Skip to main content

 

ครบรอบ 13 ปี ไฟใต้: สันติภาพที่ยังห่างไกล

 

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์ 
ปัตตานี
 
    TH-deepsouth-800
    เจ้าหน้าที่ตำรวจ เฝ้าตรวจตรา ณ จุดตรวจท่าสาป อำเภอเมือง ยะลา ที่ติดแผ่นป้ายประกาศจับผู้ต้องหา คดีความมั่นคง วันที่ 29 ธ.ค. 2559
     เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ที่กองกำลังแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ ได้เข้าปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และได้สังหารเจ้าหน้าที่ทหาร 4 นาย ความรุนแรงจากสงครามแบ่งแยกดินแดนที่ได้เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 ได้ปะทุขึ้นอีกระลอก และยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน โดยไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง แม้จะมีความพยายามในการ “พูดคุยเพื่อสันติสุข” ก็ตาม

    นางแยนะ สะแลแม ชาวนราธิวาส แกนนำญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ตากใบ ปลายเดือนตุลาคม ปี 2547 ผู้ซึ่งบุตรชายได้รับบาดเจ็บ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเจรจาคงไม่บังเกิดผล และตนเองยังไม่มีความมั่นใจว่าเมื่อไรเหตุการณ์จะสงบลง

    "สิบสามปีไฟใต้ เหตุการณ์บางปีลดลง บางปีเพิ่มขึ้น คิดว่าปีนี้จำนวนจะลดลง แต่การพูดคุยสันติสุข ถ้าแบบนี้ไม่สำเร็จ คนที่มาพูดคุยไม่ใช่ตัวจริง การพูดคุยเกิดขึ้นแค่การฟัง” นางแยนะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    “กะนะ เคยไปคุยกับขบวนการบีอาร์เอ็น เขามีความคิดว่าพวกเขาทำถูกแล้ว ทำดีที่สุด และไม่ยอมรับกระบวนการพูดคุย” นางแยนะ กล่าวเพิ่มเติม โดยเรียกตัวเองว่า กะ ที่หมายถึงพี่สาวในภาษามลายู

    นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ขบวนการฯ ปล้นอาวุธปืนสงครามไป 413 กระบอก ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ บันทึกไว้ว่า เกิดเหตุความไม่สงบทั้งหมดกว่า 18,000 ครั้ง มีการสูญเสียในชีวิตที่สรุปคดีว่าเกี่ยวกับความมั่นคงแล้ว รวมกว่า 4,000 ราย บาดเจ็บ 9,000 กว่าราย เจ้าหน้าที่เปิดยุทธการปิดล้อมพื้นที่เป้าหมายกว่า 20,000 ครั้ง รัฐออกหมายจับผู้ต้องสงสัย 6,600 หมาย และสามารถดำเนินคดีผู้ต้องหาไปแล้ว 800 กว่าราย

    ส่วนศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ แสดงตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมกว่า 6,800 ราย และบาดเจ็บกว่า 12,000 ราย มีเหตุการณ์กว่า 15,000 ครั้ง

    สภาองค์กรนำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการก่อเหตุรุนแรงเหมือนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่มอาบูไซยาฟ ในฟิลิปปินส์

    มีเพียงบางครั้งเท่านั้นที่แกนนำระดับล่าง เช่น หัวหน้ากองกำลังอาร์เคเคในพื้นที่ จะกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การโจมตีเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการฯ เช่น วางระเบิดในเจ็ดจังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา เป็นต้น

    นอกจากนั้น คนในพื้นที่ยังเชื่อว่าเหตุการณ์ส่วนหนึ่งเกิดจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐบางรายที่ได้ผลประโยชน์จากงบประมาณที่ใช้ไปแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท

    ในขณะที่ผู้อำนวยการชุดปฏิบัติการพิเศษภัยแทรกซ้อน สำนักข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ปัญหาจากภัยแทรกซ้อนในพื้นที่ ทั้งขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ขบวนการค้ายาเสพติด บ่อนการพนัน สินค้าหนีภาษี เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ โดย 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของอุดมการณ์ และ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของขบวนการธุรกิจมืด ซึ่งมีเงินหมุนเวียนถึงเดือนละ 500-1,000 ล้านบาท

    รัฐบาลระมัดระวังข้อผิดพลาดในการเจรจา

    ถึงปัจจุบัน คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่วมในการเจรจาของฝ่ายผู้เห็นต่าง ที่มีสมาชิกมาจากขบวนการบีอาร์เอ็น จีเอ็มพีพี และกลุ่มย่อยของพูโลบางกลุ่ม กำลังดำเนินความพยายามที่จะจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ “พื้นที่หยุดยิง” แบบจำกัดเขต อันเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขเบื้องต้นของฝ่ายไทย ในขณะที่การเจรจายังอยู่ในขั้นที่หนึ่ง คือ การสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน

    แต่ในภาพรวมของการเจรจา เจ้าหน้าที่รัฐบาลท่านหนึ่งที่ติดตามการเจรจาอย่างใกล้ชิดกล่าวว่า การเจรจานั้น ฝ่ายผู้แทนรัฐบาล ต้องระมัดระวังเรื่องข้อกฎหมายว่า หากว่าในการเจรจานั้น ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ได้มีการผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบใดๆ เสียเอง เมื่อพ้นอำนาจแล้ว อาจจะถูกรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะ “เอาคืน” ได้

    “รัฐบาลเกรงว่าหากมีการเซ็นข้อตกลงอะไรลงไปกับฝ่ายผู้เห็นต่าง แล้วมีข้อผิดพลาด มันจะกลายเป็นมรดกบาป และอาจจะโดนรัฐบาลที่มาจากนักการเมืองเอาคืนได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของภูมิคุ้มกันสำหรับผู้แทนการเจรจานั้น ไม่ใช่ต้องพิจารณาให้แก่ฝ่ายมาราแต่อย่างเดียว แต่ต้องให้ฝ่ายคณะพูดคุยฯ ด้วย” เจ้าหน้าคนดังกล่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์โดยไม่ประสงค์จะออกนาม

    ในการตอบคำถามผู้สื่อข่าว เมื่อต้นปี 2559 ในขณะที่ประธานองค์กรความร่วมมืออิสลามเยือนประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แสดงความกระอักกระอ่วนในการที่จะยอมรับการมีอยู่ของขบวนการต่างๆ ด้วยเหตุผลหนึ่งที่เกรงว่า เมื่อยอมรับแล้ว อาจจะมีกลุ่มต่างๆ อีกมากมาย ตั้งตนเป็นกลุ่มขบวนการมาต่อรองกับรัฐบาล แม้ว่ากลุ่มเหล่านั้นจะไม่มีศักยภาพจริงก็ตาม รวมทั้ง ได้กล่าวว่า ฝ่ายผู้เห็นต่างต้องช่วยสร้างความสงบในพื้นที่เพื่ออำนวยการเจรจาอีกด้วย

    สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น - สิ่งที่รัฐพึงระมัดระวัง

    เมื่อปลายปี 2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในกรุงเทพว่าสถานการณ์ในปี 2559 ดีขึ้น

    “สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2559 ก็ลดลงตามลำดับ หากเทียบกับปี 2558 พร้อมทั้งอยากย้ำว่าเราจะพยายามไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น กำลังพลทุกคนจะร่วมมือบูรณาการให้กับประชาชน โดยที่จะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน” พล.อ.ประวิตร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

    ด้านนายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ประธานฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ไม่สงบเกิดจากทั้งสองฝ่าย

    “การปฏิบัติการที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เริ่มต้นจากเงื่อนไขจาก 2 ฝ่าย จากขบวนการในพื้นที่ประกอบด้วย BRN BIPP กลุ่มย่อยในขบวนการ PULO สองกลุ่ม และ GMIP สร้างความรุนแรงเกิดขึ้น และอีกกลุ่มที่เกิดขึ้นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จับชาวบ้านยิงทิ้ง วิสามัญฆาตกรรมแล้วเอาปืนไป ผมจะกล่าวว่านี่เป็นขบวนการทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม” นายอับดุลอซิซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    ในเรื่องนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว ปัญหาหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาคใต้คือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐยังละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดในคดีความมั่นคง ซึ่งแม้ว่าการร้องเรียนจะลดลง แต่ก็ยังมีอยู่

    “สิ่งที่เป็นกังวล และเป็นสิ่งที่ต้องการของประชาชนที่ยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมยังมีอยู่ เช่น หลายๆ กรณี มีการพูดอยู่ตลอด เรื่องของเหตุการณ์ตากใบ คนถูกอุ้มหาย ถึงแม้จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่การเข้าถึงความยุติธรรม ก็เป็นสิ่งที่ยังคาใจ” นางอังคณา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

    นางอังคณา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ปรับปรุงฐานข้อมูลการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายได้ดีขึ้น

    ส่วนนางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเสริม “วันนี้ เราจะพบปัญหาลึกๆ 2 ขา ขาหนึ่ง เรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซ้อมทรมาน หรืออุ้มหาย อีกขา คือ สิทธิชุมชนที่อยากมีส่วนร่วม รัฐไม่ควรจะมาตัดสินใจแทนพวกเขา ทั้งหมดถ้าสองขานี้เดินไปด้วยกันได้ ถ้าเปิดโอกาสให้พี่น้องทุกกลุ่มได้พูดได้เสวนาแลกเปลี่ยนกัน สันติสุขในภาคใต้ก็จะเกิดขึ้นได้”

    อย่างไรก็ตาม พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.4 กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากตัวชี้วัดที่ ประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น

    “พื้นที่ภาคใต้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายฝ่ายกังวล” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้าย

    แต่นายอดีนัน สูมะ ชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า “คนในพื้นที่ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ ยังมีความหวังว่าสักวัน เหตุการณ์จะลดลง ชาวบ้านสามารถอยู่อย่างปกติ ในพื้นที่ขอให้เกิดเหตุเฉพาะกับเป้าหมายของคู่ต่อสู้เท่านั้น ไม่ใช่เกิดกับผู้บริสุทธิ์”