Skip to main content

หมายเหตุ : จุลสาร SOUTH SEE จัดทำโดยเยาวชนและนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ได้ตระหนักถึงปัญหาความไม่สงบที่กำลังเกิดขึ้น ในฐานะ ประชาชนคนไทย' จึงร่วมกันสร้างสรรค์ "สื่อกลางทางเลือก" เพื่อหวังจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งต่อความรู้และความเข้าใจในความซับซ้อนของปัญหาตลอดจนความซับซ้อนทางวัฒนธรรม ให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง

ก่อนเล่าเรื่อง

"สามจังหวัดชายแดนใต้" คือ คำเรียกขานที่เรามักจะได้ยินได้เห็นอยู่ทุกวันผ่านหน้าจอทีวีและพาดหัวข่าวประจำวัน ซึ่งมักสะท้อนภาพทหาร ตำรวจและนักข่าวที่กำลังปฏิบัติการเพื่อค้นหาหลักฐานจากเศษซากและคราบเลือดบนท้องถนน ท่ามกลางสายตาของกลุ่มคนที่แต่งกายพร้อมผ้าคลุมผมหรือผ้าโสร่งที่กำลังจ้องมองการปฏิบัติการอย่างใจจดใจจ่อ

"สามจังหวัดชายแดนใต้" จึงเปรียบประหนึ่งเป็นคำแทนเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นไปแล้ว

          เราปฏิเสธไม่ได้ว่า  ในฐานะคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งความรุนแรงดังกล่าว การแสวงหาความปลอดภัยในชีวิตและปัจจัยในการอยู่รอดก็อาจเป็นการเพียงพอแล้ว ในขณะที่ภาพเหตุการณ์รุนแรงที่นั่น ยิ่งทำให้ คนนอกพื้นที่ อย่างเรา รู้สึกร่วมกันว่า...โชคดีไม่น้อยที่เราไม่มี ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงอยู่ในที่แห่งนั้น

          เรามีความสุขอยู่ในบ้านของเรา

          หากเราลองมองเพียงว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นเพียงพื้นที่หนึ่งที่ไม่ต่างกับตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ ท้องทุ่งโล่งชายฝั่งโขง ชายทะเลหม่นๆ ที่ภาคตะวันออก หรือดอยสูงลมหนาวทางภาคเหนือ ที่ต่างก็มีชีวิต มีรากเหง้า มีความขัดแย้ง และมีการพูดคุย  การใช้ชีวิตอันแสนธรรมดาๆ ของผู้คนธรรมดาๆ ในที่แห่งนั้นก็ยังกำลังคงดำเนินควบคู่ไปกับความรุนแรงที่ดำรงอยู่

          หากแต่เราได้เห็นและได้สัมผัสหรือไม่?

          ความเข้าใจของเราเป็นผลมาจากภาพความรุนแรงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายกระแส ทั้งจากที่ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทว่าเรื่องธรรมดาๆ ที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ของผู้คนที่นั่นอาจทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หากเพียงแต่เราได้ยินพวกเขาพูดและเข้าใจพวกเขา

          บางครั้ง เรื่องเล่าจากคนในพื้นที่ อาจสะท้อนความจริงได้ดีกว่าข่าวสาร บทวิเคราะห์ หรืองานวิชาการบางชิ้น ไม่เพียงเพราะเขาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เท่านั้น หากแต่เรื่องเล่าจะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเคยเผชิญกับอะไรอยู่

          แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้อาจไม่สามารถซึมซับได้ตามจอทีวีและพาดหัวข่าวประจำวัน

          ความเรียงทั้ง 3 ชิ้น ซึ่งคุณกำลังจะพลิกอ่านต่อไปนี้เป็นของนักศึกษา 3 คน ในวิชาการพัฒนาสังคมมุสลิม (Muslim Society Development) หนึ่งในวิชาเลือกด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี นับเป็นงานเขียนที่สะท้อนความคิด ตัวตน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของเยาวชนในพื้นที่ "สามจังหวัดชายแดนใต้"

          เขาและเธอทั้งสาม ต่างเป็นสมาชิกของของกลุ่มสังคมอันหลากหลายในพื้นที่แห่งนี้  หนึ่งเป็นมลายูมุสลิม หนึ่งเป็นพุทธเชื้อสายจีน และอีกหนึ่งเป็นไทยพุทธ

          กองบรรณาธิการหวังเป็นยิ่งว่า คุณจะได้สัมผัสกับภาพของความจริงของชีวิตที่มีสีสัน สัมพันธภาพในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนไทยพุทธและมุสลิม แม้จะไม่ใช่ข้อมูลสถิติบาดเจ็บและตายอย่างที่คุ้นเคยกัน

          เรื่องเล่าเหล่านี้เปรียบเป็นสายฝนพรำแห่งความเข้าใจที่โปรยปรายลงมาท่ามกลางไฟใต้ที่ลุกโชน และยังไม่รู้ว่าจะมอดลงเมื่อไหร่  

 

 

 

รากเหง้า

"ในหมู่บ้านก็มีประเพณีอย่างหนึ่งที่ต้องทำกันทุกๆ สิ้นเดือน คือจะมีการฉลองเกิดขึ้น โดยทุกคนในหมู่บ้านจะมีการทำอาหารไปที่สนามระหว่างหมู่บ้านของข้าพเจ้ากับหมู่บ้านชาวไทยพุทธ ...วันนั้นทุกคนจะมีความสุขมากที่สุด เนื่องจากถ้าใครมีอะไรก็มีการบอกกล่าวตรงไปตรงมา หลังจากนั้นก็จะมีการขออภัยต่อกัน"

หมู่บ้านของข้าพเจ้ามีชื่อว่า บ้านบาโง

สมัยก่อนมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากปัตตานี ซึ่งมีกลุ่มของผู้นำศาสนาหรือโต๊ะครูปอเนาะที่มีแนวคิดว่าจะต้องสร้างหมู่บ้านและโรงเรียนปอเนาะเพื่อเป็นสถานที่สอนอัลกุรอานกับกีตับ โดยเลือกสถานที่แห่งนี้ ซึ่งนับห่างไกลจากหมู่บ้านอื่นๆ เป็นหลายกิโลเมตรเลยทีเดียว

ผู้นำศาสนาคนนั้นเดินทางมาพร้อมกับชาวบ้านรวม 5 คน ซึ่งเป็นชายชาวไทยมุสลิมทั้งหมด ในจำนวนนี้มีอยู่ 2 คนที่ได้บุกเบิกหาที่ดินเพื่อจะทำสวนและทำนา ส่วนอีก 2 คนที่เหลือเป็นผู้ติดตามของผู้นำศาสนาคนนั้น

พวกเขาได้ฟังเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าและคนแก่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลกูบังปูตะ ที่บอกว่าในเขตพื้นที่นี้ยังไม่มีคนจับจอง

เดิมบริเวณนั้นเป็นป่าไผ่และป่าไม้ทึบ มีต้นไม้ใหญ่ ห่างออกไปอีกหลายกิโลเมตรจึงจะยังมีกระท่อมของชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง

ระยะทางในสมัยนั้นเป็นทางคับแคบหรือทางช้างผ่าน ชาวบ้านที่มาจากปัตตานีมีการจับจองเนื้อที่แล้วมีการสร้างบ้านเรือนลักษณะยกสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร การสร้างบ้านในสมัยนั้นเริ่มต้นอยู่ 2 หลังโดยบริเวณล้อมรอบเต็มไปด้วยป่า 

พวกเขาได้กลับไปยังหมู่บ้านเดิมและพาครอบครัวและญาติพี่น้องเพื่อมาหาเนื้อที่ปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยและทำสวน ต่อมาเมื่อมีข่าวว่าเนื้อที่นี้จะสร้างเป็นหมู่บ้านก็ได้มีชาวบ้านกลุ่มอื่นอพยพเข้าตั้งถิ่นฐาน ชาวบ้านกลุ่มใหม่ๆ ต่างสร้างบ้านเรือนของตัวเอง ส่วนผู้นำศาสนาได้จัดให้มีการประชุมกับชาวบ้านกลุ่มนี้ โดยมีแนวคิดว่าเราจะต้องสร้างมัสยิดเพื่อจะทำการละหมาดหรือสร้างเป็นจุดศูนย์กลางของหมู่บ้าน

ลักษณะของมัสยิดจะสร้างด้วยไม้ทั้งหลังและมีการแกะสลักลายที่เหมือนกับมัสยิดที่หมู่บ้านเดิมที่เคยอาศัยมาก่อน ส่วนหลังคาจะมีการทำแบบกระจงและมีรูปดาวกับพระจันทร์เสี้ยวประดับอยู่

ความเป็นอยู่ของชาวบ้านสมัยนั้นพอตกยามเย็นก็มีสัตว์นานาชนิด เช่น หมูป่า เสือ ช้าง เป็นต้น สัตว์เหล่านี้ได้ออกมาหาอาหารตอนกลางคืน จึงทำให้ชาวบ้านไม่กล้าออกจากเรือนยามค่ำคืน ชาวบ้านต้องอยู่อย่างเงียบเชียบเพราะว่าห่วงชีวิตตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

ต่อมาหมู่บ้านก็เริ่มขยายตัวมากยิ่งขึ้น สัตว์ต่างๆ ก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ จนในที่สุดไม่มีสัตว์ให้เห็นอีก

หลังจากนั้นก็เริ่มมีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาบุกเบิกที่ดินอยู่ ห่างจากหมู่บ้านของข้าพเจ้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร  ชาวบ้านกลุ่มนั้นมีด้วยกัน 10 คน ซึ่งต่างก็นับถือศาสนาพุทธ เริ่มสร้างบ้านและทำสวนและยังได้กลับไปพาญาติพี่น้องของตนมาอยู่ด้วย จนกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ หลังจากนั้นชาวบ้านกลุ่มนั้นได้เริ่มสร้างวัดเพื่อเป็นที่รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน

ชาวบ้านสองหมู่บ้านนี้ไม่มีการทะเลาะกันเลย

ในหมู่บ้านไทยมุสลิม ผู้นำศาสนาก็เริ่มมีการสร้างปอเนาะใกล้กับมัสยิดโดยมีการร่วมมือของคนในหมู่บ้านจนแล้วเสร็จ เนื้อหาที่มีการเรียนการสอนก็มีเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานและการใช้ชีวิตตามหลักคำสอนของศาสดา จะเปิดการสอนการเรียนตั้งแต่ระดับชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 10 โดยนักเรียนมีการแต่งกายชุดนักเรียน เด็กผู้ชายแต่งกายใส่ชุด "โต๊ะบาลางอ"(1) ส่วนเด็กผู้หญิงใส่ชุด "กูรง"(2)

นักเรียนส่วนมากมาจากต่างหมู่บ้านที่อยู่ละแวกใกล้เคียงกัน พ่อแม่ของพวกเขามีอาชีพกรีดยาง และค้าขาย บ้างฐานะปานกลาง บางคนก็ฐานะยากจน เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มักนำอาหารกลางวันมาทานที่โรงเรียน อย่างเช่น ข้าวกับไข่ดาว ข้าวกับบูดูปลาทอด ฯลฯ

ไม่นานต่อจากนั้น ภาครัฐออกกฎเกณฑ์ว่าโรงเรียนทุกแห่งจะต้องจดทะเบียนสถานศึกษาเพื่อที่รัฐจะได้จัดงบประมาณให้ ในขณะเดียวกันโรงเรียนก็จะต้องจัดการเรียนการสอนทั้งสามัญและศาสนาพร้อมกัน

ส่วนมัสยิดหลังเก่าก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซม เสริมด้วยปูนและทำได้ดีทีเดียว แต่ก็มีความขัดแย้งตรงที่มีชาวบ้านนับถือซุนนะห์(3) ไม่ตรงกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหลังได้ไปก่อสร้างมัสยิดขึ้นมาอีกหลัง

มัสยิดหลังที่ 2 สร้างบนเนื้อที่ที่มีคนบริจาคให้ ตอนแรกก็มีขนาดไม่ค่อยใหญ่นัก แต่พอนานเข้าได้ก็มีการขยับขยายจนทำให้มัสยิดมีขนาดกว้างมากขึ้น การขึ้นมัสยิดใหม่ก็มีงานเลี้ยงอาหารอีกด้วย

แม้จะสร้างเป็นมัสยิดขึ้นมาอีกหลัง แต่ความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั้ง 2 กลุ่ม ก็ยังอยู่อย่างสามัคคีและปรองดองกัน จะต่างกันตรงที่ว่าเมื่อละหมาดซูโบะห์(4) จะมีการยกมือขอดุอาอ์(5) ระหว่างละหมาดแต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ทำอย่างนั้น

ชาวบ้านที่นับถือในแต่ละซุนนะห์ก็ไปละหมาดมัสยิดที่ตนนับถือซุนนะห์นั้นๆ  แต่ความเป็นมุสลิมก็ยังรักใคร่เหมือนเดิม

ไม่มีการเกลียดชังกัน

พอเข้าช่วงปอซอ(6) ก็จะมีการเปิดบวช(7) พร้อมๆ กัน โดยชาวบ้านแต่ละคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจะนำของหวานหรืออาหารมารับประทานที่มัสยิด ส่วนผู้หญิงจะเปิดบวชที่บ้าน หลังละหมาดอีซอ(8) ก็จะมีการละหมาดตาราแวะห์(9) ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กๆ ก็จะละหมาดพร้อมกัน

หลังละหมาดนี้เอง เด็กๆ ทั้งผู้ใหญ่ดูเอิบอิ่มด้วยกันทั้งนั้นมีความสุขกันทุกคน เพราะมีการจัดเลี้ยงของหวาน ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือคนมุสลิมก็ได้มีการแบ่งอาหารด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านพุทธกับมุสลิมก็ไปมาหาสู่อย่างฉันท์พี่ฉันท์น้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อมีประเพณีมีการทำอาซูรอ(10) ชาวบ้านในหมู่บ้านยินดีนัก มีการเก็บเงินของแต่ละคนเพื่อที่จะรวบรวมทำเป็นขนมอาซูรอ ชาวบ้านมุสลิมทั้ง 2 กลุ่มมีการช่วยเหลือกัน รวมทั้งที่เป็นพุทธด้วย

ชาวบ้านจะกวนอาซูรอในกระทะใบใหญ่  ผู้ชายจะทำหน้าที่กวน ส่วนผู้หญิงก็จะทำกับข้าว  เมื่อขนมอาซูรอสุกได้ที่ เด็กๆ พากันเข้าแถวถือกะลาคนละใบ บางคนไปหากะลา 3 ใบ คนที่กินเยอะๆ ก็มักหากะลาหลายๆ ใบมาใส่ ในวันทำอาซูรอชาวบ้านต่างมีความสุขยินดีปรีดากันทุกคน 

เพราะเราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

ส่วนวันฮารีรายอฟิตรี(11) ชาวบ้านจะทำตูปะ(12) ตั้งแต่คืนก่อนหน้า บ้างก็เป็นตูปะใบตอง หรือตูปะใบปาละ(13) หรือบางบ้านก็ทำสเต็กเนื้อ โรตี และขนมจีน

แต่ที่บ้านของผมทำก๋วยเตี๋ยว โรตี หรือไม่ก็ขนมจีน ในหมู่บ้านแห่งนี้ จึงมีแค่บ้านของผมเท่านั้นที่ทำก๋วยเตี๋ยวหลอดในช่วงวันฮารีรายอ ผู้คนจะมาที่บ้านเยอะเพราะไม่มีบ้านไหนทำก๋วยเตี๋ยวเลย

บ้านผมจึงครื้นเครงเป็นพิเศษ ทั้งเครือญาติและเพื่อนบ้านใกล้เคียง

วันฮารีรายอจะมีทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่แต่งตัวใส่ชุดใหม่ๆ ด้วยกันทั้งนั้น แล้วไปละหมาดที่มัสยิดพร้อมๆ กัน เมื่อแล้วเสร็จจากละหมาดก็ได้มีการแจกเงินให้กับเด็กๆ  พวกเขาจะมีความสุขมากที่ได้เงิน ถึงจะไม่มากแต่เด็กๆ เหล่านี้ก็มีความภูมิใจ แต่ละคนจะเอาเงินออกมานับว่าตัวเองได้เท่าไหร่ มีการแจกไอศกรีมและขนมด้วยเหมือนกัน ทั้งหมู่บ้านมีความสุขกันทั้งนั้นในวันฮารีรายอ

ส่วนผมเองก็ไม่ค่อยได้ไปไหนมากนักในวันนี้ ส่วนใหญ่จะไปบ้านญาติ

ต่อมาถึงวันรายออีดิลอัฎฮา(14) ซึ่งเป็นวันรอยอที่ต้องเชือดวัว แต่ละบ้านบางคนก็เชือด บางคนก็ไม่เชือด ส่วนคนที่เชือดจะนำเนื้อมาแบ่งให้กับบ้านที่ไม่ได้มีการเชือด เมื่อมีการจัดเลี้ยงอาหารที่บ้านของแต่ละคน ได้เชิญชาวบ้านไปรับประทานอาหารด้วย ซึ่งผมก็มักจะไปกับพ่อ บางทีเขาก็ให้แกงหรือเนื้อสดกลับมาด้วย

ผมกินจนอิ่มมากเลย

พวกเราในหมู่บ้านมีความสุขมากกับวันฮารีรายอ

เมื่อผู้นำศาสนาหรือโต๊ะครูที่มีอายุมากเสียชีวิตแล้ว ลูกๆ ของโต๊ะครูไม่มีใครบริหารสถานศึกษา เพราะลูกๆ บางคนก็เดินทางไปศึกษาต่างประเทศ ทำให้โรงเรียนหยุดชะงักจนล่มสลายในที่สุด

และถูกลืมไป ประมาณ 10 ปี

ในหมู่บ้านก็มีประเพณีอย่างหนึ่งที่ต้องทำกันทุกๆ สิ้นเดือน คือจะมีการฉลองเกิดขึ้น โดยทุกคนในหมู่บ้านจะมีการทำอาหารไปที่สนามระหว่างหมู่บ้านของข้าพเจ้ากับหมู่บ้านชาวไทยพุทธ

วันนั้นทุกคนจะมีความสุขมากที่สุด เนื่องจากถ้าใครมีอะไรก็มีการบอกกล่าวตรงไปตรงมา หลังจากนั้นก็จะมีการขออภัยต่อกัน

ต่อมาเมื่อมีประชากรมากยิ่งขึ้น ก็เริ่มมีการแตกเป็นหมู่บ้านต่างๆ กันอย่างเช่น บ้านบ้าโงบาแด บ้านบ้าโงจีนอ บ้านกูบังปูตะ

ผู้คนในหมู่บ้านจะมีประเพณีที่ไม่ต่างกันมากนัก เพราะต่างมีที่มาจากแหล่งเดียวกันในอดีต แต่เมื่อการคมนาคมและสื่อเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ก็เลยทำให้การดำรงชีวิตในหมู่บ้านมีความแตกต่างจากอดีตมาก 

ประเพณีต่างๆ ก็เริ่ม หายไปจนแทบจะไม่เหลืออะไร

แม้ยังคงเหลือประเพณีการกวนอาหารว่างอยู่ แต่ความเป็นอยู่วัยรุ่นในหมู่บ้านก็เปลี่ยนไป ในอดีตชายหญิงจะไม่อยู่กันสองต่อสองเพราะเป็นสิ่งที่ศาสนาห้าม 

แต่เดี๋ยวนี้คนไม่คิดอะไร 

เขาจะอยู่ด้วยกันโดยไม่คิดว่าผลที่ตามมาเป็นปัญหามากมาย เช่น  การถูกทำร้าย เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ส่วนมากเกิดจากหนุ่มสาวมีการแต่งตัวอย่างไม่มิดชิด จนทำให้คนต่างหมู่บ้านคิดว่าปัญหามาจากการที่ไม่มีการสอนศาสนาในหมู่บ้าน

จนทำให้ชาวบ้านร่วมกันประชุมเพื่อให้มีการจัดตั้งโรงเรียนตาดีกา(15) สำหรับสอนเด็กเล็ก จนปัญหาที่เคยมีมาเริ่มหายไปเรื่อยๆ

แต่ต่อมาก็เริ่มมีปัญหาใหม่ เมื่อมีการก่อความไม่สงบ ทั้งเกิดการเผาโรงเรียนและฆ่าประชาชน ทำให้เกิดความห่างกันระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิม ต่างฝ่ายต่างมีการกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กระทำ

เลยก็มองหน้ากันไม่ติด

          จนนำไปสู่การเป็นเพื่อนไม่ได้ มีบางพวกเข้าใจก็ไม่มีปัญหา ส่วนอีกพวกที่ไม่เข้าใจก็จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างกัน

ยอมรับ

"ผมจำฝังใจและคิดเสมอว่า ทำไมเรายอมรับเขาได้ แต่ทำไมบางคนบางส่วนจึงยอมรับเราไม่ได้"

          ผมเกิดที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในชุมชนที่มีไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยความที่เป็นคนต่างศาสนิก ครอบครัวของผมสอนให้รู้จักการวางตัวให้เข้ากับมุสลิมเป็นอย่างดี

ตอนอยู่ที่เบตง ผมมีเพื่อนที่เป็นมุสลิมไม่น้อย  เวลามีประเพณีต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นวันรายอหรือพิธีเข้าสุนัต เพื่อนมุสลิมก็ชวนผมไปที่บ้านเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน และด้วยความที่ผมเป็นคนเชื้อสายจีน เมื่อมีประเพณีของชาวจีน ทั้งวันเชงเม้งและวันตรุษจีน ทางผมก็จะชวนเพื่อนมุสลิมมาบ้านเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน

อย่างเป็นกันเองโดยไม่ถือตัว

มุสลิมในแถบอำเภอเบตงมีการปฏิบัติตามหลักของศาสนาอิสลาม บางคนจะคลุมผ้า แต่อีกบางคนก็ไม่คลุมผม เพื่อนผมก็บอกมาว่าการจะคลุมผมหรือไม่ขึ้นอยู่กับจิตใจของเรา ถ้าเกิดคลุมแล้วมีจิตใจที่ไม่ดีแล้วจะคลุมทำไม เพราะการกระทำทุกอย่างอยู่ที่จิตใจ

มุสลิมที่บ้านผมจะพูดภาษาไทยเป็นหลักเพราะถือว่าเป็นภาษาราชการ ภาษามลายูอาจจะใช้กับคนที่ไม่ได้รับการศึกษาสูงหรืออาจจะใช้ในครอบครัว

          ในวันฮารีรายอจะเป็นวันที่กระผมอิ่มอีกวัน เพราะผมเคยไปบ้านเพื่อนที่เป็นมุสลิม จะมีการล้มวัวกัน ทำแกงวัวที่จะกินกับข้าวเหนียว มีอาหารคาวหวานเพียบ การแต่งตัวของเพื่อนผมก็ต่างจากวันธรรมดา เพราะถือว่าเป็นวันพิเศษของศาสนาอิสลาม

ถึงอย่างไรก็ตามกระผมเป็นพุทธที่มีความรักต่อไทยมุสลิมโดยไม่มีอติใดๆ ทั้งสิ้น  ทั้งหมดเป็นความรู้สึกที่กระผมมีต่อมุสลิม

แต่เมื่อผมมาเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี) เคยชวนเพื่อนไปที่บ้านเพื่อไปวันตรุษจีน แต่ก็ไม่มีใครไปเลย

แถมยังบอกด้วยว่ามันผิดหลักศาสนา

          ผมเองเป็นคนที่เข้าได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม ใจจริงแล้วผมอยากศึกษาพวกเขาในฐานะที่เป็นคนไทยร่วมกัน

มื่อเข้ามาเรียนต่อในสาขาวิชาเอกพัฒนาสังคม ซึ่งนักศึกษาปีที่ 1 ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ผมก็วางตัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเพื่อน แต่ก็ผมก็พบปัญหาและความขัดแย้งกับคนในภาควิชาเดียวกัน

เหตุการณ์น่าจะเริ่มตั้งแต่ตอน ปี 1 เมื่อรุ่นพี่จัดให้มีการไปเที่ยวที่จังหวัดนครศรีธรรมราช การเดินทางจากปัตตานีไปนครศรีธรรมราชเป็นระยะทางที่ค่อนข้างไกล ระหว่างการเดินทางมีการให้เพื่อนมุสลิมประกอบศาสนกิจตลอดการเดินทาง ผมก็เข้าใจดีเพราะว่ามันเป็นหน้าที่หลัก หยุดรถที่มัสยิดครั้งใด ผมก็เข้าชมมัสยิดทุกครั้ง

แต่ขากลับ ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อโปรแกรมการเดินทางมีกำหนดให้แวะเข้าไปวัดพระธาตุที่นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศาสนสถานของชาวพุทธ ผมนั้นตื่นเต้นเพราะเรียกได้ว่าเป็นการมาวัดพระธาตุเป็นครั้งแรก จึงรีบลงจากรถเข้าประตูวัดพร้อมกับเพื่อนมุสลิมบางส่วน

แต่ทันใดนั้น เพื่อนมุสลิมบางส่วนที่เคร่งศาสนากลับตะโกนออกมาว่าให้เพื่อนมุสลิมกลับขึ้นรถเพราะว่ามุสลิมเข้าวัดแล้วอาจดูไม่ดี รุ่นพี่ก็เลยตัดปัญหาโดยการพารุ่นน้องกลับปัตตานีทันที

ผมจำฝังใจและคิดเสมอว่า ทำไมเรายอมรับเขาได้ แต่ทำไมบางคนบางส่วนจึงยอมรับเราไม่ได้

          ผมเกิดมาในสภาพแวดล้อมของชุมชนที่มีสังคมไทยพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ และมีมุสลิมเป็นคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เรามีวัดในชุมชน 3 แห่ง ส่วนมัสยิดมีอยู่ 2 แห่ง เพื่อนบ้านส่วนใหญ่จึงเป็นไทยพุทธ

เพื่อนเล่นที่โตมาด้วยกันมีอยู่หลายคน แต่ที่เป็นมุสลิมก็คือ มีน หรือ นายวิทยา มูเด็ง ที่ตอนนี้เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยทักษิณที่สงขลา เขาเป็นเพื่อนมุสลิมที่ไม่เรื่องมากเลย เคร่งศาสนาแต่พอควร ชวนไปวัดก็ไปด้วยกัน เผลอๆ บางครั้งไปเที่ยวกันจนลืมละหมาด 

บ้านของมีนมีอาชีพค้าขายตามตลาดนัด ขายพวกเสื้อผ้ามือสอง บางครั้งในวันฮารีรายอ เขายังเคยพาผมไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัดด้วย

          ตั้งแต่เล็กจนถึงวันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างศาสนาที่เบตง บอกได้เลยว่าเพื่อนมุสลิมชื่นชอบในตัวผมอย่างมาก อาจเป็นเพราะด้วยความที่เป็นเพื่อน แต่เมื่อมาอยู่ในมหาวิทยาลัย แม้ผมจะนำรูปแบบที่ทำกับเพื่อนของผมมาใช้ แต่ความสัมพันธ์ของผมกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยกลับแย่ลงกว่าเก่า

แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นเฉพาะบางคน

มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอคติกับเพื่อนไทยพุทธ ตัวผมเองเห็นว่าเขามีอคติ ก็คิดแต่จะเชื่อมสัมพันธ์ แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก

นั่นคือ การประกาศกำหนดการกิจกรรมรับน้องของสาขาวิชาเอกพัฒนาสังคมที่จังหวัดสตูล แต่กลับวงเล็บกำกับไว้อย่างน่ากลัวมาก คือ รับน้องเฉพาะแต่มุสลิม เหตุการณ์นี้ทำให้เพื่อนไทยพุทธและมุสลิมบางส่วนไม่พอใจอย่างยิ่ง

ซึ่งตามมาด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราผิดตรงไหนหรือ

          ความคิดของผมที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว คือ เราเป็นคนไทยด้วยกัน เอกพัฒนาสังคมด้วยกันแล้วทำไมจึงต้องแบ่งแยกกัน เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากคนกลุ่มน้อยที่พยายามทำให้พุทธและมุสลิมแตกแยก

ผมคิดว่านักศึกษาในสาขาวิชาเอกพัฒนาสังคมน่าจะคิดว่า ก่อนที่จะไปพัฒนาคนอื่นจะต้องพัฒนาตนเองเสียก่อน ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าคนนอกรู้จะดูถูกเหยียดหยามเอา

          ผมไม่เคยพบไม่เคยเจอ จนได้สัมผัสจริงๆ ว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเราได้

ใจกว้าง

"ศาสนาไม่ได้เป็นอุปสรรคในการคบหาใครสักคน มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า ว่าคุณจะเปิดรับผู้อื่นได้มากน้อยเพียงใด คนก็คือคน ที่มีความอยากมี อยากเป็น อยากทำ ด้วยกันทั้งนั้น"

ครอบครัวของฉันมี พ่อ แม่ และน้องชาย

พ่อแม่เลี้ยงดูลูกทั้ง 2 คนด้วยความรักและห่วงใย ด้วยการเลี้ยงดูที่ค่อนข้างให้ความอิสระด้านความคิด ไม่มีการบังคับลูกให้ทำหรือไม่ทำอะไร พ่อแม่จะเลี้ยงดูลูกคล้ายๆ ฝรั่งก็คือ ให้เผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ แล้วให้เรารู้จักการแก้ไขปัญหากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

พ่อกับแม่จะสนิมสนมและไว้ใจลูกทั้ง 2 คนมาก ครอบครัวของฉันนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งฉันคิดว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เปิดกว้างทางความคิด ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติอย่างนี้อย่างนั้น แต่การปฏิบัติจะขึ้นอยู่กับความเลื่อมใสศรัทธาของแต่ละบุคคล

การปฏิบัติตนของฉันและครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและประเพณีก็มีตามโอกาส เช่น วันสำคัญต่างๆ ทางศาสนาก็จะมีการทำบุญตักบาตรร่วมกันกับครอบครัวและญาติพี่น้อง  ส่วนประเพณีก็เข้าร่วมตามโอกาสที่เหมาะสม

ตั้งแต่จำความได้ พ่อกับแม่จะเป็นบุคคลที่พร่ำสอนให้ลูกเป็นคนดี คอยตักเตือนลูกเสมอ เวลาลูกทำผิดหรือคิดอะไรที่ไม่เหมาะสม พ่อกับแม่ก็สอนเสมอว่า เราเกิดมาก็ควรจะต้องทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น พ่อกับแม่ก็จะนำเอาหลักศาสนาของศาสนาพุทธมาสอนลูกๆ โดยยึดหลักของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก โดยแนะนำให้ลูกปฏิบัติตาม ซึ่งฉันได้ฟังคำสอนของพ่อแม่แล้ว ก็นำมาคิดและปฏิบัติตามคำสอนของพ่อกับแม่เสมอ

ภาษาที่ใช้ในครอบครัวส่วนใหญ่เป็นภาษาถิ่น คือ "ภาษาใต้" การดำเนินชีวิตของฉันที่แสดงความเป็นพุทธก็ดำเนินตามวิถีของชาวพุทธ ต้นกำเนิดของการเป็นพุทธ ก็มาจากบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย การดำเนินชีวิตของฉันก็อยู่ภายใต้คำสอนของศาสนา โดยยึดหลักที่ว่าไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนกับการกระทำของเราก็เป็นพอ

การปรับตัวของฉันให้เข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบันก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย เพราะฉันคิดว่าตัวเองก็ปฏิบัติตนเป็นคนดี และก็สามารถเข้ากับผู้อื่นได้แล้ว ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ส่วนปัญหาต่างๆที่ฉันได้เผชิญก็เป็นปัญหาที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เพราะทุกปัญหาฉันสามารถที่จะนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาตลอดจนคำสอนของพ่อแม่มาแก้ปัญหาได้ ปัญหาที่มีนั้นไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

การวางตัวในสังคมของฉันไม่มีอะไรมากมาย เพียงแค่วางตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ ปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่เป็นคนดีของสังคม แค่นี้ฉันก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขแล้ว

ชุมชนของฉันมีสภาพชุมชนแบบชนบท ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ใช้ชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ อยู่กันแบบพี่น้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอด ชุมชนที่ฉันอาศัยอยู่มีทั้งไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกัน ในชุมชนจึงมีทั้งวัดและมัสยิด

เพื่อนบ้านทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธหรืออิสลามก็เป็นเพื่อนบ้านที่ดีกันหมด

มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ตอนเรียนก็มีเพื่อนมากมายทั้งศาสนาเดียวกันและต่างศาสนา การที่เราอยู่ร่วมกันก็ทำให้เราเรียนรู้ซึ่งกันและกันในตัวบุคคลตลอดจนการเรียนรู้หลักสำคัญต่างๆ ของศาสนา การเรียนรู้การปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ 

พ่อกับแม่มีบทบาทสำคัญในการแนะนำการปฏิบัติตนในวันสำคัญทางศาสนา อาหารการกินก็เรียบง่ายตามสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่แต่ละท้องถิ่น การแต่งกายของฉันและครอบครัวก็เรียบง่ายตามสมัยนิยม

ตั้งแต่เด็กจนเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน  ความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างศาสนาก็ดีมาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ได้มาเรียน ณ สถานที่แห่งนี้ ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับเพื่อนต่างถิ่นดีขึ้นมากๆ เพราะตั้งแต่ฉันมาเรียนที่นี่ เพื่อนที่ดีคอยช่วยเหลือฉันในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องทั่วไป ก็คือ เพื่อนต่างศาสนา

          ตัวฉันเองคิดว่าศาสนาไม่ได้เป็นอุปสรรคในการคบหาใครสักคน มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า ว่าคุณจะเปิดรับผู้อื่นได้มากน้อยเพียงใด คนก็คือคน ที่มีความอยากมี อยากเป็น อยากทำ ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราทุกคนควรที่จะใจกว้างยอมรับในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือทำใจ ในสิ่งที่ผ่านมาแล้ว แล้วดำเนินชีวิตอยู่บนโลกนี้ด้วยความสุขและทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด

ดาวน์โหลด SOUTH SEE MAGAZINE Vol.4 ฉบับเต็ม >>  SouthSeeVol4.pdf

เชิงอรรถ
1    เสื้อแขนยาวทรงกระบอกที่ผู้ชายมลายูมุสลิมนิยมสวมใส่
2    ชุดสตรีที่ตัดเย็บคลุมทั้งตัว ส่วนใหญ่มีสีสันสด เว้นแต่ชุดนักเรียนที่มักจะใช้สีเรียบ ผู้หญิงมลายูมุสลิมนิยมสวมใส่
3    แบบแผนการปฏิบัติศาสนกิจ
4    การละหมาดในช่วงเวลาเช้าตรู่ ซึ่งมีกำหนดเวลาเริ่มต้นตั้งแต่เวลาที่แสงตะวันแรกทางทิศตะวันออกจนถึงเวลาที่ตะวันขึ้น
5    ขอพรต่ออัลลอฮ์
6    ภาษามลายูถิ่น ที่แปลว่า การถือศีลอด
7    สำนวนท้องถิ่น หมายถึง การละศีลอด
8    การละหมาดในเวลากลางคืน ซึ่งกำหนดเวลาอยู่ในช่วงตั้งแต่แสงตะวันหายไปจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกจนถึงเวลาที่แสงตะวันแรกของวันฉายส่องทางทิศตะวันออก
9    การละหมาดที่จะกระทำกันทุกค่ำคืนในช่วงเดือนถือศีลอด (เดือนรอมฎอน) หลังละหมาดอีซอ
10   ประเพณีท้องถิ่นจัดทำในวันที่ 10 เดือนมูฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปฏิทินอิสลามทุกปี บ้างระบุว่าเพื่อรำลึกถึงศาสดานุห์  หรือโนอาห์ในวันที่น้ำท่วมโลกลดลงเป็นปกติ
11   วันเฉลิมฉลองหรือวันตรุษในอิสลามที่เป็นวันแรกหลังจากสิ้นเดือนถือศีลอด (เดือนรอมฎอน)
12   ขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียว  
13   ใบพ้อ หรือ ใบกะพ้อ
14   วันเฉลิมฉลองหรือวันตรุษอีกวันของอิสลาม ซึ่งเป็นวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะห์หรือเดือนสุดท้ายในปฏิทินอิสลาม วันดังกล่าวอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับการประกอบพิธีฮัจญ์ของชาวมุสลิมทีเมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอารเบีย
15  โรงเรียนสอนศาสนาประจำหมู่บ้าน