Skip to main content

 

เกริ่นนำ: สามข้อคิดสำคัญสำหรับนักศึกษาสายศาสนาและสามัญ

ผู้คนในสังคมไม่ว่าจะในประเทศใดๆ มักจะมีความคาดหวังเป็นพิเศษกับสองสถาบันการศึกษา

นั่นก็คือสถาบันศึกษาสายศาสนาและสามัญ

โดยจะให้ความสนใจว่าสถาบันศาสนาจะผลิตบัณฑิตเช่นไร สถาบันการศึกษาภาคสามัญจะผลิตบัณฑิตเช่นไร ด้วยเหตุนี้เองที่เราต้องตระหนักเสมอว่า เรามีหน้าที่ต้องอบรมบ่มเพาะประชาชนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ นี่คือหลักคิดข้อแรก.

หลักคิดข้อที่สองก็คือ เราจะต้องคำนึงเสมอว่า ความเข้มข้นของการไต่สวนพิพากษาเราในโลกหน้านั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่ของเราในโลกนี้ เพราะฉะนั้น ยิ่งเรามีอำนาจหน้าที่มากขึ้นเท่าใด การไต่สวนพิพากษาเราก็จะเข้มข้นและละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นเท่านั้น

ครูบาอาจารย์ของเรามักจะสอนสั่งเราเสมอว่า ผู้รู้ทางศาสนากำลังก้าวเดินอยู่บนริมขอบเหวแห่งไฟนรก ซึ่งแน่นอนว่าหากพลาดตกลงไปเบื้องล่างย่อมถูกเผาไหม้เป็นจุณ

แต่คนอื่นๆที่มิได้มีขอบเขตความรับผิดชอบเสมือนผู้รู้ทางศาสนาหรือสามัญ พวกเขากำลังเดินอยู่ห่างจากปากเหวดังกล่าวสมมุติว่าสัก 70 เมตร หากพลัดไถลลงมา ก็ยังมีโอกาสที่จะปัดฝุ่นและลุกขึ้นเดินต่อไปได้ไม่ยากนัก

การที่ผู้รู้ทางศาสนากำลังก้าวเดินบนขอบเหวนรกนั้น ก็เพราะว่าพวกเขามีความรู้ในบทบัญญัติต่างๆซึ่งทำให้ไม่สามารถจะหาข้ออ้างใดมาลบล้างความผิดได้ หากได้ก่อกรรมไว้.

ฉะนั้น นักการศาสนา และนักวิชาการสายสามัญ จึงต้องแบกรับภาระความรับผิดชอบหนักกว่าผู้คนทั่วไปในสังคม

 

หลักคิดข้อที่สามมีอยู่ว่า หากเราไม่รู้จักคุณค่าของตนเอง เราจะไม่สามารถเป็นนักการศาสนา หรือนักวิชาการสายสามัญที่ดีได้อย่างเด็ดขาด

ก็ลองพิจารณาดูว่า ... ผู้ที่ไม่สามารถจะปกป้องตัวเองได้ จะเอาปัญญาที่ใหนมาปกป้องผู้อื่น?

คนที่ไม่สามารถเก็บรักษาเพชรสักเม็ดหนึ่งได้ ... เขาย่อมไม่สนใจที่จะเก็บรักษาลูกปัดอย่างแน่นอน

 

พัฒนาคุณภาพชีวิต: สถานะเบื้องต้นที่สุดของการเป็นคอลีฟะตุลลอฮ์ (ตัวแทนพระเจ้า)

พระเจ้าได้มอบเพชรอันมีค่าแก่เรา เพชรนามธรรมที่จะสะท้อนสถานะที่แท้จริงให้เราเห็น จะได้ตระหนักว่า เราคือใครกันแน่? เราเป็นอะไรหรือ? โดยพระองค์ทรงตรัสว่า มนุษย์คือคอลีฟะฮ์ (ตัวแทน)ของฉัน

คำกล่าวที่ว่ามนุษย์คือคอลีฟะตุลลอฮ์(ตัวแทนของพระเจ้า)นี้ เรามักได้ยินได้ฟังจนอาจิณ แต่เรามักจะทึกทักว่าขอบข่ายหน้าที่ของการเป็นคอลีฟะฮ์ของอัลลอฮ์นั้นจำกัดอยู่เพียงการสร้างสรรค์และพัฒนาโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นเท่านั้น

หลักที่ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" และ "ทุกสังคมย่อมต้องการกฎหมายและการบริหารจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย" คนส่วนใหญ่มักจะตีความการเป็นคอลีฟะฮ์หรือตัวแทนอัลลอฮ์ว่า มีหน้าที่บริหารประชาคมโลกให้มีระเบียบเท่านั้น

การตีความเช่นนี้ถือเป็นการตีความการเป็นคอลีฟะตุลลอฮ์ของมนุษย์อย่างพื้นฐานที่สุด สิ่งนี้เป็นเพียง ก.ไก่ แห่งการเป็นมนุษย์ที่แท้จริง สถานภาพมนุษย์มิได้จบเพียงเท่านี้!

หากเรารู้ว่าอัลลอฮ์ผู้สร้างเรา ได้มอบเกียรติอันสูงส่งเพียงใดแก่เรา เมื่อนั้น สังคมเราคงไม่ประสบปัญหามากมายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

พระองค์ทรงตรัสว่า ข้าได้แต่งตั้งมนุษย์ให้เป็นคอลีฟะฮ์ (อินนี ญาอิลุน ฟิลอัรฎิ เคาะลีฟะฮ์) ระดับความเป็นเคาะลีฟะฮ์ขั้นพื้นฐานก็คือ การบริหารจัดการโลกอย่างเป็นธรรม ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า

هو الّذي انشأكم من الأرض و استعمركم فيها
(พระองค์คือผู้ทรงริเริ่มสูเจ้าจากแผ่นดิน และได้มอบหมายให้สูเจ้าสร้างความเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดิน)

ฉะนั้น การพัฒนาสังคม การขจัดความยากจน การสร้างงาน การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ฯลฯ เป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ผู้มีตำแหน่งเป็นคอลีฟะฮ์รือตัวแทนของพระเจ้า

  

ครูบาแห่งเหล่าเทพมะลาอิกะฮ์: ระดับที่สองของคอลีฟะตุลลอฮ์

เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว เราจะพบอีกระดับขั้นหนึ่งของความเป็นคอลีฟะตุลลอฮ์ การที่พระองค์แต่งตั้งให้เราเป็นตัวแทนของพระองค์นั้น หมายถึงเราจะต้องพัฒนาตนเองให้ถึงขั้นที่สามารถจะรับเหล่าทวยเทพมะลาอิกะฮ์เป็นลูกศิษย์ได้! จะต้องพัฒนาถึงขั้นที่มีศักยภาพพอที่จะเปิดหลักสูตรอบรมมะลาอิกะฮ์ได้!

เพราะเหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้?

ก็เพราะกุรอานกล่าวว่า อัลลอฮ์ทรง"สอน" (อัลละมัล อาดัม ..) อัสมาอ์หรือนามชื่ออันบริสุทธิแก่มนุษย์อย่างนบีอาดัม และพระองค์ก็ได้ทรงบัญชาให้มนุษย์อย่างนบีอาดัม "แจ้ง" (นับบิ๊ฮุม..) ให้มวลมะลาอิกะฮ์ทราบถึงนามชื่อเหล่านั้นอีกทอดหนึ่ง

(หากพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า "สอน" และ "แจ้งข่าว" แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับการสอนนั้นย่อมมีศักยภาพในการเรียนรู้เหนือว่าผู้ได้รับเพียงการแจ้งข่าว)

นั่นหมายความว่าเป็นไปได้ที่เราจะเป็นฝ่ายให้ประโยชน์แก่เหล่าเทพมะลาอิกะฮ์ 

และคอลีฟะตุลลอฮ์ในความหมายนี้ คือสถานะที่สองของการเป็นตัวแทนพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน

 

 สร้างสวรรค์ด้วยมือเรา: อานุภาพสูงสุดแห่งการเป็นคอลีฟะตุลลอฮ์

ใครบอกว่าการเป็นคอลีฟะตุลลอฮ์ การเป็นตัวแทนของพระองค์บนหน้าแผ่นดินนั้น มีหน้าที่เพียงพัฒนาโลกนี้เพียงอย่างเดียว? เราไม่มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างโลกหน้ากระนั้นหรือ?

มนุษย์มีศักยภาพพอที่จะสามารถก่อสร้างตึกรามบ้านช่องได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถก่อสร้างสรวรรค์อัลญันนะฮ์ได้เช่นกัน แน่นอนว่ามูลค่าของสองสิ่งนี้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เลย

สวรรค์ที่พระองค์ทรงสาธยายไว้ว่ามีน้ำใสใหลรินเบื้องล่าง (ญันนาติน ตัญรี มิน ตะฮ์ติฮัล อันฮาร) หากเรามิได้ก่อสร้างเอง แล้วใครเล่าจะเป็นผู้ก่อสร้างให้เรา ?

เมื่อครั้งขึ้นอิสรออ์เมี้ยะรอญ ท่านนบีได้เห็นมะลาอิกะฮ์กำลังก่อกำแพงปราสาทขนาดยักษ์ในสรวงสวรรค์ ซึ่งสร้างจากทองคำและเงินบริสุทธิ ทว่าระหว่างที่กำลังก่อสร้างนั้น บางครั้งมะลาอิกะฮ์ก็หยุดก่อสร้างเสียเฉยๆ

ท่านนบีเอ่ยถามญิบรออีลว่า เหตุใดมะลาอิกะฮ์เหล่านี้จึงหยุดพักการก่อสร้างเล่า มะลาอิกะฮ์ไม่รู้จักความเหน็ดเหนื่อยมิไช่หรือ? ญิบรออีลตอบว่า การหยุดก่อสร้างนี้ มิได้เกิดจากความเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเจ้าของปราสาทในสรวงสวรรค์แห่งนี้ส่งวัสดุก่อสร้างจากโลกดุนยามาอย่างไม่สม่ำเสมอนั่นเอง

เมื่อใดที่มีวัสดุก่อสร้างส่งมา มะลาอิกะฮ์ก็จะก่อสร้างต่อ เมื่อใดที่ไม่มีการส่งมา ก็จะหยุดรอวัสดุก่อสร้าง

ท่านนบีเอ่ยถามต่อไปว่า แล้ววัสดุก่อสร้างที่ใช้นี้ คืออะไรบ้าง? ญิบรออีลตอบว่า วัสดุเหล่านี้คือการซิกรุลลอฮ์ เช่น สุบฮานัลลอฮ์ อัลฮัมดุลิลลา ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ และ อัลลอฮุอักบัร"

ฉะนั้น การรำลึกถึงอัลลอฮ์ การมีความศรัทธาที่ถูกต้อง มารยาทอันดีงาม ความประพฤติที่เหมาะสม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุก่อสร้างปราสาทของมนุษย์ในโลกหน้าทั้งสิ้น

เมื่อทราบเช่นนี้ ก็จะเกิดปริศนาธรรมขึ้นว่า มนุษย์อย่างเราๆ ที่สามารถพัฒนาตนเองให้ดำรงตำแหน่งคอลีฟะตุลลอฮ์ ที่สามารถ"ก่อสร้างสรวงสวรรค์"ได้ด้วยสองมือของเราเอง ไฉนจึงหมกมุ่นกับการ"ก่อกรรมทำเข็ญ"และสวมเขาคนอื่นแทน

และเพราะการที่มนุษย์มีสภาพเหมือน "ลิงได้แก้ว" เนื่องจากไม่รู้คุณค่าของการเป็นคอลีฟะตุลลอฮ์ผู้ยิ่งใหญ่เช่นนี้... กุรอานจึงใช้คำว่า "คนฟั่นเฟือน" من يرغب عن ملّه ابراهيم الا من سفه نفسه (หามีใครจะหันเหจากวิถีแห่งอิบรอฮีมไม่ เว้นแต่เขาเป็นคนฟั่นเฟือน)

 

และนี่คือบทสรุปของการตกจากฟากฟ้าแห่ง "ตัวแทนของพระเจ้า" สู่ก้นเหวแห่งความเป็น "คนฟั่นเฟือน" เพียงเพราะ... "กิเลสตัณหา"

.................

 

แปลและเรียบเรียงจากการบรรยายธรรมของ อายะตุลลอฮ์ ญะวาดี ออโมลี