Skip to main content

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

ผมไม่รู้ว่าทำไมถึงชอบกินโรตีและเริ่มกินโรตีมาตั้งแต่กี่ขวบ เพื่อนที่ปาตานีประเทศหลายคนถามผมบ่อยครั้งถึงสาเหตุของความชื่นชอบ พวกเค้ามักได้คำตอบว่า “เออ ไม่รู้ กินมาแต่เด็ก อร่อยดี ของมันชอบ...” แต่เพียงเท่านี้ มันก็เพียงพอที่จะทำให้ผมสามารถตระเวนไปทั่วเขตคามอันตราย ในสายตาของรัฐ โดยมีเป้าหมายเป็นรางวัลปลอบใจคือโรตีสักสองสามลูกกับชานมร้อนๆ สักแก้ว
 
แน่นอน ร้านไหนดัง อร่อย จะจิ้มแกง จิ้มดาล หรือราดนม จุ้ยก็ลองมาหมด ช่วงเวลาหนึ่งน้ำหนักของผมจึงขึ้นพรวดๆ ท่ามกลางการทำงานภาคสนามที่เสี่ยงภัย แต่จะว่าไป ผมเติบโตมาในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจ.อุทัยธานี บ้านก็ตั้งกลางทุ่ง ผมคลุกตัวอยู่กับการเลี้ยงหมูแต่เล็ก เพื่อนบ้านส่วนมากก็เป็นชาวนา ทุกเย็นยามพระอาทิตย์ตก (บรรยากาศมันไม่โรแมนติกแบบในหนังหรอก) ถนนลูกรังหน้าบ้านผมจะเต็มไปด้วยขี้ควายและหลุมบ่อ กลิ่นขี้ควายผสมขี้หมู บรรยากาศบ้านนา เอาเข้าจริงๆ มันไม่ชวนสดชื่นเหมือน “มนตร์รักลูกทุ่ง” ยิ่งหน้าฝนก็ไม่ต้องพูดถึง ในด้านอาหารการกินบ้านผมก็ไม่ได้เป็นพวกน้ำพริกผักต้ม หรือปลาปิ้ง หากเป็นอาหารถุงในตลาด
 
ชาวบ้านส่วนมากก็ทานแบบนี้ตั้งแต่ผมจำความได้เพราะไม่มีใครมีเวลาพอสำหรับทำกับข้าวหรือไปเดินด่อมๆ เก็บผัก แทบทุกคนในหมู่บ้านล้วนเป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำ หน้านาก็ทำนากันทุกคน หน้าแล้งก็ไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองบ้าง ตามบ้านบ้าง บ้านผม แม้จะรับราชการครูพอมีหน้าตากับเค้าหน่อยมั้ง แต่ก็ซื้อกับข้าวถุงกินประจำเพราะเงินเดือนครูน้อยมาก คิดเฉลี่ยต่อปีแล้วก็อาจน้อยกว่าชาวนาหลายคนเสียอีก แน่นอน ทุกบ้านก็จะทำกับข้าวเสริมเองบ้างตามบุญตามกรรม ตามเวลาเอื้ออำนวย และเงินในกระเป๋ารายวัน
ดังนั้น โรตีจึงเป็นอาหารสุดพิเศษของพวกเรา...
 
กิจกรรมยามเย็นในวัยเด็ก ผมมักรอคอยเสียงบีบแตรลมแป๊นแป๊น เพราะนั่นเป็นสัญญาณของรถเข็นโรตี หากเราวิ่งออกไปมองเราจะเห็นชายผิวดำคล้ำร่างเล็ก เข็นรถขายโรตีโขยกเขยกหลบกองทัพกองขี้ควายมาด้วยความมุ่งมั่น ผมมักวิ่งออกไปเป็นคนแรกเพื่อกวักมือเรียก ชายคนนั้นยิ้มฟันขาวตอบกลับ จำได้ว่าเมื่อพวกเราเห็น “แขกขายโรตี” ครั้งแรก ลูกเล็กเด็กแดงพากันร้องไห้ ด้วยความตกใจกลัว เดือดร้อนถึงผู้ใหญ่ในบ้านต้องออกมาถามไถ่ถึงที่มาที่ไป ครั้น พอคุ้นเคยกันเขากลับเป็นที่รักของเด็กและบรรดาแม่บ้าน เพราะความอารมณ์ดี เมตตากับเด็ก บวกกับความคมสันของจมูก ดวงตา และวงคิ้วที่สวยงาม ป้าข้างบ้านผมมักชอบชวนเค้าคุย สอนภาษาไทย รวมไปถึง ถามไถ่ชีวิตความเป็นอยู่ ป้าๆ หลายคนแถวบ้านผมก็ชอบ “แขก” คนนี้ เนื่องจาก พวกเธอติดหนังอินเดียกันงอมแงม การได้มีเวลามาคุยกับ “พระเอกหนังแขก” ที่พวกเธอสมมติขึ้นมาเองก็นับว่าเป็นเรื่องผ่อนคลายแบบหนึ่ง
 
แน่นอน ระหว่างที่ฟังพวกเค้าคุยกัน ตาผมก็จับจ้องไปที่แผ่นแป้งโรตี นับตั้งแต่การตบ ควงเป็นวง พับมุมให้เหลี่ยม ก่อนนำไปทอดลงกะทะ เตาที่เค้าใช้เป็นเตามีก้นลึกนิดหน่อย หาก ใครชอบกรอบชายคนนี้จะใส่น้ำมันเยอะหน่อย ใครชอบนุ่มๆ เขาจะตักน้ำมันออกจนเกือบจากนั้นจะหยิบแป้งมาควงเป็นวง ตามด้วยกันหมุนให้เป็นเส้น ตบท้ายด้วยการขดมันเป็นก้นหอย ตบให้แบนหนึ่งทีก่อนลงทอด ผมสนุกกับขั้นตอนนี้มาก มันคล้ายกับงานศิลปะที่ซึมแทรกอยู่ในทุกจังหวะของร่างกาย เขามักคุยกับลูกค้า ควบคู่ไปกับมือที่ตอกไข่ นวดแป้ง ทอด ราดนม เทน้ำตาล บางครั้ง เด็กๆ มักเอาไข่มาจากบ้านให้เขาทำโรตีใส่ใข่ให้ เขาก็คิดในราคาเท่าเดิมคือ 3 บาท (ราคาเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน) จำได้ว่า โรตีไข่นั้นเป็นเมนูยอดนิยมช่วงหนึ่งถึงขนาดทำให้ผู้ใหญ่ในระแลกบ้านต้องเอาใข่ไปซ่อนเก็บไว้ที่อื่น เด็กบางคนก็ต้องวิ่งไปแย่งใข่กับแม่ไก่ในเล้าแทน
 
เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของการรอคอยโรตีก็คือ การสูดดมกลิ่มหอมเนย ลองคิดดูสิว่าประสบการณ์ทางจมูกของ “เด็กบ้านทุ่ง” เมื่อเจอกลิ่นเนยครั้งแรก มันช่างหอมหวน อบอวลจนลืมกลิ่นขี้หมูขี้ควายไปชั่วขณะหนึ่ง ยิ่งตอนหย่อนแป้งโรตีลงในกะทะแล้วตามด้วยเนยก้อนสีส้มๆ ควันที่ลอยมามาช่างยั่วน้ำลายเหลือเกิน ยิ่งตอนที่โรตีถูกนำขึ้นมาเพื่อราดนมเติมน้ำตาลด้วยแล้ว ไม่ต้องพูดถึง ก่อนที่โรตีจะมาถึงปากเรา แขกขายโรตีจะนำมันไปวางบนกระดาษสีตุ่นๆ แล้วม้วนเข้าหากัน เขามักถามว่าจะให้พับทั้งสองด้านไหมหรือจะกินเลย ถ้าเราตอบอย่างหลังเขาจะพับปลายกระดาษแค่ด้านเดียว ส่วนอีกด้านจะฉีกให้เป็นรอยเล็กน้อยเพื่อความสะดวก ตอนฉีกกระดาษก่อนกิน พวกเรารู้สึกว่า โรตีมันต้องม้วนกระดาษ บรรดาพ่อแม่หรือคนที่รักสุขภาพเคยเรียกร้องให้พวกเราเอาจานไปใส่พวกเราก็ไม่เอา รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ที่แปลกกว่านั้นคือ เราไม่เคยสงสัยเลยว่า มือของเค้าสะอาดไหม เคยเอาไปล้วง แคะ แกะ เกา อะไรหรือเปล่า ในวัยเด็กเรามองไปที่มิตรภาพและรสชาติที่เค้าหยิบยื่นให้ รอยยิ้มฟันขาวของเขาเป็นเอกลักษณ์ที่เด็กๆ จดจำ พวกเราไม่เคยรู้จักชื่อจริงของเขา รู้ว่าเขาเป็นแขก เพราะมีคนบอกว่าเขาเป็นแขก พวกเราตอนเด็กๆ เรียกเขาว่า พี่ขาว
 
วันหนึ่ง พี่ขาวก็ไม่ได้มาขายโรตี ได้ข่าวว่าเขาถูกจับในข้อหาลักลอบเข้าประเทศไทย และถูกพาตัวกลับบ้านเขาไปแล้ว ตอนนั้น ผมเพียงแค่คิดถึงพี่ขาวบ้าง อยากกินโรตีบ้าง คิดถึงกลิ่นหอมๆ ของเนย หลังจากที่พี่ขาวกลับบ้านไปไม่นาน แขกขายโรตีหน้าใหม่ๆ ก็ทยอยมาเป็นระยะแล้วเงียบหายไปในที่สุด คล้ายกับถนนหน้าบ้านที่เริ่มไม่มีขี้ควาย เรียบขึ้น และกลายเป็นถนนราดยาง ทุกวันนี้ใครอยากกินโรตีก็สามารถขับรถออกไปซื้อโรตีในตลาดทานได้เลย ไม่มีแล้วแขกขายโรตี มีแต่โรตีป้าพิศมัย โรตีลุงชัย และโรตีอินเตอร์ เป็นต้น ส่วนไส้โรตีก็เต็มไปด้วยแยมนานาชนิด กล้วยหอม ช็อคโกแลต และชีส โรตีนมกลายเป็นสินค้าราคาต่ำสุดบนแผง
พอผมโตขึ้นและใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นหลัก ผมเริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวเกี่ยวกับพี่ขาวได้หลายอย่าง พี่ขาวเป็นมุสลิม เพราะเค้าเคยบอกกับผมอย่างนั้น ในวัยเด็กผมรู้แค่ว่ามุสลิมไม่กินหมูกับไม่กลืนน้ำลายในเดือนไหนสักเดือน ผมรู้แค่นั้นจริงๆ พี่ขาวเองก็จะไม่เข็นรถไปในบริเวณที่มีกลิ่นของขี้หมูลอยมาด้วย นอกจากนี้เขายังเป็นแขกขายโรตีจากบังคลาเทศ ในวัยเด็กผมเคยเห็นตำรวจได้กินโรตีฟรีจากพี่ขาวประจำ โตมาเพิ่งรู้ว่านั่นคือ การรีดไถ่
 
พี่ขาวเคยบ่นคิดถึงลูกที่บังคลาเทศให้ฟัง เคยเล่าถึงสงคราม ความอดอยาก รวมไปถึงความยากลำบากของการนั่งเรือข้ามน้ำมาจากบังคลาเทศ เคยพูดถึงเงินที่เก็บสะสมไว้สำหรับซื้อของเล่นให้ลูกชาย เขาเคยถามผมว่ารถกระบะพลาสติกที่ผมเล่นอยู่นั้นซื้อจากไหนและราคาเท่าไร ตอนเด็กๆ ผมกับเพื่อนไม่เคยสนใจเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา รวมไปถึงสถานะภาพทางกฎหมาย พี่ขาวคือมิตรที่เข็นเอารสชาติแปลกใหม่มาสู่้ท้องทุ่ง แขกขายโรตีคนนี้ คือประตูบานแรกๆ ที่เปิดสู่โลกกว้างและสอนให้ผมรู้ว่า เมืองไทยไม่ได้มีแค่ศาสนาพุทธ คนไม่ได้กินแต่ข้าวเป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียว รวมไปถึง การที่คนเราจะสร้างมิตรภาพนั้น ศาสนาเป็นเพียงความต่างท่ามกลางความต่างมากมาย แต่คนเราจะคบหากัน ความต่างก็เป็นเพียงองค์ประกอบสำหรับการใคร่ครวญ เพราะคนเรามีเรื่องเล่าตั้งมากมายที่สามารถเล่าสูกันฟังได้
 
มันคงเป็นทั้งคราวเคราะห์และบุญสนอง ตั้งแต่เรียนมานุษยวิทยาและเริ่มทำวิทยานิพนธ์ ผมต้องรู้จักคำว่า “แขก” ในความหมายอื่นๆ โดยเฉพาะความหมายในแง่ลบมากขึ้น ระมัดระวังกับคำหลายๆ คำซึ่งมีรากฐานและที่มาในเชิงลบ ทั้งที่ผู้พูดมีเจตนาอีกอย่างหนึ่ง ต้องเรียนรู้ว่าวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันและเราต้องเคารพในความแตกต่าง แต่โรตีของพี่ขาวสอนผมว่า เราต้องหาจุดร่วมที่เราคุยกันได้ ผมตระหนักตลอดเวลาว่ามุมกลับของการลากเส้นความต่างทางอัตลักษณ์ คือ ความรุนแรงและการฉีกสายสัมพันธ์ที่มนุษย์จะมีให้กัน ภาษาทางวิชาการคงเรียกว่า ความรุนแรงของอัตลักษณ์แบบหนึ่งละมั้ง แต่แน่นอน ความต่างทางวัฒนธรรมและจุดร่วมก็ยังเป็นสิ่งถกเถียงกันไปอีกนาน การมองคนแบบสากลโดยขาดการพิจารณาความแตกต่างก็ย่อมมีอันตรายร้ายแรงพอกัน
 
แต่ข้อถกเถียงพวกนี้ ช่างมันเถอะ...
 
บ่อยครั้งที่ไปนั่งกินโรตีกับน้ำชาในปาตานีประเทศ ผมมีความสุขทุกครั้ง กระนั้น ศัพท์แสงทางวิชาการที่ใช้โดยขาดความพินิจด้วยหัวใจ ก็มักเรียกขานกันว่า “ดูสิ...คนนอกยังไปทานได้ ไทยพุทธยังไปทานร่วมกับมุสลิมได้...สังคมพหุวัฒนธรรมจริงๆ ด้วย” ผมเบื่อหน่ายกับคนพวกนี้เสียจริง เพราะบนโต๊ะน้ำชาที่พวกเค้าเห็นนั้น มันมีเพียงแค่คำว่าเพื่อนและมิตรภาพ
 
ในทางกลับกัน คนกลุ่มนี้พอได้มีโอกาสเห็นระเบิดในจอทีวี เห็นความขัดแย้งทางศาสนา หรือเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาดเจ็บ ก็จะรีบตีโพยตีพายออกมาเป็นภาษาทางวิชาการว่า “โอ...ตายแล้ว มันคือความรุนแรงและความขัดแย้งในระดับต่างๆ ทั้งทางตรง โครงสร้าง และวัฒนธรรม พวกเราต้องรีบสร้างกระบวนการสมานฉันท์ เรียกคืนสันติภาพกลับมาโดยด่วน...”
 
ผมก็อุทานเหมือนกัน แต่อุทานว่า “โอ...ตายจริง มีคำตอบกันแล้วนี่...แล้วจะให้ผมคุยกับคนพวกนี้อย่างไรดี...”
 
คนหลายคนที่เข้าไปพัวพันเกี่ยวภาคใต้ โดยเฉพาะนักวิชาการและนักพัฒนาองค์กรเอกชนที่ลงภาคสนามและเก็บข้อมูลในโรงแรมอย่างเป็นกิจวัตร ชนิดเสพติดจนจินตนาการไม่ออกว่าถ้าไม่มีโรงแรมพวกเค้าจะเก็บข้อมูลกันอย่างไร พวกเค้า คงลืมปรัชญาของการกินโรตีและน้ำชาแบบบ้านๆ ไปกระมัง
 
รสมือของคนทำโรตีในกำปง การใช้มือจับ ฉีก และจิ้มน้ำแกง มันคือการสลายตัวตนอันสูงส่งและความแตกต่าง มาสู่ความเรียบง่ายและเท่าเทียมกัน หากผ่านขั้นตอนนี้ เรื่องเล่าต่างๆ จะหลั่งไหลออกมาราวกับการพูดคุยกับเพื่อน
 
อืม...ขอพูดแบบเท่ๆ หน่อย...สันติภาพไม่ได้เกิดขึ้นในห้องประชุมติดแอร์หรอกครับ
สันติสุขที่ปราศจากมิตรภาพนั้นมันไม่มีอยู่จริงหรอกครับ