Skip to main content

ฟารีดา ปันจอร์

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง หลักการทั่วไปกระบวนการสันติภาพทั่วโลก เมื่อดำเนินไปแล้วมักใช้ระยะเวลาในการดำเนินการยาวนานอยู่หลายปี ซึ่งจะมีขั้นตอนหลักต่าง ๆ แต่เวลาส่วนใหญ่มักใช้ไปกับการเจรจา (การเจรจาเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่เนื้อหาหรือทางออกในการแก้ไขปัญหาโดยตัวมันเอง) กล่าวคือในช่วงแรก  ระยะเวลาแห่งการเริ่มต้นนั้นเป็นขั้นตอนของการทดสอบ เราเรียกว่าขั้นก่อนการเจรจา (pre-negotiation) เพื่อที่จะโน้มน้าว สร้างความเชื่อมั่น ให้ฝ่ายต่างๆ เปิดรับและยอมรับในกระบวนการสันติภาพ หากขั้นตอนนี้ ไม่มีความเชื่อมั่นจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายติดอาวุธ กระบวนการเจรจาก็อาจหยุดชะงักหรือล้มเหลว

ช่วงที่สองคือระยะเวลาของการเริ่มต้น  เมื่อมีการตกลงในกรอบการเจรจาร่วมกันและสร้างความปลอดภัยให้กับฝ่ายต่างๆ ที่เข้ามาเจรจา กล่าวได้ว่าช่วงเวลานี้ คือช่วงเวลาแห่งการทดสอบที่ความปลอดภัยของคู่เจรจาจะต้องถูกคำนึงถึงเป็นอันดับแรก  ดังนั้น การประกันถึงการสร้างความปลอดภัยก็จะต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นนี้ นอกจากนี้ ข้อตกลงต่างๆ อาจออกมาในรูปแบบที่ดำเนินคู่ไปกับโร้ดแมบหรือแผนที่เดินทางสันติภาพ มีการพยายามทำความเข้าใจและก้าวพ้นอุปสรรคหรือแง่มุมต่างๆ ที่ไม่สามารถตกลงร่วมกัน  ซึ่งเป้าหมายของช่วงเวลานี้คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกระบวนการให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับการเป็นปรปักษ์ต่อกันเพื่อที่จะเริ่มต้นการเจรจาและการยอมรับบทบาทของฝ่ายที่สามในกระบวนการสันติภาพ

เมื่อกรอบของการตกลง และความเข้าใจร่วมบรรลุผล ระยะที่สามเป็นขั้นตอนของ “วิธีการในการขับเคลื่อนสันติภาพ” ซึ่งอาจเป็นแผนที่เดินทางสันติภาพที่จะสร้างหลักประกันว่าเป้าหมายจะบรรลุผล ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนของการเจรจาสันติภาพอย่างแท้จริง  ฝ่ายคู่ขัดแย้งหลักที่มีบทบาทสำคัญจะต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นตัวแทนที่มีศักยภาพที่จะตัดสินใจบนโต๊ะเจรจา อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายที่สาม (ประชาสังคม หรือ องค์กรจากต่างประเทศ) จะไม่ได้มีบทบาทมากบนโต๊ะเจรจาในช่วงนี้  แต่พวกเขาก็เป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้ง  หากการเจรจาดำเนินไปอย่างน่าพอใจ ประเด็นที่สำคัญถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้งก็จะเป็นการง่ายในการบรรลุข้อตกลงอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อตกลงที่สมบูรณ์ในอนาคต ซึ่งก็จะตามมาด้วยการนำข้อตกลงไปปฏิบัติ รวมไปถึงการคลี่คลายสิ่งที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในขั้นตอนสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ ทั่วโลกมักมีความแตกต่างกัน บางแห่งสามารถก่อรูปได้ดีในช่วงเริ่มต้น บางแห่งมักหยุดชะงักและอยู่ในวิกฤติการณ์ของความขัดแย้ง บางที่ไม่ได้รวมเอากลุ่มติดอาวุธเข้าในการเจรจาด้วย กระบวนการสันติภาพจึงต้องอาศัยความพยายามหลายรูปแบบเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางอาวุธและที่ไม่ใช่อยู่ในห้วงเวลาของความขัดแย้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อหาหรือเป้าหมายของกระบวนการสันติภาพที่อาจมีหลากหลาย เช่น การวางอาวุธ  การแบ่งสรรอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร  ความต้องการประชาธิปไตย สันติภาพ  การเคารพสิทธิ  การปกครองตนเอง หรือการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้านดินแดน

จากสถิติจาก Yearbook on Peace Processes 2016 พบว่า ในรอบ 35 ปี   ที่เกิดความขัดแย้งในจาก 117 แห่งทั่วโลก พบว่า 40.2 % ความขัดแย้งจบลงด้วยข้อตกลงสันติภาพ แต่อีก 47.9 % ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา แต่ในส่วนของความขัดแย้งที่ยุติ  77 % จบลงด้วยการเจรจาสันติภาพ มีเพียง  16.4%  จบด้วยชัยชนะทางการทหารเหนืออีกฝ่าย นั่นแสดงให้เห็นว่า การเจรจาสันติภาพยังถือเป็นแนวทางในการแสวงหาทางออกให้กับความขัดแย้ง 

หากเราพิจารณาเพียงขั้นตอนทั่วไปของของกระบวนการสันติภาพอาจทำให้มองไม่เห็นความพยายามอื่นๆ  จากพื้นที่ความขัดแย้งในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งรุนแรงจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่  ซึ่งในห้วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมานี้มีกระบวนการสันติภาพจากพื้นที่ความขัดแย้งที่แสดงให้เห็นถึงการการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการสันติภาพที่เราอาจเรียนรู้และเป็นแรงบันดาลใจในการคิดค้นหาวิธีการหรือความพยายามต่างๆ ในการคลี่คลายความขัดแย้งที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของท้องถิ่น บทเรียนการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพของโคลอมเบียนั้นค่อนข้างมีความโดดเด่น รวมทั้งเมียนมาร์ และซูดาน ในปีที่ผ่านมาล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการรับฟังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรุนแรง และเสียงของผู้อำนาจในกระบวนการสันติภาพมากขึ้น

 

โคลอมเบีย

 

การแยกแยะความคาดหวังจากโต๊ะเจรจาจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ควบคู่ไปการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพที่เป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ หลังจากที่รัฐบาลและขบวนการติดอาวุธ FARC ได้ผ่านการเจรจามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งมีวาระที่จำกัดแค่การยุติความขัดแย้งทางอาวุธ  (conflict termination) แต่ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2012   กระบวนการเจรจาสันติภาพได้ก่อรูปยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การรวมทุกฝ่าย หลายๆ ตัวแสดง เพื่อหาข้อเสนอทางนโยบายที่เป็นใจกลางของปัญหาซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวคือ การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (conflict transformation)

เหยื่อจากความรุนแรงเข้ามาเป็นศูนย์กลางของการพูดคุยมากขึ้น

ในการเจราเจรจาสันติภาพ คณะเจรจาทั้งสองฝ่ายได้เชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเข้ามารับฟังการพูดคุยสันติภาพ และกำหนดกรอบร่วมกันในการเดินหน้าความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านที่ครอบคลุมถึงประเด็นการเข้าถึงความจริง และความยุติธรรมของเหยื่อ การฟื้นฟูและการประกันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะไม่เกิดขึ้นอีก

การให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้ามาเป็นศูนย์กลางของการพูดคุยดังกล่าวเป็นผลจากความพยายามของนักสิทธิมนุษยชนในการยืนยันหลักการการปกป้องพลเรือนความรุนแรงมาโดยตลอด และความริเริ่มของรัฐบาลตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี อัลบาโร อูริเบ ในการจัดตั้งศูนย์ National Centre for Historical Memory ( ศูนย์แห่งความทรงจำทางประวัติศาสตร์)  เพื่อฟื้นฟูเหยื่อที่ได้รับผลกระทบและให้สาธารณะชนเข้าถึงความจริง ทั้งนี้ในปี 2013 ศูนย์ดังกล่าว ได้ออกรายงาน 20 ปีของความขัดแย้งทางอาวุธ  ที่ยืนยันถึงตัวเลขของคนที่ได้รับผลกระทบจากรูปแบบของความรุนแรงต่างๆ ในความขัดแย้งและความรับผิดชอบของผู้ติดอาวุธที่ควรมีต่อสังคม ในปี 2011 มีการประกาศใช้กฎหมายที่เรียกว่า The Law on Victims and Land Restitution  (กฎหมายของเหยื่อและฟื้นฟูที่ดิน)  ที่นำมาใช้ก่อนความขัดแย้งจะจบลง

ต่อมาในปี 2014  ถือเป็นครั้งแรกและเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้พบกับคณะเจรจา  ผลจากการพบปะทำให้เกิดข้อตกลงในการจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อสันติภาพ (Special Jurisdiction for Peace) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการพิจารณาคดีในอาฟริกาใต้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบตามระดับสิทธิที่เหยื่อจากความรุนแรงควรได้รับ และนำผู้กระทำผิดทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งฝ่ายรัฐและกลุ่มติดอาวุธ โดยเป็นการตีความแนวทางสิทธิมนุษยชนแบบดั้งเดิมที่ไม่ได้จำกัดตัวแสดงของรัฐเท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการสันติภาพโคลอมเบียได้พยายามสร้างแนวทางใหม่ในประเด็นความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านที่พยายายามบรรลุการแบ่งขั้วระหว่างยุติธรรมกับสันติภาพ กล่าวคือ ไม่มีสันติภาพโดยปราศจากสิทธิมนุษยชนและไม่มีสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากสันติภาพ

 

ภาพประกอบ 1:  โบโกตา, โคลอมเบีย - ญาติของผู้สูญเสีย เรียกร้องรัฐและกลุ่มขบวนการ FARC รับฟังเสียงของพวกเขาในกระบวนการสันติภาพ (ที่มา:  https://panampost.com/belen-marty/2014/07/07/farc-victims-demand-voice-in-colombian-peace-process/)

 

การหยิบยกปัญหาการพัฒนาและการลักลอบค้ายาเสพติด

ปัญหาจากการพัฒนาและการลักลอบค้ายาเสพคิดเป็นหนึ่งในใจกลางความขัดแย้งทั่วโลก ก่อนหน้านี้ปัญหาที่ทำกินและการพัฒนาในชนบทถูกปฏิรูปแบ่งขั้วโดยค่ายคอมมิวนิสต์และค่ายทุนนิยมเสรี อีกทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้โคลอมเบียเกิดความไม่เท่าเทียมสูงที่สุดในโลกและเป็นโมเดลด้านการพัฒนาที่ล้มเหลว ข้อตกลงแรกระหว่างรัฐบาลโคลอมเบียและขบวนการ FARC คือการปฏิรูปที่ดินที่พยายามให้ความเคารพและสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนทางการงานเงินทางเทคนิคแก่เกษตรกรรายย่อยๆ และให้โอกาสในการพัฒนาแก่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

นอกจากนี้ประเด็นการผลิตพืชผลที่ผิดกฎหมาย (เช่น กัญชา หรือฝิ่น)  โคลอมเบียเป็นประเทศที่ส่งออกโคเคอีนรายใหญ่ที่สุดของโลก และผลประโยชน์จากธุรกิจนี้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกับแหล่งรายได้ของขบวนการติดอาวุธต่างๆ และเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ผลประโยชน์จากการปกป้องเส้นทางส่งออกทรัพยากรที่มีมูลค่านี้  ข้อตกลงสันติภาพในประเด็นนี้คือ การร่วมมือชุมชนระหว่างประเทศในการดำเนินนโยบายว่าด้วยการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยพยายามจำกัดพืชผลให้ลงโทษกับคนที่ปลูกพืชผลเหล่านี้ ซึ่งอิงอยู่กับวิธีการที่เป็นจริง  ครอบคลุม  มีการลำดับความสำคัญในการลดความต้องการ ทั้งนี้โคลอมเบียพยายามเป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลงนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้ชุมชนระหว่างประเทศยอมรับวิธีการดังกล่าวไปใช้

การตั้งอนุกรรมการเพศสภาวะเพื่อตรวจสอบข้อตกลง

เนื่องด้วยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติให้ประเทศต่างๆ พยายามสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนสันติภาพมากขึ้น  ในปี 2014 รัฐบาลโคลอมเบียและ FARC ได้ตกลงร่วมกันในการตั้งคณะอนุกรรมการเพศสภาวะเพื่อทบทวนเอกสารต่างๆ ในกระบวนการสันติภาพ ที่อาจมีภาษา มุมมอง ที่ค่อนข้างอ่อนไหวและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาวะในกระบวนการเจรจาและข้อตกลงสันติภาพ 

อาจกล่าวได้ว่า โคลอมเบียเป็นประเทศแรกที่มีการหยิบยกสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน (LGBTI)เข้ามาสู่การเจรจาสันติภาพ  นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการยังสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมบนโต๊ะเจรจา ซึ่งมีตัวแทนผู้หญิงจากขบวนการ FARC และฝั่งรัฐบาลได้รับเลือกตั้งเป็นหนึ่งในทีมเจรจา และทีมคณะทำงานทางเทคนิคของทั้งสองฝั่ง ในขณะที่ฝั่งขบวนการ FARC ได้พยายามสนับสนุนศักยภาพและความเท่าเทียมทางเพศ โดยยกระดับยุทธศาสตร์การสื่อสารขององค์กรไปสู่สื่อใหม่ เช่น เฟสบุค หรือทวีตเตอร์  เพื่อสื่อสารกับกลุ่มผู้หญิงที่เป็นกองกำลังของพวกเขา ซึ่งมีจำนวนกว่า 40 %  อีกทั้งยังมีการรณรงค์การปกป้องการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเพื่อสื่อสารไปสู่สาธารณะในวงกว้าง เช่น การใช้เวทีสาธารณะ เช่น  Women’s Summit ในปี 2013 เพื่อประเมินวาระการเจรจาและจัดทำข้อเสนอต่างๆ  บนโต๊ะเจรจา

การเตรียมการนำไปนโยบายไปปฏิบัติใช้ก่อนการเจรจาจะบรรลุผล

การเตรียมนโยบายเพื่อการนำไปใช้เกิดขึ้นหลายระดับ ก่อนที่จะมีการเซ็นข้อตกลงสันติภาพ  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองและสังคมต่างมีการพูดถึงความท้าทายหลังจากมีข้อตกลงสันติภาพ เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของโคลอมเบียและที่อื่นๆ ได้บ่งชี้ว่าความรุนแรงไม่ได้จบลงแม้มีข้อตกลง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวคิด “territorial peace”  หรือสันติภาพเชิงพื้นที่จากฝั่งของรัฐบาลเพื่อทำงานกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ต่อมาในปี 2015  ขบวนการ FARC ได้นำเสนอ แนวคิดเขตสันติภาพหรือ terrepaz  เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นตัวแบบในการพัฒนาชนบท  ซึ่งการมีข้อเสนอหรือข้อถกเถียงถึงการนำข้อตกลงมาปฏิบัติจะนำไปสู่กระบวนการสันติภาพในเชิงสังคมและเศรษฐกิจที่ลึกลงไปในระดับท้องถิ่น 

นอกจากนี้ การเจรจาสันติภาพสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อมั่นใจว่าจะมีการตอบสนองจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งแม้จะมีการแบ่งขั้วทางการเมือง แต่รัฐสภาของโคลัมเบียสามารถที่ผ่านกฎหมายหลายฉบับที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ   ที่โดดเด่นคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อและการปฏิรูปที่ดินในปี 2011 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติในปี 2014 และ2015  กฎหมายที่เกี่ยวกับการวางอาวุธของ FARC ปี 2016  กฎหมายที่ป้องกันความล่าช้าในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพ ปี 2016  นอกจากนี้รัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ของโคลอมเบียเห็นชอบร่วมกันในการตั้งคณะกรรมการสันติภาพหรือ (Peace Commissions) เพื่อสร้างเวทีสาธารณะทั่วประเทศ

 

เมียนมาร์

 

ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2015  มีความสำเร็จในกระบวนการสันติภาพของเมียนมาร์เกิดขึ้นโดยมีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยทั้ง 8 กลุ่ม ขณะที่อีก 10 กลุ่มยังไม่ได้มีการเซ็นข้อตกลงหยุดยิง  อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกระบวนการสันติภาพเมียนมาร์ยังอยู่ในช่วงวิกฤติ  แต่ยังมีความพยายามของรัฐบาลปัจจุบันในการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพโดยรวมทุกฝ่ายเข้ามาร่วมในกระบวนการสันติภาพ

ในการประชุม  Union Peace Conference  ช่วงเดือนมกราคม ปี 2016 อองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายรัฐบาล ได้ ประกาศว่าการบรรลุสันติภาพในช่วงเวลารัฐบาลของเธอเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกที่มีพื้นฐานจิตวิญญาณของสนธิสัญญาปางหลวง  (การจัดประชุมของนายพลอองซาน  ก่อนการประกาศเอกราชของเมียนมาร์ในปี 1947) เพื่อหยิบยกปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งทางอาวุธ  อีกทั้งเธอได้กล่าวหลังจากนั้นอีกว่าจะเป็นผู้นำกระบวนการสันติภาพด้วยตัวเธอเอง 

ในช่วงเดือนเมษายน 2016 รัฐบาลได้ประกาศว่าจะมีการจัดประชุมปางหลวงศตวรรษที่  21  ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน กระนั้น การประกาศถึงการประชุมใหญ่ครั้งนี้ ทำให้ผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างๆ ค่อนข้างแปลกใจกับรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่ได้มีการปรึกษาหารือและไม่ได้มีการให้รายละเอียดแก่พวกเขามาก่อน เป็นเพียงการผลักดันทางการเมืองจากฝั่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เนื้อหาในการประชุมหลักๆ จะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศกับการเจรจาหยุดยิงมากกว่าการเจรจาทางการเมือง สิ่งที่ชนกลุ่มน้อยกังวลคือการตัดประเด็นต่างๆ ที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาก่อนหน้านี้  เช่น นโยบายภาษา และประเด็นทางสังคมต่างๆ   อีกทั้งการประชุมดังกล่าวยังไม่สามารถเข้าถึงภาคประชาสังคมหรือเสียงเล็กเสียงน้อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเยาวชน  

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การประเมินถึงช่วงเวลาและโอกาสเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธดูไม่ได้มีโอกาสที่ดีกว่านี้ ในการบรรลุการเจรจาทางการเมือง ในขณะที่อองซาน ซูจีได้พยายามเน้นย้ำและเปิดช่องในการแก้ไขปัญหาด้วยการรวมเป็นสหพันธรัฐและประชาธิปไตย ขณะที่รัฐบาลก็อาจจะต้องพิจารณากรอบของการจัดประชุมสันติภาพที่มีความยืดหยุ่น การสร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่เป็นผู้นำในการเจรจาที่กำลังดำเนินฝ่ายเดียว จำเป็นต้องคำนึงถึงเสียงของภาคประชาสังคม ผู้หญิง และเยาวชน ซึ่งเป็นเสียงที่เข้มแข็งและสำคัญจำเป็นในกระบวนการสันติภาพ

 

ภาพประกอบ 2: ผู้นำชนกลุ่มน้อยในพิธีเปิดการประชุมสันติภาพ  มกราคม 2017 ที่เมือง เนปิดอว์ เมียนมาร์ (ที่มา: http://www.rfa.org/english/news/myanmar/myanmars-panglong-peace-conference-to-include-all-armed-ethnic-groups-07052016152026.html)

 

ซูดาน

 

เดือนมีนาคม 2016 รัฐบาลซูดานมีแผนปฏิบัติการในการปกป้องเด็กจากความรุนแรงในการใช้อาวุธ โดยได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับองค์กรสหประชาชาติในการปกป้องการรับสมัครเด็กและการใช้เด็กในกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลซูดานในความขัดแย้งทางอาวุธ  ผู้แทนของรัฐบาลยืนยันถึงความต้องการที่จะสนับสนุนและปกป้องสิทธิของเด็กจากความขัดแย้งทางอาวุธและการอพยพย้ายถิ่นมากขึ้นกว่าเดิม แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสหประชาชาติ

แผนปฏิบัติการดังกล่าวเป็นชุดของมาตรการในการปกป้องเด็กที่ได้รับผลจากความขัดแย้งทางอาวุธ รวมทั้งการรับสมัครเข้ากองกำลังที่ใช้ในกิจการความมั่นคงของประเทศ นอกนี้รัฐบาลซูดานยังได้ให้คำมั่นสัญญาในการที่จะแต่งตั้ง ตำแหน่งสำคัญต่างๆ เพื่อร่วมมือในการนำแผนการปฏิบัติการไปใช้ พร้อมร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ ในการติดตามและการใช้แผนปฏิบัติการดังกล่าว  อนึ่ง ในปัจจุบันนั้นมีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ลงนามในการทำงานแผนปฏิบัติการของสหประชาชาติในการยุติและปกป้องการใช้เด็กในกองกำลังความมั่นคง  ซึ่งประเทศที่มีการตกลงใช้แผนปฏิบัติการดังกล่าวจะถูกลบออกจากรายงานของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยเด็กและความขัดแย้งทางอาวุธ

ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ในเดือนกันยายน รัฐบาลซูดานได้ปล่อยตัวเด็กจำนวน 21 คน ที่ถูกกักขังหลังจากเข้าร่วมต่อสู้กับขบวนการติดอาวุธ JEM  (Justice and Equality Movement ) เมื่อสองปีก่อน โดยการประกาศนี้เกิดขึ้นในขณะที่การเฉลิมฉลองการจัดทำเอกสารสำคัญเพื่อสันติภาพในดาร์ฟู

อย่างไรก็ตาม กลุ่มกบฏปฏิเสธว่าเด็กๆ เหล่านี้ไม่ใช่กองกำลังของตนเอง เนื่องจากพวกเขาเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการห้ามใช้เด็กเป็นกองกำลังติดอาวุธ ในขณะที่ตัวแทนสหประชาชาติในการรักษาสันติภาพในดาฟูร์กล่าวว่า “ขอต้อนรับการปลดปล่อยเด็กในฐานะบุคคลสำคัญและขอร้องให้ทุกๆ ฝ่ายในการหยุดการใช้ทหารเด็ก” กลุ่มเด็กที่ได้รับการปล่อยตัวจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลและการสนับสนุนจากสหประชาชาติ เพื่อกลับคืนสู่สังคมและครอบครัว

ภาพประกอบ 3: รัฐบาลซูดานลงนามข้อตกลงกับองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการป้องการใช้เด็กในกองกำลังความมั่นคง ที่เมืองคาทูม ซูดาน (ที่มา:  http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=53558#.WH3WexuLTIU)

 

ฟิลิปปินส์

 

ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดี เบนนิกโน อากิโน กระบวนการสันติภาพมินดาเนาได้เดินทางมาถึงช่วงเวลาของการทำให้ข้อตกลงสันติภาพมีผลในทางกฎหมาย โดยคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร  ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระได้เสนอร่างกฎหมายต่อประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เพื่อยื่นต่อรัฐสภา กระนั้นรัฐสภาไม่เห็นชอบที่จะรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2016 ที่ประธานาธิบดี โรดีโก้ ดูเตอร์เต มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร (Bangsamoro Transition Commission) จากเดิม 15 คน เป็น 21 คน  ซึ่งคณะกรรมการที่ครอบคลุมทั้งฝ่าย MNLF  MILF และชนพื้นเมือง

คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร มีหน้าที่ที่จะทำให้ข้อตกลงและข้อกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับสันติภาพ แปลงเปลี่ยนมาเป็น พ.ร.บ. บังซาโมโร  โดยพวกเขามีหน้าที่ส่งต่อร่างกฎหมายดังกล่าวให้กับสภาที่ปรึกษาบังซาโมโรเพื่อทบทวนถกเถียงร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาใหม่ต่อรัฐสภา ซึ่งจะต้องไม่ช้าไปกว่าวันที่ 27 กรกฎาคม  ปี 2017 นี้การตั้งคณะกรรมการชุดใหม่นี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมของคณะกรรมการเพื่อการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งตกลงร่วมกันในการเพิ่มองค์คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร จาก 15 คน เป็น  21 คน ไอรีน ซานดิเอโก้ ประธานคณะกรรมการเพื่อการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพกล่าวว่า Muslimin Sema ซึ่งเป็นปีกหนึ่งของ MNLF ได้ส่งตัวแทนเข้าเป็นคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโรด้วยกัน 3 คนด้วยกัน การเข้ามาร่วมทำงานด้วยกันจากฝ่ายต่างๆ เป็นการหลอมรวมทำให้สมาชิกของ MILF และ MNLF ให้เข้ามาร่วมทำงานสร้างสันติภาพ คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโรชุดใหม่จะทำงานอ้างอิงกับกฎหมายบังซาโมโรฉบับเดิมในการร่างกฎหมายฉบับใหม่ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการอิสระเหล่านี้

แนวทางการตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโรเป็นไปตามกรอบข้อตกลงบังซาโมโร เมื่อปี 2012 (Framework Agreement on the Bangsamoro)  โดยคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโรจะประกอบด้วยตัวแทนที่ได้รับการเสนอชื่อ 11  คน จาก MILF และ 10 คนจากฝั่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งจะกรุยทางไปสู่การสร้างกฎหมายใหม่ตามข้อตกลงฉบับครอบคลุมสมบูรณ์บังซาโมโร หรือ CAB  (Comprehensive Agreement on the Bangsamoro (CAB)  เพื่อแทนที่กฎหมายเขตปกครองพิเศษมุสลิมมินดาเนา ARMM (Autonomous Region in Muslim Mindanao (ARMM))  อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายของ MNLF  ก็กำลังทำงานผลักดันข้อเสนอทางการเมืองที่เป็นไปตามข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ Final Peace Agreement 1996 หรือ FPA ซึ่งเป็นไปตามวาระทางการเมืองของ MNLF  โดยพวกเขาต้องการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีความสอดคล้องกับข้อตกลงสันติภาพเมื่อปี 1996

หากร่างกฎหมายบังซาโมโรฉบับใหม่ได้รับการรับรองจากรัฐสภา ผ่านการให้สัตยาบันและการลงประชามติ  กฎหมายบังซาโมโรจะกรุยทางให้มีการจัดตั้งเขตปกครองตนเองบังซาโมโรที่ให้อำนาจทางการเมืองและงบประมาณเพิ่มมากขึ้น

ภาพประกอบ 4 : ทำเนียบประธานาธิบดี Malacañan ประธานาธิบ โรดิโก้ ดูเตอร์เต  เซ็นคำสั่งทางบริหารให้มีการปรับคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 2016  (ที่มา: http://www.mindanews.com/peace-process/2017/01/2-months-after-signing-eo-duterte-finally-appoints-btc-members/)

 

รายการอ้างอิง

 

Conciliation Resources/NOREF. Innovations in the Colombian peace process [Online]:http://www.c-r.org/resources/innovations-colombian-peace-process , 2016

International Crisis Group. Myanmar’s Peace Process: Getting to a Political Dialogue [Online]: https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/myanmar/myanmar-s-peace-process-getting-political-dialogue, 2016.

Mindanews. Duterte to sign Eo on new Bangsamoro Transition Commission members this week [Online]: http://www.mindanews.com/peace-process/2016/11/duterte-to-sign-eo-on-new-bangsamoro-transition-commission-members-this-week/, 2016

Mindanews. 2 months after signing Eo Duterte finally appoints BTC members [Online]: http://www.mindanews.com/peace-process/2017/01/2-months-after-signing-eo-duterte-finally-appoints-btc-members/, 2016

Sudan Tribune. Sudan releases 21 child soldiers from Darfur [Online]: http://www.sudantribune.com/spip.php?article60320, 2016.

The School for a Culture of Peace. Yearbook on Peace Processes 2016 [Online]: http://escolapau.uab.es/index.php?option=com_content&view=article&id=533%3Aanuarios-procesos&catid=46&Itemid=66&lang=en, 2016.

United Nations. Sudan Signs Action Plan to Protect Children from Violations in Armed Conflict [Online] https://childrenandarmedconflict.un.org/press-release/sudan-signs-action-plan-to-protect-children-from-violations-in-armed-conflict/, 2016