Skip to main content

 

               
 
       เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 ศาลทหารจังหวัดปัตตานี มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 11 ก./2553 โดยพนักงานอัยการศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีเป็นโจทก์ฟ้องสิบเอก ขวัญชัย สีนิล ในข้อหาทำร้ายร่างกายเด็กชาย อาดิล สาแม อายุ 14 ปี และ นายมะเซาฟี แขวงบู  อายุ 20 ปี โดยใช้กำลังทำร้ายร่างกาย แตะและตบด้วยด้ามปืนที่บริเวณลำตัวและศรีษะ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2552 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
 
      โดยจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง ศาลจึงพิพากษาลงโทษกึ่งหนึ่ง จากจำคุกจำเลย 1 ปี เหลือ 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท เหลือ 2,000 บาท และเนื่องจาก จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีความประพฤติดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษ (ลงอาญา) 2 ปี แต่บังคับโทษปรับ
 
     นายมะซอฟี แขวงบู ผู้เสียหายในคดี กล่าวว่า รู้สึกไม่พอใจกับบทลงโทษที่เบากว่าที่หวังไว้ เพราะการกระทำที่เกิดขึ้นกับผม และ เด็กชายมูฮำหมัดอาดิล นั้นถือได้ว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องดูแลความสงบสุขของประชาชน แล้วจะให้ชาวบ้านไว้ใจวางใจต่อเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร มะซอฟีกล่าวด้วยความสิ้นหวัง เขาเห็นว่า ลงโทษน้อยกว่าความผิดที่ทำ ซึ่งเขากล่าวต่ออีกว่าจะดำเนินการฟ้องร้องในคดีแพ่งต่อไป
 
       เขาได้ย้อนเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วว่า เมื่อวันที่ 11พฤษภาคม 2552  หลังจากละหมาดอีซา (ภาคค่ำ) ก็ชวนเด็กชายมูฮำหมัดอาดิล เพื่อไปที่สวนข้าวโพดที่เขาปลูกบริเวณถนนสวนศรีเมือง เนื่องจากในเวลากลางคืน วัวจะเข้ามากินข้าวโพด ขณะขับรถมอเตอร์ไซต์ถึงสวนข้าวโพด เห็นทหาร 4 นายอยู่ในเครื่องแบบทหาร พร้อมรถจี๊ปทหารหนึ่งคัน ขณะนั้นทหารกำลังนั่งกินเหล้าอยู่ เมื่อทหารเห็นผมกับเพื่อนก็เรียกให้ไปหา จากนั้นก็ขอดูบัตรประชาชน
 
       เมื่อตรวจค้นเสร็จ ทหาร 3 นายได้อนุญาตให้ผมไปได้ แต่ ส.อ.ขวัญชัย สีนิล กลับไม่อนุญาต ผมได้กลิ่นเหล้าหื่นจากตัวของ ส.อ.ขวัญชัย ด้วย สักพักเขาได้สั่งให้ผมเดินเข้าไปหาเขาซึ่งอยู่ริมถนน เมื่อเข้าไปใกล้เขาก็ถีบผมจนกลิ้งลงไปข้างล่าง ซึ่งเป็นทางลาดชันและมีหินกรวดเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นนายขวัญชัยสั่งให้ผมปีนขึ้นมาที่ริมถนนอีกครั้ง และเตะที่บริเวณใต้ลูกกระเดือกและถีบผมตกลงไปอีก ซ้ำๆอย่างนี้ประมาณ 4 - 5 ครั้ง
 
     นายขวัญชัยได้ พูดว่า “วันนี้จะฆ่าเด็ก!” และสั่งให้ทหารอีกคนไปเอาปืนสั้นที่อยู่ในรถยนต์โดยให้เอาลูกกระสุนมา 2 นัด จากนั้นนายขวัญชัยเอาปืนสั้นมาจ่อที่ศีรษะของผม และพูดว่า

 

  “จะคิดถึงอะไร หรือนึกถึงอะไรก็นึกไป เพราะมึงกำลังจะตายแล้ว!”
 
         หลังจากนั้น เขาก็เอาท้ายปืนมาตีที่ท้ายทอย และใช้ปืนตีที่หน้าทำให้ฟันบนด้านขวาหักไปหนึ่งซี่ จากนั้นทหารคนอื่นก็มาห้ามและพูดว่า
 
      “ไม่ต้องฆ่าเด็กหรอกพี่ ปล่อยมันไปเถอะ มันไม่รู้เรื่องอะไร” แต่นายขวัญชัยไม่ฟัง
 
       มะซอฟัเล่าอีกว่า ทันทีที่เห็นว่านายขวัญชัยจะฆ่าเขาและอาดิลแล้ว เขาจึง ตะโกนให้อาดิลหนี อาดิลก็หนีเข้าไปในสวนข้าวโพด ส่วนเขากระโดดลงไปในแม่น้ำ เขาบอกว่า ตอนนั้นน้ำเย็นมาก จากนั้นได้ยินนายขวัญชัย พูดว่า
 
      “กูให้เวลามึง 10 นาที ถ้ามึงไม่ขึ้นมา กูจะยิงมึง กูจะรอมึงจนกว่ามึงจะขึ้นมาจากน้ำ” เขาได้แอบซ่อนอยู่ในแม่น้ำโดยลอยคอ ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ได้ยินเสียงสตาร์ทรถขับออกไป
 
      “จากนั้นผมจึงหาทางกลับบ้านโดยทิ้งมอร์เตอร์ไซต์ไว้ที่เกิดเหตุ เมื่อผมกลับไปถึงบ้านก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ครอบครัวฟัง วันรุ่งขึ้นครอบครัวจึงพาผมไปตรวจร่างกาย และแจ้งกับทางโรงพยาบาลว่าถูกวัยรุ่นทำร้ายเนื่องจากกลัวความไม่ปลอดภัย แพทย์เย็บแผลที่หัวที่ถูกตีด้วยท้ายปืน 4 เข็ม ฟันที่หักไป 1 ซี่ และร่างกายบอบช้ำจากการถูกชกต่อยของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วน อาดิล ก็ถูกชก และทำร้ายร่างกายด้วยเช่นกัน
 
       หลังจากเกิดเหตุการณ์วันนั้นผมและครอบครัวได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมและเพื่อนมันเลวร้ายมากเกินกว่าความกลัวที่มี ผมและครอบครัวจึงออกมาต่อสู้โดยผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้เด็กและชาวบ้านในพื้นที่คนอื่น ๆ เป็นเหยื่ออารมณ์ของทหารต่อไป
 
       คุณนีซะ สาแม แม่ของเด็กชายอาดิลบอกว่า
 
      “ยังไงเรื่องนี้ก็ต้องสู้กันต่อไป แต่จะสู้โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เป็นตัวอย่างของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่มาใช้อำนาจตามอำเภอใจเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การต่อสู้มีความกลัวเข้ามาเกี่ยวข้องแต่เราต้องการความยุติธรรมและเที่ยงธรรมสูงสุด”
 
       นางสาวภาวิณี ชุมศรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การฟ้องร้องคดีแพ่งนั้น ต้องพิจารณาดูว่า กรณีนี้ได้มีการทำข้อตกลงอะไรกันมาก่อนหรือไม่ หากมีการตกลงว่า “ไม่ติดใจดำเนินคดีทางแพ่ง” อย่างนี้ไปฟ้องแพ่งอีกไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีการตกลงยอมความใดๆมาก่อน แม้จะรับเงินค่าเสียหายมาบางส่วน ก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ อย่างเช่นในคดีนี้ หากผู้เสียหายประสงค์ที่จะใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งก็สามารถทำได้ เพราะกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้เสียหายไว้อยู่แล้ว
 
       เธอยังเพิ่มเติมอีกว่า การตกลงยอมความกันนั้น ต้องระวัง เพราะเป็นการตัดสิทธิของเราที่จะไปเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องแล้วแต่ความต้องการของผู้เสียหาย ทนายความมีหน้าที่เพียงแค่บอกข้อดี ข้อเสีย ของการทำข้อตกลงยอมความกับการฟ้องคดี เช่น หากตกลงยอมความ เรื่องก็จบเร็ว และไม่ต้องขึ้นศาลอีก  แต่อาจจะไม่ได้ตามสิทธิที่เราพึงได้ และความจริงของเรื่องนั้นๆ ก็จะไม่ปรากฏต่อสังคม เป็นต้น
 
        เธอยังอธิบายอีกว่า คดีแพ่งนั้น คู่ความอาจตกลงยอมความกันได้ หลักคือความตกลงของ “คู่ความเป็นใหญ่” ซึ่งต่างจากกฎหมายอาญา โดยเฉพาะความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ทำร้ายร่างกาย หรือฆ่า เป็นต้น ลักษณะนี้เป็นความผิดต่อแผ่นดิน แม้ผู้เสียหายจะไม่เอาเรื่อง แต่รัฐก็ต้องเอาคนผิดมาลงโทษ