Skip to main content

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

color:#254061;">
ผมคิดว่าตนเขียนเรื่องนี้ช้าไป แต่อยากเขียน...

เมื่อเกือบอาทิตย์ก่อน ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อทำธุระ หลังเสร็จงาน ผมนัดเพื่อนและอาจารย์ มานั่งทานข้าวกันแถวถนนพระอาทิตย์ พวกเราพูดคุยกันสารพัด กระทั่งบังเอิญพบกับบรรณาธิการหนุ่มจากวารสารฟ้าเดี่ยวกัน เรานั่งคุยกัน เขาเริ่มต้นเปิดประเด็นท้าทายอย่างออกรสว่า "...เอ คำว่า รัฐไทยในฐานะเจ้าอาณานิคมสยามนี่มันจะมีมุมกลับที่ช่วยสร้างความชอบธรรมในการก่อความรุนแรงของบีอาร์เอ็นบ้างไหม.."

นั่นไง...ใช่เลย ผมเห็นด้วยเป็นอย่างมาก ด้านหนึ่ง เราต้องไม่ปฏิเสธว่าความตายและความสูญเสียในพื้นที่มิได้จำกัดวงแคบแค่คนมลายู และผมเองไม่เคยเห็นบีอาร์เอ็นออกมาขอขมาแก่ความตายของคนที่ไม่ใช่มลายูเลยสักครั้ง อีกด้านหนึ่ง ปัญหาสำหรับผมคือ 1. พลังของคำว่าเจ้าอาณานิคมสยามซึ่งบีอาร์เอ็นนำมาใช้นั้นทำงานอย่างไรและสร้างปัญหาอะไรบ้าง 2. เรา (จะหมายรวมถึงคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผมก็ได้) ควรมีท่าทีอย่างไรต่อข้อเสนอของบีอาร์เอ็น

เริ่มแรก ผมคิดว่าพลังของคำว่ารัฐไทยในฐานะเจ้าอาณานิคมสยามนั้นยึดโยงกับการจำลองภาพชีวิตของคนมลายูภายใต้การปกครองของสยามอันโหดร้าย มีคนบริสุทธิ์ (มลายู) มากมายถูกฆ่า ภาพเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงอย่างจงใจกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน แน่นอน เรื่องราวในอดีตที่ถูกกล่าวขานเล่าต่อกันมาได้ซ้อนทับอย่างแนบสนิทกับประสบการณ์ในปัจจุบันของผู้คนในสามจังหวัด พลังของคำอธิบายเรื่องเจ้าอาณานิคมสยามจึงมีพลังที่พร้อมปลุกผู้คนให้แค้นเคือง เป็นคำอธิบายที่ดูฟังขึ้นจนลุกลามเฟสบุ๊คและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ผู้คนเริ่มใช้คำว่า อาณานิคมภายในมาอธิบายปรากฏการณ์สามจังหวัดภาคใต้มากขึ้น...ผมแค่อยากยียวนถามกลับว่า ตกลงเรื่องเล่ามันทับกันสนิทหรือ เราและบีอาร์เอ็นไม่เคยเข้าใจปัญหาในปัจจุบันแถมยังถูกผีจากอดีตตามหลอกหลอน ยึดโยงคำอธิบายทุกอย่างไปสู่อดีตซึ่งแท้จริงแล้วยังคลุมเครือ ควบคู่ไปกับการไม่แยแสความตายของคนที่ "ไม่ใช่มลายู" และพร้อมที่จะสวนกลับด้วยความรุนแรงชนิดถึงตาย ด้วยคำอ้างที่ว่า เพราะตกเป็นอาณานิคมสยามมาก่อนหรือถูกฆาตกรรมโดยคนสยามและนักล่าอาณานิคมสยามมาก่อน

ในความเข้าใจของผม คำอธิบายประวัติศาสตร์เช่นนี้ คือการลดทอนความซับซ้อนหรือเงื่อนไขต่างๆ ในมิติประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองและความรุนแรง ในแง่ของการสร้างวาทกรรม "เจ้าอาณานิคมสยาม" ของบีอาร์เอ็นก็ไม่ต่างจาก "โจรใต้" ของรัฐไทยสักเท่าไรนัก มันสะท้อนถึงคู่เจรจาสันติภาพซึ่งมีอาวุธครบมืออยู่เบื้องหลัง ระหว่างการเจรจาก็ค่อยๆ ลดจำนวนของอีกฝ่ายไปเรื่อยๆ คำว่า เจ้าอาณานิคมสยาม และ โจรใต้ จึงเป็นเสมือนอัตลักษณ์เดี่ยว (singular identity) ซึ่งหลอมรวมให้ผู้คนยึดโยงสัมพันธ์กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการถาวร โดยละเลยสายสัมพันธ์อันหลากหลาย ทั้งสองคำนี้ยังมีความน่ากลัวเหมือนกันคือ แม้จะเป็นคำที่สร้างขึ้นจากบริบทของความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมือง ทว่ามันได้ทลายกรอบของบริบทออกมาสู่ชีวิตประจำวัน ชีวิตอันสามัญของคนที่พูดคำว่า "โจรใต้" จนติดปาก หรือเพิ่งหัดพูด คำว่า "เจ้าอาณานิคมสยาม" เพื่อให้เคยชินจึงกลายเป็นสนามในการต่อสู้ทางการเมือง เป็นการทอนคนอื่นให้เหลือเพียงอัตลักษณ์ทางการเมืองที่น่ากลัวและอันตราย ขณะเดียวกัน ทั้งสองคำนี้ล้วนเป็นคำที่กินความในระดับความรู้สึก เต็มไปด้วยความโกรธแค้น หวาดกลัว ไม่ไว้ใจ ล้างแค้น ฯลฯ การสร้างอัตลักษณ์เช่นนี้มันจึงไม่อาจเป็นเพียงแค่ข้ออ้างรองรับหรือความชอบธรรมในการกระทำความรุนแรง หากในตัวของมันเอง คือพื้นฐานของความความรุนแรง

อันที่จริง คงต้องกล่าวว่า การใช้คำว่า "เจ้าอาณานิคมสยาม" มีพลังยิ่งต่อการรื้อให้เห็นระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เป็นธรรมระหว่างรัฐปตานีกับรัฐไทยในมิติประวัติศาสตร์ซึ่งส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่างๆในอาณาบริเวณสามจังหวัดโดยรวม อาทิ การศึกษา ศาสนา สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เรื่องพวกนี้หลายท่านอาจรู้ดี แต่ข้อจำกัดของมันคือ ไม่สามารถนำมาอธิบายชีวิตทางวัฒนธรรมของผู้คนในสามจังหวัดได้ คนมลายูในความหมายที่กว้างที่สุดคือ กลุ่มคนในภูมิภาคมลายูซึ่งอาจผูกพันกันในมิติของพื้นที่ ผ่านศาสนา ชาติพันธุ์ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งล้วนมีอยู่หลากหลาย นับตั้งแต่ มลายู จีนอ (จีน) กาโบ (คาบูล-มุสลิมปากีสถาน) สิแย (สยาม) มามะ(มุสลิมจากพม่า) มุสลิมจากอินเดีย ส่วนศาสนานั้นก็มีทั้งอิสลาม พุทธ คาธิลิค ขงจื่อ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ บีอาร์เอ็นจะเอายังไง วาทกรรมเรื่อง "เจ้าอาณานิคมสยาม" จะจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างไร จัดการกับความหลากหลายและผสมปนเปของผู้คนมาแต่อดีตอย่างไร สิ่งเดียวที่บีอาร์เอ็นทำอย่างต่อเนื่องและแทรกระหว่างบรรทัดก็คือ เป็นการสร้าง "มลายูที่แท้" ผ่านการจำแนกโดยใช้ศาสนาอิสลามเป็นตัวตั้ง มอบสถานะเหยื่อผู้บริสุทธิ์ให้กับมลายูที่แท้กลุ่มนั้น ควบคู่ไปกับการค่อยๆลบความทรงจำความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ วิธีการเช่นนี้ ต่างอะไรกับการสร้าง "ไทยแท้และความเป็นไทย" ของรัฐไทยที่เคยกดทับผู้คนในสามจังหวัดและภูมิภาคมลายู

การใช้วาทกรรมรัฐไทยในฐานะเจ้าอาณานิคมสยามจึงมีมุมกลับที่ส่งผลรุนแรงอย่างยิ่ง การใช้คำนี้จึงต้องยิ่งระมัดระวังมิให้ไปสนับสนุนการเข่นฆ่าประหัตประหารซึ่งเกิดขึ้นจากความเกลียดชัง เคียดแค้น โดยปราศจากการใคร่ครวญ ทั้งนี้ยังมิต้องเอ่ยถึง คำว่าอาณานิคมภายใน ซึ่งในทัศนะส่วนตัว ผมคิดว่ามีปัญหาอย่างยิ่งต่อการอธิบาย พูดให้ซับซ้อนขึ้นก็คือ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐปตานีกับรัฐสยามนั้นมีลักษณะของการ ต่อต้านอาณานิคมผสมผสานไปกับอาณานิคมภายใน สำหรับผม ถ้าเราจะอธิบายผ่านคำหลังเพียงอย่างเดียว เราก็ควรจะหันกลับมาวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำมลายูในปัจจุบัน ครูสอนศาสนา บีอาร์เอ็น หรือวัฒนธรรมประชานิยมในสังคมสามจังหวัดภาคใต้กันได้แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่าเราควรมีท่าทีอย่างไรต่อบีอาร์เอ็นและข้อเสนอต่างๆ ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอห้าข้อโดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองหรือผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ทว่า ผมกลับไม่เห็นด้วยกับ "วิธีการอธิบาย" เนื้อสารของบีอาร์เอ็นในระยะหลัง โดยเฉพาะการหยิบยกประวัติศาสตร์มาใช้ วิธีการอธิบายแบบมักง่าย ดาษๆนี้ จะทรงพลังเพียงระยะสั้น แต่เป็นการทำลายตัวเองในระยะยาว อดคิดไม่ได้ว่า บีอาร์เอ็นกับรัฐไทยต่างก็เป็นเป็นเงาในกระจกส่องสะท้อนกันและกัน

เราคงต้องประเมินและกำหนดท่าทีกับบีอาร์เอ็นกันบ้าง โดยส่วนตัว ผมไม่สมาทานอุดมการณ์ใดที่สามารถพาคนไปตายหรือสามารถฆ่าคนได้เพื่อบรรลุผล

กระบวนการสันติภาพที่มาจากผู้สูญเสียและสามัญชนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่ต่างหาก คือ สิ่งที่สำคัญเร่งด่วนในเวลานี้ มิใช่บนโต๊ะเจรจา บนจอทีวี และยูทูป