Skip to main content

 

ญิฮาดเพรอเนอ”  ดุลยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจและการสกัดกั้นแนวคิดสุดโต่งในอินโดนีเซีย

 

โดย ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มศว

 

 

คำว่า “Jihadpreneurs” หรือ ผู้ประกอบการนักญิฮาด อาจเป็นคำหรือแนวคิดใหม่ที่ต้องจับตามอง เพราะในอนาคตเราอาจได้ยินคำนี้บ่อยขึ้นในฐานะที่เป็นแนวคิดวิธีการที่ถูกนำมาใช้ยับยั้งลัทธิการก่อการร้ายอย่างเป็นรูปธรรมแบบถอนรากถอนโคน โดยเฉพาะการก่อการร้ายที่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ญิฮาด” เป็นคำภาษาอาหรับหมายถึงควาพยายามบากบั่น การดิ้นรนต่อสู้หรือใช้กำลังความสามารถไปในหนทางของพระเจ้าด้วยการทำความดี ยับยั้งความชั่ว และผู้ที่ใช้ควาพยายามของเขาในหนทางของพระเจ้าจะถูกเรียกว่า “มุญาฮีดีน” ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติและภารกิจต่าง ๆ ของมุสลิมที่ใช้ความบากบั่นโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเชิดชูศาสนาอิสลามของอัลลอฮ์ การทำญิฮาด จึงหมายรวมถึงการต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำ การต่อสู้กับภัยพิบัติ ความยากจน ความโง่เขลา โรคภัยไข้เจ็บ ความไม่เป็นธรรมในสังคม การพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่กดขี่ รวมทั้งการทำสงคราม แต่อย่างไรก็ตามการทำญิฮาดด้วยการใช้กำลังหรือสงครามจะเป็นหนทางสุดท้ายซึ่งถือเป็นญิฮาดเล็กเมื่อเทียบกับญิฮาดในความหมายของการดิ้นรนต่อสู้ทางศิลธรรมที่ถือว่าเป็นญิฮาดใหญ่

การทำญิฮาดถือเป็นเกียรติสูงส่งในอิสลาม แต่ปรากฎว่า“ญิฮาด” กลับกลายเป็นคำที่ถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนมากที่สุดคำหนึ่ง ทำให้ภาพลักษณ์และคำสอนของอิสลามดูเสื่อมเสีย ทั้งนี้ เพราะถูกนำไปเชื่อมโยงกับความรุนแรงและการก่อการร้ายของกลุ่มคนหรือขบวนการมุสลิมบางกลุ่มที่ใช้แนวคิดญิฮาดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง ตลอดจนสื่อและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ให้ความหมายการตีความญิฮาดคลาดเคลื่อนตามวาระของตัวเอง เช่น ในยุคสงครามเย็นการใช้แนวคิดญิฮาดระดมนักรบมุญาฮีดีนไปขับไล่โซเวียต แนวคิดญิฮาดถูกยกย่องและสนับสนุนอย่างมากจากโลกตะวันตก แต่เมื่อสหรัฐยึดอัฟกานิสถานในปี 2001 มุญาฮีดีนที่ต่อต้านสหรัฐกลายเป็นผู้ก่อการร้าย แนวคิดญิฮาดถูกมองว่าเป็นความสุดโต่ง ถูกให้ความหมายที่คลาดเคลื่อนว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ (Holy War) ของกลุ่มขบวนการก่อการร้ายมุสลิมต่าง ๆ แล้วเรียกขานกลุ่มเหล่านั้นว่าเป็นพวกนักรบญิฮาด โดยไม่ให้คุณค่าที่แท้จริงตามแนวคิดญิฮาดที่ถูกต้อง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายว่า “ญิฮาด” ได้กลายเป็นเรื่องการเมืองของถ้อยคำ แทนที่จะเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาสยบความสุดโต่ง กลับถูกทำให้เป็นความสุดโต่งในตัวเองจากวาทกรรมและวาระทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียกำลังพยายามนำเสนอแนวคิดญิฮาด ในบริบทที่น่าสนใจและประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศในระยะยาว

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก โดยมีความพยายามอย่างจริงจังในการส่งเสริมความคิดสายกลาง สกัดกั้นความคิดสุดโต่งและอิทธิพลของลัทธิก่อการร้าย โครงการใหม่ที่ได้รับความสนใจจากประธานาธิบดีโจโค วิโดโด และมีแนวโน้มที่จะผลักดันจริงจังคือ โครงการพัฒนาหลักสูตร “ญิฮาดเพรอเนอ” ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนสอนศาสนาตามท้องถิ่นต่าง ๆ หรือที่อินโดนีเซียเรียกว่า ปซันเตร็น (Pesantren) เป็นโรงเรียนประจำที่มีอยู่กว่า 2800 แห่งทั่วอินโดนีเซีย

โครงการหรือหลักสูตรญิฮาดเพรอเนอ ถูกพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกที่ ปซันเตร็น มูเก็ม มันดิรี (Mukim Mandiri) ในเขตซิโดอาร์โจ ทางชวาตะวันออก โดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างคน สร้างความรุ่งเรื่องทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือทำให้เยาวชนหันห่างออกจากแนวคิดหัวรุนแรงหรือความคิดสุดโต่ง โดยตัวหลักสูตรจะเน้นที่ทักษะการประกอบธุรกิจการเกษตรต่าง ๆ  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกาแฟ

นายเอ็ม ซากี เจ้าของโรงเรียนมีวิสัยทัศน์ว่าในโลกยุคปัจจุบันนี้ นักเรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องของศาสนาและการประกอบธุรกิจควบคู่กัน โรงเรียนปซันเตร็นต้องสอนเรื่องพวกนี้ให้ได้ ซึ่งท้ายที่สุดมันจะนำไปสู่การผลิต “ผู้ประกอบการนักญิฮาด” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ไม่ใช้กำลัง เพราะพวกเขาจะเป็นคนที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อสังคม และให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจการทำมาค้าขาย

แนวคิดนี้ทำให้ปธน.โจโควี ชื่นชอบมากถึงขั้นสั่งการให้กระทรวงความร่วมมือธุรกิจขนาดเล็กและกลาง นำหลักสูตรในลักษณะนี้เข้าไปใช้กับโรงเรียนปซันเตร็นอื่น ๆ เพราะมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศที่กำลังเผชิญกระแสสุดโต่งที่เพิ่มขึ้นและความพยายามเข้ามาของกลุ่มก่อการร้ายภายนอกอย่างกลุ่มดาอิชหรือไอเอสในตะวันออกกลาง อันเป็นภัยคุกคารมต่อสันติภาพและความมั่นคงของประเทศ

          กลุ่มหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาสมรรถนะและการวิเคราะห์       (:ACDP) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับเงินอุดหนุนงบจากอียู ได้ศึกษาค้นคว้าคำสอนของอิสลามในคัมภีร์กรุอาน โดยพบว่า ในกรุอานมีระบุเกี่ยวกับคุณค่าที่ดีงามหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสันติภาพ ความอดทนอดกลั้น และเรื่องของประชาธิปไตย แต่ปัญหาคือครูทางด้านอิสลามศึกษาอาจไม่สามารถถ่ายทอดคุณค่าของหลักคำสอนเหล่านั้นไปสู่นักเรียนได้ นอกจากนั้นคำสอนที่สุดโต่งยังแทรกซึมเข้ามาในโรงเรียนระดับมัธยมผ่านหลายช่องทาง เช่น การที่นักศึกษาบางส่วนไปเข้าร่วมกับกลุ่มองค์กรหัวรุนแรงภายนอก หรือผ่านโครงการเสริมนอกหลักสูตรในโรงเรียนอิสลามที่อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มคนที่มีความคิดสุดโต่ง

            ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย และผู้ก่อตั้งสถาบันสร้างสันติภาพระหว่างประเทศชาวอินโดนีเซีย (IIPB) นายนูร ฮุดา อิสมาอีล วิเคราะห์กระแสสุดโต่งในอินโดนีเซียไว้อย่างน่าสนใจว่า ความสุดโต่งมักแพร่ขยายอยู่ตามชุมชนที่มีลักษณะแออัดและในวงสังคมเล็ก ๆ หรือในชุมชนที่คนมีรายได้น้อย กล่าวคือ สิ่งแวดล้อมทางสังคมและสภาพเศรษฐกิจในชุมชนของอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์กับแนวความคิดสุดโต่ง โดยเขาได้ให้ข้อมูลว่าประมาณร้อยละ 80 ของผู้ก่อการร้ายชาวอินโดนีเซียเข้าสู่วงจรก่อการร้ายด้วยช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ของพวกเขา

            อิสมาอีลมองว่า “ญิฮาดเพรอเนอ” จะสามารถยับยั้งความคิดสุดโต่งได้เป็นอย่างดี เพราะโดยธรรมชาติของการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการจะไม่สามารถเลือกลูกค้าได้ แต่จะต้องเปิดใจให้กว้าง ซึ่งหลักสูตรนี้จะสร้างโอกาสให้กับนักเรียนในการพัฒนาตัวของพวกเขาเอง

            ด้วยตัวหลักสูตรที่วางเป้าหมายในการสร้างดุลยภาพระหว่างความรู้ทางศาสนาและการประกอบอาชีพให้กับนักเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม นักเรียนที่จะเข้าเรียนที่ปซันเตร็นนี้ได้ต้องผ่านเงื่อนไขการทดสอบ คือ ทดสอบการอ่านคัมภีร์อัลกรุอานและการสัมภาษณ์ในประเด็นทางธุรกิจ ถ้าสอบผ่านก็ได้เข้าเรียน โดยหลักสูตรที่เรียนร้อยละ 25 จะเป็นภาคทฤษฎีเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่าง ๆ และร้อยละ 75เป็นการศึกษาภาคปฏิบัติ

            นอกจากโรงเรียนมูเก็ม มันดิรี แล้ว ยังมีองค์กรอิสลามสายกลางที่ใหญ่ที่สุดอย่างนัดห์ลาตุล อุลามะห์ (NU) ที่ส่งเสริมแนวคิดการผลิตนักเรียนให้เป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจผ่านการจัดตั้งสมาคมนักเรียนผู้ประกอบการอินโดนีเซีย (HIPSI) กิจกรรมหลักคือการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการตามโรงเรียนปซันเตร็นทั่วประเทศในหัวข้อที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจเกษตร การเดินเรือ การอาหาร เทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตนักเรียนศาสนาให้เป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจ 1 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2022

          เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักเรียนจำนวนมากจบออกมาแล้วไม่มีงานทำ ก็เพราะโรงเรียนไม่สามารถสอนและออกใบรับรองความสามารถทางด้านการประกอบสัมมาอาชีพหรือการทำธุรกิจให้กันนักเรียนได้ จึงทำให้หางานทำยาก ดังนั้น การฝึกอบรมหลักสูตรผู้ประกอบการทางธุรกิจ (entrepreneurship) ตามแนวทางของศาสนาหรือ “ญิฮาดเพรอเนอ” จึงมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน เป็นการญิฮาดด้วยการต่อสู้ดิ้นรนทางการค้าและธุรกิจในหนทางของอิสลามอย่างซื่อสัตย์สุจริตภายใต้แนวทางศาสนา อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ เป็นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับคุณค่าทางศิลธรรมภายใต้การส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีดุลยภาพทางโลกและทางธรรมบนทางสายกลาง ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันลัทธิสุดโต่งได้เป็นอย่างดีเยื่ยม

          อาจกล่าวได้ว่าแนวคิด “ญิฮาดเพรอเนอ” คือความหวังสำคัญของอินโดนีเซียในการรับมือกับภัยคุกคามของความคิดสุดโต่ง ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเชื่อกันว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนอินโดนีเซียจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเพราะคนสามารถเรียนรู้ทักษะการทำงานและเชื่อมโยงศาสนากับชีวิตทางธุรกิจได้อย่างลงตัว

            ขณะนี้ จึงมีความพยายามผลักดันจากหลายหน่วยงานในอินโดนีเซียในเรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมโครงการฝึกอบรมเกี่ยวกับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในโรงเรียนปซันเตร็นต่าง ๆ และให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนเหล่านี้กับกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ

            แม้แนวคิดสุดโต่ง ความรุนแรง และการก่อการร้ายจะมีเงื่อนไขหรือปัจจัยที่ซับซ้อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ การเมือง ความอยุติธรรม ทรัพยากร ชาติพันธ์ ฯลฯ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่การบูรณาการความคิดทางศาสนาที่ถูกต้องกับระบบการศึกษาที่มีดุลยภาพ โดยมุ่งจัดการปัญหาความยากจนและความเป็นอยู่ของคนในสังคมตามโครงการ “ญิฮาดเพรอเนอ” ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจและควรศึกษาถอดบทเรียนต่อไป เพราะอาจกลายเป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาแนวความคิดสุดโต่งและอิทธิพลของลัทธิก่อการร้ายไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ