กองบรรณาธิการสำนักข่าวอามาน (Aman News Agency)
หลังจากลงพื้นที่จัดเวทีรับฟังความเห็นเรื่องการจัดการทางการเมืองเรื่องการ ‘กระจายอำนาจ’ หรือ ‘เขตปกครองพิเศษ’ภายใต้รัฐธรรมนูญมาพักใหญ่ คณะทำงานเครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กร และเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น และคณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง ซึ่งมีองค์กรร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ คือสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ก็เริ่มนำข้อมูลที่ได้จากการเปิดเวทีรับฟังมาจัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการกันเป็นครั้งที่ 4 ในประเด็น “ สิทธิคนกลุ่มน้อยภายใต้การเมืองแห่งความหลากหลาย” ณ ห้องกลางชล โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของการจัดเวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้มาจากข้อกังวลหรือความห่วงใยเกี่ยวกับประเด็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีชาวไทยพุทธ ชาวจีน ชาวคริสต์ ฯลฯ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการพูดคุยเพื่อปูทางไปสู่การเสนอให้แก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานนี้ด้วยการจัดการให้เป็นพื้นที่เขตปกครองพิเศษ ภายใต้รัฐธรรมนูญ
นักวิชาการหลายคนมาร่วมแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการนำโดย “ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา” อธิบการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งเริ่มต้นด้วยการแสดงมุมมองของมุสลิมต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ได้เป็นมุสลิมว่า มี ‘5 จุดร่วมความศรัทธาของมนุษย์ร่วมโลกในสายตาของมุสลิม’ คือ 1. มุนษย์ล้วนทุกคนเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ เพราะในความศรัทธาของมุสลิม อัลลอฮ์เท่านั้นที่เป็นผู้สร้าง และไม่มีใครมาค้านหรือแอบอ้างถึงพระผู้สร้างอื่น ศาสนาอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงพระผู้สร้างอื่นใดอีก ซึ่งก็นำมาสู่ข้อที่ 2. ทุกคนที่เป็นมนุษย์ล้วนเป็นลูกหลานของนบีอาดัม มนุษย์คนแรกที่อัลลอฮ์สร้างขึ้น 3. มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน แม้แต่ต่างศาสนาความเชื่อก็ไม่แปลก ซึ่งข้อความนี้ได้รับการยืนยันจากศาสนาอิสลามผ่านอัลกุรอ่าน 4. มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ล้วนเป็นประชาชาติของนบีมูฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ทั้งหมด และข้อ 5. ทุกคนล้วนเป็นศัตรูของ ‘มาร’ ทุกศาสนาในโลกนี้ต่างประกาศว่า ‘ซัยฏอน’ หรือมารร้ายเป็นศัตรูของความดี
“บนความเชื่อถือของมุสลิม 5 ประเด็นนี้จำง่ายมาก ศาสนาอิสลามไม่บังคับใครให้มารับอิสลาม ผมเห็นส่วนของการเปิดโอกาสและอิสระอย่างเต็มที่ ในทัศนะของมุสลิม ถ้ารับอิสลามอัลลอฮ์สร้างสรวงสวรรค์ไว้แล้ว ถ้าไม่ตามอัลลอฮ์ก็สร้างนรกไว้ แต่ไม่ได้จำกัดอิสระที่จะเลือกของมุนษย์เลย และท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ก็ไม่เคยฆ่าคนเพื่อบีบบังคับให้รับอิสลาม” อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลากล่าว
ดร.อิสมาอีลลุตฟียังกล่าวถึงกระแส “อิสลามโฟเบีย (Islam phobia)” หรือ “โรคหวาดกลัวอิสลาม” ว่าเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นจากฝ่ายที่ไม่อยากให้อิสลามมีภาพลักษณ์ที่ถูกต้อง เป็นการประชาสัมพันธ์ของโลกฝ่ายต่อต้านอิสลาม เป็นแผนการของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการให้ทั่วโลกหวาดกลัว ‘อัล อิสลาม’ แต่กระนั้นตนก็ยังมองว่าเหตุปัจจัยมาจาก 2 ประเด็นที่ทำให้โรคนี้ขยายไปทั่วโลก คือ 1. ความอ่อนแอของผู้รู้ฝ่ายมุสลิม และ 2. การประชาสัมพันธ์อ่อนด้อยของมุสลิม ถ้าผู้รู้ทำงานอย่างเข้มแข็ง การประชาสัมพันธ์ทำอย่างเต็มที่ จะทำให้ขจัดความกลัวนั้นไปได้
“พอทำอย่างนี้ (การขับเคลื่อนจัดเวทีรับฟังความเห็นเรื่องเขตปกครองพิเศษ) ส่วนกลาง(รัฐบาล) ก็กลัวกัน บางคนคิดว่าจะแยกดินแดน ความจริงเรื่องการต่อสู้นี้ดำเนินมาเป็น 100 ปีก็ยังทำไม่ได้ แล้วจะกลัวอะไรกัน เราต้องช่วยกันนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปสู่รากหญ้า ทำให้เขาเข้าใจว่าเราทำอะไร” อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลากล่าว
ทั้งนี้ ดร.อีลมาอีลลุตฟีได้หยิบยกหนังสือ “สิทธิของชนต่างศาสนิกในประเทศอิสลาม” ของ ศ.ดร.ศอลิหฺ หุสัยน์ อัลอายิด ฉบับแปลภาษาไทยของ “อุษมาน อิดรีส” มานำเสนอว่า นักนิติศาสตร์อิสลามเรียกชนกลุ่มน้อยในประเทศอิสลามว่า “ชาวซิมมีย์” (People of the Covenant) หมายถึง พลเมืองต่างศาสนิกที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของประเทศอิสลาม ซึ่งเป็นคำเรียกที่ดี ไม่ได้ส่อถึงทางลบแต่ประการใด เพราะคำว่า “ชาวซิมมีย์” (Dhimmi) หมายถึง “บรรดาผู้ที่อยู่ภายใต้พันธะสัญญาและความคุ้มครอง” เพราะพวกเขากลายเป็นผู้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของท่านร่อซู้ล (ศาสนทูต) และชาวมุสลิมทุกคนอย่างถาวร และชาวซิมมีย์นั้นก็ยังแบ่งเป็น 3 ประเภทอีกคือ 1. เป็นประชากร มีสัญชาติ แต่ไม่ใช่ชาวมุสลิม 2. ผู้อาศัย แม้แต่มาจากประเทศอิสลามก็ตาม และ 3. ผู้มีสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกันกับชาวมุสลิม ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศมุสลิม ทั้ง 3 กลุ่มนี้มีศักดิ์และสิทธิ์ได้รับการปฏิบัติดูแลเทียบเท่ากับชาวมุสลิมในประเทศอิสลาม เว้นแต่ “ฮารูบี” ซึ่งเป็นผู้ประกาศสงครามกับประเทศอิสลาม ทำให้ชาวมุสลิมเดือดร้อนอยู่เสมอซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิ์นั้น
ซึ่งการที่หยิบยกเอาเรื่องนี้มาพูด อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลากล่าวว่าเพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ในประเทศอิสลามก็ยังให้การค้าครองและสิทธิประโยชน์แก่ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่อิสลามเทียบเท่าเสมอเหมือนกัน แต่ในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ประเทศอิสลาม การเป็นชนกลุ่มน้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องได้รับการคุ้มครองดูแลที่ไม่ด้อยไปกว่าชนกลุ่มน้อยในประเทศอิสลามอย่างแน่นอน
ส่วน “ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ” อดีตประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ตนมีข้อสังเกต 2 ประเด็นที่ต้องช่วยกันคิดและเสนอความเห็นอย่างเป็นรูปธรรม คือ 1. การทำความเข้าใจกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมเกี่ยวกับบทบัญญัติที่ถูกต้องเป็นจริง จะทำอย่างไรให้ 5 จุดยืนร่วมของ ดร.อิสมาอีลลุตฟี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากได้รับความเข้าใจร่วมกัน จะประชาสัมพันธ์กันอย่างไรให้คนทั้ง 5 จังหวัดหรือคนในสังคมทั่วไปเข้าใจเหมือนกัน
“ผมเชื่อว่าคนพุทธส่วนใหญ่ไม่รู้เลย ผมไม่เคยได้ยินการพูดคุยในเรื่องเหล่านี้เลย ทั้งที่มันลึกซึ้งมาก ถ้าเราทำความเข้าใจเรื่องนี้มันก็จะเป็นรากฐานที่สำคัญของการขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆ ต่อไป”
ส่วนประเด็นที่ 2. อดีตประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดกล่าวว่า ข้อกังวลของคนไทยพุทธในชุมชนทั่วไปคือ เขาแยกไม่ออกระหว่างกลุ่มชาวมุสลิมกับคนที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่
“ถ้าถามชาวมุสลิม เขาบอกว่าไม่ใช่มุสลิม แต่อีกฝั่งบอกว่านั่นคือมุสลิมแน่นอน แล้วแต่ใครจะถือหางใคร จึงเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เพื่อนชาวไทยพุทธไม่เข้าใจว่าระหว่างคนส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมกับคนที่ก่อความรุนแรงเป็นคนละฝ่ายคนละพวกกัน และถ้าพูดถึงเรื่องการปกครอง เราต้องไม่เอาไปปนกับการก่อเหตุรุนแรงในขณะนี้ ซึ่งผมมองว่าการสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ใช้การประชาสัมพันธ์ได้ แต่ต้องแยกให้เห็นระหว่างเรื่องความรุนแรงกับเรื่องนี้ ” นายประสิทธิ์กล่าว และว่า
“ปัญหาภาคใต้คือปัญหาประชาธิปไตยดีๆ นี่เอง ไม่มีใครรู้ดีกว่าคนที่มีเอกลักษณ์จำเพาะของตนเองได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่กลัวคนไม่มีมาปกครองบ้านเมือง มุสลิมดีกับมุสลิมไม่ดีหลายกลุ่มอธิบายไม่เหมือนกัน บางกลุ่มบอกว่าบีอาร์เอ็นดีที่สุดเป็นกองหน้าของประชาชน แต่อีกกลุ่มบอกว่าไม่ดี มันโหดร้ายทารุณ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่คนทั่วไปจะเห็นว่ามุสลิมคนไหนดีหรือไม่ดี คนที่เลือกใช้ความรุนแรงกับคนที่ใช้สันติวิธี คนไหนดีไม่ดี อยากฝากประเด็นนี้เอาไว้”
ยังมีความเห็นของนักวิชาการและฝ่ายประชาสังคมหลายคนที่แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ เช่น มูฮำหมัดอายุบ ปาทานสื่อมวลชนอาวุโสกล่าวว่า เรื่องการประชาสัมพันธ์แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกัน และการสร้างความเข้าใจผู้นับถืออิสลามในสังคมไทยต้องประชาสัมพันธ์ออกไปในวงกว้าง จะได้ไม่เป็นความกลัวหรือความกังวลใจเพราะความไม่รู้ เพียงแต่อาจจะต้องออกแบบรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับสภาวะของสังคมไทย
ส่วน ‘ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กล่าวว่า คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันว่าเป็นแนวคิดที่มาจากตะวันตกหรือไม่ หรือเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคมไทย เพราะแนวคิด “ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข” แท้จริงมันเป็นหลักศาสนาทุกศาสนา มุสลิมเชื่อว่ามาจากพระเจ้าซึ่งทุกคนได้รับเท่าเทียมกัน
ปิดท้ายด้วย ‘นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน’ จากสมาคมจันทร์เสี้ยวที่หยิบยกเอาคำกล่าวของพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยง 3 แนวทางไปสู่สันติภาพร่วมกันว่า 1. นับถือศาสนาไหนก็ให้ปฏิบัติตามแนวทางของศาสนานั้นให้ดีที่สุด 2. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา และ 3. ขับเคลื่อนสันติภาพร่วมกัน
“สำหรับผมคิดว่า ถ้าคนทั่วไปยังไม่เข้าใจอิสลาม ปัญหามันน่าจะอยู่ที่เรา (ชาวมุสลิม) ถ้าเขายังไม่รู้ว่าอิสลามเป็นอย่างไร ก็ต้องโทษตัวเราเอง”
เป็นการปิดท้ายที่แสดงให้เห็นว่า การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยวิถีทางการเมืองซึ่งต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจต่อความเป็นมุสลิม ความเป็นศาสนาอิสลาม เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่และคนไทยทั่วไปไว้วางใจซึ่งกันและกันกับชาวมุสลิม ไม่แบ่งแยกเขาแยกเรา ยังเป็นงานที่หนักหนาอยู่มิใช่น้อย.