สงครามลัทธิ (Sectarian War)
ผศ.ดร. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สงครามลัทธิเป็นความขัดแย้งที่น่ากลัว เพราะเป็นความขัดแย้งที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ความเชื่อทางศาสนา เมื่อเกิดขึ้นแล้วยากจะยุติ โดยมักเกิดขึ้นเนื่องจากคนกลุ่มใหญ่ต้องการครอบงำและบังคับให้คนกลุ่มน้อยที่มีความเชื่อต่างจากตนให้ยอมตาม (conform) กับระบบความเชื่อของกลุ่มตน (แน่นอนปัญหานี้แยกไม่ออกกับการเมือง) หรือในทางกลับกันคนกลุ่มน้อยที่มีความเชื่อต่างจากชนกลุ่มใหญ่พยายามท้าทาย กัดกร่อน และรื้อทิ้งความเชื่อของคนกลุ่มใหญ่
ประเทศในยุโรปเป็นตัวอย่างอันดีของความหายนะจากสงครามลัทธิ ดังเช่นสงคราม 30 ปี (1618-1648) นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของยุโรปเป็นประวัติศาสตร์ของการฆ่ากันระหว่างลัทธิ กระนั้นก็ตามยุโรปอีกนั่นแหละเป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ไขปัญหาความหายนะนี้
โดยสรุป ยุโรป คิดค้น มโนทัศน์ (concept) เรื่อง สิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมาย ให้การนับถือศาสนาเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของใครของมัน ไม่มีใครมีสิทธิ์บังคับใคร ชุมชนทางศาสนาดูแลกันเอง และอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐที่มีความเป็นกลางทางศาสนา ใครไปบังคับใคร หริอใช้เสรีภาพไปกดขี่ใคร ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย (ที่คิดขึ้นและเป็นข้อตกลงร่วมกัน) การเปลี่ยนมโนทัศน์ในลักษณะนี้ทำให้ยุโรปแก้ไขปัญหาการฆ่ากันอย่างบ้าคลั่งระหว่างลัทธิได้อย่างน่าอัศจรรย์ (แน่นอนมีปัจจัยอื่นด้วย) อาจมีเกิดขึ้นต่อเนื่องมาบ้าง เช่นกรณีในไอร์แลนเหนือ (ปัจจุบันสงบไปแล้ว)
ซุนหนี่-ชีอะฮ
ปัญหาความรุนแรง (แยกไม่ออกจากปัญหาการเมืองอีกนั่นแหละ) และการฆ่ากันอย่างบ้าคลั่ง ระเบิดฆ่าตัวตายแม้กระทั่งในมัสยิดของกันและกัน (เช่นในปากีสถาน อิรัก)ระหว่างซุนหนี่-ชีอะฮ เป็นสงครามลัทธิที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากยุโรปในอดีต
กล่าวสำหรับประเทศไทย (ข้างนอกไกลตัวและเกินความสามารถที่จะพูดถึง) ปัญหาความขัดแย้ง ซุนหนี่-ชีอะฮ ตึงเครียดและ รุนแรง ขึ้นหลังปฏิวิติอิหร่าน (1979) ปัญหานี้อ่อนแรงลงไปบ้างในบางช่วงแต่ความขัดแย้งและความรุนแรงกำลังไต่ระดับเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเกิดการแข่งขันกันทางอำนาจระหว่างซาอุดิอารเบียและอิหร่านในปัจจุบัน
กลุ่มชีะฮ ทำกิจกรรมเผยแพร่ความคิดตามแนวทางของตนในลักษณะรุกคืบ กลุ่มซุนหนี่ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่มีความรู้สึกถูกคุกคาม (ทั้งในด้านความเชื่อ อำนาจ) ในฐานะที่เป็นชนส่วนใหญ่ กลุ่มซุนหนี่ มักหันไปใช้มวลชนที่โกรธเกรี้ยวกดดัน ซึ่งหลายครั้งพัฒนาไปเป็นความรุนแรงที่กระทำหรือขู่ว่าจะกระทำต่อร่างกายฝ่ายชีอะฮหรือผู้ที่พวกเขากล่าวหาว่าสนับสนุนชีอะฮ ปัจจุบันยังไม่มีรายงาน การใช้อาวุธ เข้าห้ำหั่นกัน
หากยังไม่มีการคิดกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติอย่างไร มีความเป็นไปได้สูงมากที่ทั้งซุนหนี่และชีอะฮ จะพัฒนาความขัดแย้งไปเป็นการใช้ความรุนแรงต่อกัน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเกิดการใช้กำลังทำร้ายอีกฝ่ายถึงตาย อีกฝ่ายย่อมต้องแก้แค้น (และแน่นอนการแก้แค้นจะกระทำในนามการญิฮาด) การแก้แค้นกันไปมา ย่อมจะต้องรุนแรงและขยายวงมากขึ้น การลอบวางระเบิดมัสยิดของกันและกันก็อยู่แค่เอื้อม สังคมมุสลิมมีแต่จะหายนะจากความขัดแย้งนี้
น่าจะถึงเวลาที่เราจะมาร่วมกันคิดป้องกัน ไม่ให้ความขัดแย้งนี้พัฒนาไปเป็นภาพที่ได้บรรยายไปข้างต้น ชุมชนชีอะฮ เป็นชนกลุ่มน้อยแต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ขณะที่ซุนหนี่เป็นชนกลุ่มใหญ่ ถือเป็นกลุ่มกระแสหลัก กลุ่มซุนหนี่มิอาจลบกลุ่มชีอะฮไปจากสังคมไทย มิพักต้องพูดถึงว่ากลุ่มชีอะจะทำให้กลุ่มซุนหนี่มลายหายไป (ยังไม่เคยมีตัวเลขจริงๆว่าซุนหนี่หันไปเข้าชีอะฮ หรือชีอะฮเข้าซุนหนี่กี่คน ที่อ้างกันเป็นแค่ความรู้สึก) กลุ่มชีะฮ มีผู้สนับสนุนจากภายนอกประเทศ ขณะที่กลุ่มซุนหนี่ก็มีผู้สนับสนุนทรี่แข็งแกร่งจากภายนอกประเทศเช่นเดียวกัน ทั้งซุนหนี่และชีอะฮ เปรียบเสมือนเบี้ยที่ทั้งสองประเทศนั้นใช้เดินเกมส์ทางการเมืองและผลประโยชน์ของตนเอง
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เฉกเช่น ผู้มีอารยะ (civilized peoplel) ได้อย่างไร (การใช้กำลัง ข่มขู่ การฆ่า เป็นวิธีการอยู่ร่วมกันของสัตว์เดรัฐฉาน) หรือสังคมเราจะลดตัวเองไปสู่การอยู่ร่วมกันในแบบที่ว่านั้น?
เหตุการณ์ในตะวันออกกลางสลับซับซ้อนเต็มไปด้วยผลประโยชน์ อิหร่าน (ชีอะฮ) ให้การสนับสนุนฮิสบุลเลาะฮ์ ฮิสบุลเลาะฮ์ (ชีอะฮ) ต่อสู้ขับไล่อิสราเอล อิสราเอลฆ่าปาเลสไตน์ ซาอุดิอารเบีย (ซุนหนี่) อยู่ข้างสหรัฐซึ่งส่งอาวุธและสนับสนุนอิสราเอลในทุกรูปแบบ อียิปต์ (ซุนหนี่) จับมืออิสราเอลฆ่าอิควาน (ซุนหนี่) กาตาร์ (ซุนหนี่) ส่งเครื่องบินรบถล่มเยเมน (ชีอะฮ) ร่วมกับซาอุฯ โดยที่ซาอุฯเป็นผู้ให้ที่พักพิงแก่อับดุลเลาะห์ ซาเล่ห์ผู้นำฝ่ายกบฎชีอะฮที่พวกเขาถล่ม ขณะที่อิหร่าน (ชีอะฮ) จับมือกับตุรกี (ซุนหนี่) สร้างเขตปลอดภัยในซีเรีย (ชีอะฮ) ซาอุฯ จับมือชาติซุนหนี่ คว่ำบาตร กาตาร์ ซุนหนี่ด้วยกันและเคยช่วยซาอุในการถล่มเยเมน (ชีอะฮ) ฯลฯ
ด้วยความสลับซับซ้อนดังกล่าว ถ้าเราวิเคราะห์เหตุการณ์ในตะวันออกกลางโดยใช้เครื่องมือ “ดี-ชั่ว” “ถูก-ผิด” เราจะพบกับความผิดหวังหลังจากนั้น เนื่องจากประเทศที่เราคิดว่าดี อยู่มาซักพักจะเกิดเหตุการณ์ที่ประเทศดังกล่าวร่วมมือกับประเทศที่เราเคยตัดสินว่าชั่ว
“เครื่องมือ” ที่ใช้วิเคราะห์จึงสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของทฤษฎีทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ และมีการเรียนการสอนศึกษาวิจัยกันในมหาวิทยาลัยทั้งชั้นนำและชั้นรองทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่าหากเราใช้ เครื่องมือ ดี-ชั่วตามหลักการศาสนา วิเคราะห์และตัดสิน (judge) ปรากฏการณ์ เราอาจต้องยุบทิ้งมหาวิทยาลัย แล้วตั้งมัสยิด หรือมัดราซะฮสอนกันเฉพาะวิชาศาสนาแทน เพราะไม่ต้องพึ่งทฤษฎีทางสังคม!
“หน่วยการวิเคราะห์” ยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก เรามักใช้หน่วยการวิเคราะห์ “ศาสนา-อุมมะฮ” กล่าวคือเรามักมองมุสลิมเป็นภาพใหญ่ที่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกันและจินตนาการต่อไปว่าถ้าเป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามแล้ว จะต้องดำเนินการทางสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม แต่หน่วยวิเคราะห์ดังกล่าวใหญ่เกินไปและมีความเป็นนามธรรมมาก ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือหน่วยวิเคราะห์ ศาสนา-อุมมะฮ ได้กลายพันธุ์ไปแล้ว กล่าวคือ กลายพันธุ์ไปเป็น รัฐชาติ (Nation-State) ที่เล็กลง ไม่สนใจถูก-ผิด ในทางศาสนา ถ้ามีศาสนา ศาสนาของรัฐชาติมีไว้เพื่อรับใช้ความอยู่รอดของรัฐ รัฐชาติมีชีวิตเป็นของตนเอง (life of its own) มีลักษณะคล้ายสัตว์ประหลาด มันบังคับให้อำนาจอื่นๆ ในสังคมให้สวามิภักดิ์ต่อมัน การกระทำทุกอย่างของรัฐชาติไม่ว่าในทิศทางดี หรือร้าย เป็นการกระทำเพื่อสถาปนาอำนาจรัฐให้มั่นคงยิ่งขึ้น “รัฐ” โดยตัวมันเองไม่มีศาสนา เป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยยุโรปจากการที่ยุโรปฆ่ากันอย่าบ้าคลั่งเพราะศาสนา เมื่อเราเอา “รัฐ” มาเข้ารีตอิสลาม รัฐจึงเอาอิสลามมาสวามิภักดิ์ต่อตน กลายเป็นรัฐ (ที่ไม่มีศาสนา) แต่ฉาบด้วยอิสลาม คือเอาอิสลามมาเป็นเครื่องมือเพื่อสถาปนาอำนาจรัฐให้มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้นไปอีก อาจมีบางครั้งที่รัฐทำให้เห็นว่าการกระทำของตนมีเป้าหมายเพื่อศาสนา และภาพก็ออกมาเช่นนั้น แต่จริงๆแล้วเป้าหมายของรัฐที่ต้องการจะบรรลุไปตรงกันกับหรือซ้อนกับเป้าหมายของศาสนาที่ต้องการจะบรรลุเช่นกัน
“รัฐอิสลาม” จึงเป็นคำที่ขัดแย้งโดยตัวมันเอง (contradict in terms) ดุจดังคำว่า “หมูฮาลาล” มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าหมูฮาลาล คำว่ารัฐอิสลามก็เช่นกัน จริงๆแล้วมโนทัศน์ (concept) เรื่องรัฐอิสลามเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นหลังการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน เมื่ออาณาจักรมุสลิมล่มสลาย คำถามที่ตามมาต่อชาวมุสลิมคือ ต่อไปชุมชนมุสลิมจะปกครองกันอย่างไร? พวกปัญญาชนมุสลิมในขณะนั้นจึงคิดหันไปหา โมเดล (model) ในลักษณะรัฐแบบตะวันตก นั่นคือรัฐชาติแล้วเอาอิสลามใส่เข้าไป เชค รอชีด ริฎอ (1865-1935) ซึ่งเป็นปัญญาชนสำคัญเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดดังกล่าวนี้ เนื่องจากเรื่องนี้อยู่นอกเหนือจากประเด็นที่จะวิเคราะห์จึงจะไม่กล่าวในรายละเอียด
ตัวอย่างและข้อถกเถียงสั้นๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เพียงเพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่าเราไม่อาจนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิม มาตัดสินชี้ถูกผิด (อิหร่านเลว ซาอุดิอาระเบียชั่ว อิรักดี ปากีสถาน เลิศ ฯลฯ) และเอาการชี้ถูกผิดนั้นมาปรับใช้กับความขัดแย้งระหว่างซุนหนี่-ชีอะฮ ในประเทศไทย
ข้อเสนอ
กันทุกอย่างออกไปให้เหลือเฉพาะประเทศไทย ประเทศนี้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา และเสรีภาพดังกล่าวได้รับการประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ มุสลิมซุนหนี่ มีสิทธิ เสรีภาพในการ นับถือ ปฏิบัติ และ “เผยแพร่” แนวความคิดของซุนหนี่ ฝ่ายชีอะฮ จะมาบอกว่า คุณห้ามเผยแพร่ หรือห้ามรุกล้ำเข้ามาในชุมชนของเรา ชีอะฮจะใช้กำลังข่มขู่ คุกคามซุนหนี่ไม่ได้ ผิดกฎหมายซึ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ (ความควรไม่ควรเป็นอีกประเด็น) ชีอะฮต้องดูแลชุมชน และสมาชิกของตนเอง สร้างอากีดะฮชีอะฮให้เข้มแข็งแก่สมาชิกของชุมชน ถ้ามีสมาชิกหันเข้ารีตซุนหนี่ (เพราะการเผยแพร่ของซุนหนี่) แสดงว่าชีอะฮ์อ่อน (weak) ล้มเหลว (fail) ในอันที่จะสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนชาวชีอะฮ
ชุมชนซุนหนี่ก็เช่นเดียวกัน
ในประเทศไทย ไม่มีใครมีสิทธิ์ใช้พวกมาก กดดัน ข่มขู่ ลดทอน สิทธิเสรีภาพ ในการนับถือศาสนาหรือลัทธิทางศาสนา หรือการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา ลองคิดดูว่าถ้าพี่น้องชาวพุทธซึ่งมีจำนวนคนมากกว่ากระทำการ ปิดล้อม ข่มขู่ หรือสร้างความหวาดกลัวแก่ชาวมุสลิม การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ชาว(ซุนหนี่)มุสลิมรับไม่ได้และผิดกฎหมายเช่นกัน
หลักการเรื่อง “สิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมาย รัฐ (ไทย) มีความเป็นกลางต่อศาสนา (อิสลาม) โดยศาสนาเป็นเรื่องของชุมชนแต่ละชุมชนที่จะต้องดูแลกันเองแต่อยู่ในกรอบของกฎหมายจะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างซุนหนี่และชีอะฮในสังคมไทย ดังที่เคยอยู่ร่วมกันมาเช่นนี้และไปมาหาสู่ระหว่างกัน ใช้สถานที่ของกันและกันมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช