Skip to main content

การหันมานับถือศาสนาอิสลามของชาวอังกฤษ ซึ่งในแต่ละปีมีมากถึง ๕,๐๐๐ คน ดูเหมือนจะสวนทางกับกระแสอิสลาโมโฟเบียที่กำลังลุกลามรุนแรงทั่วทวีปยุโรป จำนวนประชากรมุสลิมที่มีอัตราพุ่งสูงขึ้นจากกลุ่มคนอพยพและมุสลิมใหม่ซึ่งเดิมส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ก็อเทวนิยมอาจทำให้เกิดภูมิทัศน์ทางประชากรศาสตร์แบบใหม่  บทความต่อไปนี้แปลและเรียบเรียงจากบทความที่มีชื่อว่า “Converting to Islam: British women on prayer, peace and prejudice” ของ Veronique Mistiaen ซึ่งได้เล่าถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้หญิงอังกฤษหกคนที่เธอมีโอกาสได้คุยสัมภาษณ์เกี่ยวกับการเข้ารับอิสลาม การถูกมองในแง่ร้าย การพบเจอกับสันติภาพภายในใจ และการสละเวลาละหมาดแม้ในที่จอดรถ บทความชิ้นนี้เผยแพร่ในเวบไซต์เดอะการ์เดียน ของอังกฤษเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖

การแสดงความคิดเห็นของผู้หญิงบางคนในจำนวนหกคนนี้ที่เวโรนิกได้สัมภาษณ์อาจสร้างความรู้สึก “ถูกรบกวน” ต่อมุสลิมหลายคนๆ แต่นั้นก็แสดงถึง”ความจริง”ในแบบของเธอที่เกิดจากสถานการณ์ที่เธอเหล่านี้ประสบและเกิดขึ้นจริง-เช่นในกรณีของ อนิตาที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามัสยิดเพียงเพราะเป็นผู้หญิง กรณีของแอนนี่ที่ดูเหมือนน้ำใจของมุสลิมเหือดแห้งเพราะไม่มีใครเลยที่จะกล่าวอวยพรอีดิลมูบาร๊อคแก่เธอ-แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า อิสลามในแบบที่เธอประสบเจอมีแกนคำสอนอย่างนั้นจริงๆ

สิ่งที่น่าสนใจของบทสัมภาษณ์นี้คือ การไม่ได้ให้น้ำหนักต่อความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาทั้งหกคนกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม แต่กลับนำเสนอการปะทะระหว่างความเข้าใจต่ออิสลามของผู้หญิงมุสลิมเหล่านี้ กับความเข้าใจที่มีต่ออิสลามของเหล่าบุคคลที่ผู้หญิงทั้งหกคนผ่านเจอ ซึ่งเขาเหล่านี้เป็นมุสลิมโดยกำเนิด และมีพื้นฐานเดิมทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และการตีความศาสนาที่ต่างออกไป นอกจากนี้ บทสัมภาษณ์นี้ได้เผยความรู้สึกไม่สบายใจของมุสลิมใหม่เหล่านี้เมื่อไปเจอปัญหาสามัญของมนุษย์ทั่วไปของเพื่อนมุสลิมที่พวกเธอได้รู้จัก เช่นกรณีของอันเดรียที่ต้องเจอ “ปัญหาของผู้หญิง” หรือในกรณีของผู้รับอิสลามใหม่ที่ไม่ขอเผยชื่อ ที่เธอมีความรู้สึกถูกทอดทิ้งเมื่อ “บรรดาพี่สาวแห่งอิสลาม” ยุ่งเสียจนไม่มีเวลาที่จะให้คำปรึกษาและพบเจอ  

---------------------------------

การเข้ารับอิสลาม: สตรีอังกฤษ การสวดละหมาด สันติ และอคติ

เวโรนิก มิสไทเอิน

ไอโอนี ซัลลีวาน เจ้าพนักงานท้องถิ่นของรัฐ อายุ ๓๗ จากเมือง อีสต์ซาเซกซ์

ดิฉันแต่งงานกับมุสลิมและมีลูกด้วยกันสองคน เราอยู่ในเมืองเลวีส ดิฉันน่าจะเป็นคนเดียวที่คลุมฮิญาบในเมืองนี้

ฉันเกิดและเติบโตในครอบครัวคนชั้นกลาง มีความคิดที่นิยมซ้าย และไม่เชื่อในพระเจ้า พ่อของดิฉันเป็นศาสตราจารย์ แม่เป็นครู หลังจากจากเรียนจบปริญญาโทด้านปรัชญาจากเคมบริดจ์ในปี ๒๐๐๐ ฉันก็เริ่มทำงานในอียิปต์ จอร์แดน ปาเลสไตน์ และอิสราเอล ก่อนหน้านั้น ฉันมีความคิดที่มองแบบเหมารวมต่ออิสลาม แต่ต่อมา กลับรู้สึกประทับใจกับความมั่นคงเหนียวแน่นของมุสลิมที่มีต่อศาสนาของเขา ชีวิตของพวกเขาแย่มาก แต่พวกเขาเกือบจะทุกคนที่ดิฉันพบดำเนินชีวิตด้วยความนิ่งสงบและมั่นคงซึ่งดูออกจะขัดกับโลกที่ฉันจากมา

ในปี ๒๐๐๑ ดิฉันเกิดไปตกหลุมรักและแต่งงานกับชาวจอร์แดนคนหนึ่งมีพื้นฐานที่ไม่ได้เคร่งครัดอะไรมาก แรกๆเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันออกไปทางแบบตะวันตกเอามากๆ เที่ยวบาร์และคลับ แต่ช่วงนี้เองที่ดิฉันเริ่มเรียนภาษาอาหรับและศึกษาอ่านอัลกุรอานฉบับภาษาอังกฤษ ฉันพบว่าตัวเองกำลังอ่านคัมภีร์ที่ยืนยันการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าด้วยภาษาที่อย่างสวยงาม ความสมดุลของสิ่งที่ถูกสร้างสรรค์ ไม่ใช่ในแบบที่บอกให้ดิฉันเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าที่เดินอยู่บนแผ่นดินในรูปของมนุษย์ ดิฉันไม่ได้ต้องการพระนักบวชมาให้พรดิฉันหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้ได้ภาวนาขอพร จากนั้น ดิฉันเริ่มศึกษาการปฏิบัติด้านอื่นๆของอิสลามซึ่งต่อมาได้ขจัดความรู้สึกที่ไม่ดีที่มีต่ออิสลามออก การถือศีลอด การให้ทานที่เป็นส่วนบังคับ ความคิดเรื่องการถ่อมตน ดิฉันหยุดมองว่ามันเป็นข้อจำกัดที่เข้มงวดต่ออิสรภาพส่วนบุคคล และเริ่มคิดได้ว่ามันคือแนวทางความสำเร็จในการควบคุมตัวเอง             

ในใจของดิฉัน ดิฉันเริ่มคิดว่าตัวเองเป็นมุสลิมคนหนึ่งไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องประกาศมันออกมา ซึ่งเป็นเพราะฉันไม่อยากไปสร้างความคิดขัดแย้งกับครอบครัวและเพื่อนๆ แต่สุดท้าย กลับเป็นฮิญาบที่ “ขับ” ดิฉันออกให้ไปเผชิญสังคมที่กว้างกว่า ดิฉันเริ่มรู้สึกเหมือนว่ากำลังโกหกกับตัวเองหากไม่ได้เริ่มหยิบฮิญาบมาสวม ดิฉันรู้สึกลำบากและติดขัดอยู่เหมือนกัน แต่ก็รู้สึกตลกขบขันกับตัวเองไปด้วย ผู้คนเริ่มพูดเงียบๆว่าดิฉันเป็นมะเร็งหรือเปล่า แต่สุดท้าย ดิฉันรู้สึกแปลกใจและดีใจที่มันไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรมากกับความสัมพันธ์กับคนที่ฉันรู้จัก

 

อนิตา เนยาร์ นักจิตวิทยาสังคมและนักกิจกรรมความเท่าเทียมกันทางเพศ อายุ ๓๑ ปี จากกรุงลอนดอน

ในฐานะที่เกิดจากครอบครัวแบบเองโกล-อินเดียน โดยที่มีปู่กับย่าเป็นฮินดูที่ผ่านช่วงเวลาของการแบ่งแยกประเทศออกเป็นปากีสถานและอินเดีย และได้เห็นครอบครัวโดนยิงด้วยน้ำมือมุสลิม ดิฉันถูกเลี้ยงดูและเติบโตมากับความรู้สึกที่มืดหม่นต่ออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับมุสลิม

ดิฉันเป็นคริสต์ที่เคร่งคนหนึ่ง ไปโบสถ์เป็นประจำ และคิดต้องการบวชแม่ชี ตอนอายุ ๑๖  ดิฉันได้ย้ายออกไปเรียนโรงเรียนเซคคิวลาร์ ซึ่งที่นี่ ดิฉันได้พบเพื่อนที่เป็นมุสลิม และรู้สึกตกใจมากเมื่อได้เห็นว่าพวกเขาก็ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาทั่วๆไป ดิฉันเกิดชอบพวกเขา เราเริ่มพูดคุย ซึ่งจุดประสงค์ของดิฉันคือเพื่อให้พวกเขารู้ว่าศาสนาของพวกเขานั้นเลวร้ายขนาดไหน ดิฉันเองก็เพิ่งได้รู้ว่าอิสลามก็ไม่ต่างกันมากกับศาสนาคริสต์ เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งกระทั่งดิฉันมาถึงจุดของการเปลี่ยนศาสนา ดิฉันเข้ารับอิสลามในปี ๒๐๐๐ ตอนนั้นดิฉันอายุ ๑๘ ปี แม่ดิฉันเสียใจเอามากๆ แต่พ่อค่อนข้างที่จะรับได้ ส่วนสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวเรารู้สึกเหมือนโดนถูกทรยศ

ดิฉันเคยคลุมฮิญาบซึ่งก็มีผลหลายอย่าง มันแสดงถึงศรัทธาของคนๆหนึ่ง แล้วยังช่วยกันไม่ให้คนอื่นมายุ่งคุยแบบไม่มีสาระหรือชวนไปกินเหล้า แต่ขณะเดียวกัน ฮิญาบทำให้ดิฉันตกเป็นเป้าความสนใจของคนที่มองแบบเหมารวมต่อผู้หญิงมุสลิมที่แสดงออกความเป็นมุสลิมอย่าง”ชัดเจน” ว่าเป็นพวกถูกกดขี่หรือผู้ก่อการร้าย นอกจากนั้นแล้ว ฮิญาบยังทำเราได้รับปฏิกิริยาที่ดีจากจากชุมชนมุสลิม

แต่ผู้คนก็คาดหวังพฤติกรรมบางอย่างจากผู้หญิงที่สวมผ้าคลุมผม ดิฉันเริ่มสงสัยตัวเองทำอย่างนั้นเพื่อพระผู้เป็นเจ้าจริงๆหรือเพื่อเติมเต็มบทบาท “ผู้หญิงเปี่ยมศรัทธาคนหนึ่ง” ซึ่งสุดท้าย การไม่ใส่ผ้าคลุมผมช่วยทำให้ความศรัทธาของดิฉันไม่มาสามารถมองเห็นด้วยสายตาอีกครั้งหนึ่ง และเปิดโอกาสให้ได้ทบทวนความสัมพันธ์ของดิฉันกับพระผู้เป็นเจ้า       

ปัญหาใหญ่ที่ดิฉันเจอคือ การถูกสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้ามัสยิด เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เราต้องไปที่อื่นตอนที่เราพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับพระผู้เป็นเจ้า แต่เรากลับถูกตอบปฏิเสธเพราะผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามัสยิด เมื่อก่อน ฉันต้องละหมาดในที่จอดรถ ระเบียงที่ทำงานและในร้านไก่ทอด ที่ตลกร้ายคือ ที่ทำงานของดิฉันถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่จะหยุดห้ามดิฉันละหมาดเพราะนั้นอาจกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่มัสยิดบางแห่งกลับที่ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น  

 

ดร. แอนนี่ (อามีนา) ค๊อกซ์ซอน แพทย์ให้การปรึกษาและนักประสาทวิทยา อายุ ๗๒ ปี จากลอนดอน

ดิฉันเป็นคนอังกฤษที่สืบเชื้อสายจากชาวนอร์มาน เติบโตในสหรัฐฯและอียิปต์ ก่อนที่จะกลับมาเรียนในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในอังกฤษเมื่อตอนอายุเก้าปี จากนั้น ดิฉันได้เข้ารับการฝึกหัดทางการแพทย์ในกรุงลอนดอนและสหรัฐฯ ดิฉันได้แต่งงานสองครั้ง มีลูกบุญธรรมสามคนและมีหลานบุญธรรมอีกห้าคน

ดิฉันเข้ารับอิสลามเมื่อ ๒๑ ปีก่อน ซึ่งเป็นผลพวงจากการค้นหาทางเลือกทางจิตวิญญาณเพิ่มจากศาสนาคริสต์แบบคาทอลิก ที่จริงดิฉันไม่ได้สนอิสลามตั้งแต่แรกเพราะภาพลบของอิสลามที่มีในสื่อ การเปลี่ยนหันสู่อิสลามเป็นแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไปและได้รับการชี้นำผ่านการกระทำของมารดาของซุลตานแห่งโอมานคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนไข้ของดิฉัน และด้วยนิมิตฝัน

ครอบครัวของดิฉันตกใจอย่างมาก แต่ก็ยอมรับการตัดสินใจของดิฉัน หลังจากเหตุการณ์ ๑๑ กันยา ความสัมพันธ์ของดิฉันกับพี่สะใภ้เปลี่ยนไป เธอไม่ยินดีต้อนรับดิฉันให้เข้าบ้านของเธอเลยหลังจากนั้น ดิฉันมีเพื่อนที่มองว่าการเปลี่ยนศาสนาของดิฉันเป็นเรื่องที่เพี้ยนบ้า แต่พวกเขาก็รับได้ ดิฉันต้องเสียเพื่อนที่ไม่ได้สนิทอะไรมากนักไปหลายคน

เมื่อตอนที่เข้ารับอิสลาม อีหม่ามได้แนะนำให้ดิฉันแต่งตัวให้เรียบร้อย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องสวมฮิญาบเพราะอายุดิฉันมากแล้ว ในช่วงเดือนรอมฎอน ดิฉันบอกคนไข้ว่าดิฉันอาจดูแปลกไปบ้างถ้าเห็นดิฉันกลับจากมัสยิด พวกเขาแค่รู้สึกแปลกใจและก็ไม่ได้รู้สึกรังเกียจอะไร

ดิฉันพยายามเข้ากิจกรรมของชุมชนมุสลิมต่างๆ เช่นชุมชนมุสลิมจากตุรกี ปากีสถาน และโมรอคโค เมื่อสามปีก่อน ดิฉันได้ไปมัสยิดของมุสลิมจากโมรอคโค ไม่มีใครสักคนเลยที่จะมากล่าวอวยพร “อีดิลมูบาร๊อก”แก่ดิฉัน ดิฉันเป็นโรคมะเร็งแต่ก็ไม่มีเพื่อนที่เป็นมุสลิมแม้แต่คนเดียว (ยกเว้นเพื่อนที่อายุมากแล้วคนเดียว) ที่มาเยี่ยมแล้วกล่าวขอพรในช่วงระยะเก้าเดือนของการบำบัดรักษา แต่ดิฉันคิดว่าเรื่องไม่สบายใจพวกนี้เป็นเรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ฉันได้รับ ความสงบนิ่ง ปัญญาและสันติ ตอนนี้ฉันได้เข้าร่วมกับชุมชนมุสลิมซึ่งพวกเขามีเชื้อสายแอฟริกัน

มุสลิมหลายคนที่มายังลอนดอนในฐานะผู้อพยพ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของพวกเขาเหนี่ยวแน่นกับมัสยิด พวกเขาไม่ต้องคนผิวขาวที่นั่น เราเป็นผู้คนพบใหม่ คงต้องมีสักวันหนึ่งที่คนเปลี่ยนรับศาสนาผิวขาวอย่างเราจะไม่ถูกมองว่าผิดแผกจากพวกอีกต่อไป

 

คริสเตียน แบ็กเกอร์  พรีเซนเตอร์รายการโทรทัศน์ อายุ ๔๗ จากกรุงลอนดอน

ดิฉันเติบโตในเยอรมานีในครอบครอบโปรเตสแตนต์ที่ไม่ได้เคร่งครัด ในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ ดิฉันได้ย้ายมาลอนดอน เป็นผู้นำเสนอรายการทีวีของช่องเอ็มทีวียุโรป สัมภาษณ์ผู้คนมากมายอย่างเช่น บ๊อบ เกลดอฟ และเดวิด โบวี่ ดิฉันทำงานหนัก แต่ก็สนุกกับการปาร์ตี้รื่นเริงมากเช่นกัน ดิฉันรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ขาดหายไป ในช่วงวิกฤตินี้ มีคนได้แนะดิฉันให้รู้จักกับนักเล่นคริกเก็ตที่มีชื่อว่า อิมรอน คาน เขาได้ยื่นหนังสือเกี่ยวกับอิสลามและชักชวนดิฉันให้ไปเที่ยวปากีสถาน การเที่ยวปากีสถานได้เปิดมิติใหม่อีกด้านหนึ่งในชีวิตดิฉัน นั้นก็คือ การสำนึกต่อจิตวิญญาณ ดิฉันประทับใจกับความมีน้ำใจของมุสลิม การให้เกียรติ และการพร้อมที่จะเสียสละให้แก่ผู้อื่นของพวกเขา   ยิ่งดิฉันศึกษาอ่านเกี่ยวกับอิสลามมากเท่าใด ก็ยิ่งเกิดความดึงดูดใจต่ออิสลามมากขึ้นเท่านั้น ดิฉันรับอิสลามในปี ค.ศ. ๑๙๙๕

เมื่อสื่อเยอรมันทราบเรื่องเข้า ก็มีการเขียนเสนอข่าวในทางลบ และไม่นานจากนั้น ก็เกิดการยกเลิกสัญญาการทำงาน  อาชีพในด้านบันเทิงของดิฉันถึงตอนจบ แต่ก็มันเป็นสิ่งที่น่าท้าทายดีเพราะได้เปลี่ยนงานใหม่ด้านโทรทัศน์ซึ่งสอดคล้องความศรัทธาใหม่ที่ดิฉันได้พบเจอ อาชีพใหม่ของดิฉันคือรายกายโชว์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตมุสลิม ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างมรดกและชุมชนมุสลิมกับสังคมในระดับกว้าง

มุสลิมส่วนมากแต่งงานตอนอายุยังน้อยซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการแนะนำหาโดยครอบครัวของพวกเขา แต่ฉันรับอิสลามตอนอายุ ๓๐ และยังคงโสดในอีกสิบปีให้หลัง  ดิฉันตัดสินใจมองหาผ่านโลกออนไลน์ จนกระทั้งได้เจอกับมุสลิมที่น่าสนใจคนหนึ่ง เขาเป็นมุสลิมโดยกำเนิดและเป็นนักจัดรายการโทรทัศน์จากโมรอคโคที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เรามีหลายๆอย่างที่คล้ายกัน เราตัดสินใจแต่งงานกันในปี ๒๐๐๖ แต่การตีความอิสลามของเขากลับกลายเป็นการพยายามที่จะควบคุมชีวิตของดิฉัน เขาคาดหวังให้ดิฉันให้เลิกอาชีพนี้ ไม่คุยกับผู้ชาย และให้ตัดรูปผู้ชายออกจากรูปภาพเก่าๆ ดิฉันสมควรบอกเขาว่าสิ่งที่เขาสั่งให้ดิฉันทำนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับอิสลามแต่เป็นวัฒนธรรม แต่ก็ไม่อยากให้ชีวิตการแต่งงานมีปัญหา อินชาอัลลอฮฺ สามีคนใหม่ของดิฉันคงเชื่อในความไว้เนื้อเชื่อใจมากกว่านี้และให้ความสำคับคุณค่าภายในใจมากกว่าข้อเข้มงวดภายนอก

ดิฉันไมได้เสียใจ แต่ในตรงกันข้าม ชีวิตของดิฉันกลับมีความหมาย ความรู้สึกที่ว่างเปล่าที่มีถูกเติมเต็มด้วยพระผู้เป็นเจ้า และนั้นก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากมาย

 

อันเดรีย คิสตี หมอนวดกดจุดสะท้อนและครูโรงเรียนมัธยม อายุ ๔๗ ปี จากเมืองวัตฟอร์ด

ดิฉันใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตลอดระยะเวลา ๑๘ ปีของชีวิตการแต่งงานกับสามีที่เป็นมุสลิมเกิดในอังกฤษและมีเชื้อสายปากีสถาน  เรามีลูกชายหนึ่งคนกับลูกสาวอีกหนึ่งคน

ดิฉันกับฟีดาพบเจอกันตอนเรียนมหาวิทยาลัยในปี ๑๙๙๑ สิ่งที่ทำให้ดิฉันสนใจในอิสลามก็คือ มุมมองของอิสลามต่อความสัมพันธ์เชิงพึ่งพากันอย่างเท่าเทียมในเรื่องความรัก และเรื่องความคิดทางปัญญา ฟิดาต้องการมีชีวิตครอบครัวแบบอิสลาม และในปี ๑๙๙๒ ความสนใจต่ออิสลามของดิฉันเพิ่มมากขึ้นจนดิฉันเลือกที่จะเข้ารับอิสลาม สามปีต่อเราจึงได้แต่งงานกัน ในช่วงเวลานั้นเราต้องต่อสู้กับสิ่งต่างๆมากมาย ได้เจอและรู้จักเพื่อนๆและครอบครัว และสุดท้ายตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน

ดิฉันเติบโตในเยอรมานีในครอบครัวที่ไม่ได้มองศาสนาว่าเป็นเรื่องสำคัญ พ่อเป็นคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า แต่แม่ของดิฉันและที่โรงเรียนสอนอยู่เสมอว่า จิตวิญญาณเป็นเรื่องสำคัญ ตอนที่ดิฉันเข้ารับอิสลาม พ่อคิดว่ามันเรื่องบ้า แต่พ่อก็ชอบสามีของดิฉันมาก และได้ซื้อแฟลตให้เราอยู่ซึ่งทำให้เรา “กลับมาได้ทุกเมื่อ” แม่ของดิฉันช๊อกตกใจ งานแต่งของเราเป็นงานแต่งแบบปากีสถานโดยครอบขนาดใหญ่ของฟีดา เมื่อฉันย้ายไปประเทศอื่น เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนรับศาสนาของดิฉันจึงตกเป็นเรื่องของแม่ที่ต้องคอยตอบคำถาม ส่วนครอบครัวของฟีดาเองก็ไม่ค่อยจะพอใจนักเพราะพวกเขาอยากได้สะใภ้ที่มีพื้นฐานเดิมเป็นมุสลิมอยู่แล้ว

ดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องแต่งตัวต่างออกไปจากเดิม ดิฉันยังไม่คิดที่จะใส่ฮิญาบในชีวิตประจำวัน แต่ก็รู้สึกสบายใจกว่าที่จะสวมฮิญาบเมื่อต้องทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา อีกอย่างหนึ่ง ดิฉันไม่สวมฮิญาบเพราะคิดว่าหากสวมไปต้องเป็นประเด็นใหญ่ทีเดียวสำหรับแม่

ตอนเป็นเด็กวัยรุ่น ดิฉันเป็นคนที่คิดได้อย่างสมเหตุสมผลและไม่กินเหล้า ตอนนี้ดิฉันเป็นครู ฉันไม่ได้คิดทิ้งชีวิตแบบเก่าเพื่อจะเริ่มชีวิตแบบใหม่ แต่อิสลามกลับทำให้จริยธรรมและคุณธรรมของดิฉันแข็งแกร่งขึ้น และมอบพื้นฐานสำคัญให้กับชีวิตการแต่งของเรา

บางครั้งคุณจะรู้สึกว่าตัวเองคล้ายกับ “ถ้วยรางวัล” เพราะคุณคือฝรั่งผิวขาว ถ้าคุณออกไปยังงานชุมนุม ใครๆก็อยากยื่นมือช่วยเหลือ คอยแนะนำสอนและปกป้อง จนกระทั้งถึงจุดที่ฉันรู้สึกไม่สบายใจ ส่วนใหญ่ปัญหาที่เจอตอนพูดคุยสนทนาก็คือปัญหาของมนุษย์ทั่วๆไป ปัญหาของผู้หญิง  

 

 

ไม่ขอเปิดเผยชื่อ  นักพัฒนาซอฟท์แวร์ จากอีสต์มิดแลนด์

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยและเข้าร่วมกับชมรมมุสลิม เพื่อนชอบพูดถึงดิฉันว่าเป็นคนร่าเริงสดใส ทันสมัย และตรงไปตรงมา หลังจากที่เจอกับมุสลิมในมหาวิทยาลัย ดิฉันกลับสนใจในอิสลามอย่างมาก ดิฉันเริ่มศึกษาอิสลาม และทำความเข้าใจกับคำสอนในอัลกุรอาน สองปีต่อมาตอนดิฉันอายุ ๒๓ ดิฉันตัดสินใจกล่าวชาฮาดะฮฺ (การกล่าวปฏิญานตนเป็นมุสลิม)

ครอบครัวของดิฉันนับถือศาสนาซิกข์แต่ก็สนใจอยากรู้เกี่ยวมุสลิม ดิฉันได้รับเบอร์โทรศัพท์ของผู้หญิงมุสลิมที่ทำหน้าที่ให้คำชี้แนะเกี่ยวกับอิสลามให้ดิฉันได้ติดต่อซึ่งพวกเธอเองก็อยากพบเจอดิฉัน แต่พอเอาเข้าจริงๆ ทุกคนกลับเงียบ พี่สาวเหล่านี้ยุ่งมากเสียจนไม่เวลา มันก็รู้สึกเจ็บน่ะ ดิฉันรู้สึกโดดเดี่ยว

ดิฉันยังโสดอยู่ ตอนนี้อายุ ๒๖ ปี พักอาศัยอยู่กับครอบที่นับถือศาสนาซิกข์ปันจาบีที่ไม่เคร่งครัดมาก ครอบครัวและเพื่อนๆชาวซิกข์ของดิฉันสักวันคงรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนา ดิฉันไม่ได้ซ่อนคำภีร์อัลกุรอานของดิฉัน เพราะอยากให้ครอบครัวทราบว่าดิฉันกำลังศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับอิสลาม และอยากให้คนในครอบครัวรู้ว่าดิฉันได้เปลี่ยนรับศาสนาด้วยข้อมูลที่มากเพียงพอ อิสลามทำให้ดิฉันได้เจอกับอิสรภาพและความนิ่งสงบ และกลายเป็นคนที่รับได้กับสิ่งที่ต้องประสบเจอในชีวิต ดิฉันไม่ค่อยอยากแข็งขัน แต่ขณะเดียวกันคนในครอบครัวต้องเสียใจไม่น้อย ดิฉันเองก็รู้สึกบากใจ อีกอย่างก็กลัวว่า สังคมจะปฏิบัติต่อดิฉันอย่างไม่ยุติธรรมหากดิฉันประกาศรับอิสลาม

การเป็นมุสลิมไม่ใช่เรื่องง่าย คนเขาชอบพูดเสียๆหายๆเกี่ยวกับกับอิสลาม มันฟังดูเจ็บ สำหรับดิฉันไม่ใช่เรื่องง่ายมากนักกับการต้องเข้าหาและคบกับบรรดาพี่ๆที่ดูเรียบร้อยเหล่านั้นที่แต่งตัวแบบอาหรับ อีกอย่าง การทิ้งอำลาชีวิตแบบที่ดิฉันคุ้นเคยเช่นเที่ยวคลับบาร์ก็ไม่ใช่ง่าย ดิฉันชอบงานปาร์ตี้ แต่งหน้า ใส่ชุดเดรส สวมส้นสูงและเดินเข้างานปาร์ตี้อย่างมั่นใจ แต่ดิฉันก็ปกปิดร่างกายมิดชิด ดิฉันเคยใส่ฮิญาบไปทำงานแต่ก็ถอดมันออกเมื่อกลับมาบ้าน ดิฉันรู้สึกราวกับว่าตัวเองกำลังใช้ชีวิตที่ขัดแย้งกัน มันเหนื่อยและกดดัน สุดท้ายดิฉันหยุดคลุมฮิญาบ

ดิฉันอยากแต่งงานเร็วมากว่าแต่งงานช้า แต่ดิฉันจะหาสามีที่เหมาะสมได้ที่ไหน? มุสลิมส่วนใหญ่ถือว่าการนั่งปะปนกับผู้หญิงเป็นสิ่งที่หะรอม (สิ่งต้องห้ามตามกฎหมายของอิสลาม) เพราะดิฉันไม่ค่อยได้ออกปรากฏตัว ชายมุสลิมที่ไหนจะรู้ว่าฉันมีตัวตนอยู่         

---------------------------------------

 

  • เวโรนิก มิสไทเอิน เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การพัฒนาระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เธอยังเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัย บทความของเธอมักเผยแพร่ใน เดอะการ์เดียน นิวส์วีค เทเลกราฟ และอีโคโนมิสต์
  • ภาพประกอบทั้งหกภาพ ของ Felicity McCabe จาก http://www.theguardian.com/world/2013/oct/11/islam-converts-british-women-prejudice