เมธัส อนุวัตรอุดม
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
1. บทนำ
เมื่อเอ่ยถึงชื่อของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ สำหรับคนไทยแล้วอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่หากกล่าวต่อไปว่าซินเจียงเป็นเขตปกครองแห่งหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนอันเป็นบริเวณที่เส้นทางสายไหมเคยพาดผ่านในสมัยโบราณนั้นน่าจะเป็นที่รู้จักของคนไทยจำนวนมากขึ้น โดยเมืองอูรูมู่ฉี (Urumqi) ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์นั้นเคยมีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านบนเส้นทางสายไหม และเป็นจุดเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้ในทางภูมิศาสตร์
ด้วยความที่ซินเจียงเป็นแอ่งอารยธรรมแห่งตะวันตกและตะวันออกทั้ง 4 คือ จีน อินเดีย อิสลาม และกรีกโรมันที่ได้มาบรรจบพบเจอกันนั้น (International Culture Association of Xinjiang Uyghur Autonomous Region, 2008, p.8) ทำให้สภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเขตนี้มีลักษณะพิเศษคือมีคนจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีหน้าตาออกฝรั่งคล้ายแขกขาวแต่กลับพูดภาษาจีนได้คล่องแคล่ว และคนจีนฮั่นที่พูดภาษาอุยกูร์สำเนียงคล้ายอาหรับได้เช่นเดียวกัน โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ในเขตปกครองนี้เป็นคนอุยกูร์ที่มีเชื้อสายเติร์กนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งชาวจีนจะเรียกว่าคนเหวยหวู่เอ่อร์ ในขณะที่คนจีนฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นคนส่วนน้อยในเขตซินเจียงแห่งนี้
เหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อของซินเจียงปรากฏต่อสายตาประชาคมโลก คือเหตุจลาจลเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2552 ณ ตลาดขายสินค้าพื้นเมืองต้าปาจาร์อันเป็นบริเวณที่มีชุมชนอุยกูร์อาศัยอยู่หนาแน่นโดยรอบ ซึ่งชาวอุยกูร์ได้ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสอบสวนเหตุปะทะกันระหว่างคนอุยกูร์กับคนฮั่นในมณฑลกวางตุ้ง แต่การเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวอุยกูร์ดังกล่าวกลับขยายตัวเป็นความรุนแรงที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 156 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน (คมชัดลึก, 2552)
เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นอาการหนึ่งที่ปะทุขึ้นจากรากเหง้าบาดแผลทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาของดินแดนแห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งชนกลุ่มน้อยในซินเจียงนำโดยชาวอุยกูร์ คาซัค และ มองโกลได้เคยประกาศตัวเป็น “สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก” ในปี 2487 โดยมีสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุน (Human Rights Watch, 2005, p.11) ทำให้ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่กับรัฐบาลจีนมีความหวาดระแวงกันและกันเรื่อยมา และมีการก่อความไม่สงบขึ้นมาเป็นระยะ
ในอดีตที่ผ่านมา จีนใช้นโยบายการปราบปรามอย่างเด็ดขาด การพยายามกลืนกลายทางวัฒนธรรม และการปฏิเสธตัวตนของคนอุยกูร์โดยปิดกั้นไม่ให้ดำเนินชีวิตไปตามวิถีวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน หากแต่จะต้องเผชิญกับการต่อต้านอยู่เรื่อยไปไม่ว่าจะเป็นโดยเปิดเผยหรือการเคลื่อนไหวใต้ดิน ต่อมาจีนจึงได้ปรับเปลี่ยนท่าทีจากนโยบายแข็งกร้าวดังกล่าวมาใช้การผ่อนปรนประนีประนอมกับชนกลุ่มน้อยผ่านมาตรการหลายด้านทั้งทางการบริหารปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อลดแรงเสียดทานจากชาวอุยกูร์
ด้วยความที่ซินเจียงเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษเช่นนี้ สถาบันพระปกเกล้าโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล จึงได้นำคณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” (4ส) รุ่นที่ 2 ไปศึกษาดูงาน ณ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4 – 10 สิงหาคม 2553 เพื่อเรียนรู้แนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่มีพื้นฐานมาจากความแตกต่างทางอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ตามแบบฉบับของประเทศจีน ซึ่งแม้จะมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเมืองและศาสนาอยู่อันเนื่องมาจากบริบททางการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่ก็ได้มีความพยายามในการประนีประนอมกับชนกลุ่มน้อยดังกล่าวด้วยเช่นกัน
บทความนี้จึงเป็นเสมือนบันทึกการเดินทางเล็กๆที่พยายามถอดบทเรียนแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบของรัฐบาลจีน โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับคนในพื้นที่เป็นหลัก ประกอบกับเอกสารวิชาการต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถเข้ารับฟังการบรรยายสรุปจากทางราชการตามกำหนดการเดิมที่ได้ประสานงานกับทางการจีนไว้ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางก็ตาม แต่การไม่ได้ดูและไม่ได้ฟังจากเจ้าหน้าที่ของทางการจีนครั้งนี้กลับทำให้ได้เห็นและได้ข้อคิดอันเป็นประโยชน์ถึงความจริงบางส่วนที่ว่า การจะเข้าไปข้องแวะกับเรื่องใดๆก็ตามที่ทางการจีนมองว่ามีความอ่อนไหวทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย และแน่นอนว่าชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนก็หนีไม่พ้นความจริง ข้อนี้เช่นเดียวกัน
ผู้เขียนจึงได้ข้อสรุปพื้นฐานประการหนึ่งว่าแม้รัฐบาลจะมีนโยบายประนีประนอมกับชนกลุ่มน้อยในซินเจียงอยู่บางประการ แต่ประชาชนไม่ว่าจะชนกลุ่มน้อยหรือชนกลุ่มใหญ่ก็ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองให้ได้แสดงออก โดยยังคงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมในมิติของศาสนาอยู่มาก การจะนำบทเรียนจากซินเจียงมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยเราจึงสามารถหยิบยกมาได้เฉพาะในบางประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างสันติสุขอย่างแท้จริงเท่านั้น
2. เรียงร้อยเรื่องราวจากเจ้าของพื้นที่
เมื่อมิได้รับฟังการบรรยายสรุปจากทางการจีน ทางคณะนักศึกษาฯจึงเกิดความใคร่รู้มากยิ่งขึ้นถึงสถานภาพของชาวอุยกูร์ในซินเจียง โดยพยายามที่จะพูดคุยสื่อสารกับผู้คนที่พบเจอตามท้องถนนหรือตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าในตลาดถนนคนเดินช่วงกลางคืน ตลาดขายสินค้าพื้นเมือง ต้าปาจาร์ ครูชาวอุยกูร์ นักข่าวชาวอุยกูร์ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยในปักกิ่ง และมัคคุเทศก์ท้องถิ่นและคนขับรถที่เป็นชาวฮั่น เป็นต้น ประกอบกับการสังเกตวิถีชีวิตและสภาพของบ้านเมือง อีกทั้งยังได้ความอนุเคราะห์จากดร.เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ กงสุลประจำนครเฉิงตูที่กรุณาบรรยายสรุปถึงแนวทางการดูแลชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลจีนด้วย ซึ่งก็ทำให้เห็นภาพความเป็นจริงได้ชัดเจนมากขึ้น
3. รู้จักซินเจียง: ใจกลางแห่งทางสายไหม
เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uyghur Autonomous Region) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งหากเปรียบแผนที่ประเทศจีนเป็นรูปไก่ ซินเจียงก็จะอยู่ตรงบริเวณหางของตัวไก่พอดี โดยมีพื้นที่ 1,660,000 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นเขตปกครองที่ใหญ่ที่สุดของจีน ครอบคลุมอาณาบริเวณประมาณ 1 ใน 6 ของพื้นที่ทั้งประเทศ อันมีเมืองอูรูมู่ฉีเป็นเมืองเอกซินเจียงได้รับการก่อตั้งเป็นเขตปกครองตนเองระดับมณฑลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2498
ซินเจียงมีประชากรจำนวน 19,630,000 คน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่คือ ชาวอุยกูร์ซึ่งมีเชื้อสายเติร์กนับถือศาสนาอิสลามประมาณ 8.7 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 45 รองลงมาคือชาวจีนฮั่นประมาณ 7.6 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 41 ลำดับที่สามคือชาวคาซัค (ฮาซาเค่อ) ประมาณ 1.3 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 7 ตามมาด้วยชาวหุย คีร์กีซ มองโกล ซีบอ และทาจิคตามลำดับ (Xinjiang Uyghur Autonomous Region, 2004, p.48-49) เมื่อพิจารณาจากตัวเลขของกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ถือได้ว่ามีนัยสำคัญในเชิงการเมืองและวัฒนธรรม คือเป็นเขตปกครองที่มีชนกลุ่มน้อยมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ รวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 59 ซึ่งมากกว่าชนกลุ่มใหญ่ของประเทศคือจีนฮั่นที่มีจำนวนเพียงร้อยละ 41 ในพื้นที่
ในอดีตเมื่อกว่า 1,400 ร้อยปีก่อน ซินเจียงตั้งอยู่บนใจกลางของเส้นทางสายไหมและถูกใช้เป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถังกับประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีระยะทาง 6,440 กิโลเมตรแผ่ยาวไปจนถึงอาณาจักรโรมัน โดยกำหนดให้เมืองอูรูมู่ฉีเป็นเมืองหน้าด่านเก็บภาษี (สมชาย, มปป.)
จากที่ตั้งและอาณาเขตของซินเจียงนั้น จะเห็นได้ว่าซินเจียงเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง เนื่องจากมีพรมแดนที่ติดต่อกับ 8 ประเทศ คือคาซัคสถาน รัสเซีย มองโกเลีย อินเดีย ปากีสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอัฟกานิสถาน เชื่อมประสานกับทั้ง 4 อารยธรรมคือจีน อินเดีย อิสลาม และกรีกโรมัน
ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี ซินเจียงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก สะท้อนให้เห็นจากการมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่รวมกันถึง 47 ชนเผ่า โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่เก่าแก่มากที่สุด 13 ชนเผ่า คืออุยกูร์ ฮั่น คาซัค หุย คีร์กิซ มองโกล ซีบอ แมนจู อุซเบค รัสเซียน ตะอูร ทาจิค และตาตาร์ โดยที่กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและสามารถพูดได้สองภาษาคือ ภาษาจีนและภาษาแม่ของตนเอง (International Culture Association of Xinjiang Uyghur Autonomous Region, 2008, p.15)
ในส่วนของวิถีชีวิตชาวอุยกูร์นั้น โดยพื้นฐานจะเป็นคนร่าเริงสนุกสนาน เครื่องแต่งกายพื้นเมืองจะเป็นเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่มีสีสันสะดุดตา นิยมการร้องรำทำเพลงด้วยเครื่องดนตรีหลายชนิดทั้งเครื่องสายและเครื่องเคาะ ซึ่งการแสดงทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของที่นี่คือการเต้นระบำซินเจียง จนซินเจียงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเพลงและการเริงระบำ (International Culture Association of Xinjiang Uyghur Autonomous Region, 2008, p.96) ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแม้คนอุยกูร์จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ด้วยลักษณะเด่นทางชาติพันธุ์อุยกูร์ก็ทำให้มีวิถีชีวิตที่โดดเด่นในด้านการร้องรำทำเพลงจนเป็นข้อสังเกตประการหนึ่งว่า อัตลักษณ์ในส่วนของศาสนาอิสลามของคนอุยกูร์มิได้มีความเข้มข้นมากเท่ากับในส่วนของชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเติร์ก
4. ภาพรวมพัฒนาการของนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในซินเจียงของจีนในอดีต
ส่งขุนนางส่วนกลางที่ถูกลงโทษไปปกครอง
เมื่อกว่าพันปีที่แล้ว ซินเจียงเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในยุคของการค้าขายบนเส้นทางสายไหม และศาสนาอิสลามก็ได้เข้ามาสู่พื้นที่ซึ่งเคยเป็นเมืองพุทธแห่งนี้ผ่านพ่อค้ามุสลิมตั้งแต่คริสตวรรษที่ 9 จนที่สุดแล้วได้กลายเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมอิสลามในแถบนี้ โดยสุลต่านของนครต่างๆโดยรอบได้เรียกขานดินแดนแห่งนี้ว่า “เตอร์กิสถานตะวันออก” และต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนในสมัยราชวงศ์หมิงช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งในช่วงยุคสมัยนี้ คนฮั่นกับอุยกูร์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติจากนโยบายของจักรพรรดิจีนที่ให้คนอุยกูร์ปกครองกันเองและให้เสรีภาพเต็มที่ในการนับถือศาสนา (จันทร์จุฑาและศุภชัย, 2553, น.1)
แต่เมื่อผลัดเปลี่ยนยุคสมัยสู่ราชวงศ์ชิง ทางจักรพรรดิจีนกลับมีนโยบายส่งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครองซินเจียงแทนการให้คนท้องถิ่นปกครองกันเองดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการกระชับอำนาจเพื่อป้องกันการแผ่ขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียต แต่ขุนนางที่ส่งไปปกครองกลับเป็นผู้ที่ถูกลงโทษให้มาประจำในดินแดนที่ห่างไกลจากศูนย์กลาง และได้สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวอุยกูร์จำนวนมาก ทำให้เกิดการต่อต้านจากคนในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจีนเองก็ตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างเด็ดขาด ก่อเกิดวงจรความเกลียดชังและบาดแผลทางจิตใจระหว่างคนฮั่นกับคนอุยกูร์ที่สะสมมากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป อารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองจึงกลับกลายเป็นสิ่งแปลกแยกจากอารยธรรมจีนไปในที่สุด (จันทร์จุฑาและศุภชัย, 2553, น.2)
กวาดล้างปราบปรามเด็ดขาด
ในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองของจีนจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐโดยพรรคก๊กมินตั๋งนั้น ชนกลุ่มน้อยในซินเจียงนำโดยชาวอุยกูร์ คาซัค และมองโกลได้ถือโอกาสประกาศตนเป็นอิสระโดยจัดตั้ง “สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก” ขึ้นในปี 2487 (Human Rights Watch, 2005, p.11) ต่อมาภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์โค่นล้มพรรคก๊กมินตั๋งและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2492 ทางการจีนได้จับกุมและประหารชีวิตผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในอีก 3 ปีถัดมา ตลอดจนทำลายมัสยิด ห้ามดำเนินกิจกรรมทางศาสนา และสังหารคนมุสลิมที่ต่อต้านรัฐไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งนโยบายปราบปรามเหล่านี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความสงบเรียบร้อยตามที่รัฐบาลต้องการ จนต้องลดแรงเสียดทานด้วยการประกาศให้ซินเจียงเป็นเขตปกครองตนเองในปี 2498 แต่กระนั้นก็ยังคงยึดแนวทางการปราบปรามอยู่ดังเดิม ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างไปจากเดิมเช่นเดียวกัน (จันทร์จุฑาและศุภชัย, 2553, น.5)
กลืนกลายทางวัฒนธรรม
นอกจากนโยบายปราบปรามชาวอุยกูร์ที่ต่อต้านรัฐให้สิ้นซากแล้ว รัฐบาลจีนยังได้เคยใช้นโยบายที่พยายามผสมผสานกลืนกลาย (Assimilate) คนอุยกูร์ทั่วไปให้กลายเป็นจีนด้วยการห้ามไม่ให้ใช้ภาษาอุยกูร์ ห้ามเล่าเรียนศาสนาอิสลามโดยการสั่งปิดมัสยิดกว่า 50 แห่งทั่วซินเจียง ห้ามไม่ให้สอนภาษาอุยกูร์ในระดับอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เผาทำลายตำราประวัติศาสตร์ในเมือง คาชการ์ (คาสือ) ที่เคยเป็นเมืองหลวงของเตอร์กิสถานตะวันออกเป็นจำนวนมาก เลือกปฏิบัติกับคน อุยกูร์ในการเข้ารับราชการ การจ้างงาน และการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโดยจะให้โอกาสคนฮั่นก่อนเสมอ ตลอดจนอพยพคนฮั่นจากพื้นที่อื่นๆให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพในซินเจียงเพื่อเพิ่มจำนวนคนฮั่นในพื้นที่ผ่านนโยบาย “มุ่งสู่ตะวันตก” ทำให้จำนวนประชากรฮั่นจากร้อยละ 6 ในปี 2492 พุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 41.5 ในปี 2519 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดยุคของเหมาเจ๋อตง (Human Rights Watch, 2005, p.11) โดยคนฮั่นที่ถูกบังคับให้อพยพไปนั้นต้องจำยอมต่อนโยบายของรัฐ แต่ก็จะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ รวมทั้งเงินทุนสนับสนุนในการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งเป็นการตอบแทน[1]
นโยบายการอพยพคนฮั่นสู่ซินเจียงนี้นับเป็นการเบียดขับคนอุยกูร์ให้ไปอยู่ชายขอบของสังคมจีนมากยิ่งขึ้น เสมือนเป็นการปฏิเสธอัตลักษณ์ของคนอุยกูร์ในทุกด้านทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมซึ่งได้สร้างบาดแผลทางจิตใจแก่ชาวอุยกูร์จำนวนมาก การถูกกดขี่จากความสัมพันธ์ทางดิ่งระหว่างภาครัฐกับประชาชนอุยกูร์นี้น่าจะมีผลทำให้ความสัมพันธ์ทางราบระหว่างคนฮั่นและคนอุยกูร์ในซินเจียงเลวร้ายลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ารัฐบาลจีนได้ตระหนักแล้วว่าการปราบปรามอย่างเด็ดขาดและการกดขี่ปิดกั้นไม่อาจจะนำมาซึ่งความสุขสงบในซินเจียงได้ ในภายหลังจึงได้มีการปรับเปลี่ยนท่าทีบางประการในการปกครองคนอุยกูร์โดยหันมาใช้การผ่อนปรนและประนีประนอมเพื่อให้คนสองชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันได้มากขึ้น (จันทร์จุฑาและศุภชัย, 2553, น.29-30) ด้วยการพยายามที่จะทำให้คนอุยกูร์รู้สึกว่าตนก็สามารถกินดีอยู่ดีได้ในสังคมจีน ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป
5. จากปราบปรามสู่ประนีประนอม
ให้สิทธิพิเศษเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจ
โดยทั่วไปแล้ว สถานะความเป็นอยู่ของคนอุยกูร์ยังต้องมีการพัฒนาอีกมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คนอุยกูร์ส่วนใหญ่ยังยากจน มีระดับการศึกษาต่ำ และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเมื่อเทียบกับคนฮั่น สังเกตได้จากข้อมูลตัวเลขช่วงอายุของชีวิต (Life Expectancy) ที่ทางการจีนได้สำรวจไว้เมื่อปี 1990 โดยระบุว่าช่วงอายุของชีวิตโดยเฉลี่ยของคนอุยกูร์จะน้อยกว่าของคนฮั่นอยู่ประมาณ 10 ปี (Human Rights Watch, 2005, p.12) ซึ่งรัฐบาลจีนก็ตระหนักดีถึงความไม่เสมอภาคดังกล่าว จึงได้ให้สิทธิพิเศษต่างๆแก่คนอุยกูร์เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจให้มีความทัดเทียมกับคนฮั่น ไม่ให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำกันมากจนเกินไป
สำหรับการสร้างโอกาสทางการศึกษานั้น โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลจะสนับสนุนการศึกษาสำหรับเด็กทุกคนให้เรียนฟรี 9 ปีจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่คนอุยกูร์จะได้รับสิทธิพิเศษนอกเหนือจากคนฮั่นในการสอบเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย คือได้รับคะแนนเพิ่มเติมเป็นพิเศษอีก 10 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เนื่องจากรัฐบาลตระหนักถึงระดับการศึกษาที่ค่อนข้างต่ำของคนอุยกูร์ จึงต้องการที่จะเร่งยกระดับการศึกษาให้เท่าเทียมกันกับคนฮั่น ซึ่งจากการที่ได้สอบถามมัคคุเทศก์หญิงชาวฮั่นที่เป็นคนซินเจียงโดยกำเนิดว่ารู้สึกอย่างไรกับนโยบายนี้ ก็ได้รับคำตอบว่าส่วนตัวเห็นด้วยกับการให้สิทธิพิเศษนี้ แม้จะมีเยาวชนฮั่นบางคนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมก็ตาม (สัมภาษณ์, 7 สิงหาคม 2553)
สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้น ครูชาวอุยกูร์จากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในซินเจียง (สัมภาษณ์, 9 สิงหาคม, 2553) ได้เล่าให้ฟังว่าครูในโรงเรียนส่วนใหญ่จะพูดได้สองภาษาคือจีนและอุยกูร์ แม้ว่าการเรียนการสอนจะใช้ภาษาจีนเป็นสื่อกลาง แต่บางครั้งครูในโรงเรียนก็สอนเป็นภาษาอุยกูร์ด้วยเนื่องจากนักเรียนอุยกูร์บางคนยังฟังภาษาจีนได้ไม่ถนัด ซึ่งทั้งเด็กฮั่นและอุยกูร์จะเรียนร่วมกันในโรงเรียนเดียวกัน ไม่ได้แยกกันเรียน แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีการเรียนการสอนภาษาอุยกูร์ในระดับ ประถมและมัธยมศึกษา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมก็ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นฮั่นหรืออุยกูร์สามารถพูดได้ทั้งสองภาษา จึงไม่ปรากฏว่ามีปัญหาทางภาษาในการสื่อสารระหว่างกัน
ทั้งนี้ นอกเหนือจากสิทธิพิเศษในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว สิทธิพิเศษทางสังคมอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลได้ให้กับคนอุยกูร์คือการอนุญาตให้มีบุตรได้มากกว่าคนฮั่น โดยแม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดให้คนมุสลิมอุยกูร์มีภรรยาได้เพียง 1 คนจากปกติที่คนมุสลิมจะสามารถมีภรรยาได้ 4 คนนั้น แต่รัฐบาลก็ผ่อนปรนโดยการอนุญาตให้คนอุยกูร์มีบุตรได้ 2 คนในกรณีที่อยู่ในเขตเมือง และ 4 คนในกรณีที่อยู่ในเขตชนบทเกษตรกรรม ในขณะที่คนฮั่นเองจะมีบุตรได้เพียง 1 คนต่อครอบครัวเท่านั้น (ครูชาวอุยกูร์, สัมภาษณ์ 9 สิงหาคม 2553) ซึ่งเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความต้องการที่จะประนีประนอมกับชาวอุยกูร์
ในส่วนของสภาพเศรษฐกิจของซินเจียงโดยทั่วไปแล้ว คนฮั่นจะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าคนอุยกูร์ นักธุรกิจใหญ่ในซินเจียงส่วนมากจะเป็นคนฮั่น ทั้งนี้ มิได้เป็นเพราะนโยบายที่ไม่เป็นธรรมหรือการกีดกันทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลจีนแต่อย่างใด (นักข่าวอุยกูร์, สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553) หากแต่เป็นเพราะว่าคนฮั่นมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าคนอุยกูร์อยู่แล้ว ทำให้สามารถต่อยอดจากต้นทุนเดิมของตนได้ง่ายกว่าโดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งดังเช่นคนอุยกูร์โดยทั่วไป
จากการสังเกตอาคารบ้านเรือนของชาวอุยกูร์ พบว่าหลายแห่งมีสภาพที่ทรุดโทรม และมีบางชุมชนที่ไม่ต่างไปจากสลัมบ้านเรา ดังจะเห็นได้จากภาพด้านบนว่าชุมชนอุยกูร์จะมีบ้านที่ทรุดโทรมหลังเล็กๆในระยะไกลออกไปในภาพ ส่วนคนฮั่นจะอาศัยอยู่ตามตึกสูงเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่างๆนั้น หากเป็นโฆษณาสินค้าใช้สอยประจำวันทั่วไปก็จะมีภาษาอุยกูร์กำกับอยู่ควบคู่กับภาษาจีน แต่หากเป็นโฆษณาสินค้าราคาแพง เช่น กระเป๋านำเข้า เสื้อผ้าแบรนด์เนม หรือคอนโดมีเนียมราคาสูง ก็จะมีเพียงภาษาจีนกำกับอยู่เท่านั้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะเป็นคนอุยกูร์ แต่กลุ่มคนที่กุมเศรษฐกิจกลับเป็นคนฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนน้อย
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมองว่าการที่คนอุยกูร์ต่อต้านรัฐบาลนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความยากจนดังกล่าว ประกอบกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของซินเจียงที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการเมืองและเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ พยายามสร้างรายได้และการจ้างงานให้คนอุยกูร์พ้นจากความยากจน ด้วยมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในเขตปกครองโดยการยกเว้นภาษีแก่ผู้ประกอบการเป็นเวลา 3 ปี อีกทั้งภาษีที่เก็บได้ในท้องถิ่นก็จะนำมาใช้พัฒนาภายในเขตปกครองต่อไป (นักข่าวอุยกูร์, สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553) ด้วยหวังว่าแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในพื้นที่จะทำให้คนอุยกูร์รู้สึกว่าตนเองได้ประโยชน์และพึงพอใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของจีนโดยไม่จำเป็นต้องแยกดินแดนอีกต่อไป ซึ่งนักศึกษาชาวหุยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทยได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ว่าเป็นนโยบายที่ดีและสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนในพื้นที่มาก (สัมภาษณ์ 17 สิงหาคม 2553)
ดร.เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ กงสุลประจำนครเฉิงตู[2] ได้กล่าวโดยภาพรวมถึงนโยบายของจีนในการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจภายในเขตปกครองตนเองระดับมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยเป็นคนส่วนใหญ่ทั้ง 5 แห่ง คือซินเจียงอุยกูร์ กว่างซี (กวางสี) มองโกเลียใน หนิงเซี่ย (หุย) และทิเบต ว่าจะเน้นการยกเว้นภาษี การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมให้ตัดเชื่อมอย่างทั่วถึงกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งได้ยกตัวอย่างถึงตัวเลข GDP ของเขตปกครองตนเองทิเบตในครึ่งปีแรกของปี 2553 ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 11.2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพันธ์ก็ได้ทิ้งประเด็นไว้ว่าแม้คนทิเบตจะกินดีอยู่ดี แต่เรื่องของอัตลักษณ์ความเป็นทิเบตก็ยังคงเป็นโจทย์ที่ต้องการคำตอบเพราะคนทิเบตมองว่าตนเองไม่ใช่คนจีน ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีนโยบายที่เหมาะสมในการบริหารความรู้สึกนี้ ความรู้สึกดังกล่าวที่หยั่งรากลึกในใจนี้อาจจะ “พร้อมปะทุขึ้นเมื่อจังหวะเวลามาถึง” ก็เป็นได้
มองคุณค่าวัฒนธรรมผ่านแว่นของมูลค่าเศรษฐกิจ
นอกจากการให้สิทธิพิเศษทางการศึกษาและเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลจีนยังมีนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยอันเป็นส่วนหนึ่งของการประนีประนอมในระดับหนึ่งด้วย ทั้งด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ และการฝึกอบรมอาชีพซึ่งต้องอาศัยทักษะที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย ตัวอย่างเช่น การเย็บปักถักร้อย การสร้างแบบเมืองและสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกลมกลืนกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นในอำเภอปกครองตนเองเชียงเป่ย ชวน ซึ่งเป็นชาวเชียงในมณฑลเสฉวน (เศรษฐพันธุ์, 2553ก, น.5) การรักษาโบราณสถานสำคัญและการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งศึกษาและรวบรวมวัฒนธรรมท้องถิ่นในกรณีของเขตปกครองตนเองทิเบต (เศรษฐพันธุ์, 2553ข, น.3) การเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยได้แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายในพิธีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพในปี 2551 หรือการส่งเสริมการแสดงระบำพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยในซินเจียง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าแม้การส่งเสริมวัฒนธรรมโดยรัฐบาลจีนตามตัวอย่างข้างต้นจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังเป็นเพียงการมองคุณค่าของวัฒนธรรมผ่านแว่นของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ทางการจีนได้ประโยชน์เชิงการท่องเที่ยวเป็นหลักใหญ่ กล่าวคือเป็นการมุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมในส่วนที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศได้เป็นหลัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ส่วนหนึ่งจากกรณีของชนเผ่าคาซัคในซินเจียงที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปทุ่งหญ้าหนานซางมู่ฉางซึ่งเป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ของซินเจียง ด้วยความหวังว่าจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชนเผ่าคาซัคแบบดั้งเดิมที่มักจะอาศัยอยู่ในกระโจมตามเนินเขาและเลี้ยงสัตว์กลางทุ่งหญ้า แต่เมื่อเดินทางไปถึง สิ่งที่ได้พบเห็นกลับเป็นรถไถดินพร้อมคนงานก่อสร้างจำนวนมากที่กำลังปรับสภาพทุ่งหญ้าดังกล่าวให้กลายเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของซินเจียง ส่วนกระโจมของชาวคาซัคที่อยากจะเห็นนั้น ได้ถูกทางการสั่งย้ายจากบนเขาให้มาอยู่ตรงพื้นราบเป็นหย่อมๆ แทนที่จะอนุรักษ์วิถีชีวิตของชนเผ่าเอาไว้ ในขณะที่บางกระโจมก็ตั้งอยู่บนลานคอนกรีตโดยตกแต่งใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมชม ซึ่งผู้เขียนและคณะนักศึกษาฯก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยไม่คาดฝัน
กรณีของชนเผ่าคาซัคนี้ สะท้อนให้เห็นได้ส่วนหนึ่งว่าหากต้องเลือกระหว่าง “การพัฒนา” และ “การอนุรักษ์วิถีชีวิต” รัฐบาลจีนกลับเลือกที่จะให้น้ำหนักกับมูลค่าทางเศรษฐกิจก่อนคุณค่าในการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวคาซัคในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ การส่งเสริมวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยตามนโยบายของรัฐบาลจีนโดยหลักใหญ่ใจความแล้ว ก็น่าจะเป็นไปเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการนำจุดเด่นทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมเปลือกนอกที่เกี่ยวข้องกับอาหาร สินค้า เครื่องประดับ การ แต่งกาย และการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นจุดขายเพื่อชูความเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งเฉพาะในเมืองอูรูมู่ฉีนี้ มีบริษัทท่องเที่ยวทั้งของจีนเองและของต่างชาติรวมกันถึง 426 บริษัท (วัสยศ, 2551)
อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าหากวัฒนธรรมส่วนใดที่ดูเหมือนจะไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงท่องเที่ยวในสายตาของรัฐบาลจีนแล้ว ก็อาจจะไม่ได้รับการส่งเสริมมากนัก คือการจำกัดพื้นที่การเรียนการสอนภาษาอุยกูร์และศาสนาอิสลาม โดยทางรัฐบาลกำหนดให้มีการสอนเพียงภาษาจีนและภาษาอังกฤษในโรงเรียนเท่านั้น ในขณะที่ภาษาอุยกูร์จะมีสอนเฉพาะในมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยซินเจียงเท่านั้น (ครูชาวอุยกูร์, สัมภาษณ์ 9 สิงหาคม 2553)
สำหรับศาสนาอิสลามซึ่งเป็นวิถีชีวิตชาวมุสลิมอุยกูร์ แม้รัฐบาลจะไม่ห้ามการประกอบศาสนกิจ แต่ก็ไม่อนุญาตให้มีการสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนโดยทั่วไป เว้นแต่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามของทางการจีนซึ่งมีอยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้นในเขตปกครองตนเองซินเจียง โดยเด็กจะเรียนศาสนาตามบ้านจากผู้ปกครองที่บ้านหรือจากผู้อาวุโสในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ หรือหากจะเรียนตามมัสยิดก็จะต้องเป็นบางมัสยิดที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าโต๊ะอิหม่ามจะต้องผ่านการอบรมจากภาครัฐก่อนด้วย (นักศึกษาชาวหุย, สัมภาษณ์ 17 สิงหาคม 2553) ในส่วนของกฎหมายนั้น ประเทศจีนจะไม่มีการใช้กฎหมายอิสลาม โดยจะใช้กฎหมายของจีนทั้งหมด รวมถึงเรื่องแพ่งว่าด้วยครอบครัวและมรดกด้วย ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการเมืองและศาสนาอิสลามในซินเจียงจะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด (นักข่าวชาวอุยกูร์, สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553) ทั้งที่โดยหลักแล้ว ศาสนาอิสลามจะครอบคลุมถึงทุกมิติของชีวิตไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมวัฒนธรรม จนเรียกได้ว่าเป็นวิถีอิสลาม ไม่อาจแยกส่วนใดส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตออกจากศาสนาอิสลามได้
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตคือเรื่องการคลุมฮิญาบในสถานที่ทำงานราชการ โดยทางคณะนักศึกษาฯได้มีโอกาสพูดคุยกับข้าราชการหญิงชาวอุยกูร์คนหนึ่งซึ่งมิได้คลุมฮิญาบระหว่างที่กำลังขายสินค้าในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง คำตอบที่ได้รับคือทางรัฐบาลไม่อนุญาตให้คลุมผมระหว่างปฏิบัติงาน แต่เมื่อไปสอบถามกับนักข่าวชาวอุยกูร์ก็ได้รับคำตอบว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ห้ามสิทธิส่วนบุคคลข้อนี้ และให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าอาจจะเป็นข้ออ้างของผู้หญิงคนนี้ที่นิยมวัฒนธรรมตะวันตกแล้วไม่ต้องการจะคลุมผมก็เป็นได้ (สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553) ทำให้สุดท้ายแล้วผู้เขียนก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้
ป้ายบอกทางในซินเจียง – บอกที่ยืนของคนอุยกูร์ในสังคมจีน
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะไม่อนุญาตให้สอนภาษาอุยกูร์ในโรงเรียน แต่ทางการจีนกลับอนุญาตให้ใช้ภาษาอุยกูร์กำกับบนป้ายของทางราชการได้ กล่าวคือได้กำหนดให้ป้ายจราจร ป้ายบอกทาง และป้ายสถานที่ต่างๆของทางราชการมีภาษาอุยกูร์อยู่ควบคู่กับภาษาจีนด้วย โดยภาษาอุยกูร์ซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรอาหรับจะวางอยู่แถวบนเหนือภาษาจีนซึ่งอยู่แถวที่สอง ซึ่งนักศึกษาชาวหุย (สัมภาษณ์ 17 สิงหาคม 2553) ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่ดี “ถ้าพื้นที่ไหนมีคนท้องถิ่นที่มีภาษาและตัวอักษรของตัวเองอยู่เยอะ ทางภาครัฐก็น่าจะอนุญาตให้ใช้ป้ายราชการที่มีภาษานั้นๆได้”
ในเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจหากพิจารณาว่ารัฐบาลจีนซึ่งยังคงจำกัดเสรีภาพทางการเมืองและศาสนาอยู่มาก ตลอดจนมีความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อประเด็นความมั่นคง กลับยินยอมที่จะให้มีภาษาอุยกูร์กำกับอยู่บนป้ายของราชการได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่ารัฐบาลมิได้มองเรื่องภาษาบนป้ายราชการนี้ว่าเป็นประเด็นทางการเมืองและความมั่นคงที่จะยกระดับความรู้สึกแบ่งแยก แต่มองว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่า และที่สำคัญคืออาจมองว่านโยบายดังกล่าวน่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศจีนในสายตาของผู้พบเห็นได้ว่า จีนมีรูปธรรมที่จับต้องได้ของการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย ซึ่งในเชิงสัญลักษณ์แล้วได้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยอมรับคนอุยกูร์ว่าเป็นคนส่วนใหญ่ในซินเจียงและที่สำคัญคือยอมรับว่าพื้นที่นี้เป็นบ้านของเขาจึงอำนวยความสะดวกโดยให้ใช้ภาษาของตนเองได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ป้ายจราจรและป้ายบอกสถานที่ราชการต่างๆในซินเจียง จึงไม่ได้เป็นเพียงป้ายที่บอกทางปกติธรรมดาเท่านั้น หากแต่เป็นป้ายที่บอกตำแหน่งแห่งที่ของคนอุยกูร์ในสังคมจีนที่ส่งผลในทางจิตวิทยาต่อคนอุยกูร์ให้เห็นประจักษ์กับตาด้วยว่า กลุ่มของตนมีที่ยืน มีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจีน
นอกจากป้ายของทางราชการที่ใช้ภาษาอุยกูร์แล้ว ในส่วนของสถานีโทรทัศน์ก็มีช่องที่เป็นภาษาอุยกูร์ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศในเขตปกครองตนเองซินเจียงนั้นมีทั้งหมด 30 ช่อง โดยเป็นสถานีท้องถิ่น คือ XJTV จำนวน 12 ช่อง ในจำนวนนี้จะเป็นภาษาจีน 7 ช่อง และภาษา อุยกูร์ 5 ช่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นจะเป็นช่องที่ออกอากาศเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์ตลอดทั้งวัน
กำหนดให้คนอุยกูร์เป็นประธานเขตปกครองตนเอง
อีกรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลจีนยอมรับชาวอุยกูร์ว่าเป็นคนส่วนใหญ่ในซินเจียงและยอมรับว่าพื้นที่นี้เป็นบ้านของเขา คือ โครงสร้างการเมืองการปกครองซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธาน (Chairman) เขตปกครองตนเองจะต้องเป็นคนอุยกูร์เท่านั้น เช่นเดียวกับอีก 4 เขตปกครองตนเองระดับมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ก็ได้กำหนดให้ประธานเขตปกครองตนเองจะต้องมาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง และในขณะเดียวกันก็ระบุให้คนฮั่นดำรงตำแหน่งรองประธานเพื่อเป็นหลักประกันในเชิงสัญลักษณ์สำหรับคนฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ว่ากลุ่มของตนจะไม่ถูกละเลยด้วย ในขณะที่ผู้นำมณฑลอื่นๆของประเทศจะเป็นคนที่ถูกส่งไปจากส่วนกลาง (มัคคุเทศก์หญิงชาวฮั่น, สัมภาษณ์, 7 สิงหาคม 2553) ทั้งนี้ ประธานเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์สามารถออกกฎระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจได้ในแง่ของการกำหนดสิทธิพิเศษในการลงทุน การตั้งโรงงาน ตลอดจนการเก็บภาษีเพื่อใช้ในท้องถิ่นด้วย (นักข่าวชาวอุยกูร์, สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553)
อนึ่ง สำหรับกลไกที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อยึดโยงอำนาจระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นนั้น คือ การกำหนดให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานต้องเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ตลอดจนต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลอีกด้วย[3] โดยรัฐบาลจะเป็นผู้คัดเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ทางท้องถิ่นเป็นผู้ส่งไป (นักข่าวชาวอุยกูร์, สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553) อีกทั้งยังให้อำนาจเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเป็นผู้กำกับดูแลการบริหารงานด้วย (สมชาย, มปป.)
การระบุให้ผู้นำต้องเป็นคนมาจากท้องถิ่นเท่านั้นถือเป็นผลดีในแง่ของการส่งสัญญาณในเชิงสัญลักษณ์ว่าคนพื้นที่ส่วนใหญ่ได้มีตัวแทนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับตนอยู่ในระบบการเมืองในฐานะผู้นำเขตปกครองตนเอง โครงสร้างทางการปกครองลักษณะนี้จึงถูกออกแบบมาเพื่อลดแรงเสียดทานจากท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผ่อนปรนของรัฐบาลจีน ถึงแม้ว่าซินเจียงจะมิได้มีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระและยังดูห่างไกลจากความหมายของเขตปกครองตนเองตามแบบฉบับตะวันตกก็ตาม
6. อุยกูร์ – ฮั่น: ไม่ต้องรักใคร่สามัคคี แต่ก็อยู่ร่วมกันได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่าสถานการณ์ในซินเจียงจะดีขึ้นตามลำดับจากการปรับเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลจีนต่อชาวอุยกูร์ซึ่งทำให้คนสองชาติพันธุ์นี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ตามที่ได้กล่าวไป แต่เนื่องจากความ ทรงจำที่เป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์มายาวนาน ก็ส่งผลให้การอยู่ร่วมกันดังกล่าวเป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่รักใคร่สามัคคีกันแต่อย่างใด ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นฟูเยียวยา
โดยลึกๆแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ยังมีอคติต่อกันอยู่ ทางคนฮั่นเองก็มองว่าคนอุยกูร์ไร้การศึกษาและยากจน ในขณะที่คนอุยกูร์ก็รู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองชั้นสองในสายตาของคนฮั่น (มัคคุเทศก์ชายชาวฮั่น, สัมภาษณ์ 9 สิงหาคม 2553) ซึ่งนักข่าวชาวอุยกูร์ (สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553) ก็มีความเห็นตรงกันว่า ต่างฝ่ายต่างก็มีความรู้สึกไม่ยอมรับกันอยู่ลึกๆ คล้ายกับมีบาดแผลในใจ เวลาขึ้นรถประจำทางก็จะนั่งแยกกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกันและกัน “ต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนา ต่างฝ่ายต่างก็เคยชินในแบบของตน มันก็ยากหน่อย ต้องใช้เวลา”
ผู้เขียนเองก็สังเกตเห็นเช่นเดียวกันว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจร่วมกันมากนัก ดังเช่นตัวอย่างหนึ่งจากสวนหงซานซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะใหญ่ในเมืองอูรูมู่ฉี ผู้ที่เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะนี้ก็เป็นคนฮั่นเกือบทั้งหมด กิจกรรมกลุ่มต่างๆภายในสวนก็มีแต่กลุ่มของคนฮั่น เท่าที่เห็นมีเพียงวัยรุ่นอุยกูร์กลุ่มหนึ่งประมาณ 4-5 คนนั่งจับกลุ่มคุยกันแยกออกมาอยู่ข้างทางเท่านั้น
อีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความหวาดระแวงระหว่างกันของคนอุยกูร์และคนฮั่นคือเมื่อครูชาวอุยกูร์ได้ขึ้นมาพูดคุยกับทางคณะนักศึกษาฯบนรถบัสซึ่งมีคนฮั่นเป็นผู้ขับนั้น ตอนแรกก็นั่งอยู่เก้าอี้ข้างหน้ารถ คุยไปคุยมาก็สังเกตเห็นว่าคนขับรถมองผ่านกระจกมองหลังมาเป็นระยะด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตรเท่าไรนัก จนกระทั่งครูผู้นี้ต้องขอย้ายไปพูดคุยที่หลังรถเพื่อเลี่ยงบรรยากาศที่น่าอึดอัดนั้น
อย่างไรก็ตาม นักข่าวชาวอุยกูร์ได้สะท้อนให้แก่คณะนักศึกษาฯฟังว่าหลังเหตุการณ์จลาจลเมื่อปีที่แล้ว ในภาพรวมทั้งสองฝ่ายต่างก็เริ่มตระหนักและสำนึกได้แล้วว่าความรุนแรงไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใดทั้งสิ้น รังแต่จะสร้างความสูญเสียทั้งร่างกายและจิตใจสำหรับทุกฝ่าย เมื่อประกอบกับการที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แก่ทุกฝ่าย ก็ทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งนักข่าวผู้นี้มองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าขายและการประกอบอาชีพ คือการเยียวยาบาดแผลทางจิตใจ (สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553)
โดยหลังเกิดเหตุการณ์ รัฐบาลจีนได้เร่งทำความเข้าใจกับผู้นำของทั้งสองชุมชนในทุกระดับถึงความพยายามในการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของรัฐบาล และประกาศอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของรัฐบาลคือการสร้างความปรองดอง พร้อมกับสื่อสารกับสังคมโดยรวมว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ขอให้งดใช้คำพูดในลักษณะที่ดูถูกเหยียดหยามกันอันจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน ขอให้ให้เกียรติกันและกันมากขึ้น และที่น่าสนใจคือ รัฐบาลได้ย้ำข้อความที่ว่า “เราไม่สามารถอยู่โดยปราศจากชนกลุ่มน้อยได้ และชนกลุ่มน้อยก็ไม่สามารถอยู่โดยปราศจากเราได้ ต่างคนต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน จะแยกขาดจากกันไม่ได้” ข้อความต่างๆเหล่านี้ถูกสื่อสารผ่านใบปลิวและการประกาศย้ำผ่านสื่อต่างๆอย่างทั่วถึง ซึ่งมีส่วนทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ (นักข่าวชาวอุยกูร์, สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553) มาตรการทางความรู้สึกเหล่านี้เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ส่งดีต่อสภาพจิตใจของคนอุยกูร์และเป็นการสื่อสารถึงคนฮั่นให้เกิดความเข้าใจไปพร้อมกันด้วย
7. สรุปบทเรียนจากซินเจียงกับแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบของรัฐบาลจีน
1. โดยภาพรวมของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในซินเจียงในปัจจุบัน สามารถสรุปได้ว่ารัฐบาลจีนพยายามสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างคนอุยกูร์กับคนฮั่น ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยโดยเน้นไปที่มิติทางเศรษฐกิจเชิงท่องเที่ยว ซึ่งอย่างน้อยก็สามารถทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆรู้สึกว่าตนสามารถแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ที่แตกต่างผ่านกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่ และภูมิใจที่กลุ่มชาติพันธุ์ของตนได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์ประกอบเด่นประการหนึ่งของสังคมพหุวัฒนธรรมจีน โดยทั้งหมดนี้ ก็เพื่อทำให้คนอุยกูร์รู้สึกว่าการอยู่กับประเทศจีนจะทำให้กลุ่มของตนมีความอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าการแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระ
2. ทั้งนี้ แม้พื้นที่ทางการเมืองจะยังคงถูกปิดอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งผู้ที่ต่อต้านรัฐหรือมีความเห็นแตกต่างทางการเมืองจะถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาด แต่รัฐบาลก็ออกแบบโครงสร้างทางการบริหารปกครองที่กำหนดให้ผู้นำท้องถิ่นต้องมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นั้นๆ แทนที่จะเป็นคนจากส่วนกลางเหมือนในมณฑลอื่นๆ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้งซึ่งอย่างน้อยในเชิงสัญลักษณ์ก็ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของคนอุยกูร์ในระบบการเมืองได้ระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้คนฮั่นดำรงตำแหน่งรองประธานเพื่อเป็นหลักประกันในเชิงสัญลักษณ์สำหรับคนฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ว่ากลุ่มตนก็ไม่ได้ถูกละเลยด้วย
3. กว่าที่จีนซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์จะมีแนวทางดังเช่นในปัจจุบันนี้ได้ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ผ่านยุคสมัยต่างๆมากว่า 40 ปี จากการปิดกั้นในทุกมิติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ใช้การปราบปรามอย่างเด็ดขาด ส่งคนฮั่นจากส่วนกลางไปปกครองโดยขาดความเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น จนถึงการพยายามกลืนกลายทางวัฒนธรรม แต่รัฐบาลจีนก็ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่าการกดทับกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ จึงได้หันมาใช้แนวทางประนีประนอมโดยเริ่มเปิดพื้นที่ให้ทางสังคมวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่
4. การอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม หรือความคิดความเชื่อ อาจจะไม่ต้องเป็นไปในทางโรแมนติกคือรักใคร่และสามัคคีกลมเกลียวกันก็ได้ หากแต่เพียงยอมรับ ให้เกียรติ และเข้าใจในความแตกต่างของกันและกันก็น่าจะเพียงพอแล้ว จากกรณีของซินเจียงก็จะเห็นได้ว่าคนฮั่นกับคนอุยกูร์ไม่ได้รักใคร่กลมเกลียวกันแต่อย่างใด เพราะบาดแผลทางประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางอัตลักษณ์ทั้งชาติพันธุ์และศาสนา แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยปราศจากความรุนแรง ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ยอมรับได้
5. นักข่าวชาวอุยกูร์กล่าวว่า “ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะแตกต่างหลากหลายกันเพียงใด ต่างก็ต้องการความเสมอภาค ความสงบสุข และสภาวะแวดล้อมที่ดีด้วยกันทั้งสิ้น หากไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรม ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่จำเป็นต้องไปแบ่งแยกดินแดน” (สัมภาษณ์, 8 สิงหาคม 2553) แน่นอนว่าคำกล่าวนี้เป็นความจริง สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันไป จะต้องหาคำตอบให้ได้ก็คือ อะไรคือความยุติธรรมในความรู้สึกของแต่ละฝ่าย ทำอย่างไรที่จะให้คนกลุ่มต่างๆในพื้นที่หนึ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีประเด็นสำคัญใดบ้างที่จะต้องพิจารณาร่วมกันเพื่อสนองตอบต่อทั้งเหตุผล (ความคิด) และความรู้สึก (จิตใจ) รวมทั้งค้นหาจุดลงตัวที่จะประนีประนอมกันได้ในที่สุด ซึ่งตราบใดที่ทุกกลุ่มรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมแล้ว ตราบนั้นก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าจะบนผืนแผ่นดินของใครก็ตาม
6. ซินเจียงโมเดลนี้เป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ของการเรียนรู้วิธีการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นตัวแบบที่ดีสำหรับกรณีใดกรณีหนึ่งไปเสียทั้งหมด และแน่นอนว่าการจะนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยคงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอย่างรอบคอบด้วย เนื่องจากความขัดแย้งในแต่ละกรณีก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และบริบททางการเมืองและสังคมวัฒนธรรม
7. อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะพิจารณานำแนวทางปฏิบัติในส่วนที่เป็นข้อดีของซินเจียงมาประยุกต์ใช้กับกรณีของไทยได้ เนื่องจากพื้นที่ทั้งสองต่างก็มีลักษณะพิเศษบางประการที่ใกล้เคียงกันแม้จะมีบริบททางการเมืองที่แตกต่างกันก็ตาม ซึ่งในความจริงแล้ว ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐของไทยก็ได้ดำเนินการไปมากมายหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทุ่มเทงบประมาณแผ่นดินไปกว่าหมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษด้วยคือเรื่องของอัตลักษณ์มลายูมุสลิม โจทย์สำคัญคือถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐไทยจะต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองเรื่องอัตลักษณ์ดังกล่าวโดยที่คนมลายูมุสลิมสามารถจับต้องได้ (โดยในกรณีของซินเจียงนี้คือป้ายของทางราชการและโครงสร้างทางการปกครอง) ซึ่งควรต้องเป็นมาตรการที่ก้าวไปไกลกว่าการให้เสรีภาพในการดำเนินชีวิตประจำวัน อันเป็นเพียงแค่นโยบายปกติทั่วไปของสังคมประชาธิปไตยที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
คมชัดลึก (2552). จีนขู่ประหารตัวการก่อจลาจลซินเจียง. [Online] 1 สิงหาคม 2553. แหล่งที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20090710/19981.html
จันทร์จุฑา สุขขี และศุภชัย วรรณเลิศสกุล (2553). อุยกูร์-ซินเจียง: ชนชาวมุสลิมในจีน. (บก.) สุรชาติ บำรงุสุข. จุลสารความมั่นคงศึกษา, 75. น.1-41.
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ (2552). มองผ่านเหตุจลาจลในซินเกียง...ความเหมือนในความต่างกับชายแดนใต้ของไทย. [Online] 1 สิงหาคม 2553. แหล่งที่มา http://www.isranews.org/cms/index.php? option=com_content&task=view&id=4764&Itemid=86
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ (2551). บทเรียนจากซินเจียง. [Online] 1 สิงหาคม 2553. แหล่งที่มา http:// www.onopen.com/2008/01/3319
เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ (2553ก). กรณีเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยในมณฑลเสฉวนกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลจีน. เอกสารประกอบการบรรยายสรุป “แนวทางการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลจีน” วันพุธที่ 4 สิงหาคม 2553 ณ สถานกงสุลใหญ่ประจำนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน
เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ (2553ข). ปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวทิเบตในจีน. เอกสารประกอบการบรรยายสรุป “แนวทางการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลจีน” วันพุธที่ 4 สิงหาคม 2553 ณ สถานกงสุลใหญ่ประจำนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน
ภาษาอังกฤษ
Human Rights Watch (2005). Devastating Blows: Religious Repression of Uighurs in Xinjiang. Vol 17. No.2(c). [Online] 14 สิงหาคม 2553. แหล่งที่มา http://www.hrw.org/en/node/11799/ section/4
International Culture Association of Xinjiang Uyghur Autonomous Region (2008). Xinjiang. Urumqi: Xinjiang Fine Arts and Photography Publishing House.
Xinjiang Uyghur Autonomous Region (2004). Xinjiang Tourism. Hong Kong: Hong Kong China Tourism Press.
การสัมภาษณ์
1. ครูชาวอุยกูร์จากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเมืองอูรูมู่ฉี วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2553 ณ เมืองอูรูมู่ฉี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
2. นักข่าวชาวอุยกูร์ วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2553 ณ เมืองสือเหอจือ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
3. นักศึกษาชาวหุยที่มาศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย วันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2553 ณ จังหวัดยะลา
4. มัคคุเทศก์ชาวฮั่น (หญิง) วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2553 ณ เมืองถูลู่ฟาน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
5. มัคคุเทศก์ชาวฮั่น (ชาย) วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2553 ณ เมืองอูรูมู่ฉี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
[1]จากการรับฟังบรรยายสรุป “นโยบายการดูแลชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลจีน” โดยดร.เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ กงสุลประจำนครเฉิงตู เมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2553 ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน
[2]จากการรับฟังบรรยายสรุป “นโยบายการดูแลชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลจีน” โดยดร.เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ กงสุลประจำนครเฉิงตู เมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2553 ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน
[3]จากการรับฟังบรรยายสรุป “นโยบายการดูแลชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลจีน” โดยดร.เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ กงสุลประจำนครเฉิงตู เมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2553 ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน