรณีที่มีการพาดพิงไปถึงใคร สื่อก็ต้องตามไปสัมภาษณ์คนนั้น และ 3.กรณีที่ถูกโจมตีส่วนตัว ผู้ถูกโจมตีก็ต้องตอบโต้ เช่น โดยการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น
อีกอันวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) จุดประสงค์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ โฆษณาชวนเชื่อ และผลิตซ้ำ เป็นการสร้างความเข้าใจภาพ โฆษณาคุณงามความดีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ชาติ
ส่วนวิธีการขั้นสูง คือ การสร้างวาทกรรม (discourse) ผ่านการสร้างความรู้ อุดมการณ์ความเชื่อ วัฒนธรรม และอื่นๆ เช่น นักการเมืองเลว ทักษิณเป็นคนชั่ว ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต คนไทยเคยยิ่งใหญ่ในบูรพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติเพราะรับรองความชอบธรรมของตัวเอง อันเนื่องมาจากความว้าเหว่ของชนชั้นสูงไทย สิ่งสำคัญที่ทำควบคู่กันคือ การปฏิบัติการวาทกรรม ด้วยการให้พระพูดว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป มีการแต่งเพลงเผยแพร่ จับกุมดำเนินคดี ฯลฯ
การต่อต้านวาทกรรมต้องสร้างผ่านอุดมการณ์ความเชื่อ สร้างทฤษฏีใหม่มาต่อสู้ เช่น คอมมิวนิสต์พยายามปลดปล่อยจากทุนนิยม กรณีการเลิกทาส นอกจากออกกฎหมายเลิกทาสแล้วยังต้องปลดปล่อยความคิดทาสออกมาด้วย
สื่อสงคราม (War Journalism) กับสื่อสันติภาพ (Peace Journalism)
สื่อสงคราม (War Journalism) กับสื่อสันติภาพ (Peace Journalism) ผมแทบมองไม่เห็นเส้นแบ่งระหว่างกัน ถ้าพิจารณาดูแล้วน่าจะเป็นนักสื่อสารที่สนใจปัญหาเฉพาะด้าน เช่น นักข่าวสิทธิมนุษชน นักข่าวสิ่งแวดล้อม นักข่าวสันติภาพ
ในการรายงานข่าวไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย แม้ว่าจะเป็นสื่อสันติภาพ (Peace Journalism) ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรายงานเหตุระเบิด การฆ่ากันที่เกิดขึ้นจริง สาเหตุของความอึดอัด คับข้องใจในการทำให้คนตัดสินใจจับอาวุธต่อสู้ การเป็นสื่อสันติภาพ (Peace Journalism)ไม่ใช่แค่รอรายงานแต่การพูดคุย เจรจาสันติภาพเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ทำข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิด ยิงกัน สิ่งที่คำนึงคือจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สันติภาพอย่างไร แม้การเจรจานำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงสงบศึกแต่ไม่ได้รับประกันว่าสงครามจะไม่เกิดขึ้นอีก ตราบใดที่รากเหง้าของความขัดแย้งยังอยู่ ความไม่เป็นธรรมยังยังมีอยู่มาก
สื่อสงคราม (War Journalism) อาจรายงานแค่ ใครโจมตีใครได้เท่าไหร่ ยังไง ใครยึดพื้นที่ไหนได้ ใครประสบความสำเร็จ ใครล้มเหลวในการทำสงคราม ใครชนะ ใครแพ้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเกิดคำนึงว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็อาจค้นหารากเหง้าของความขัดแย้ง ไปหาคนเป็นเหยื่อของสงคราม ไปหาผู้อพยพรายงานเรื่องความทุกข์ยากของสงคราม ค้นหาสัญญาสันติภาพแล้วนำเสนอ
“เป้าหมายของนักข่าวก็เพื่อต้องการให้คนตระหนักถึงข้อเท็จจริง ยิ่งสถานการณ์ที่ขาดความเป็นสันติภาพยิ่งต้องทำ อาชีพนี้ยิ่งในสังคมไหนที่ขาดเสรีภาพยิ่งจำเป็นต้องสื่อสาร” สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ย้ำตอนท้าย
เผยแพร่ครั้งแรก : ฟาตอนีออนไลน์,29 มีนาคม 2559,http://www.fatonionline.com/2184