ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้
ถือว่าสะเทือนความรู้สึกพอสมควรสำหรับ "คนทำสื่อ" เมื่อผลวิจัยของ "เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้" ชี้เปรี้ยงว่า "สื่อไทย" โดยเฉพาะ "หนังสือพิมพ์" ติดกลุ่มองค์กรหรือสถาบันที่ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ไว้วางใจมากที่สุด (อ่าน ‘ทัศนคติประชาชนและผู้นำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน' ประกอบ)
ทำไมและอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น?
สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งน่าจะมาจากอารมณ์การ "พาดหัวข่าว" ของหนังสือพิมพ์ที่อาจจะทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกไม่สบายใจ ขณะเดียวกัน ผลวิจัยที่ออกมายังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่น่าจะห่างเหินมากพอสมควรระหว่างนักข่าวในพื้นที่กับชาวบ้าน
"คนในจังหวัดภาคใต้คงคิดว่าสื่อหนังสือพิมพ์ไม่ใช่ตัวแทนของพวกเขา และไม่มีพื้นที่สำหรับพวกเขามากเพียงพอ โดยเฉพาะในแง่ของการทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น" สุภิญญา บอก
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าผลวิจัยในความเห็นของเลขาธิการ คปส. ก็คือ บทบาทการเป็น "ตัวแทน" ของหนังสือพิมพ์
"คนที่อ่านหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่คือคนชั้นกลางกับคนเมือง และบทบาทของหนังสือพิมพ์ก็จะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้ ดิฉันจึงเกรงว่าการปฏิเสธสื่อหนังสือพิมพ์ของคนในจังหวัดภาคใต้อาจเป็นการสะท้อนว่าเขาปฏิเสธคนเมืองกับคนชั้นกลางด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าวิตก"
อย่างไรก็ดี ปัญหาการพาดหัวข่าวและรูปแบบการนำเสนอข่าวความรุนแรงในวาระภาคใต้ที่ สุภิญญา พูดถึงนั้น ที่ผ่านมาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการโต๊ะข่าวภาคใต้ หรือที่รู้จักกันในนาม "ศูนย์ข่าวอิศรา" เพื่อเปิดพื้นที่ข่าวสารด้านอื่นๆ ในดินแดน 3 จังหวัดมาแล้ว แต่ สุภิญญา ก็ยังมองว่าการขับเคลื่อนของโครงการน่าจะส่งผลน้อยเกินไป
"จริงๆ แนวคิดการตั้งศูนย์ข่าวอิศราเป็นเรื่องที่ดี และข่าวที่นำเสนอก็มีคุณภาพมาก แต่ปัญหาก็คือข่าวของศูนย์อิศราได้รับการเผยแพร่ในสื่อกระแสหลักมากขนาดไหน และมากพอที่จะเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านหรือไม่" เธอตั้งคำถาม
สุภิญญา บอกอีกว่า ผลวิจัยที่พบว่าประชาชนในพื้นที่ไว้วางใจสื่อมาเลเซียมากกว่าสื่อไทย สะท้อนให้เห็นความรู้สึกแปลกแยกในใจของชาวบ้านที่ฝังแน่นมานาน และสาเหตุที่ชื่นชอบสื่อมาเลเซียมากกว่าก็เนื่องจากมาเลย์มีสภาพสังคมและอัตลักษณ์ใกล้เคียงกับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในบางแง่มุมก็น่าจะมีวาระทางการเมืองปะปนอยู่บ้างเช่นเดียวกัน
"เหมือนกับคนที่ต่อต้านทักษิณ ก็อาจจะเลือกอ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการหรือเนชั่น ตรงนี้เป็นการสะท้อนวาระทางการเมืองในใจ ฉะนั้นถึงแม้ว่าศูนย์ข่าวอิศราจะช่วยลดช่องว่างระหว่างสื่อกระแสหลักกับคนในพื้นที่ลงได้บ้าง แต่มันก็ยังเล็กเกินไปสำหรับปัญหาที่มีโจทย์ใหญ่และซับซ้อนเช่นนี้ ที่สำคัญยังเป็นโจทย์ที่มีปัญหาสังคมกับการเมืองคลุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง การแก้ปัญหาจึงต้องทำในหลายมิติพร้อมกัน จะทำเฉพาะมิติของสื่ออย่างเดียวคงไม่สำเร็จ"
ด้าน ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้สัมภาษณ์ในฐานะผู้หนึ่งที่ติดตามข่าวสารทั้งจากสื่อไทยและสื่อต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง ระบุสาเหตุว่าน่าจะมาจาก "บริบทสังคม" ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ ‘คาดหวัง' กับสื่อไทยไว้ค่อนข้างสูง
เมื่อไม่สามารถสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ดีกว่าการนำเสนอข้อมูลที่ได้จากฝ่ายทางการฝ่ายเดียว พวกเขาจึงหมดความเชื่อถือ
ผศ.ดร.วรวิทย์ อธิบายเพิ่มว่า ประชาชนในพื้นที่คาดหวังว่านักข่าวไทยน่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ได้ดี และน่าจะนำเสนอข้อมูลได้มากกว่าข่าวปกติ ยกตัวอย่าง ‘โรงเรียนปอเนาะ' ซึ่งสื่อต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความจำเป็นของโรงเรียนปอเนาะในลักษณะเห็นใจ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการการศึกษาตามระบบได้ แต่สื่อไทยเอง ทั้งๆ ที่เป็นคนประเทศเดียวกัน กลับมีแต่ข่าวที่มีลักษณะ ‘เหมารวม' นำเสนอออกไป เช่นว่า "ปอเนาะเป็นที่บ่มเพาะความคิดก่อการร้าย"
"หรืออย่างมีข่าวว่า ภาครัฐจะจัดระเบียบปอเนาะ ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นข้อเท็จจริงตามข้อมูลที่ได้จากทางการ ไม่ได้บิดเบือนอะไร แต่ชาวบ้านเขากลับเกิดความรู้สึกว่า ทำไมภาครัฐมองว่าปอเนาะคือตัวปัญหา ขณะที่ตัวสื่อไทยเองก็นำเสนอข่าวนั้นทื่อๆ ไม่ได้อธิบายข้อมูลอีกด้าน ทำให้ถูกมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐ" เขาอธิบาย
ผอ.สถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นอีกว่า ประเด็นเรื่อง "มิติทางภาษา" ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้สื่อไทยไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนในพื้นที่
"มันมีบริบทในประโยคของข่าวที่ให้ความรู้สึกต่างกันอยู่ ยกตัวอย่างการจัดการศึกษา พวกเขาจะมองว่า นี่คือสิทธิของประชาชนในพื้นที่นี้จะพึ่งได้ แต่พอถูกนำเสนอในสื่อไทย มันออกมาในลักษณะที่ว่า เป็นผลงานของรัฐที่เข้ามาจัดการให้
หรือการจับกุม ‘ผู้ต้องสงสัย' ถ้าเป็นสื่อมาเลย์ที่ใช้คำอังกฤษว่า suspect หรืออาจจะใช้ภาษารูมีว่า yang di syaki ซึ่งต่างจากสื่อไทยที่ใช้คำว่า ‘ผู้ต้องหา' ทำให้เกิดความรู้สึกว่ากลายเป็นผู้ต้องหาที่กระทำความผิดไปแล้ว ญาติคนที่ถูกจับไปก็เกิดความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม มันให้อารมณ์ว่าต้องถูกซ้อมหรือถูกทำร้ายในการสอบสวน เป็นการถูกรัฐรังแก คือในเชิงลึกของภาษามันให้ความรู้สึกที่ต่างกันอยู่"
ผศ.ดร.วรวิทย์ได้อธิบายด้วยว่า ที่ผ่านมา ความนึกคิดหรือความเห็นของประชาชนในพื้นที่เหมือนถูกกดทับมานาน ไม่ได้รับการสื่อสารออกไป เมื่อสื่อต่างชาติซึ่งมีประวัติศาสตร์ใกล้ชิดกัน ใช้ภาษาเดียวกัน และสามารถสื่อสารได้ตรงตามความหมายที่แท้จริงอย่างที่เขาต้องการได้ดีกว่า ทำให้เขาอยากจะสื่อสารกับสื่อต่างชาติมากกว่า
โดยเฉพาะทุกวันนี้ ประชาชนในพื้นที่เขาสามารถอ่านข่าวจากต่างประเทศได้ง่ายขื้น ไม่ใช่เฉพาะแต่สื่อมาเลเซียเท่านั้น แต่รวมถึงข่าวจากตะวันออกกลาง ข่าวอาหรับ หรืออัลจาซีร่า เป็นต้น ฯลฯ ด้วย
เขาวิเคราะห์ต่อว่า หากมองตามเนื้อข่าวทั้งของสื่อไทยและสื่อต่างชาติ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมาก มีการนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชนิดตามติดเหมือนๆ กัน บางครั้งสื่อไทยสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ดีกว่าด้วยซ้ำ แต่ก็มีบางครั้งที่สื่อต่างชาติรู้ว่าประเด็นไหนเซ็นซิทีฟหรือมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของประชาชน เขาก็อาจจะเลี่ยง แต่สื่อไทยจะนำเสนอตามนั้นเลย มันจึงกระทบความรู้สึกในด้านลบ ทั้งนี้ ข่าวส่วนใหญ่ที่ได้ก็มาจากรัฐ ต้องยอมรับว่ามันมีความหมายในเชิงการเมืองอยู่ (Politic) มันมีความรู้สึกไม่ชอบซ่อนอยู่
ผศ.ดร.วรวิทย์แนะด้วยว่า ควรจะมีสื่อท้องถิ่นที่สามารถใช้ภาษาไทยและภาษามาลายูได้อย่างชำนาญ ที่สำคัญจะต้องมีความเป็นสื่อสารมวลชนอย่างแท้จริงด้วย เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำความคิดเห็นและความจริงจากพื้นที่ ส่งกระจายให้คนทั่วประเทศรับทราบ ตลอดจนสื่อสารกับคนในพื้นที่ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
ด้าน สุวัตน์ จามจุรี ประธานกลุ่มสื่อฟาลิฮีน (ปัตตานี) อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "ทางนำ" วิเคราะห์สาเหตุสำคัญว่า น่าจะมาจากบทบาทของผู้ที่ทำหน้าที่สื่อในพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถเป็นปากเสียงแทนประชาชนได้อย่างแท้จริง
"ที่ผ่านมา ชาวบ้านจะสะท้อนให้ฟังว่า สิ่งที่เขาพูดกับผู้สื่อข่าวกับสิ่งที่ถูกนำเสนอออกไปมันไม่ตรงกัน ถูกตัดหรือถูกดัดแปลง ประเด็นนี้ทำให้เขาไม่อยากที่จะพูดกับสื่อไทย ประกอบกับสื่อมวลชนในพื้นที่ก็มีความใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการเกินไป ส่งผลให้หน้าหนังสือพิมพ์ค่อนข้างจะมีข้อมูลที่มาจากภาครัฐมากกว่า เสียงประชาชนในพื้นที่มีน้อยมาก กลายเป็นปัญหาเรื่องความสมดุล"
อดีต บก. ‘ทางนำ' ชี้ว่า นักข่าวท้องถิ่นที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ส่วนมาก ประสบการณ์ยังน้อย และดูเหมือนจะไม่ได้มีความรู้สึกที่อยากจะพูดแทนชาวบ้านอย่างแท้จริง เห็นได้จากข่าวที่จะมีแต่การสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐ หรือแค่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะกลายเป็นไปขยายภาพว่าเกิดแนวร่วมขึ้นมากมายในทุกๆ พื้นที่ จนประชาชนในจังหวัดภาคใต้จะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายกันหมด ทั้งๆ ที่มีอยู่แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์
สุวัตน์ตั้งข้อสังเกตุด้วยว่า บางทีสื่อในพื้นที่เองก็อาจจะอยากนำเสนอข้อมูลให้เกิดความสมดุล แต่ก็ติดเงื่อนไขเรื่องพื้นที่ข่าวของสื่อส่วนกลาง ข่าวจึงออกมาในลักษณะนี้
"อย่างคดีฆ่าข่มขืนเร็วๆ นี้ ถ้ามองในมุมของชาวบ้าน เขาก็ไม่อยากให้แพทย์มองเห็นศพในสภาพที่ไม่งาม ศพจึงอาจจะมองเหมือนไม่ได้ถูกข่มขืนก็ได้ มันเป็นความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม ซึ่งเรื่องเหล่านี้สื่อไทยไม่ได้นำเสนอออกไป แต่กลับไปฟันธงว่าไม่ได้ถูกข่มขืน ประกอบกับข้อมูลที่สื่อออกไปมันก็ยังไม่สามารถไปสู้กับความคิดหรือความเชื่ออย่างนั้นของชาวบ้านได้" เขายกตัวอย่างประกอบ
ประเด็นที่น่าสนใจที่ อดีต บก. ‘ทางนำ' วิเคราะห์ปัญหาก็คือ ปัจจุบันไม่มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ที่จะอยากเข้ามาทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ทั้งๆ ตัวเองมีความเข้าใจในมิติทางภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรมดีกว่านักข่าวส่วนกลาง ประการหนึ่งก็คือเกรงอันตราย เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วม หรือกลายเป็นพวกเดียวกับฝ่ายทางการ แต่อย่างไรก็ดี จำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดสื่อท้องถิ่นที่มีความเป็นสื่อจริงๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งในพื้นที่และทั่วประเทศ
"จะต้องผลักดันให้เกิดสถานีข่าวภาคประชาชน เพื่อนำเสนอ ‘ข้อมูลคู่ขนาน' จากชาวบ้านจริงๆ ตอนนี้ ไม่เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ แม้กระทั่งในสื่อทีวี ไม่มีใครพูดถึงสันติวิธี เห็นมีแต่อยากให้แตกหัก มีการเสนอภาพบ้านชาวบ้านถูกค้น จนถูกมองว่าเป็นบ้านแนวร่วมกันไปหมด ทั้งที่บางคนก็ไม่รู้อีโหน่อีแหน่ แต่ก็ถูกมองเป็นผู้ก่อการร้าย จนปัจจุบันชาวบ้านไม่อยากจะเปิดรับข่าวสารจากสื่อไทยกันอยู่แล้ว" สุวัตน์ให้ความเห็นตอนท้าย
เห็นได้ชัดว่า วิกฤติสื่อไทยภายใต้สถานการณ์ภาคใต้วันนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือในการที่จะปฏิรูปการทำงานอย่างจริงๆ จังๆ ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ เพราะที่สุดแล้ว ประเด็นเหล่านี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาสนทนาหารือหลายครั้งหลายครา แต่ผลที่ออกมากลับทำไมคล้ายถอยหลังเข้าคลอง !!!