Skip to main content

ลิเกฮูลู
การละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประวัติความเป็นมา
               ลิเกฮูลู หรือ ดิเกฮูลู มาจากคำว่า ลิเก หรือดิเก และฮูลู ท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่าลิเกหรือ ดิเกมาจากคำว่า ซี เกร์ หมายถึง การอ่านทำนองเสนาะ ส่วนคำว่าฮูลู แปลว่า ใต้หรือทิศใต้ รวมความแล้วหมายถึง การขับบทกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทางใต้
               ลิเกฮูลู เป็นการละเล่นพื้นบ้านแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับความนิยมมากของชาวไทยมุสลิม มักจะใช้แสดงในงานมาแกปูโละ งานสุหนัด งานเมาลิด งานฮารีรายอแล้ว คำว่า "ลิเก" หรือ  ดิเกร์" เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมาย ๒ ประการ คือ
              ๑. เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ซึ่งเรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า"ดิเกร์เมาลิด"
              ๒. กลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่นกันเป็นกลุ่มคณะ เรียกว่า "ลิเกฮูลู" บ้างก็ว่าได้รับแบบอย่างมาจากคนพื้นเมืองเผ่าซาไก เรียกว่า มโนห์ราคนซาไก บ้างก็ว่าเอาแบบอย่างการเล่นลำตัดของไทยผสมเข้าไปด้วย
   
               การตั้งวงคล้ายกับการตั้งวงลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง คณะหนึ่งมีลูกคู่ประมาณ ๑๐ กว่าคน ผู้ร้องเพลงและขับร้องมีประจำคณะอย่างน้อย ๒ - ๓ คน และอาจมีนักร้องภายนอกวงมาสมทบร่วมสนุกอีกก็ได้ กล่าวคือ คนดูคนใดนึกสนุกอยากร่วมวงก็จะได้รับอนุญาตจากคณะลิเกคล้ายๆ กับการเล่นเพลงบอกภาคใต้ เวทีแสดงยกสูงไม่เกิน ๑ เมตร โล่งๆ ไม่มีม่านหรือฉาก ลูกคู่ขึ้นไปนั่งล้อมวงร้องรับและตบมือ โยกตัวเข้ากับจังหวะดนตรี ส่วนผู้ร้อง หรือผู้โต้กลอนจะลุกขึ้นยืนข้างๆ วงลูกคู่ ถ้ากรณีมีการประชันกันแต่ละคณะจะขึ้นนั่งบนเวทีด้วยกัน แต่ล้อมวงแยกกัน การแสดงก็ผลัดกันร้องทีละรอบ ทั้งรุกทั้งรับเป็นที่ครึกครื้นสบอารมณ์ผู้ชม

 


 

ประวัติความเป็นมาของดิเกฮูลู  คณะอีแกมะฮ โดย หัวหน้าคณะ นายมะเย็ง  ดอเลาะ

               ตั้งแต่นายมะเย็ง  ดอเลาะจำความได้ ก็เห็นบิดาเล่นลิเกฮูลูแล้ว โดยบิดาจะเล่นกันสนุกๆแบบไม่จริงจัง เล่นตามงานประเพณีในหมู่บ้าน  หมู่ที่ 3 บ้าน กม.36 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา รวมไปถึงหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลอัยเยอร์เวง ซึ่งถือว่านายมะเย็ง  ดอเลาะ ได้รับอิทธิพลการละเล่นลิเกฮูลู จากคนในครอบครัวคือบิดา
 
               ปี  พ.ศ. 2522 ขณะนายมะเย็ง  ดอเลาะอายุได้  30  ปี จึงได้จัดตั้งคณะลิเกฮูลูเป็นของตนเอง โดยมีสมาชิกเริ่มต้นจำนวน  15  คน ซึ่งส่วนใหญ่สมาชิกจะเป็นคนในพื้นที่  จึงเริ่มซ้อมการละเล่นและรับแสดงในงานแต่งงาน  งานประเพณี หรืองานกิจกรรมสังสรรค์ต่างๆ แต่ยังไม่มีเยาวชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกวง
               ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2546 นายมะเย็ง  ดอเลาะได้ฝึกสอนให้ลูกๆหลานๆให้รู้จักศิลปะการละเล่นลิเกฮูลู เพราะเด็กๆมีความสนใจ อยากเข้าร่วมเป็นสมาชิกวงลิเกฮูลู  โดยในระยะแรกจะฝึกการร้องเพลงก่อน และคัดเลือกคนที่มีหน่วยก้านดี แก้วเสียงใส  จากนั้นก็วางตำแหน่ง  อุปกรณ์เครื่องดนตรีตามความสนใจ และเมื่อได้ลงมือฝึกฝนจึงทำให้สามารถคัดเลือกคนที่มีพรสวรรค์ เป็นสมาชิกวงลิเกฮูลู ฝึกซ้อมทุกวันในช่วง พร้อมๆกับเปิดโอกาสให้ ออกแสดงในงานที่มีหน่วยงานราชการติดต่อมา และขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียง เครื่องดนตรี และชุดสำหรับการแสดง 
              จากวันนั้นถึงวันนี้ คณะลิเกฮูลูมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 25 คน ประกอบด้วยผู้ใหญ่ 13 คน เยาวชน 12 คน ผ่านการแข่งขันระดับจังหวัด จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ระดับจังหวัดยะลา และล่าสุดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 4  ระดับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

เครื่องดนตรี
              โดยทั่วไปเครื่องดนตรีจะประกอบด้วย รำมะนา(รือบานา) อย่างน้อย ๒ ใบ ฆ้อง ๑ วง และลูกแซ็ก ๑ - ๒ คู่ อาจมีขลุ่ยเป่าคลอขณะลูกคู่ร้อง และดนตรีบรรเลง ดนตรีจะหยุดเมื่อมีการร้องหรือขับ ทำนองเดียวกับการร้องลำตัดหรือเพลงฉ่อย ท่วงทำนองปัจจุบันมี ๓ จังหวะ คือ สโลว์ แมมโบสเลว์ และจังหวะนาฏศิลป์อินเดีย ซึ่งเนื้อร้องจังหวะใดก็ต้องใช้ร้องกับจังหวะนั้นๆ จะใช้ร้องต่างจังหวะกันไม่ได้
                แต่คณะอีแกมะฮมีความพิเศษตรงที่ เครื่องดนตรีเกือบทุกชิ้น ทำขึ้นเองทั้งหมด ยกเว้น  ฉิ่ง ฉาบ ลูกแซด โดยมีรายการดังนี้
 
เครื่องดนตรีภาษาไทย ( และภาษายาวี)
                1.รำมะนาใหญ่ (บานอร์อีบู)
                2.รำมะนาเล็ก (บานอร์อาเนาะ)
                3.ฆ้อง (โฆ่ง)
                4.โม่ง (ม่อง)
                5.ฉิ่ง (อาเนาะอาแย )
                6.ฉาบ (ฉาบ)
                7.ไม้ปรบมือ (กายูตือโป๊ะ)
                8.แซด (แซด)
                9.ลูกแซด (เวาะลอมา)

 

เครื่องแต่งกาย
                แต่เดิมผู้เล่นจะโพกหัว สวมเสื้อคอกลม นุ่งโสร่ง บางครั้งอาจเหน็บขวานทำนองไว้ข่มขวัญคู่ต่อสู้ ต่อมามีการแต่งกายแบบการเล่นสิละ แต่ไม่เหน็บกริชหรือถือกริช อาจเหน็บขวาน ในปัจจุบันมักแต่งกายแบบไทยมุสลิมทั่วไปหรือตามแบบสมัยนิยม
                แต่คณะอีแกมะฮ จะใส่ชุดแบบมลายู เสื้อแขนยาว, กางเกงขายาว มีหมวก สายสะพาย และผ้ารัดเอว

วิธีการเล่น
                  วิธีการเล่น เริ่มแสดงดนตรีโหมโรงเพื่อเร้าอารมณ์คนดู สมัยก่อนมีการไหว้ครูในกรณีที่มีการประชันกันระหว่างหมู่บ้าน หรืออาจมีหมอผีของแต่ละฝ่ายปัดรังควานไล่ผีคู่ต่อสู้ก็มี ปัจจุบันสู้กันด้วยศิลปคารมอย่างเดียว เมื่อลูกคู่โหมโรงต้นเสียงจะออกมาร้องทีละคน เริ่มด้วยวัตถุประสงค์ของการแสดง หลังจากนั้น ก็เริ่มเข้าสู่เรื่องราว อาจจะเป็นเหตุการณ์บ้านเมือง หรือความรักของหนุ่มสาว หรือเรื่องตลก ในกรณีที่มีการประชัน หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องราวการกระทบกระแทก เสียดสีกัน หรือหยิบปัญหาต่าง ๆ มากล่าวเพื่อให้ผู้ชมชื่นชอบในคารมและปฏิภาณ

 

โอกาสและเวลาที่เล่น
                แต่เดิมนิยมแสดงในงานพิธีต่าง ๆ เช่น เข้าสุหนัต งานแต่งงาน (มาแกปูโล๊ะ) ปัจจุบันลิเกฮูลูยังแสดงในงานเทศกาลต่าง ๆ ร่วมกับมหรสพอื่น ๆ บางท้องที่ก็แสดงในงานพิธีสำคัญ เช่น พิธีถวายพระพรวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นต้น
คุณค่าแนวคิดสาระ
                    การแสดงลิเกฮูลูยังสามารถเผยแพร่รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงภัยร้ายของยาเสพติด ยาบ้า ปัญหาโรคเอดส์ ความสะอาดและบางครั้งจะนำบทเพลงทั่วๆไป มาร้อง ไม่ว่าจะเป็นเพลงสตริง หรือลูกทุ่ง  มีการผสมผสานภาษามลายูท้องถิ่นหรือจะนำบทเพลงอันนาซีร มาขับว่านเป็นห้วงทำนอง ก็ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน

 

ท่ารำ / แสดง
                   นักร้องนำ -  ร้องนำ  ลีลาการเต้น
                   ลูกคู่  -  ประสานเสียง
                   นักแสดง -  แสดงลีลาท่าทาง

ขั้นตอนการแสดง
                   1.  บรรเลงดนตรี
                   2.  ขับกลอน ขับเสภา( มาแตปาตง )
                   3.  กาโร๊ะ
                   4.  ร้องเพลง เป็น 2  ภาษา
                   5.  กาโร๊ะตานี  ( ตักเตือน / เชิญชวนให้เป็นเด็กดี )
                   6.  วาบูแล  (การร้องเพลงปิดการแสดง )
เวลาการแสดง
                    ประมาณ 1 – 1.30 ชั่วโมง

                              