Skip to main content

กิ่งอ้อ เล่าฮง, ปกรณ์ พึ่งเนตร

ปรากฏการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มัสยิดกลางปัตตานี เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีเพียงมิติของการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่แต่เพียงด้านเดียว

ทว่าการเคลื่อนไหวในแง่ของ "พลังมวลชน" ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งใหม่อีกด้วย

รายงานลับจากหน่วยข่าวของรัฐบาล ยืนยันว่า การชุมนุมของนักศึกษาที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีมีกลุ่มเอ็นจีโอกับนักวิชาการมุสลิมบางส่วนอยู่เบื้องหลัง และมีวาระเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองของกลุ่มตนโดยผ่านการขับเคลื่อนของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์รุนแรงหลายๆ เหตุการณ์ที่ประชาชนสงสัยว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นผลผลิตของการชุมนุมครั้งดังกล่าว โดยมีเป้าหมายปลายทางคือการประกาศตั้ง "พรรคการเมือง" ที่เป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ

ข้อมูลจากหน่วยข่าวชัดเจนถึงขั้นที่ว่า เอ็นจีโอและนักวิชาการมุสลิมกลุ่มนี้บรรลุข้อตกลงในการตั้งพรรคการเมืองใหม่แล้ว โดยมีการหารือกันในสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังในพื้นที่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มีการชุมนุมกันอยู่นั่นเอง

หน่วยข่าวของรัฐบาลวิเคราะห์ว่า การเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอและนักวิชาการมุสลิมกลุ่มดังกล่าว เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบในการสร้างคะแนนนิยมในช่วงจังหวะที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เคยครองเก้าอี้ผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สามารถจัดกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะติดประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน ทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเก่าที่เคยเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่นั้น กำลังถูกปฏิเสธจากประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะแชมป์เก่าในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 อย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" มีภาพความใกล้ชิดกับฝ่ายทหาร คือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ขณะที่ "กลุ่มวาดะห์" ศูนย์รวมของนักการเมืองมุสลิม ก็ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์มาแล้ว มิหนำซ้ำยังมีชนักติดหลังในฐานะที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคไทยรักไทย ซึ่งอดีตผู้นำพรรคอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อว่าทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงและสุกงอมอย่างที่สุดในวันนี้

ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังที่ไล่เรียงมา ทำให้หน่วยข่าวฟันธงว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ช่วงปลายปีนี้มีช่องว่างสำหรับการแจ้งเกิดของ "พรรคการเมืองใหม่" ที่เป็นพรรคของคนในท้องถิ่นจริงๆ (ซึ่งหาจังหวะจะก่อตั้งมาหลายครั้งแล้ว) และจะมีพรรคการเมืองใหม่ก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งเพื่อช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.จากขั้วการเมืองเก่าแน่นอน

ยิ่งล่าสุดรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกาศชัดในเรื่องการผลักดันยุทธศาสตร์ "การเมืองดับไฟใต้" ด้วยการไฟเขียวให้เกิด "การปกครองรูปแบบพิเศษ" ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนเหมือนกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา รวมทั้งจะเดินหน้าเปิดการเจรจากับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบด้วยแล้ว ยิ่งทำให้กลุ่มการเมืองในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวคึกคักมากเป็นพิเศษ ทั้งในแง่นโยบายและชูประเด็นการใช้ "วิถีทางการเมือง" ในการจัดการปัญหาภาคใต้

ถอดรหัส "พรรคใหม่"

จากการตรวจสอบของพบว่า มีเอ็นจีโอและปัญญาชนมุสลิมกลุ่มหนึ่งกำลังฟอร์มทีมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่จริง ภายใต้ชื่อ "กลุ่มยุติธรรม" โดยมี พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อดีตนายตำรวจที่ปัจจุบันทำงานในนามมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ โดยเขาคือน้องชายของ พล.อ.ณรงค์ เด่นอุดม อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากพี่น้องมุสลิมในพื้นที่

พล.ต.ต.จำรูญ ยอมรับว่า ขณะนี้มีกลุ่มเอ็นจีโอและปัญญาชนมุสลิมประมาณ 20 คน ตั้งกลุ่มการเมืองที่ชื่อ "กลุ่มยุติธรรม" ขึ้น เพื่อเตรียมจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองในชื่อเดียวกันนี้เมื่อรัฐบาลปลดล็อกประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 เรียบร้อยแล้ว โดยแกนนำของปัญญาชนมุสลิมกลุ่มดังกล่าว คือ มันโซร์ สาและ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย และ อิบรอฮิม ยานยา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

อย่างไรก็ดี สาระสำคัญประการหนึ่งที่ พล.ต.ต.จำรูญ ปฏิเสธก็คือ กลุ่มยุติธรรมที่เขานั่งเป็นที่ปรึกษาอยู่นั้น ไม่ได้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี และไม่ได้อาศัยการชุมนุมดังกล่าวในการขับเคลื่อนเพื่อปูทางชิงเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่

"ผู้ที่จุดประกายการตั้งพรรคการเมืองของคนในสามจังหวัดคือ อาจารย์โคทม อารียา (ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งได้พูดคุยกับกลุ่ม สนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่กรุงเทพฯ เช่น น.พ.แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ (อดีต ส.ว.นราธิวาส) และ น.พ.อนันตชัย ไทยประธาน (อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ) จากนั้นก็ได้นัดหมายประชุมหารือกับกลุ่มปัญญาชนมุสลิมในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมจังหวัดสตูลด้วย และมีการเสนอให้ตั้งกลุ่มการเมืองขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวแทนของคนพื้นที่ในการเสนอนโยบายและต่อรองกับพรรคการเมืองที่กุมอำนาจบริหาร"

"แต่การหารือเพื่อตั้งกลุ่มการเมืองเป็นคนละเรื่องกันเลยกับการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา เพียงแต่ช่วงที่อาจารย์โคทมลงมาประชุมกับปัญญาชนมุสลิมในพื้นที่ เป็นช่วงเดียวกับการชุมนุมพอดี ถือเป็นเรื่องบังเอิญ ไม่ใช่การจัดตั้ง" พล.ต.ต.จำรูญ ระบุ

ยันไม่ใช่พรรคท้องถิ่น

ที่ปรึกษากลุ่มยุติธรรม กล่าวต่อว่า ภายหลังการหารือในครั้งนั้น น.พ.แวมะหะดี กับ น.พ.อนันตชัย ได้ถอนตัวไป เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่วางกันไว้ ฉะนั้นการขับเคลื่อนของกลุ่มยุติธรรมในปัจจุบัน จึงมีปัญญาชนมุสลิมประมาณ 20 คนเป็นแกนหลัก ร่วมกับกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่มานานอีก 2-3 คน

"ที่ผ่านมาได้ประชุมกันไปแล้ว 3 ครั้ง มีการวางนโยบายกันไว้คร่าวๆ แต่ยังไม่ได้วางตัวหัวหน้าพรรค คงต้องรอให้มีการปลดล็อกประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 ก่อน จึงจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ส่วนผมทำหน้าที่เป็นปรึกษา และคอยให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ"

พล.ต.ต.จำรูญ ย้ำด้วยว่า พรรคยุติธรรมที่กำลังจะก่อตั้งขึ้นนั้น ไม่ใช่พรรคท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นพรรคระดับชาติที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ เพียงแต่แนวคิดการตั้งพรรคได้รับการจุดประกายโดยอาจารย์โคทมว่า การจะแก้ปัญหาภาคใต้ให้สำเร็จ คนสามจังหวัดจะต้องแข็งแรง และต้องมีกลุ่มการเมืองเพื่อผลักดันนโยบาย แต่ไม่ใช่การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองใหญ่ดังที่กลุ่มวาดะห์เคยทำ เพราะวิธีการเช่นนั้นพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว

ชูนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ

สำหรับนโยบายของว่าที่ "พรรคยุติธรรม" จะมุ่งส่งเสริมเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้มีตัวแทนจากคนในพื้นที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองในรูปแบบของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

"ผู้ว่าฯต้องมาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ และเป็นผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่มีแค่การเลือกตั้งนายก อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ซึ่งไม่ได้มีอำนาจอะไร นอกจากนั้นเรายังสนับสนุนให้มีการเจรจากับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบเพื่อยุติปัญหาความรุนแรง เพราะถ้าความรุนแรงรายวันยังไม่ยุติ ก็ป่วยการที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม" พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว

"สันติภาพไทย" ยังสู้

กลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการจับตามอง เพราะเป็นแหล่งรวมของ "ผู้นำศาสนารุ่นใหม่" และเคลื่อนไหวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ก็คือ "กลุ่มสันติภาพไทย"

จริงๆ แล้ว "กลุ่มสันติภาพไทย" ไม่ใช่กลุ่มการเมืองใหม่ถอดด้าม เพราะในอดีตก็คือ "พรรคสันติภาพไทย" ภายใต้การสนับสนุนของ พิเชษฐ สถิรชวาล เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยนั่นเอง แต่พรรคสันติภาพไทยถูกยุบพรรคเนื่องจากมีปัญหาเรื่องสาขาพรรคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ครบตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ทำให้วันนี้มีสถานะเป็นเพียง "กลุ่มการเมือง" เท่านั้น

มุคตาร์ กีละ แกนนำกลุ่มสันติภาพไทย และอดีตเลขาธิการพรรค กล่าวว่า กลุ่มสันติภาพไทยกำลังเตรียมการเพื่อจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยอาจจะใช้ชื่อใหม่ แต่คนทำงานยังเป็นกลุ่มเดิม และจะขึ้นคัทเอาท์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มยังไม่ตัดทิ้งแนวทางการเข้าไปร่วมเป็นกลุ่มการเมืองในพรรคการเมืองใหญ่

"เรามีความพร้อม 100% สำหรับการเลือกตั้งปลายปีนี้ เพราะตัวผมเองและแกนนำกลุ่มทำงานในพื้นที่มาตลอด และจุดแข็งของกลุ่มเรายังอยู่ที่ผู้นำศาสนารุ่นใหม่เหมือนเดิม และเป็นกลุ่มเดียวที่เป็นกลุ่มใหม่ แม้ชื่อเสียงจะไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่เราก็เกาะพื้นที่มาตลอด และเน้นการแก้ปัญหาในแนวทางสันติซึ่งได้รับการขานรับจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างสูง"

แกนนำกลุ่มสันติภาพไทย ยังปฏิเสธว่า พวกเขาไม่ได้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี แต่กลับถูกจับตาจากฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่าเป็นการปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิตกันมากกว่า

"เรื่องการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มเอ็นจีโอในพื้นที่เป็นข่าวที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะมีการประชุมกันเบื้องต้นที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งก่อนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งเราก็ไม่ได้แปลกใจหรือตื่นตกใจอะไร เพราะกลุ่มของเรามีผลงานที่เป็นรูปธรรมที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประสานกับรัฐบาลเพื่อดูแลสถาบันปอเนาะ เด็กกำพร้า และตั้งมูลนิธิบรรเทาสาธารณภัย"

ไม่เอาเขตปกครองพิเศษ

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" หรือการจัดรูปแบบการปกครองแบบพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับไม่ใช่แนวทางที่กลุ่มสันติภาพไทยจะหยิบไปชูเป็นประเด็นหาเสียง

"ปัจจุบันสามจังหวัดใต้ก็เป็นเขตปกครองพิเศษอยู่แล้ว พิเศษกว่าเมืองพัทยาหรือกรุงเทพมหานครด้วยซ้ำไป เพียงแต่คนพื้นที่ไม่รู้ว่าอะไรคือเขตปกครองพิเศษ ผมคิดว่าการแก้ปัญหาภาคใต้ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา และไม่ควรนำประเด็นฉาบฉวยมาหาเสียงแบบเฉพาะหน้า เพราะสุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นรายวันได้" มุคตาร์ ระบุ

เขายังชี้ว่า ในปัจจุบันทุกพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลอยู่แล้ว แต่ปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น ชาวบ้านจริงๆ ได้เข้าไปถ่วงดุลตรวจสอบอะไรหรือไม่ ฉะนั้นยังเร็วเกินไปที่จะคิดเรื่องเขตปกครองพิเศษหรือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

"เราเตรียมเสนอแนวทางการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมที่สุด เพียงแต่รอให้รัฐบาลปลดล็อกประกาศ คปค.เท่านั้นก็จะเปิดตัวต่อพี่น้องประชาชนทันที" มุคตาร์ กล่าว

บทสรุป

ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ด้วยวิถีทางทางการเมืองนั้น นับว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนับสนุน เพราะอย่างน้อยก็จะเป็นช่องทางให้การขับเคลื่อนของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐเขยิบขึ้นมาต่อสู้ "บนดิน" แทนที่จะใช้วิธีการ "ใต้ดิน" จนทำให้ปัญหาในดินแดนปลายสุดด้ามขวานเรื้อรังมาจนทุกวันนี้

และทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังเร่งช่วงชิงคะแนนนิยมจากขั้วการเมืองเดิมทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มวาดะห์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า...ไฟใต้ดับได้ด้วยการเมือง!

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ยุทธศาสตร์การเมืองดับไฟใต้ (ตอนจบ) จับตา "หมอแว" เบียด "วาดะห์-ประชาธิปัตย์"