จดหมายส่วนตัวถึงอาจารย์อันธิฌาและทีมงานสร้างสารคดีห้องเรียนเพศวิถี
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับอาจารย์และเพื่อนร่วมงานร้านหนังสือบูคูหลังจากที่ไทย พีบีเอส ได้นำเสนอสารคดี ก(ล)างเมือง ตอนห้องเรียนเพศวิถี ทำให้ผมเกิดความตระหนกเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อเกิดการโต้เถียงจนค่อยๆ พัฒนาไปเป็นการแบ่งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน (ซึ่งเป็นคนที่เห็นๆ กันในแวดวงวิชาการและกิจกรรมเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ในเวลาต่อมายิ่งสร้างความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกันของทั้งสองฝ่ายมากยิ่งขึ้นไปอีก ผมหวังว่าเหตุการณ์คงจะค่อยๆ คลี่คลายตัวกลับคืนสู่ภาวะปกติและอาจารย์ตลอดจนเพื่อนร่วมงานมีความมั่นคงปลอดภัยจากการคุกคามในทุกรูปแบบ กระนั้นก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทิ้งร่องรอยบางอย่างซึ่งเป็นสิ่งท้าทายแก่เราทั้งหลายในการ อธิบาย วิเคราะห์ตีความและให้ความหมายต่อร่องรอยดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้ร่องรอยนั้นแตกเป็นรอยร้าว และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น หากเราสามารถถอดบทเรียนบางประการ ร่องรอยที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ลึกซึ้งและสลับซับซ้อนในอาณาบริเวณที่เราเรียกว่า ปาตานี (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)
ผมได้ดูสารคดีแต่ดูได้ประมาณ 80 % ด้วยติดภารกิจและตั้งใจจะมาดูต่อ แต่หลังจากนั้นสารคดีได้ถูกถอดออกไป ต่อมามีผู้ถอดความจากเทปดังกล่าว นอกจากนั้นได้ติดตามการถกเถียงทาง Facebook และคำชี้แจงของอาจารย์ใน เว็บไซต์ประชาไท ในฐานะนักวิชาการมุสลิมและเป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับสังคมปาตานีมาบ้าง ผมอยากส่งสารถึงอาจารย์และเพื่อนร่วมงานร้านหนังสือและโครงการอื่นๆ ของบูคูดังนี้:
1) แม้ผมจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกับข้อถกเถียงและเนื้อหา (content) รวมทั้งวิธีการนำเสนอของอาจารย์และทีมงานในสารคดีที่นำเสนอโดยไทย พีบีเอส แต่ผมขอยืนยันถึงสิทธิอันชอบธรรมของอาจารย์และทีมงานในการนำเสนอความคิดและดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองอย่างเสรีโดยปราศจากความหวาดกลัวใดๆ ในทุกกรณี และเรียกร้องให้ทุกท่านได้เคารพในหลักการอันสำคัญนี้
2) แม้ข้อถกเถียงของอาจารย์มีประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจการถูกกดทับทางเพศ (อำนาจ) ของผู้หญิงในสังคมมลายูปาตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ชี้ให้เห็นถึงการครอบงำทางอำนาจของผู้ชายที่อำพราง หลบซ่อนอยู่ในกิจกรรมสาธารณะ (ทั้งในความหมายของ place และ space) ต่างๆ โดยในรายการสารคดี อาจารย์ ยกตัวอย่างการเล่นฟุตบอลในสนามฟุตบอลซึ่งถูกยึดครองโดยผู้ชาย (อันเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมเล่นฟุตบอลของผู้หญิง) แต่เนื่องจากอาจารย์ “เลือก” ใช้สนามฟุตบอลอันเป็นพื้นที่สาธารณะเป็นตัวแทนของการกดทับทางเพศของผู้ชายต่อผู้หญิง การเลือกพื้นที่เช่นนี้มาเป็นตัวแทนของพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ทำให้ผู้คนถูกทำให้เชื่อโดยง่าย เนื่องจากในสนามฟุตบอลเต็มไปด้วยผู้ชายจริงๆ ขณะที่ในสภาพความเป็นจริงมีพื้นที่สาธารณะอื่นๆ อีกมากมายที่ผู้หญิงครอบครองและ dominate เช่น ตลาด หรือถ้าอาจารย์เคยไปวิ่งตอนเย็นๆ ที่สวนสมเด็จย่าหลัง ม.อ. ปัตตานี อาจารย์จะพบว่า มีการแบ่งพื้นที่ (อำนาจ) กันครอบครองตามความถนัด พื้นที่เต้นแอโรบิค มีผู้ชายน้อยมาก (ผมเคยเข้าไปเต้นรู้สึกตัวลีบมาก) พื้นที่บริเวณเครื่องออกกำลังกายผู้ชายจะมากหน่อย พื้นที่ฝั่งสนามเด็กเล่นและสระน้ำแทบไม่มีผู้ชายเลยเต็มไปด้วยคุณแม่และลูกๆ อาจมีผู้ชายบ้างทำหน้าที่เฝ้าระวัง ส่วนพื้นที่ลู่วิ่งจะคละเคล้ากันไประหว่างผู้หญิงและผู้ชาย นี่ไม่นับรวมพื้นที่สาธารณะที่เป็นพิธีกรรมเช่น การจัดงานแต่งงานที่บ้าน งานพิธีอะกีเกาะฮ การจัดการศึกษาชั้นปฐมวัย (กีรออาตี/ ตาฏีกา/อนุบาล/ประถม) ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ dominated โดยผู้หญิง ทั้งในเชิงของอำนาจและพื้นที่
การที่อาจารย์ “ ‘พูดถึง’ (ในความหมายของแดริดา)” แต่เพียงพื้นที่สนามฟุตบอลแต่เพียงอย่างเดียวทำให้สิ่งนั้นมีอยู่หรือเป็นจริงขึ้นมา (counted) ในทางตรงกันข้ามการทำเช่นนี้ทำให้พื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่ “ ‘ไม่ถูกพูดถึง’ (uncounted)” ไม่มีตัวตน ไร้ความหมายและถูกกันออกไป ในระดับการตีความอาจกล่าวได้ว่าอาจารย์นำเอาวิธีการที่คนอื่นกระทำกับกลุ่มของอาจารย์ (ผู้หญิง/ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ) มาใช้กระทำต่อกลุ่มอื่น (กลุ่มมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับอาจารย์) ในระดับปรากฏการณ์อาจกล่าวได้ว่าอาจารย์นำเสนอข้อมูลด้านเดียว
อย่างไรก็ดีมิได้หมายความว่าการครอบงำทางอำนาจของผู้ชายในสังคมมลายูไม่มีอยู่ ประเพณีปฏิบัติและพื้นที่สาธารณะอีกหลายพื้นที่ที่ผูกขาดโดยผู้ชายและเป็นตัวขัดเกลา (shape) ความรับรู้เกี่ยวกับเพศสภาพและเพศวิถี แต่ถ้าเรามีข้อสรุปเช่นนี้ สังคมไทยทั้งสังคมก็อยู่ในอาการที่สาหัสมาก ลองดูขุนแผนพระเอกของเราที่กระทำต่อผู้หญิงคือนางบัวคลี่เพื่อเอาเด็กในท้องมาทำกุมานทอง และเราไม่เคยเห็นว่าขุนแผนเป็นผู้ร้ายเลย:
เอามีดคร่ำตำอกเข้าต้ำอัก เลือดทะลักหลวมทะลุตลอดสัน
นางกระเดือกเสือกดิ้นสิ้นชีวัน เลือดก็ดั้นดาดแดงดังแทงควาย
อุ้มเอาทารกยกจากห้อง กุมารทองมาเถิดไปกับพ่อ
หยิบเอาย่ามใหญ่ใส่สวมคอ เอาผ้าห่อลูกชายสะพายไป
(วรรณคดีขุนช้าง—ขุนแผน)
เราต้องช่วยกันขจัดการครอบงำทางโครงสร้างให้หมดไป แต่การมุ่งเป้ามาที่อิสลามและสังคมมลายูอาจจะทำให้เข้าใจไปได้ว่ามีเป้าหมายเพื่อล้มล้างอิสลามและวิถีของชาวมุสลิม
3) ในฐานะมุสลิมเมื่อผมดูสารคดีดังกล่าวและเมื่อมาดูคำอธิบายของอาจารย์อีกครั้งใน เว็บไซต์ประชาไทผมรู้สึกเหมือนมีคนสองคน (ตัวละครหลักคืออาจารย์และคุณดาริณี) ถือเลื่อยยนต์พยายามโค่นศรัทธา (Faith) ของผม (ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร) แต่ที่ทำให้ผมรู้สึกกระอักเนื่องจากเป็นการโค่นออกอากาศ โดยที่ผมไม่มีโอกาสได้พูดอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว อย่างน้อยควรจะเปิดให้ผมได้โต้แย้งข้อถกเถียง ของอาจารย์ บ้าง
ในรายการอาจารย์พยายามชี้ให้เห็นว่าความเป็นผู้หญิงและความเป็นผู้ชายจริงๆ แล้ว มันถูกสังคมซึ่งก็คืออำนาจ (ทางศาสนาซึ่งมีผู้ชายคุมอยู่) สร้างมันขึ้นมา (socially constructed) อาจารย์พูดหลายครั้งหลายคราผมเข้าใจว่าเนื่องจากข้อถกเถียงหลักของอาจารย์มาจากทฤษฏีอำนาจ-ความรู้ ของฟูโก แต่ด้วยเหตุที่ฉากหลัง (background) ของการพูดคุยของอาจารย์เป็นกลุ่มเด็กผู้หญิงที่สวมฮิญาบ ดังนั้นคำสอนทางศาสนา (ที่ไม่ถูกเอ่ยถึง) แต่แสดงออกมาเป็นผู้หญิงสวมฮิญาบแน่นอนว่าคือศาสนาอิสลามที่มีคำสอนว่ามีเฉพาะผู้หญิงและผู้ชายเท่านั้นจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่อำนาจ (ผู้ชาย) สร้างมันขึ้นมาหาใช่เป็นสิ่งจริงแท้ไม่ หรือมันไม่ได้ดำรงอยู่จริงตามคำสอนของศาสนาอิสลามนั่นเอง การเอาเด็กผู้หญิงคลุมฮิญาบมาออกทีวีและมีอาจารย์ออกมาพูดในเชิงทฤษฎีว่าอำนาจสร้างความเป็นผู้หญิงและผู้ชายขึ้น คล้ายกับบอกว่าสิ่งที่เด็กผู้หญิงเหล่านั้นปฏิบัติแท้ที่จริงแล้วมิใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นผลจากอำนาจ (ของผู้ชาย) ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความรู้สึกจุกอกมาก ผมไม่แน่ใจว่าเป็นประเด็นเดียวกันที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่มุสลิมปาตานีหรือไม่
แนวคิดเรื่องอำนาจสร้างความรู้ของฟูโก้มีประโยชน์มากเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้มองเห็นอำนาจต่างๆ ที่หลบหลีกซ่อนเร้นและอำพรางตัวอยู่ แต่เมื่อเราใช้เครื่องมือนี้ มีแนวโน้มบ่อยมากที่เราจะมองไม่เห็นเครื่องมืออื่นๆ เช่น ศรัทธา (Faith) เนื่องจากโหมดของเครื่องมือชนิดนี้อยู่ในโหมด Materialistic มันจึงไม่รู้จัก (recognize) โหมดอื่นๆ เช่น spiritual/immaterial เมื่อฟูโก้ไปบรรยายที่อิหร่านเขาได้รับการต้อนรับดีมากขณะเดียวกันความคิดของเขาได้รับการวิพากษ์อย่างมากเช่นเดียวกัน [1] มิใช่ว่าแวดวงปัญญาชนอิสลาม (Islamic Scholarship) ไม่ใช้เครื่องมือชนิดนี้ในการมองปรากฏการณ์หากแต่เราไม่ถือว่ามันเป็นเพียงเครื่องมือชนิดเดียวที่ใช้ทำความเข้าใจมัน ผมขอเชิญชวนให้อาจารย์เข้ามาร่วมกันมองปัญหา แต่ผมไม่อาจยอมรับขอบเขตอำนาจการ ตัดสิน (jurisdiction) ของอาจารย์ที่แผ่ขยายมา “ตัดสิน ( judge)” ศรัทธาของผม หรืออย่างน้อยที่สุดผมควรจะต้องมีส่วนในการกำหนดขอบเขตอำนาจนั้น
อาจมีนักวิชาการบางท่าน หรือนักกิจกรรมที่มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับศาสนา ชี้ว่า นี่แหละคือปัญหาของคุณ คุณเอาศรัทธามายุ่งกับการสาธารณะเลยทำให้เป็นแบบนี้ แน่นอนศาสนาก็มีปัญหาของมัน เช่นเดียวกับ แนวคิดเสรีโลกย์วิสัย (secular liberal) ก็มีปัญหาของมัน ปัญหาของศาสนาทำให้เราต้องสาปแช่งศาสนาดังที่หลายท่านทำอยู่ในตอนนี้อย่างนั้นหรือ? ยุโรปซึ่งมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับศาสนาพยามลบศาสนาออกจากวิถีชีวิตของผู้คนและความพยายามดังกล่าวถึงจุดสูงสุดในสมัยสหภาพโซเวียตที่ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์กวาดล้างศาสนาออกไปจากสาธารณะ แต่ผลก็ดังที่เราเห็นกัน
หรือเราสามารถแยกศาสนาออกจากปริมลฑลสาธารณะอย่างในยุโรปได้หรือไม่? หรือคำถามที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือเราจะมีแต่เพียงเหตุผลแบบมนุษย์นิยม ( humanism) แต่เพียงอย่างเดียวโดยละทิ้ง Faith หรือแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันอย่างเด็ดขาดได้หรือไม่ถ้าได้ แสดงว่าเราน้อมรับทฤษฎีที่ว่าพัฒนาการของมนุษย์มีเส้นทางตามแบบยุโรปและยุโรปเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ? และเราต้องตอบคำถามว่าเหตุใดจึงเกิดการล่าอาณานิคม (colonization) ที่สร้างบาดแผลอย่างแสนสาหัสแก่มนุษยชาติอีกทั้ง สงครามโลกครั้งที่ 1และ 2 สอง ที่คร่าชีวิตผู้คนเฉพาะในยุโรปไปกว่า 50 ล้านคน?
หรือเราไม่อาจแยกศาสนาออกจากชีวิตทางสาธารณะ เนื่องจากประวัติศาสตร์ของเรา ประสบการณ์ของเราไม่ได้เป็นปฏิปักษ์หรือเกิดการกดขี่ข่มเหงและเกิดการล้อมปราบจากศาสนาต่อปัญญาชนอย่างเป็นระบบดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรป? หากแต่อารธรรมของเรามี Faith เป็นแกนกลาง และเป็น Faith ที่ S. Radhakrisnan นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่และอดีตประธานาธิบดีของอินเดีย กล่าวว่า “ความศรัทธาต้องเกาะเกี่ยวกับเหตุผลและไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างเหตุผลและศรัทธา ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่งมงาย ความศรัทธามิอาจไม่มีเหตุผล Faith must be related to reason. There can be no conflict between reason and religion. Faith in contrast to superstition cannot be irrational ”[2] ด้วยเหตุนี้เอง ศาสตราจารย์ Whitehead จึงบอกว่า “the ages of faith are the ages of rationalism (ยุคสมัยของศรัทธาคือยุคสมัยของเหตุและผล) [3] และมูฮัมหมัดอิกบาล กวี-นักปรัชญา-ซูฟี แห่งอินเดียเตือนเราว่า:
“Philosophy (reason), no doubt, has jurisdiction to judge religion, but what is to be judged is of such a nature that it will not submit to the jurisdiction of philosophy except on its own terms ”[4]
สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์และทีมงานบูคูได้ทำงานเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ปาตานีต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ผมพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือตามกำลังที่ผมมีอย่างถึงที่สุด
มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
มุสลิมคนหนึ่งในสังคมไทย
[1] ดู Behrooz Ghamari-Tabrizi, Foucault in Iran: Islamic Revolution After the Enlightenment, 2016.
[2] S. Radhakrisnan, The Present Crisis of Faith, 1970, p.127.
[3] A.N. Whitehead, Religion in the Making, 1926, p. 5.
[4] Muhammad Iqbal, The Reconstruction of Religious thought in Islam, 1986, p.2.