ความเกี่ยวพันทางสังคมของการขอบคุณ (ชูโกร์) ต่ออัลเลาะห์
(Social implications of Man’s thankfulness to Allah)
(เอกสารปรับปรุงการบรรยายในงานรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) ณ สถานฑูตมาเลเซีย 6 เมษายน 2560)
ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
อันดับแรกกระผมขอขอบคุณสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยที่ได้จัดให้มีงานอันแสนพิเศษในค่ำคืนนี้ ปกติกิจกรรมของสถานทูตหรือภารกิจของเอกอัครราชทูตเป็น things of the elites (งานของชนชั้นสูง) เมื่อพูดถึงการทูตสิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึงคือพิธีรีตองและความอภิสิทธิ์พิเศษเฉพาะกลุ่มอันห่างไกลจากวิถีชีวิตของชาวบ้านธรรมดาสามัญ ฯพณฯ เอกอัครราชทูต ดาโต๊ะ นาซิเราะฮ และทีมงานของท่านได้ทำให้ภาพเหล่านี่เปลี่ยนไป พี่น้องมุสลิมในประเทศไทยจะเห็นท่านในงานมัสยิด งานน้ำชาการกุศล งานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม งานบรรยายทางศาสนาฯลฯ ท่านทำให้ความเป็นอุมมะฮของมาเลเซียและไทยโดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมของทั้งสองประเทศกลับคืนสู่ความหมายของคำๆนี้อย่างแท้จริงหลังจากที่ทั้งสองชุมชนถูกทำให้เป็นอื่นและแปลกแยกต่อกันภายใต้รัฐชาติและความเป็นชาตินิยมอันคับแคบที่มุ่งที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ (National Interests) ของตนเองเป็นอันดับแรก
พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่านครับ กระผมขอนุญาติฟื้นความจำสั้นๆบางประการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซีย ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2505 ความสัมพันธ์ดังกล่าวปีนี้กำลังจะครบรอบ 55 ปี เรามีข้อตกลงร่วมกันมากกว่า 31 ฉบับ มากที่สุดในอาเซียน (ASEAN) เราไม่เคยมีข้อพิพาทถึงขั้นเกิดสงครามระหว่างกันดังเช่นที่ไทยมีข้อพิพาทและเกิดสงครามกับกัมพูชา ลาว พม่า และเวียตนาม คุณแม่ของ ตนกู อับดุลเราะฮมาน (2446-2533) ผู้ก่อตั้งมาเลเซียและนายกรัฐมนตรีคนแรกเป็นคนไทย เมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ตนกู ได้ตั้งพรรคอัมโน และได้ขอรับบริจาคเงินจากชาวมาเลเซียโดยไม่จำกัดชนชั้นวรรณะแต่ปรากกว่าได้เงินน้อยมาก เงินที่ได้ส่วนใหญ่มาจากคนไทย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนกูได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์รายวัน The Star ฉบับวันที่ 24 สิงหาคม 1987 ความตอนหนึ่งว่า
“When we fought our first election in 1955, I personally went begging and wrote to all the rulers, the rich men among the Arabs of Singapore, and begged from all the Muslim countries in the Middle East, and I went to Thailand to ask for help. Only the friends from Thailand gave us help, and we had to stump up the rest of the money for election; we manage to raise about $ 135,000” (1) “ในตอนที่เราต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1955 ข้าพเจ้าเขียนจดหมายไปขอบริจาคเงินจากเจ้านายผู้ปกครองและบรรดาผู้ร่ำรวยชาวสิงคโปร์เชื่อสายอาหรับทุกคนตลอดจนขอบริจาคจากมุสลิมในประเทศตะวันออกกลาง และข้าเจ้าเดินทางไปประเทศไทยเพื่อขอความช่วยเหลือ เฉพาะเพื่อนที่เป็นชาวไทยที่ให้การช่วยเหลือ และเราต้องจ่ายเงินเท่าที่เรามีอยู่ (โดย) เราได้รับบริจาคเป็นเงิน 135,000 ดอลล่าห์”
เมื่อเกิดการสู้รบระหว่างมาเลเซียและกองกำลังของอินโดนีเซียจากนโยบาย Confrontasi ในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โนในระหว่างปลายปี 2506-ต้นปี 2507 เมื่อมีการตกลงหยุดยิงในวันที่ 23 มกราคม 2507 รัฐบาลมาเลเซียและอินโดนีเซียเห็นชอบร่วมกันให้สหประชาชาติแต่งตั้งไทยทำหน้าที่ดุแลควบคุมการหยุดยิง เหตุการณ์นี้รวมทั้งหลายๆเหตุการณ์ที่กระผมยกมาตอนต้นย่อมเป็นที่ประจักษ์ได้อย่างดีถึงระดับความไว้วางใจที่ทั้งสองประเทศมีต่อกัน
คนรุ่นเราต้องสานต่อความสัมพันธ์นี้และทำให้มันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ฯพณฯ ดาโต๊ะ นาซิเราะฮ ทำให้เราดูเป็นตัวอย่าง ด้วยธรรมชาติงานของท่าน ท่านไม่จำเป็นที่จะลงมาคลุกคลี หรือนำตัวท่านตัวลงมาปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน พูดและรับฟังปัญหาของพวกเขาอย่างใจจดใจจ่อ เรามุสลิมในประเทศไทยสมควรอย่างยิ่งที่จะถอดบทเรียนจากการทำงานของท่าน กระผมพูดเรื่องนี้เนื่องจากต้องการโยงไปในเรื่องที่กระผมอยากใช้เวลาสั้นๆนี้ พูดถึง 2 ประการ
ในฐานะนักสังคมศาสตร์ผู้สนใจศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม กระผมสังเกตอยู่อย่างเงียบๆว่าสังคมมุสลิมในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่แยกตัวเป็นเอกเทศ (exclusivism) มากยิ่งขึ้น พูดให้ง่ายขึ้นคือ “เราอยู่ของเรา (live and let live)[1]”โดยสนใจปัญหาและร่วมผลักดันประเด็นปัญหาร่วมกันของสังคมน้อยลง เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาเสรีภาพส่วนบุคลและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสาธารณะ ปัญหาแม่น้ำลำคลอง ภาวะโลกร้อน มลพิษ การประหยัดพลังงาน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวฯลฯ คือชุมชนมุสลิมลงไปคลุกกับปัญหาเหล่านี้ ร่วมกันผลักดันและแก้ไขมันร่วมกับ “คนอื่น” น้อยลงเรื่อยๆ แม้กระทั่งปัญหาเรื่อง การเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) มุสลิมมักจะตั้งคำถามในแบบที่อดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช เคยตั้งคำถามเมื่อหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 และอเมริกาทำสงครามในตะวันออกกลางเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ว่า Why do they hate us? (ทำไมพวกเขา [มุสลิม]เกลียดเรา [อเมริกา])
ต่อปรากฏการณ์ การเกลียดกลัวอิสลาม มุสลิมก็ตั้งคำถามในลักษณะเช่นนี้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมว่า ทำไมพวกเขาเกลียดอิสลาม? เราผิดตรงไหนเหรอ? การตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้มุสลิมไม่ได้ทบทวนสภาพสังคมและการดำรงอยู่ร่วมกันกับสังคมอื่น อีกทั้งไม่คิดหาวิธีในการสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ มุสลิมถือว่าคนอื่นต้องเคารพในความเชื่อของมุสลิมโดยมุสลิม “ต้องได้รับ” ความเคารพ มากกว่าการร่วมกัน “สร้าง” การเคารพให้เกิดขึ้นแก่มุสลิม
น่าสังเกตว่าสังคมมุสลิมในปัจจุบันแทบจะไม่เข้าไปปฏิสัมพันธ์กับชุมชนพี่น้องชาวพุทธเลย งานบุญงานกุศลของพี่น้องชาวพุทธมุสลิมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วมอันเนื่องมาจากความกลัวว่าจะสูญเสียหลักศรัทธา แต่มุสลิมไม่ได้หาวิธีอื่นหรือสร้างกลไกอื่นๆในการสานปฏิสัมพันธ์กับชุมชนพี่น้องชาวพุทธ ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริง มุสลิมซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าต้องการพี่น้องชาวพุทธมากกว่าพี่น้องชาวพุทธต้องการมุสลิม และถ้าปราศจากความร่วมมือจากพวกเขาแล้ว การแก้ปัญหา หรือการผลักดันประเด็นทางสังคมของสังคมมุสลิมจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ปัญหาการเกลียดกลัวอิสลามในสังคมไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นตัวอย่างได้ดีถึงภาวะที่ต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนชาวพุทธ
ปัจจุบันปัญหาที่ชุมชนมุสลิมให้ความสนใจและให้ความสำคัญมากที่สุดคือ:
1) การกลัวว่าจะสูญเสียอะกีดะฮ (หลักศรัทธา) ปัญหานี้มันใหญ่มากสำหรับมุสลิมจนกระทั่งทำให้ไปบดบังหรือมองเห็นปัญหาอื่นๆน้อยลง ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นที่ยุ่งยากตามมา เช่น เมื่อเร็วๆนี้เกิดเหตุการณ์ที่ประธานอิสลามประจำจังหวัดแห่งหนึ่งแถบอันดามันเข้าร่วมพิธีรดน้ำศพนายอำเภอเมืองซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยมีภาพประธานอิสลามฯถือขันรดน้ำศพออกมาสู่สาธารณะ เรื่องนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และมีการด่าทอประธานอิสลามฯอย่างเสียๆหายจนเกินเลย แม้ประธานจะออกมาขอโทษและเตาบัต (ขออภัยโทษ) ต่ออัลเลาะห์แล้วก็ตาม แม้การกระทำของประธานอิสลามจะเป็นการหมิ่นเหม่ต่อหลักการศรัทธาในอิสลาม แต่ปฏิกิริยาการด่าทออันเนื่องมาจากการกลัวการสูญเสียหลักศรัทธาทำให้มุสลิมมองไม่เห็นจิตใจของญาติผู้เป็นแม่ พ่อ ภรรยา และลูกของผู้เสียชีวิตว่าจะคิดและรู้สึกอย่างไรต่อการด่าทอผู้ที่รดน้ำศพบุคลอันเป็นที่รักของพวกเขา การกลัวการสูญเสียอะกีดะฮทำให้มุสลิมหลงลืมไปว่ามัสยิดกลางของจังหวัดแห่งนี้สำเร็จลงได้เพราะการช่วยเหลือจากพี่น้องที่ไม่ใช่มุสลิม และการกระทำของมุสลิมจะสร้างความรู้สึกไม่ดีไม่เฉพาะแก่ญาติผู้เสียชีวิตเท่านั้นแต่กับพี่น้องชาวพุทธในจังหวัดอีกด้วย
2) การมุ่งสู่โลกหน้าโดยไม่สนใจปรับปรุงสภาพของโลกนี้ มุสลิมมองว่าการเข้าไปร่วมกับปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะดีและได้บุญแต่ไม่ใช่เป็นการได้บุญแบบทางตรงเต็มๆในลักษณะของการมุ่งแต่ละหมาดและสร้างมัสยิด หรือมุสลิมอาจจะมองว่าปัญหาเหล่านั้นเป็นเรื่องทางโลก มุ่งทางธรรม และไปโลกหน้า (อาคีเราะฮ์)จะปลอดภัยกว่า ไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับเรื่องทางโลก
มีอะไรผิดพลาดหรือไม่ชอบมาพากลกับความคิดและภาวะทางจิตใจแบบนี้หรือไม่? เราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร หรือว่าเรามองว่ามันปกติไม่มีอะไรเสียหาย และมันไม่ใช่ปัญหาตั้งแต่แรกแล้ว? ทำไมฯพณฯ ดาโต๊ะนาซิเราะฮ จึงลงมาทำงานชุมชนอย่างเข้มข้น การลงไปคลุกคลีเพื่อปรับปรุงสภาพของชุมชนมีที่ทางอย่างไรในอิสลาม? กล่าวเฉพาะในสภาพของสังคมไทยมันจะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีและขจัดปัญหาเกลียดกลัวอิสลามอย่างไร?
คำตอบต่อปัญหาดังกล่าวซ่อนอยู่ภายในเรื่องที่ดูเหมือนจะธรรมดาที่สุดในชีวิตมุสลิม เป็นเรื่องที่มุสลิมคุ้นเคยกันมาตลอดแต่อาจไม่ทันฉุกคิดถึงความสลับซับซ้อนและความหมายเบื้องลึกของมันตลอดจนผลที่เกิดตามมาต่อความเข้าใจดังกล่าว นั่นคือเรื่องของการชูโกร์ (การขอบคุณและการกตัญญู)ต่ออัลเลาะห์ ซึ่งดูเหมือนกับว่ามันไม่เกี่ยวกับปัญหาที่เราพูดถึงข้างต้นเลย
การขอบคุณและการกตัญญูต่ออัลเลาะห์เถือเป็นหลักใหญ่ใจความ เป็นรากฐานของอัลกรุอ่านที่ต้องการสื่อถึงมนุษย์ เราจะพบว่าอัลกุรอ่านจะเรียกร้องให้เราสำนึกในความเมตตาด้วยการขอบคุณต่ออัลเลาะห์ครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น “แท้จริงในนั้นย่อมเป็นนานาสัญลักษณ์ สำหรับผู้อดทน ผู้กตัญญูทุกคน (14:5)” “แล้วพระองค์ก็ทรงบันดาลถิ่นฐานอันมั่นคงแก่พวกเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และพระองค์ทรงประทานโชคผลแก่พวกเจ้าจากบรรดาสิ่งที่ดี เพื่อพวกเจ้าจะได้กตัญญู (8:26)” หรือ “และอัลเลาะห์เป็นผู้ตอบแทนการขอบคุณของพวกเจ้าอีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง (5:147)” หรือ “โอ้องอภิบาล โปรดดลใจข้าพเจ้าให้ข้าพเจ้ากตัญญูในความโปรดปรานของพระองค์ (46:15)”
ในทางตรงกันข้าม อัลกรุอ่าน ตำหนิและประณาม พฤติกรรมของบรรดาผู้ที่ไม่รู้สึกสำนึกขอบคุณต่ออัลเลาะห์ เช่น “แท้จริงอัลลอฮทรงไว้ซึ่งความโปรดปราณแก่มวลมนุษย์แต่ทว่าส่วนมากของพวกเขาหาได้กตัญญูไม่ (10: 60) หรือ “และแท้จริงองค์อภิบาลของเจ้าย่อมทรงไว้ซึ่งความโปรดปราณแก่มวลมนุษย์แต่พวกเขาส่วนมากไม่กตัญญู” (20:73)
อุปมาดังมีผู้ใจบุญให้ทุนการศึกษาแก่ท่านจนท่านศึกษาจนจบปริญญาเอก ท่านจะขอบคุณแก่ผู้ใจบุญท่านนั้นอย่างไร การกล่าวคำว่า “ขอบคุณ” แก่ผู้ใจบุญท่านนั้นเพียงพอหรือไม่ หรือการตั้งใจศึกษา ประพฤติตนดีเพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่ดีเยี่ยมและมีการงานทำประกอบอาชีพอย่างมั่นคงเป็นการเพียงพอแล้วหรือไม่ในการแสดงออกถึงการขอบคุณ? แน่นอนว่าผู้ให้ทุนย่อมยินดีกับผลการเรียนและความสำเร็จในการเรียนและการงานของผู้รับทุน แต่ผลการเรียนและความสำเร็จดังกล่าวมันคือผลประโยชน์ของตัวผู้ที่ได้รับทุนเองด้วย ด้วยเหตุนี้เราอาจกล่าวว่าการขอบคุณของผู้ได้รับทุนด้วยวิธีการดังกล่าวแยกไม่ออกกับผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้รับทุนเอง จึงไม่ใช่การขอบคุณอย่างแท้จริง ผู้ใจบุญให้ทุนการศึกษาน่าจะพอใจกับการขอบคุณที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัว ด้วยการทุ่มเทเสียสละ ของผู้ได้รับทุนหลังจากเขาได้ศึกษาจบแล้วไปในกิจการส่วนรวม การที่ผู้ได้รับทุนมุ่งเสียสละละทิ้งความสุขสบายส่วนตัวเพื่อทำงานรับใช้สังคม และเขาได้ร่วมกับชุมชนโดยเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดัน ปรับปรุง แก้ไขสภาพสังคมของเขาและพี่น้องร่วมชุมชนเดียวกันกับเขาให้ดีขึ้น การขอบคุณในลักษณะดังกล่าวนี้น่าจะสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ให้ทุนมากกว่า แค่คำขอบคุณหรือความสำเร็จส่วนตัวของผู้รับทุน
เราอาจสรุปจากอุปมาดังกล่าวข้างต้นว่า การขอบคุณต่ออัลเลาะห์ในความหมายที่เต็มรูปแบบ (fullest sense of the term) จะแสดงออกมาในรูปของการรับใช้สังคมและชุมชนอย่างทุ่มเท เพื่อการปรับปรุงสภาพสังคมให้ดีขึ้น ขณะที่การเป็นผู้ที่ไม่สำนึกในการขอบคุณต่ออัลเลาะห์ คือการไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจต่อชุมชนที่เราอาศัยอยู่ แน่นอนว่าความสำนึกในการขอบคุณต่ออัลเลาะห์มีทั้งมิติภายนอกและภายใน กล่าวเฉพาะมิติภายในนั้นคือการรำลึกถึงอัลเลาะห์และการประกอบอามัลอีบาดะฮทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ มิติดังกล่าวนี้เป็นที่พูดถึงกันมากจนเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว ซึ่งเรามักไม่พูดถึงมิติภายนอกซึ่งแสดงตัวออกมาในรูปของการร่วมกันทำงานเพื่อปรับปรุงการดำเนินชีวิตและยกระดับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เราอาศัยอยู่ เราจะเห็นได้ว่าอัลกรุอ่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อ การสาธารณะ การกุศล การช่วยเหลือเด็กกำพร้า คนยากจน คนชรา และให้เราใช้จ่ายจากทรัพย์สินของเราไปในการดังกล่าว การช่วยเหลือผู้อ่อนแอและด้อยโอกาสเหล่านี้ในสังคมสำหรับอัลกรุอ่านแล้วไม่ใช่เป็นงานเป็นครั้งเป็นคราวหรืองานนอกเวลา (part-time) ของมุสลิม หากแต่มุสลิมต้องทุ่มเท อุทิศ ทั้งชีวิตของเขาเพื่อยกระดับ ปรับปรุง ผลักดัน ให้เกิดความเท่าเทียมในเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความสุขสันติ ความปรองดองในสังคม และเขาต้องรับผิดชอบ (amanah) ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อัลเลาะห์สร้างมา นี่ต่างหากที่เป็นการแสดงออกถึงความสำนึกในความโปรดปราณ การกตัญญูรู้คุณต่ออัลเลาะห์ ด้วยการกล่าวขอบคุณ เช่น การกล่าวว่า “อัลฮัมดุลิลละฮ” เป็นแต่เพียงการ “เปล่งเสียง” ออกมา มิใช่เป็นการกระทำที่เป็นเครื่องพิสูจน์ เช่นเดียวกับการขออภัยต่ออัลเลาะห์ การเปล่งเสียงว่า “อัสตัฆฟีรุลเลาะห์” เป็นแต่เพียงการ “เปล่งเสียง” แต่การขออภัยที่แท้จริงและมีผลต่อการอภัยโทษจากอัลเลาะห์นั้น ต้องพิสูจน์และยืนยันด้วยการกระทำ กล่าวคือต้องเปลี่ยนแปลงการกระทำ
การขอบคุณอัลลอฮในความหมายที่สมบูรณ์และลึกซึ้งที่สุดคือการทุ่มเทอุทิศชีวิตของเราในการปรับปรุง ยกระดับสภาพของมนุษยชาติและการรับผิดชอบอย่างดีที่สุดต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ โลกที่อัลเลาะห์สร้างขึ้น และเราเป็นตัวแทน (Kalifah) ของพระองค์ นี่เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เป็นเป้าหมายทางศีลธรรม (a moral purpose) ของการดำเนินชีวิตในโลกนี้ ความท้าทายนี้มีลักษณะรวมหมู่ (collective) พอๆกับความท้าทายในระดับปัจเจก ที่ต้องอาศัยการร่วมมือกันและกันในการดูแลจัดการ ดิ้นรนเพื่อให้สังคมเดินไปสู่ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สุขสันติสำหรับทุกคน เราไม่อาจบรรลุถึงความหมายของการขอบคุณอัลเลาะห์ในลักษณะดังกล่าวนี้เพียงลำพัง หรือร่วมมือกันเองในหมู่พวกเราชุมชนมุสลิม หากแต่ต้องปฏิสัมพันธ์อย่างเข้มข้นกับชุมชนของศาสนาอื่น หรือแม้กระทั่งต้องร่วมมือกับชุมชนผู้ที่ไม่มีศาสนา
(1) อ้างถึงใน สุรพงษ์ ชัยนาม, นโยบายต่างประเทศของไทยต่อมาเลเซีย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, 2560), 41.