อับดุลเลาะห์ วันอะฮ์หมัด
Awan Book
เหนือสิ่งอื่นใด ความยุติธรรมคือสิ่งจำเป็น
ตามที่ได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือเรียกอีกอย่างก็คือฝ่ายผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐไทยเองไม่เคยยอมรับการดำรงอยู่ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วยเหตุผลทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตรงกันข้ามที่ฝ่ายรัฐเองมีความพยายามที่จะลดระดับความน่าเชื่อถือ (discredit) และปฏิเสธการดำรงอยู่ของกลุ่มขบวนการมาโดยตลอดจนทำให้สถานการณ์ความรุนแรงกลับมีแนวโน้มเพิ่มระดับความเข้มตามลำดับทั้งสถิติและศักยภาพทางการทหาร เพื่อให้รัฐไทยได้มองเห็นถึงขีดความสามารถของฝ่ายขบวนการ จนในที่สุดรัฐเองจะต้องยอมรับในเรื่องดังกล่าว โดยใช้ความรุนแรงเป็นกลไกในการต่อกร
ที่ผ่านมารัฐเองไม่เคยมีแนวทางที่ชัดเจนในการกำหนดกรอบการทำงานในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเป็นเวลาร้อยกว่าปีที่แล้ว นับจากที่ดินแดนปาตานีตกอยู่ภายใต้การปกครองของไทย (คศ.1785)
อีกทั้งรัฐเองยังคงยึดหลักตามกรอบรัฐธรรมนูญของประเทศมาโดยตลอด (ราชอาณาจักรไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้) ที่ไม่มีการเปิดพื้นที่และโอกาสให้กับกลุ่มชนผู้เห็นต่างในประเทศได้มีที่ยืน ที่มีอัตลักษณ์ความแตกต่างกับส่วนกลางทั้งทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ตลอดจนความเชื่อ ในการกำหนดอนาคตของตนเอง
ทั้งๆ ที่เป้าหมายของการเรียกร้องในอดีตนนั้น มิใช่เป็นการเรียกร้องต้องการเอกราชอย่างสุดโตงเพียงอย่างเดียวไม่ หากแค่ต้องการเรียกร้องสิทธิที่พึงมี แต่รัฐเองกลับใจแคบมัวแต่กลัวที่จะต้องสูญเสียดินแดนปลายด้ามขวานนี้ไป
หลายต่อหลายครั้งความพยายามที่เคยดำเนินการด้วยวิถีทางการเมืองโดยสันติวิธี เพื่อต้องการสร้างพื้นที่แห่งสันติและความภราดรภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้มานักต่อนักแล้ว แต่ไม่เคยบรรลุความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแม้แต่ครั้งเดียว ถึงแม้ว่าความพยายามที่ผ่านมาอาจไม่หวือหวาเหมือนในครั้งนี้ก็ตาม แต่บ่อยครั้งมักจะพบกับความสะดุดกลางคันมาโดยตลอด ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการของทั้งสองฝ่าย และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการไม่ลงรอยกันภายในรัฐบาลไทยเอง
และเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มการเมืองภายในประเทศเอง กลับนำเอาประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ เอามาเป็นประเด็นในการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองของแต่ละฝ่าย มากกว่าที่จะช่วยกันอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งๆ ที่มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากไม่เว้นแต่ละวัน
และเมื่ออีกฝ่ายเป็นผู้ถือธงนำในการแก้ไขปัญหา ไม่ทันที่รัฐบาลจะดำเนินการไปถึงไหน อีกฝ่ายหนึ่งก็ออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ถึงความไม่เหมาะสมอย่างโน้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มันเกินกว่าที่จะเอามาเป็นประเด็นในการหาเสียงเพื่อหาความชอบธรรมให้กับพรรคการเมืองต่างๆ เลย ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลาในการแก้ไขปัญหาโดยปริยาย
ความกังวลของรัฐไทยที่มีต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ คือความกังวลต่ออธิปไตยที่อาจจะต้องสูญเสียไป ถึงแม้ว่าความเป็นไปได้อาจเป็นไปได้ยากและอาจเป็นไปไม่ได้ ในสภาวะแห่งยุคสมัยในโลกปัจจุบัน แต่ทว่ารัฐไทยเองกลับกังวลกลุ้มใจต่อสิ่งที่ยังมาไม่ถึงมาโดยตลอด นั่นก็คือการที่จะต้องเสียดินแดนให้กับคนมลายูปาตานี
ด้วยเหตุผลทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคแห่งการสื่อสาร ทำให้รัฐเองกลับมีความระมัดระวังในการเดินเกมทุกระเบียบนิ้ว เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางของฝ่ายตรงข้าม แต่ถึงกระนั้นก็ตามการเดินเกมของทั้งสองฝ่ายก็ต้องถึงจุดสุกงอมอยู่ดี
หากรัฐไทยสามารถเปลี่ยนแนวคิดของคนไทยทั้งชาติได้ ปัญหาภาคใต้ก็คงไม่เกินความสามารถของรัฐบาลไทยมากนัก โดยที่ว่าให้ความเคารพต่อสิทธิของพลเมืองของคนในชาติ ที่บุคคลคนหนึ่งพึ่งมีและสามารถกระทำได้ ไม่มีการกดทับปิดกั้นสิทธิของพลเมือง และยอมรับในความแตกต่างที่มีอยู่
การเจรจาเมื่อวันที่ 28/03/2013 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ฝ่ายขบวนการเองก็ไม่ได้มีการยื่นข้อเสนอที่สูงลิบลิ่วเกินไปมากนัก นั่นก็คือเพียงแค่ต้องการดูแลจัดการตัวเองและเหนือสิ่งอื่นใดก็คือความปรารถนาในความยุติธรรม
ซึ่งความยุติธรรมถือเป็นสัจธรรมที่ไม่มีวันตาย ไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะนับถือศาสนาใด สัญชาติใดก็ตาม ล้วนรักและปรารถนาในความยุติธรรม แม้กระทั่งผู้ที่ไร้อุดมการณ์ก็ย่อมปรารถนาในสิ่งนั้น
ความศักดิ์สิทธิแห่งสัจธรรมที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือความยุติธรรม
อย่าว่าแต่สังคมใหญ่อย่างประเทศชาติ แม้กระทั่งสังคมเล็กๆ อย่างสถาบันครอบครัวก็ยังเกิดปัญหาอยู่ดี หากว่าผู้นำครอบครัวไม่มีความยุติธรรมหรือมีการเลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันในการแบ่งปันความรักหรือมรดก ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาความขัดแย้งได้อย่างแน่นอน เพียงแต่จะหนักหรือเบาก็เท่านั้นเอง ที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวเองถูกปฏิบัติ
ในสังคมใดสังคมหนึ่งที่ไร้ซึ่งความยุติธรรม ความอยุติธรรมก็ย่อมจะมาดำรงแทนที่ และที่ใดก็ตามที่มีความอยุติธรรมแพร่หลายอย่างเสรี ที่นั่นยอมไม่มีสันติภาพ ความภราดรภาพไม่มีวันเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ตลอดจนความเป็นเอกภาพในการใช้ชีวิตของคนในสังคมอีกด้วย
ข้อเสนอ(การพูดคุย)ของฝ่ายขบวนการไม่ได้เป็นเรื่องเหลวไหลแต่อย่างใด แต่เป็นข้อเสนอที่อยู่บนรากฐานของความเป็นมนุษย์ ที่รักและปรารถนาในสังคมตลอดจนประชาชนของตนเองเพื่อให้ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถทัดเทียมกับสังคมอื่นๆ ที่มีอยู่บนบรรณพิภพแห่งนี้ เหนือสิ่งอื่นใดเพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ย่อมมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เพื่อความสูงส่งแห่งจิตวิญญาณที่สถิตอยู่ในใจของมนุษย์ทุกคน
หากการริเริ่มการเจรจาเพื่อสันติภาพในครั้งนี้สามารถดำเนินการอย่างราบรื่นไร้ทางสะดุด สันติภาพที่ปาตานีอาจไม่ไกลเกินความพยายามของทั้งสองฝ่าย ที่มีความมุ่งมั่นและจริงใจอย่างจริงจัง แต่เหนือสิ่งอื่นใดความยุติธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นกุญแจดอกทองที่จะสามารถไขปัญหาภาคใต้เพื่อให้เกิดสันติภาพได้อย่างยั่งยืน
หากนโยบายการเลือกที่รักมักที่ชัง ยังคงไม่จางหายไปจากพื้นที่ยังคงไม่ไปไหน ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ อาจจะไม่มีวันยุติลงได้ง่ายๆ จนกว่าสังคมไทยจะสามารถสะกดคำว่าความ “ยุติธรรม” เป็นได้อย่างสำเร็จ