Skip to main content

Original Link Clik Here .

 

 

นักศึกษายกเลิกจัดงานวันสันติภาพที่มัสยิดกรือเซะ เผยจะจัดงานในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต้องให้กรมศิลปากรอนุญาต

นายก อบต.ออกรับหน้า ระบุขั้นตอนไม่ครบถ้วนไม่อาจให้จัดได้ แต่นักศึกษาชี้ปกติการขออนุญาตจัดงานที่มัสยิดเก่าแก่แห่งนี้เพียงขออนุญาตจาก อบต.ก็ทำได้ แต่หนนี้กลับต้องขออนุญาตกรมศิลปากร จึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ

บ่ายวันนี้ (21 ก.ย.) ที่มัสยิดกรือเซะ ปัตตานี ประชาชนจำนวนหนึ่งได้ไปรอฟังการเสวนาเรื่อง “สันติสุขชายแดนใต้ สันติภาพปาตานี สันติสุขประเทศไทยหรือสันติภาพสากล” ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพหรือ คปส.เตรียมจัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันสันติภาพสากล โดยเป็นการอภิปรายในเนื้อหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสันติภาพมีวิทยากรเตรียมขึ้นเวทีพูดคุยและมีการจัดเตรียมเต้นท์ให้ประชาชน แต่ต่อมาผู้จัดได้ประกาศขอยกเลิกการจัดงานทั้งนี้เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

ก่อนการประกาศยกเลิกจัดงานได้มีการเจรจาต่อรองกันอย่างเข้มข้นระหว่างกลุ่มผู้จัดและฝ่ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าผู้จัดต้องประสานงานไม่เพียงเฉพาะกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือนายก อบต.ในพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องได้รับไฟเขียวจาก กอ.รมน.และทางจังหวัดด้วย

ต่อมานายก อบต.ตันหยงลุโละ นายมะตอเฮ เจ๊ะกูแต ชี้แจงกับประชาชนว่า การจัดงานที่มัสยิดกรือเซะสามารถทำได้ เพราะมัสยิดแห่งนี้ถือว่าเป็นของทุกคนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เองก็พร้อมจะสนับสนุน แต่การจัดงานต้องมีขั้นตอนการขออนุญาต ต้องทำให้ครบถ้วน หากไม่เป็นเช่นนั้นก็ไม่สามารถสนับสนุนได้ พร้อมกับขอโทษชาวบ้านและเสนอให้ผู้ที่ไปร่วมงานร่วมกันละหมาด นายมะตอเฮให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังจากนั้นว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นทางเทคนิคที่ทำให้เบื้องบนไม่อนุญาต “อิสลามถือเป็นเรือนร่างเดียวกัน เมื่อมีส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บ ส่วนอื่นก็เจ็บไปด้วย” เขากล่าวในตอนหนึ่งของการชี้แจงกับประชาชน

ต่อมา นายอารีฟีน โสะ ประธานกลุ่มเปอร์มาส กลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในพื้นที่และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้จัดงานได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า อันที่จริงกลุ่มผู้จัดงานได้ขออนุญาตแล้ว ที่ผ่านมาเท่าที่กลุ่มเคยดำเนินการ การจัดงานที่มัสยิดกรือเซะ เพียงทำเรื่องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งกลุ่มก็ได้ติดต่อและส่งเอกสารแก่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นคืออบต. พร้อมกับได้รับคำตอบรับอนุญาตไปแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับแจ้งเพิ่มเติมในวันนี้ว่า การจัดงานจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรเสียก่อน ตลอดจนให้นายอำเภอรับทราบด้วย ตนทราบมาว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เรียกนายก อบต.และกำนันไปประชุมเพื่อแจ้งว่า หากอนุญาตให้จัดงานก็เกรงว่าจะกระทบกระเทือนความสงบสุข

“ในวันสันติภาพเราก็มองว่าการใช้สัญลักษณ์ในอดีตเป็นการสื่อสารอัตลักษณ์ ยึดโยงวันสันติภาพโลก คือการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน สันติภาพที่มีเกียรติต้องยึดโยงกับประชาชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ต้องพยายามให้มีเวทีสาธารณะที่เป็นบันไดชั้นแรกๆ ที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่แค่นี้ พื้นที่สาธารณะถูกยกเลิกไปนับครั้งไม่ถ้วน นับเป็นการย้อนแย้งในระดับนโยบายของรัฐ” นายอารีฟีนกล่าว

กลุ่มผู้จัดได้แจกจ่ายแถลงการณ์ที่ลงชื่อโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพซึ่งระบุข้อเรียกร้องสามประการคือ ประการแรก ขอให้รัฐและ “ขบวนการเอกราชปาตานี” สร้างสันติภาพที่ไม่ปฏิเสธปัญหารากเหง้าของความขัดแย้ง เรื่องของโครงสร้างอำนาจทางการเมืองการปกครองที่ไม่สมดุลกับวิถีอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของคนมาลายูปาตานี ข้อสอง เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายสร้างพื้นที่สาธารณะให้เห็นเป็นรูปธรรมและชี้วัดได้ มีข้อตกลงจากการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ และข้อสาม ให้เคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของคนมลายูปาตานีว่ามีสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองเทียบเท่ามาตรฐานของสหประชาชาติที่เห็นว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เปิดพื้นที่ทางการเมือง มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในอนาคต

ผู้จัดได้นำแถลงการณ์ดังกล่าวอ่านต่อกลุ่มผู้เข้าร่วมด้วย นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อ่านแถลงการณ์ กล่าวด้วยว่า ไม่คิดว่ากิจกรรมแนววิชาการเพื่อสันติภาพในสถานที่อย่างมัสยิดกรือเซะจะกลายเป็นประเด็นที่มีการตั้งแง่มุมกันเช่นนี้ เพราะภาครัฐไม่ไว้ใจประชาชน หากเกิดช่องว่างมากขึ้นเพราะเหตุการณ์ในวันนี้ รัฐควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และว่าสันติภาพที่แท้จริงยั่งยืนคือสันติภาพที่รัฐให้เกียรติกับประชาชน แล้วประกาศเปลี่ยนจากการเสวนาเป็นการละหมาดร่วมกันแทน นอกจากนั้นในบริเวณงานที่มีนักศึกษา คนหนุ่มสาวจำนวนมากเข้าร่วม มีการนำผ้ามาเขียนข้อความและวาดภาพเกี่ยวกับสันติภาพ ส่วนใหญ่เรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อสร้างสันติภาพที่ประชาชนมีส่วนร่วม

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ บีบีซีไทย - BBC Thai