Skip to main content

อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

 “อาจารย์สุกรี” ชี้ชายแดนใต้พื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อมประชาคมอาเซียน เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเข้า–ออกอินโดฯ มาเลย์ สิงคโปร์ บรูไน เชื่อมสามร้อยล้านมุสลิมกับโลกอาหรับ จี้เด็กสามจังหวัดชายแดนเร่งเรียน 4 ภาษาหลัก มลายูกลาง อังกฤษ อาหรับ ไทย

 

สุกรี หลังปูเต๊ะ

สุกรี หลังปูเต๊ะ

เมื่อเวลา 9.00 น. เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554 ที่ห้องประชุมอัล–อิมาม อัล–ฆอซาลีย์ อาคารอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาเอกบริหารและจัดการการศึกษาอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดสัมมนาเรื่องการบริหารและการจัดการการศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน โดยกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจาก 60 โรง ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ และนักศึกษาทั่วไปประมาณ 30 คน

ในการสัมมนาครั้งนี้ มีการอภิปรายเรื่องการบริหารและการจัดการการศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ผู้อภิปรายประกอบด้วยนายสุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และนายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายสุกรี อภิปรายว่า ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหัวใจของภูมิรัฐศาสตร์อาเซียน สภาพทำเลเอื้อต่อการขนส่งสินค้า ต้นทุนการขนส่งต่ำ แต่ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมกับห้าประเทศทางตอนใต้ของประเทศไทยคือ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไนดารุสลาม ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า จึงน้อยกว่าด่านชายแดนอื่นของประเทศไทย ถึงแม้จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้เปรียบประเทศสมาชิกอื่นๆ ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อาเซียน แต่ความตื่นตัวและการเตรียมความพร้อมยังไม่มากเท่าที่ควร สังเกตจากศักยภาพของเยาวชนไทย ที่ยังไม่สามารถใช้ภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทยที่เป็นภาษาของตัวเองได้ดี ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้สร้างบุคคลากรรองรับประชาคมอาเซียนมานานแล้ว

นายสุกรี อภิปรายต่อไปว่า แม้การศึกษาไม่ได้ถูกระบุว่า เป็นเสาหลักของอาเซียน แต่การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะส่งเสริมให้สามเสาหลักของอาเซียนเข้มแข็ง จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องบริหารการศึกษาสร้างคนให้พร้อมรับมือกับการมาถึงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเร่งเสริมศักยภาพด้านภาษาอย่างน้อย 4 ภาษาหลักคือ ภาษามลายูกลาง ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ ขณะที่ภาษาไทยเองก็มีความสำคัญ เพราะภาษาไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียที่ต้องการครูจากประเทศไทย ไปสอนภาษาไทยให้กับนักเรียนมาเลเซีย เพราะต้องการให้นักเรียนมาเลเซียใช้ภาษาประเทศเพื่อนบ้านได้ ขณะที่นักเรียนไทยยังมีปัญหาพูดภาษาไทยไม่ชัด ซึ่งจะเป็นจุดบอดของไทยในการแข่งขันในเวทีอาเซียน

นายสุกรี อภิปรายด้วยว่า มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเคยส่งนักศึกษา ไปร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษามาเลเซีย เชื้อชาติไทย โดยใช้ภาษาไทยปรากฏว่า นักศึกษามาเลเซียสามารถใช้ภาษาไทยได้ชัดเจนกว่า นักศึกษาจากประเทศไทย ขอฝากไปถึงครูผู้สอนตามโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ช่วยกันคิดด้วยว่า จะสร้างเยาวชนในพื้นที่ให้สามารถใช้ภาษาไทย อังกฤษและภาษามลายูเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศในอาเซียนได้อย่างไร

“ตอนนี้ครูในจังหวัดสตูล กำลังเตรียมสอนนักเรียนให้ใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องชัดเจน เพราะประเทศมาเลเซียกำลังเตรียมเปิดสอนภาษาประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จึงต้องการครูสอนภาษาไทยไปสอนนักเรียนมาเลเซีย สำหรับจุดเด่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกอย่างคือ ยังคงรักษษภาษามลายูอักษรยาวี ซึ่งเป็นภาษาที่รวบรวมภาษาใหญ่ๆ ของโลกถึงห้าภาษาเข้าด้วยกันเอาไว้ได้ ขณะที่ประเทศบรูไน ดารุสลาม พยายามจะอนุรักษ์เอาไว้ แต่ไม่สามารถต้านกระแสความเจริญที่ลบล้างการใช้ภาษามลายูอักษรยาวีได้” นายสุกรี กล่าว

นายสุกรี อภิปรายอีกว่า นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวในวงการอาเซียน ที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องติดตาม เช่น ประเทศปาปัวนิวกีนี อาจจะเข้าเป็นประเทศสมาชิกของประชาคมอาเซียน แม้จะได้รับเอกราชหลังประเทศติมอร์เลสเต้ แต่ความพร้อมที่จะเข้าเป็นประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนมีมากกว่าประเทศติมอร์เลสเต้ ตอนนี้รอดูท่าทีของประเทศสิงคโปร์ ถ้าสิงคโปร์ยอมรับ ประเทศไทยจะมีเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งประเทศ

นายสุกรี อภิปรายด้วยว่า เนื่องจากประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องของกลุ่มประเทศที่มีความเชื่อ อุดมการณ์เหมือนกัน จึงทำให้คนห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโอกาสได้รับประโยชน์มากกว่าประเทศอื่น ทั้งในมิติของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่เป็นประชากรหลักของอาเซียน ซึ่งเชื่อมสู่โลกอาหรับได้ด้วย ประชากรมุสลิมในสมาคมอาเซียนสามร้อยล้านคน จะทำให้หลายโครงการที่มุสลิมประเทศไทยผลักดันด้วยความยากลำบาก มีหนทางความเป็นไปได้สูงขึ้น

นายสุกรี อภิปรายต่อไปว่า รัฐบาลไทยพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการศึกษา เป็นความตื่นตัวของประเทศกลับมองถึงเรื่องใหญ่ที่ใช้งบประมาณระดับพันล้าน แต่ส่วนที่คนจังหวัดชายแดนใต้จะสามารถจับต้องได้จริงเป็นเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมมากกว่า เพราะคนจังหวัดชายแดนใต้มีความสัมพันธ์ในอดีตกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนอย่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย จุดนี้จะเป็นจุดที่เอื้อต่อความร่วมมือในอนาคต รวมถึงการลงทุนและการต่อรองทางการค้าในโลกมุสลิม

“กองทุนฮัจย์อาเซียน กองทุนซากาตอาเซียน เกิดขึ้นแน่นอน มุสลิมที่มีอยู่ทุกประเทศของอาเซียนจะมีพลังในการต่อรอง รวมทั้งต่อรองขอโควต้าฮัจย์เพิ่ม สำหรับประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดักับประเทศซาอุดิอาราเบีย  ถึงจะเจรจาต่อรองขอเพิ่มโควต้าให้กับมุสลิมไทย ก็ไม่เป็นผล” นายสุกรี กล่าว

            นายสุกรี เปิดเผยว่า ประเทศมาเลเซียมีผู้ไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอารเบียมากกว่าจำนวนโควต้าที่ตั้งไว้เกือบทุกปีคือ ได้โควต้าสองหมื่นคนแต่ได้ไปจริงสี่หมื่นคน ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียไปได้มากกว่าสองแสนคน เพราะกลุ่มประเทศมุสลิมยอมรับการบริหารจัดการของประเทศมาเลเซีย ประเทศมาเลเซียจึงได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มจำนวนโควต้าทุกปี ถ้าประเทศไทยอาศัยความน่าเชื่อถือของสองประเทศนี้ร่วมกันต่อรองการขอโควต้าฮัจย์ ในนามมุสลิมอาเซียนจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้โควต้าไปฮัจย์มากขึ้น

“ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่ตื่นตัวและพัฒนาเตรียมพร้อมรับมือประชาคมอาเซียน กลับเป็นประเทศนอกอาเซียน เช่น ประเทศจีนเตรียมตัวรับมือ ตั้งแต่มีการลงนามตกลงเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศสมาชิกเมื่อหลายปีก่อน ผมมีโอกาสสอนที่มหาวิทยาลัยฉินหนานของประเทศจีน ในสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทราบว่าประเทศจีนเตรียมรับมืออาเซียนตั้งแต่กลับมาจากการเป็นสักขีพยานในการลงนามอาเซียน โดยประกาศให้มหาวิทยาลัยฉินหนานเป็นมหาวิทยาลัยนำร่องสร้าง 10 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ โดยต้องมีความเชี่ยวชาญในข้อมูลประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ซึ่งในอนาคตกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้จะให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่นักธุรกิจของจีน ก่อนที่จะลงมาลงทุนจริงในกลุ่มประเทศอาเซียน” นายสุกรี กล่าว

            นายสุกรี ย้ำต่อผู้เข้าสัมนาว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพลังสำคัญของประเทศไทยในการเข้าถึงกลุ่มประเทศอาเซียน แต่รัฐบาลไทยยังมองไม่เห็นบริบทนี้ โครงการนำร่องโรงเรียน Prince of ASEAN ก็มาไม่ถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่เห็นว่าประเทศไทยจะเห็นศักยภาพตรงนี้ได้อย่างไร คงต้องพึ่งการพัฒนาตัวเองพื้นที่ให้ศักยภาพเหล่านี้ปรากฏออกมา จนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ผู้บริหารการศึกษาจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด และเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนใหม่ เพราะวิธีคิดแบบเดิมไม่สามารถทำให้เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะในการวิเคราะห์และการใช้ทักษะชีวิต

“การสร้างเยาวชนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ต้องทำให้เด็กมีทักษะในการใช้ชีวิต เข้าใจความแตกต่างหลากหลาย นี่คือตัวชี้วัดอนาคตของประเทศไทยว่า จะเท่าทันหรือล้าหลังประเทศอื่นในอาเซียน” นายสุกรี กล่าว