สัมภาษณ์นักเขียนนักวาดการ์ตูน 3 ภาษา มลายู – ไทย – อังกฤษ จากสำนักพิมพ์บูหงารายาบุ๊ค กลั่นความคิดฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางภาษาพร้อมดำรงศาสนาของคน ‘มลายูปาตานี’ ผ่านผลงานสื่อสิ่งพิมพ์
mso-bidi-language:AR-SA">هيلڠ بهاس هيلڠ بڠسا هيلڠ بڠسا هيلڠ اݢام mso-bidi-language:AR-SA">
ประโยคภาษามลายูอักษรยาวีข้างต้น เป็นข้อความรณรงค์ให้มีการรักษาและใช้ภาษามลายูอย่างถูกต้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีมานานแล้ว ด้วยเพราะความตระหนักถึงอิทธิพลและปัจจัยที่ทำให้ภาษานี้ค่อยๆหมดไป
วันนี้นับว่าโชคดีที่ หลายฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญ เห็นได้จากป้ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีการเพิ่มข้อความภาษามลายูอักษรยาวีมากขึ้น ยังไม่นับรายการวิทยุภาคภาษามลายูที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างมากมาย และการเกิดขึ้นของสื่อพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวี ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรณรงค์ในเรื่องนี้ ทว่า มากพอหรือยัง
“มลายูเป็นอัตลักษณ์ของเราตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอนก็จริง แต่ทุกวันนี้สื่อภาษามลายูในพื้นที่ยิ่งน้อยลง ก็ยิ่งทำให้เรามีความคุ้นเคยกับภาษามลายูยิ่งลดลงไปด้วย แม้เราอยากให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ก็ยากและยังไม่พอ”
ซอลาฮุดดีน กริยา - อับดุลเลาะห์ บิน วันอะหมัด
นั่นคือ สิ่งที่ “ซอลาฮุดดีน บิน ฮัสบุลเลาะห์” หรือนายซอลาฮุดดีน กริยา กราฟฟิกส์ดีไซด์หรือนักออกแบบการ์ตูน 3 ภาษา (ไทย – มลายู – อังกฤษ) แห่งสำนักพิมพ์บูหงารายาบุ๊ค ตระหนัก จึงพยายามค้นหาหนทางที่จะฟื้นฟูการใช้ภาษามลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถูกต้อง ซึ่งแนวทางหนึ่งที่เขาทำ คือการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์
กริยา มองว่า ปัจจุบันการใช้ภาษามลายูอย่างเป็นทางการ มีเพียงในตำราเรียน ในคุตบะห์คือบทเทศนาธรรมในการละหมาดวันศุกร์ ซึ่งทั้งสองกรณีใช้ภาษาชั้นสูง ที่คนทั่วไปยังเข้าใจยาก อีกส่วนคือหนังสือประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมักใช้ทั้ง 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษามลายู
กริยา ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ อับดุลเลาะห์ บิน วันอะหมัด และ มูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ มาร่วมมือกันสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์การใช้ภาษามลายูที่ถูกต้อง ด้วยจิตวิญญาณที่ต้องการรักษาภาษามลายูให้อยู่คู่กับแผ่นดิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ในฐานะที่เป็นอัตลักษณ์หนึ่งของดินแดนปาตานี ก่อนที่จะเลือนหายไปมากกว่านี้ ควบคู่กับการผลิตสื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ด้วย
“เราพยายามเริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายๆ ก่อน นั่นคือเริ่มจัดพิมพ์หนังสือการ์ตูน ซึ่งเป็นชุดภาพระบายสี 3 ภาษา สำหรับเด็กชั้นอนุบาล เดิมตั้งใจจะทำวารสารภาษามลายู แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราเห็นว่า ถ้าไม่พร้อมจริงๆ ทำไม่ได้ เพราะงานหนักและตลาดไม่พร้อม จึงคิดใหม่โดยเริ่มจากสิ่งง่ายๆ แล้วค่อยพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้น”
หนังสือการ์ตูนชุดระบาย 3 ภาษา เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนสำหรับเด็กเล็ก จากนั้นค่อยพัฒนาไปสู่การผลิตสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะกับทุกระดับการศึกษา จนกระทั่งสามารถผลิตสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ต่อไป เพราะมองว่า ทุกระดับการศึกษา น่าจะมีสื่อที่เหมาะสมร่วมกันอยู่ และคนทุกระดับการศึกษาเข้าถึงได้ จึงออกมาในรูปของหนังสือประกอบการเรียนและใช้งบประมาณน้อยที่สุด
สำหรับผลงานชุดแรก เป็นหนังสือชุดระบายสี 3 ภาษาชุดแรก มี 4 เล่ม แต่เพิ่งตีพิมพ์ไปเพียง 2 เล่ม ที่เหลือกำลังทยอยเขียนและออกแบบตัวการ์ตูน เนื่องจากความไม่พร้อมของบุคลากรและงบประมาณ จึงผลิตไป 2 เล่มก่อน โดย 2 เล่มแรก ชื่อ “แพะดำ” และ “กบกับหนู” มีเนื้อหาเป็นนิทานสนุกสนาน เขียนข้อความทั้ง 3 ภาษา คือ มลายูอักษรยาวี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อให้น้องๆ ได้ฝึกอ่านไปพร้อมๆ กับการระบายสี โดยเริ่มวางแผงขายไปแล้ว
ตัวอย่างหนังสือการ์ตูน 3 ภาษา
กริยา เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาร่วมงานกับ อันวาร์ หรือนายมูฮำหมัดอันวัร หะยีเต๊ะ จากบูหงารายานิวส์ ซึ่งทำหน้าบรรณาธิการของหนังสือชุดระบายสีว่า “เพราะแอบชมมานานแล้ว ในเรื่องการทำเว็บภาษามลายู และได้คุยกันทางเฟซบุ๊ก ขณะที่ผมเองก็เป็นนักพัฒนาฟอนด์(แบบอักษร) ภาษายาวีในระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นได้คุยกัน ก็พบว่ามีความฝันเหมือนกันว่า จะตั้งสำนักพิมพ์ภาษามลายู”
จากนั้นเริ่มคุยกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา จนกระทั่งตัดสินใจจะตั้งสำนักพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวี จากนั้นก็เจอกับอับดุลเลาะห์ บิน วันอะหมัด ซึ่งเป็นนักเขียนภาษามลายูเป็นนักกวีมลายู มีความสามารถด้านภาษามลายูอักษรยาวี จึงทำให้ความคิดที่จะตั้งสำนักพิมพ์มลายูอักษรยาวีลงตัวมากขึ้น
“ทั้ง 3 คน เสมือนกับร่างเดียวกันแล้วในตอนนี้ โดยตัวผมเองเป็นผู้กำหนดเอกลักษณ์หรือคาร์แร็กเตอร์ของตัวการ์ตูน อันวาร์เป็นผู้ขับเคลื่อนให้งานนี้เกิดขึ้นและงานการตลาด ส่วนอับดุลเลาะห์ เป็นจิตวิญญาณของภาษามลายู เป็นผู้เขียนเนื้อหาเป็นหลัก”
กริยา บอกว่า การผลิตสื่อสิงพิมพ์ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ต้องการรักษาภาษามลายูให้คงอยู่ แต่ต้องการให้สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ และการผลิตในเชิงธุรกิจ ก็เพื่อต้องการพิสูจน์ว่า ถ้าสิ่งนั้นดีจริง มันก็จะอยู่ได้และจะทำให้เราประเมินได้ว่า งานของเราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่
“เราใช้คำว่า “ممباچ فتاني” แปลว่า อ่านปาตานี เป็นการรณรงค์ให้คนมาอ่านภาษามลายูมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ หากเปรียบภาษามลายูของคนปาตานี ก็เหมือนต้นไม้ดอก ที่ใครๆ ก็บอกว่า เรามี แต่ไม่ดูแล ไม่รดน้ำ ไม่ใส่ปุ๋ย ต้นไม้ดอกจะสวยงามเติบโตได้อย่างไร”
จะทำอย่างไรที่จะให้คน ช่วยกันรักษาสิ่งที่เป็นตัวตนของตนเองไว้ ทั้งการใช้ การเขียนและการอ่าน เพราะปัจจุบันมีแต่การพูดและการฟังเท่านั้น การเขียนไม่มีเลย และนับวันภาษามลายูก็จะยิ่งค่อยๆ หายไป โดยมีภาษาอื่นเข้ามาแทน ดังนั้น จึงต้องเริ่มที่การอ่านก่อน แล้วค่อยปรับ ค่อยพยายามจนกระทั่งนำไปสู่การเขียนต่อไปได้
ขณะที่อันวาร์ เล่าว่า เดิมจะทำแค่ภาษามลายูอย่างเดียว แต่ก็พบว่าตลาดแคบเกินไป จึงต้องทำเป็น 3 ภาษา ซึ่งหนังสือชุดระบายสียังมีอีกหลายชุดที่จะผลิตออกมา เพราะจำเป็นต้องให้มีเยอะและหลากหลาย จึงจะสร้างแรงจูงใจให้คนมาสนใจได้ ส่วนเนื้อหาและความถูกต้องของการใช้ภาษานั้น ทางศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PERKASA ได้มาเป็นที่ปรึกษาการผลิตหนังสือชุดระบายสีนี้ด้วย
ส่วนอับดุลเลาะห์ มองว่า “การใช้ภาษามลายูจะยากง่ายหรือไม่ อยู่ที่เราเอง ในปาตานีมีคนอ่านภาษามลายู แต่กลับไม่มีสื่อให้อ่าน ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของเราด้วย ที่จะให้มีสื่อภาษามลายูอักษรยาวีขึ้นมา”
อับดุลเลาะห์ มองอีกว่า ในอดีตอารยะธรรมอิสลามที่เกิดขึ้นที่นี่ได้ก็ด้วยภาษามลายู ศาสนาอิสลามของที่นี่เจริญรุ่งเรืองได้ก็ด้วยภาษามลายู ดังนั้นเราต้องรักษาไว้ อย่างเหมือนกับคำกล่าวภาษามลายูข้างต้น เพราะหากภาษาหายไป เชื้อชาติ ศาสนาก็หายไปด้วย