Skip to main content
 

ย้อนรอยวัน "สื่อ" ทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 1: 2011

ฐิตินบ โกมลนิมิ
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

            สิ่งที่รับทราบร่วมกันดี สื่อมวลชนในประเทศไทยรายงานข่าวเพียงปรากฎการณ์ความรุนแรง แต่ไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุความขัดแย้งให้นำไปสู่ทางออกของสถานการณ์ได้ ขณะที่สื่อในพื้นที่รู้ปัญหาเชิงลึก เข้าถึงความรู้สึกชาวบ้าน บางครั้งการนำเสนอนั้นอาจสร้างผลกระทบทั้งต่อผู้ให้ข้อมูลและผู้เสนอข่าว นีี้คืออุปสรรคใหญ่ประการหนึ่งในสำหรับคนทำงานสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้ง "ความปลอดภัยในการหาข่าว นำเสนอข่าวในพื้นที่ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะคู่ขัดแย้งทั้งกลุ่มก่อการและฝ่ายรัฐมีกองกำลังติดอาวุธทั้งคู่" นายแซมซู แยะเย็ง จากเครือข่ายสันกาลาคีรี หนึ่งในนักข่าวใหม่ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ระบุ

            “เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม” ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่าย/ภาคี 3 กลุ่มใหญ่ คือ (1) ภาควิชาการ: คณะวิทยาการสื่อสาร ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา สถาบันพระปกเกล้า ฯ (2) ภาคประชาสังคม: มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม อาสาสมัครสันติอาสาสักขีพยาน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายเยียวยา เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯ และ (3) สื่อสาธารณะ: สื่อใหม่ อาทิ Peace Media group สำนักข่าวอามาน สำนักข่าวบุหงารายา นิวส์ เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์เยาวชน (คพช.- Insouth) สื่อวิทยุ: วิทยุท้องถิ่น ร่วมด้วยช่วยกัน วิทยุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายวิทยุชุมชนปัตตานี ยะลา นราธิวาส และเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคภาษามลายู เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ ฯ 

              เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่ง จึงริเริ่มผลักดันให้เกิด "วัน 'สื่อ' ทางเลือก" ให้เป็นสัญลักษณ์ของ 2 นัยยะ โดยนัยยะแรก เป็นการแสดงออกซึ่งการทำงานร่วมกันของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมที่มีเป้าหมายสร้างพลังการต่อรองกับผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย และนัยยะที่สอง เป็นการรวมตัวกันของสื่อทางเลือก สื่อชุมชน และสื่อท้องถิ่นชายแดนใต้ และภาคประชาสังคมที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กระบวนการสื่อสารสาธารณะจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อทุกฝ่าย

            ทั้งสองนัยยะนี้มีเป้าประสงค์เพื่อเปลี่ยน และกำหนด "วาระการสื่อสารใหม่" ที่ปฏิเสธความรุนแรงทุกมิติและจากทุกฝ่ายที่ใช้ ถือเป็นอำนาจไม่เป็นธรรมในการกำหนดชะตากรรมของผู้คน ชุมชน และสังคมทั้งหมด ยังคาดหวังให้ "วัน 'สื่อ' ทางเลือก" นี้ ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้เป็นวันที่กลับมาทบทวนเป้าหมายการทำงาน เติมความรู้ และกลายเป็นพื้นที่หล่อหลอม สร้างแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่เสริมเข้ามาในกระบวนการเคลื่อนไหวสังคมชายแดนใต้อย่างสม่ำเสมอด้วย ทั้งนี้ นับหนึ่งปีแรกจากวันที่ 13 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา และพัฒนาความเป็นไปได้อย่างมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่สัมพันธ์กัน 

           วันเดียวกันนี้  ยังได้เชิญ "แหล่งข่าว" ภาครัฐและทหาร ซึ่งคนที่มาร่วมงาน ได้แก่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4  หน่วยเฉพาะกิจยะลา นราธิวาส ฯ เพื่อแนะนำ เปิดตัวสื่อทางเลือก/สื่อชุมชน และ "โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้" ที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนใต้ให้มี "ที่ยืน" และ "ปรากฏตัวตน" ชัดเจนในการทำงานมากขึ้น

            และเชิญ Mr.Froilan O. Gallardo นักเขียนและช่างภาพข่าว หนึ่งใน 20 คนของทีมก่อตั้งสำนักข่าวมินดา นิวส์ จากฟิลิปปินส์ ให้เล่าถึงบทเรียนของการสร้างพื้นที่ข่าวทางเลือกในเกาะมินดาเนา ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางกับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ "สิ่งที่สื่อทางเลือกอย่างมินดา นิวส์ ทำก็คือรายงานข่าวเชิงลึกเพื่อสะท้อนภาพโศกนาฏกรรมของมนุษย์ในพื้นที่แห่งนี้ต่อโลก และจับประเด็นข่าวที่ไม่ได้รับความสนใจให้ความสำคัญจากสื่อส่วนกลาง เช่น สภาพของผู้คนในค่ายอพยพ สถานภาพของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เป็นต้น ที่สำคัญ คือการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง กลุ่มติดอาวุธ ไม่ว่าผลของข่าวสารที่ทำไปนั้นจะเป็นผลดีหรือผลร้ายต่อฝ่ายใด นอกจากนี้ บทบาทของมินดา นิวส์ ยังสนับสนุนการสร้างนักข่าวจากชุมชนรากหญ้าอีกด้วย"

            นอกจาก Mr.Gallardo แล้ว นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ที่ใช้ new media ในการตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมในการชุมนุมทางการเมืองและเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อทุกช่องทาง หลังการรัฐประหาร ปี 2549 ยังให้กำลังใจ "สำหรับผู้ที่มีธงในการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และมาใช้สื่อใหม่เป็นช่องทางในการสื่อสาร ยอมรับว่าเสรีภาพในการสื่อสารนี้อาจเป็นการบั่นทอนแนวทางของตัวเองได้ แน่นอนว่าสื่อทางเลือกอาจไม่ได้อยู่ภายใต้การชี้นำเสมอไป แต่หากมวลชนที่ต้องการจะสื่อสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญจริง การสื่อสารเหล่านี้จะขัดเกลากระบวนการทางอุดมการณ์ให้แหลมคมขึ้น และจะไม่มีฝ่ายใดจะสามารถแอบอ้างไปใช้ประโยชน์ได้แต่ฝ่ายเดียว เนื่องจากธรรมชาติของกระบวนการเหล่านี้เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมือง" และย้ำว่า "การทำงานของสื่อใหม่ยังโดดเด่นผ่านการทำงานผ่านเครือข่ายและการทำงานข้ามเครือข่าย ทำให้สื่อใหม่ใกล้ชิดกับมวลชนหรือผู้บริโภคมากกว่าสื่อกระแสหลักซึ่งเป็นจุดแข็งที่สื่อหลักไม่มี แต่การออกแบบการทำงานร่วมกับเครือข่ายถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก"

            รวมทั้งตัวแทนจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ถอดประสบการณ์การใช้สื่อผสมผสาน (mix media) ในการขับเคลื่อนเพื่อเปิดประเด็นทางการเมืองในพื้นที่ โดยเฉพาะการพูดเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" (Autonomy) ซึ่งเคยเป็นเรื่องต้องห้ามให้สามารถพูดได้ในที่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การออกแบบโครงสร้างการเมืองการปกครองใหม่ที่ให้ความยุติธรรมแก่ทุกคน และเสนอเป็นรูปแบบ "การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ" เรื่องนี้จำเป็นต้องการทำความเข้าใจจนไปถึงการสร้างฉันทามติร่วมกัน 

แนวคิดการใช้สื่อผสมผสานในการยกระดับการสื่อสารสาธาระเพื่อการเปลี่ยนแปลง

               แม้ตอนเริ่มต้นจะมาจากนักวิชาการสร้างความรู้ กำหนดประเด็นเคลื่อนไหว ชวนเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กร จัดเวทีสาธารณะที่ดึงผู้คนจากหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม มีการทำแผนที่เครือข่ายสื่อสามจังหวัดภาคใต้ อันนำไปสู่การวางแผนเพื่อถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์และวิทยุชุมชน (ทั้งภาษาไทยและภาษามลายู) ขณะเดียวกันก็มีนักข่าวพลเมืองคอยสื่อสารและสะท้อนความคิดเห็นของพลเมือง (คนในพื้นที่) ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ให้กลายเป็นการสื่อสารสองทางกับ "สังคมนอกจังหวัดชายแดนใต้" ทำให้เรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" เป็น "วัตถุทางวาทกรรม" ที่หลายๆ ฝ่ายพูดถึง อ้างอิงถึง ตอบโต้ และต่อรอง กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยกันเรื่องนี้ 

               แง่นี้เอง เมื่อเราสามารถผลิตวัตถุทางวาทกรรม: อาทิ "นครปัตตานี" "เขตปกครองตนเอง (Autonomy)” รวมทั้ง "การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ" ฯ ได้ บวกกับการใช้สื่อประเภทต่างๆ ร่วมกันเปิดพื้นที่การสื่อสาร ก็จะนำไปสู่ "พื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัย" สร้างอำนาจการต่อรองแก่รัฐและกลุ่มก่อการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกระบวนการเจรจาทั้งในประเด็นโครงสร้างอำนาจและประเด็นอื่นๆ ได้ต่อไป 

               หรือกรณีสถานการณ์ภัยพิบัติ ปลายปี 2553 ก็เป็นตัวอย่างการเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อชุมชนและสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ช่วยกันเยียวยาและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที และนำสู่การฟื้นฟูระยะยาวที่อยู่บนฐานความต้องการของชุมชน  ซึ่งแน่นอนภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติซ้ำซ้อนเช่นนี้ ก็เกิดชุดวาทกรรมเล็กที่เรียกร้อง "การจัดการตัวเองของชุมชนในสถานการณ์ภัยพิบัติ" ขึ้นมาสอดรับกับชุดวาทกรรมใหญ่ "องค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ" ได้อย่างน่าสนใจ

                อนึ่ง ในงานวันนี้ยังได้เชิญชวนเครือข่ายต่างๆ นำเสนอเนื้องานของแต่ละองค์กรมานำเสนอ เพื่อสร้าง "พื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน" ด้วย เช่น การจัดนิทรรศการของเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไ่ม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) หน่วยนรา สันติ (NaRa Peace) ของฉก.33 นราธิวาส รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ แถลงข่าวผลการศึกษา "เพื่อผ่านพ้นความทุกข์ยากของผู้หญิงภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง จังหวะก้าวสร้างกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้" เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากลด้วย 

ภาพบรรยากาศงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ครั้งที่ 1


ภาพประกอบโดย นายอิบรอฮิม มะโซ๊ะ
อ่านรายงานข่าว วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้: ย้ำเสรีภาพในการสื่อสาร เปิดพื้นที่การเมืองต้านความรุนแรง