แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี2559/2560 พร้อมกล่าวเตือนว่าวาทกรรมของนักการเมืองที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรงเพื่อแบ่งแยกระหว่าง “พวกเรากับพวกเขา” กำลังทำให้โลกเกิดความแตกแยกและมีอันตรายมากขึ้น
“รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก” เปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์อย่างรอบด้านต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นใน 159 ประเทศข้อค้นพบในรายงานฉบับนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าผลที่เกิดขึ้นจากวาทกรรม “พวกเรากับพวกเขา” ที่กำลังแพร่ไปในยุโรป สหรัฐฯ และที่อื่นๆ ทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนถดถอยลง ตลอดจนทำให้แนวทางแก้ไขปัญหาความโหดร้ายทารุณรูปแบบต่างๆ อ่อนแอลง
ซาลิล เช็ตตี้(Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่าปี2559เป็นปีที่มีการใช้วาทกรรมแบบ “พวกเรากับพวกเขา” เพื่อประณาม สร้างความเกลียดชังและความหวาดกลัว ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกแบบไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่ทศวรรษที่1930 นักการเมืองจำนวนมากใช้ความหวาดกลัวของประชาชนต่อปัญหาเศรษฐกิจและความมั่นคงในชีวิตด้วยการเล่นการเมืองแบบมุ่งสร้างความแบ่งแยก และเพื่อเรียกคะแนนเสียงให้กับตนเอง
“การสร้างความหวาดกลัวและความแตกแยกกลายเป็นอันตรายต่อสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์(Trump)ออร์บาน(orban) เออร์โดฮาน (Erdoğan) หรือดูเตอร์เต (Duterte) มีนักการเมืองจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายต่อต้านสถาบันหลักทางการเมือง แต่กลับใช้ถ้อยคำที่ชั่วร้ายเพื่อคุกคามใส่ร้าย และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มต่างๆ”
“ทุกวันนี้การเมืองที่จงใจสร้างภาพชั่วร้ายใส่กันทำให้เกิดแนวคิดแย่ๆ ที่ว่าคนบางกลุ่มมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ และยังพรากความเป็นมนุษย์ของพวกเขาไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งกระตุ้นให้มนุษย์เผยด้านมืดออกมา
การเมืองที่จงใจสร้างภาพร้ายใส่ทำให้สิทธิมนุษยชนทั่วโลกต้องถดถอยลง
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2559 แสดงให้เห็นว่าวาทกรรมแห่งความเกลียดชังมีพลังมากพอที่จะกระตุ้นด้านมืดของมนุษย์ให้ถูกเผยออกมา การหาเสียงเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเต็มไปด้วยถ้อยคำที่มุ่งร้ายเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกระแสการเมืองระดับโลกที่มุ่งสร้างความโกรธแค้นและความแตกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนว่าผู้นำระดับโลกต่างพยายามใช้วาทกรรมแห่งความหวาดกลัว การประณาม และความแตกแยก เพื่อเป็นฐานในการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของตน
วาทกรรมเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อนโยบายและแนวทางปฏิบัติอย่างกว้างขวางมากขึ้น ในปี 2559 รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามเมินเฉยต่ออาชญากรรมสงคราม บรรลุข้อตกลงที่ลดทอนสิทธิของผู้แสวงหาที่พักพิง ออกกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกยุยงให้มีการเข่นฆ่าประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้ยาเสพติด ไปจนถึงการสร้างความชอบธรรมให้กับการทรมาน การสอดแนมประชาชนโดยรัฐ และการขยายอำนาจเผด็จการทางการเมือง
รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังพยายามโยนบาปให้กับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ รายงานประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่ามี 36 ประเทศที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่พวกเขามีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้วาทกรรมหาเสียงที่มุ่งสร้างความเกลียดชังต่อชาวต่างชาติกลายเป็นจริง ด้วยการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยไม่สามารถหาที่พักพิงในสหรัฐฯ ได้ ตลอดจนขัดขวางไม่ให้ประชาชนในประเทศต่างๆ ที่หลบหนีออกจากพื้นที่การสู้รบ ความขัดแย้ง และการคุกคามต่างๆ เพื่อแสวงหาที่พักพิงที่ปลอดภัยในสหรัฐฯด้วย ยกตัวอย่างเช่นประชาชนจากซีเรีย
ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียจงใจทำให้ผู้ลี้ภัยประสบความความทุกข์ยากด้วยการกักตัวพวกเขาไว้บนเกาะนาอูรูและมานูส์ ด้านสหภาพยุโรปมีการทำข้อตกลงกับตุรกีอย่างไม่ยั้งคิดและผิดกฎหมายเพื่อส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปยังตุรกี แม้ว่าตุรกีจะเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา ส่วนเม็กซิโกและสหรัฐฯ ยังคงส่งผู้คนที่หลบหนีความรุนแรงโหดร้ายกลับไปยังอเมริกากลาง
รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั้งจีน อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย อิหร่าน ไทย และตุรกี ต่างปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนักหน่วง ขณะที่อีกหลายประเทศได้นำมาตรการด้านความมั่นคงที่มีแนวโน้มคุกคามสิทธิของประชาชนมาใช้ อย่างเช่นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยาวนานในฝรั่งเศส หรือการประกาศใช้กฎหมายสอดแนมในสหราชอาณาจักรที่ส่งผลร้ายแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนในโปแลนด์การเมืองแบบ “ผู้นำเผด็จการ” ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ต่อต้านแนวคิดสตรีนิยมและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น ความพยายามของรัฐบาลที่จะลดทอนสิทธิสตรี ส่งผลให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
ซาลิล เช็ตตี้กล่าวว่า “แทนที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชน ผู้นำหลายประเทศกลับเลือกใช้แนวทางที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของตนเอง ผู้นำหลายคนพยายามเพิ่มคะแนนนิยมหรือเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการละเมิดสิทธิของกลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นจำเลยของสังคม”
“ในปี 2559 การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ชั่วร้ายที่สุดกลายเป็นกระแสหลักในการเมืองโลก การกระทำที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอดีตกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในปัจจุบัน นักการเมืองต่างไม่ละอายที่จะสร้างความชอบธรรมในการใช้วาทกรรมและนโยบายสร้างความเกลียดชังบนพื้นฐานของอัตลักษณ์บุคคลเช่น การเหยียดเพศหญิง การเหยียดเชื้อชาติ และการเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน”
“เป้าหมายแรกของพวกเขาคือผู้ลี้ภัย และหากสถานการณ์นี้ยังดำเนินต่อไปในปี 2560 ประชากรกลุ่มอื่นๆ ย่อมตกเป็นเป้าหมายได้เช่นกัน แรงกระเพื่อมจะนำไปสู่การโจมตีกันด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ เพศสภาพ สัญชาติ และศาสนามากขึ้น เมื่อเราไม่มองว่าคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ที่เหมือนเราและมีสิทธิเช่นเดียวกับเรา ก็จะทำให้เข้าใกล้ความหายนะมากยิ่งขึ้น”
โลกเมินเฉยต่อความโหดร้ายทารุณที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเตือนว่าปี 2560 จะเป็นปีแห่งวิกฤตการณ์ที่ลุกลามบานปลาย เนื่องจากขาดภาวะความเป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนบนเวทีโลก การเมืองที่แบ่งแยกระหว่าง “พวกเรากับพวกเขา” ยังคงเกิดขึ้นในระดับสากล ความเป็นพหุนิยมเริ่มถูกทดแทนด้วยระเบียบโลกที่ก้าวร้าวและเน้นการเผชิญหน้ามากขึ้น
“เมื่อผู้นำระดับโลกไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในการกดดันประเทศอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หลักการพื้นฐานด้านความรับผิดต่อความโหดร้ายทารุณไปจนถึงสิทธิในการแสวงหาที่พักพิงจึงตกอยู่ในความเสี่ยง” ซาลิล เช็ตตี้กล่าว
“แม้แต่ประเทศที่เคยมีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนก็ยังมีความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ประเทศเหล่านี้ยังไม่พยายามกดดันให้ประเทศอื่นๆ รับผิดชอบ ยิ่งประเทศที่เพิกเฉยต่อหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมีจำนวนมากเท่าไร ความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์โดมิโนก็ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย กล่าวคือผู้นำประเทศต่างๆ จะกล้าลดทอนการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ลง”
โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตมากมายแต่กลับขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่น วิกฤตการณ์ในซีเรีย เยเมน ลิเบีย อัฟกานิสถาน อเมริกากลาง สาธารณรัฐแอฟริกากลาง บุรุนดี อิรัก ซูดานใต้ และซูดาน โดยรายงานประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฉบับนี้เผยให้เห็นว่ามีอาชญากรรมสงครามเกิดขึ้นใน 23 ประเทศตลอดปี 2559
ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ความเพิกเฉยบนเวทีโลกต่ออาชญากรรมสงครามกลับกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องกลายเป็นอัมพาตจากความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกถาวรด้วยกันเอง
“นับตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา ประเทศมหาอำนาจต่างเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศตนเองมากขึ้น โดยคำนึงถึงความร่วมมือระหว่างประเทศน้อยลงส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้โลกของเราวุ่นวายและอันตรายมากขึ้น” ซาลิล เช็ตตี้กล่าว
“ระเบียบโลกใหม่ซึ่งมีการสร้างภาพว่าสิทธิมนุษยชนขัดขวางผลประโยชน์ของประเทศลดทอนความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาความโหดร้ายทารุณลงอย่างมากและเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคมืดมนที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ”
“ประชาคมโลกได้นิ่งเฉยต่อความโหดร้ายหลายต่อหลายครั้งในปี 2559 จากภาพการถ่ายทอดสดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอาเลปโป ภาพที่ประชาชนหลายพันคนถูกตำรวจสังหารใน “สงครามยาเสพติด” ของฟิลิปปินส์ ไปจนถึงการใช้อาวุธเคมีและการเผาหมู่บ้านหลายร้อยแห่งที่ดาร์ฟูร์คำถามสำคัญในปี 2560 คือคนทั้งโลกจะยอมปล่อยให้ความโหดร้ายทารุณเหล่านี้เกิดขึ้นอีกนานแค่ไหนก่อนจะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อหยุดยั้งมัน”
ใครจะเป็นคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน?
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ประชาชนทั่วโลกต่อต้านความพยายามที่จะสร้างความถดถอยต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน เพียงเพื่อแลกกับคำสัญญาอันเลื่อนลอยว่าพวกเขาจะมีความมั่นคงและมั่งคั่งในชีวิตมากขึ้น
รายงานฉบับนี้ย้ำเตือนว่าความเป็นหนึ่งเดียวของคนทั่วโลกและการเคลื่อนไหวของมวลชนจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองผู้คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนและท้าทายผู้มีอำนาจพวกเขาเหล่านี้มักถูกใส่ร้ายว่าเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจ การพัฒนา ความมั่นคง และอื่นๆ
รายงานฉบับนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกสังหารเพียงเพราะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนใน 22 ประเทศตลอดปี 2559 รวมทั้งผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะท้าทายกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปกป้องชนกลุ่มน้อยและชุมชนขนาดเล็ก หรือต่อต้านขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นขัดขวางสิทธิของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ การสังหารเบรตา คาเซเรส ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงในฮอนดูรัสเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาเป็นการส่งสัญญาณที่น่ากลัวไปยังนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ และจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
“เราไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยและรอให้รัฐบาลออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ เราในฐานะที่เป็นประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรบางอย่าง ในขณะที่นักการเมืองต่างพยายามป้ายสีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้ที่เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาปกป้องคุณค่าพื้นฐานของศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์” ซาลิล เช็ตตี้กล่าว
“เราทุกคนต้องเรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อเปิดโปงผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในยุคมืด คนธรรมดาๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการลงมือทำอะไรบางอย่างเห็นได้จากการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ การต่อต้านการเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้ ไปจนถึงขบวนการสิทธิสตรีและสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก เราทุกคนจะต้องลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน”
ข้อมูลพื้นฐาน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ขึ้นในปี 2559 ใน 159 ประเทศ เป็นตัวอย่างการใช้วาทกรรมที่มุ่งร้ายและการปราบปรามในระดับชาติต่อการเคลื่อนไหวและต่อเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งปรากฏในรายงานประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีตัวอย่างที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
กัมพูชา: การปราบปรามสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบเข้มข้นยิ่งขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับปี 2560-2561 การใช้ระบบยุติธรรมอย่างไม่ชอบโดยทางการเพิ่มขึ้น กองกำลังความมั่นคงยังคงคุกคามและลงโทษภาคประชาสังคม และหาทางปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวน ฝ่ายค้านทางการเมืองตกเป็นเป้าหมายโจมตี โดยนักกิจกรรมถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลานานขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ และยังมีการฟ้องคดีใหม่ ๆ ต่อผู้นำพรรคฝ่ายค้านและบุคคลอื่น ๆ ผู้ให้ความเห็นทางการเมืองคนสำคัญคนหนึ่งได้ถูกยิงสังหาร และคนร้ายยังคงลอยนวลพ้นผิดสำหรับการสังหารที่มิชอบด้วยกฎหมายที่เกิดขึ้นมาในอดีต
บังคลาเทศ: แทนที่จะให้ความคุ้มครองหรือสอบสวนกรณีการสังหารนักกิจกรรม ผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ ทางการกลับมุ่งดำเนินคดีต่อสื่อมวลชนและพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการใช้ข้อหาที่เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก
จีน: การปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อนักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวยังดำเนินต่อไป รวมทั้งการควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก การบังคับให้สารภาพและมีการถ่ายทอดสดทางทีวี การคุกคามสมาชิกในครอบครัว
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก: นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยต้องถูกจับกุมตัวโดยพลการ ในบางกรณีพวกเขาถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลานาน
อียิปต์: ทางการใช้อำนาจสั่งห้ามไม่ให้กลุ่มประชาสังคมต่าง ๆ เดินทาง ใช้มาตรการควบคุมด้านการเงินและการสั่งอายัดทรัพย์สิน เพื่อบ่อนทำลาย สร้างภาพที่ชั่วร้ายและปิดปากพวกเขา
เอธิโอเปีย: รัฐบาลแสดงท่าทีไม่ยอมอดออมให้กับเสียงที่เห็นต่างมากขึ้น มีการใช้กฎหมายก่อการร้าย และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อปราบปรามผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน พรรคฝ่ายค้าน และโดยเฉพาะผู้ประท้วงที่ถูกปราบปรามด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิต
ฝรั่งเศส: มาตรการด้านความมั่นคงที่เข้มงวดในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยาวนาน ส่งผลให้มีการตรวจค้นบ้านเรือนหลายพันหลัง รวมทั้งการสั่งห้ามเดินทางและการควบคุมตัวบุคคล
ฮอนดูรัส: เบรตา คาเซเรสและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอีกเจ็ดคนถูกสังหาร
ฮังการี: การใช้วาทกรรมของรัฐบาลเพื่อสร้างความแบ่งแยกด้วยการเมืองแบบอัตลักษณ์ และการใช้วิสัยทัศน์อันมืดมนอย่าง “ป้อมปราการแห่งยุโรป” ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่มุ่งปราบปรามอย่างเป็นระบบต่อสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง
อินเดีย: ทางการใช้กฎหมายที่รุนแรงเพื่อปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออก และปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานของพวกเขาต้องเผชิญกับการคุกคามและการข่มขู่อย่างต่อเนื่อง มีการใช้กฎหมายที่รุนแรงเพื่อปิดปากนักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษา นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
อินโดนีเซีย: มีการใช้กฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและใช้ถ้อยคำกำกวมเพื่อจำกัดโดยพลการต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ แม้ทางการประกาศเจตจำนงที่จะแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต แต่เหยื่อและครอบครัวของพวกเขาหลายล้านคนยังถูกขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริง ความยุติธรรม และการชดใช้ มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองกำลังความมั่นคง รวมทั้งการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการใช้กำลังจนเกินขอบเขตหรือไม่จำเป็น นักโทษด้านความคิดอย่างน้อย 38 คนยังคงถูกควบคุมตัวต่อไป ที่ผ่านมามีการประหารชีวิตบุคคลไปสี่คน
อิหร่าน: มีการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม การชุมนุมอย่างสงบ และความเชื่อด้านศาสนา นักวิจารณ์อย่างสงบถูกคุมขังภายหลังกระบวนการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง โดยศาลเพื่อการปฏิวัติ ซึ่งเกิดขึ้นกับทั้งผู้สื่อข่าว นักกฎหมาย บล็อกเกอร์ นักศึกษ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรี นักสร้างภาพยนตร์ และแม้กระทั่งนักดนตรี
ฟิจิ: ในเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมาฟิจิให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ แม้จะมีการประกาศข้อสงวน รวมทั้งที่เกี่ยวกับนิยามของการทรมาน การรับผิดเนื่องจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ยังคงถูกขัดขวางเนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ภูมิคุ้มกันบุคคลบางคน และการขาดเจตจำนงที่จะดำเนินคดีอย่างจริงจัง การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยพลการยังคงเกิดขึ้นต่อไป
มาเลเซีย: การปราบปรามสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกการสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบยังคงเกิดขึ้นต่อไป และที่ผ่านมาไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจมาลงโทษเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
เมียนมา: การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนดีขึ้นมากมายนัก ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาที่ถูกคุกคามยังคงเผชิญความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติเพิ่มขึ้น การขาดขันติธรรมด้านศาสนาและกระแสต่อต้านมุสลิมเข้มข้นยิ่งขึ้น การต่อสู้ระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ยังคงมีเพิ่มขึ้นในตอนเหนือของเมียนมา
นาอูรู: ยังคงมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงประมาณ 1,200 คนที่เหลืออยู่ในนาอูรู จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมามีบุคคลเหล่านี้จำนวน 383 คนซึ่งตกค้างอยู่ในศูนย์ตรวจพิสูจน์สถานะบุคคลของรัฐบาลออสเตรเลีย โดยประกอบด้วยเด็ก 44 คน ผู้หญิง 49 คน และผู้ชาย 290 คน
ปาปัวนิวกินี: จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงประมาณ 900 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด ยังคงถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ของรัฐบาลออสเตรเลียบนเกาะมานูส์ ในเดือนเมษายน ศาลสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า การควบคุมตัวพวกเขาเป็นเวลานานเกินกว่าสามปี ถือว่าผิดกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และสั่งให้รัฐบาลออสเตรเลียและปาปัวนิวกินีปิดศูนย์ดังกล่าวโดยทันที แต่ศูนย์ทั้งสองแห่งยังคงเปิดอยู่ต่อไป ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ยังคงใช้ความรุนแรงอย่างยิ่งต่อพนักงานบริการทางเพศ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ หรือสถานะการเป็นพนักงานบริการทางเพศของพวกเขา
ฟิลิปปินส์: รัฐบาลเริ่มการรณรงค์ปราบปรามยาเสพติด ส่งผลให้มีผู้ถูกสังหารกว่า 6,000 คน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าวก็ตกเป็นเป้าหมายและถูกสังหารโดยมือปืนและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ทราบชื่อ การใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินขอบเขตของตำรวจยังเกิดขึ้นต่อไป
รัสเซีย: รัฐบาลใช้อำนาจควบคุมองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติอย่างเข้มข้นมากขึ้น ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างภาพว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเป็น “บุคคลที่ไม่พึงประสงค์” หรือเป็น “หน่วยงานของต่างชาติ” และมีการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นครั้งแรกต่อเอ็นจีโอ โดยการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ “หน่วยงานต่างชาติ” ในเวลาเดียวกัน องค์กรพัฒนาเอกชนอิสระอีกหลายสิบแห่งซึ่งรับทุนจากต่างชาติได้ถูกจัดเข้าไปในบัญชีรายชื่อของ “หน่วยงานต่างชาติ” ในต่างประเทศ รัสเซียแสดงความเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในกรณีของซีเรีย
ซาอุดิอาระเบีย: ผู้วิพากษ์วิจารณ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิของชนกลุ่มน้อย ถูกควบคุมตัวและคุมขังด้วยข้อหาที่กำกวม อย่างเช่น “การดูหมิ่นรัฐ” กองกำลังระหว่างประเทศที่นำโดยซาอุดิอาระเบียได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง โดยอาจถึงขั้นเป็นอาชญากรรมสงคราม ระหว่างปฏิบัติการในเยเมน กองกำลังระหว่างประเทศได้ทิ้งระเบิดใส่โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด และมัสยิด สังหารและทำให้พลเรือนหลายพันคนได้รับบาดเจ็บ มีการใช้อาวุธที่ได้รับมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมทั้งการใช้ระเบิดแบบลูกปราย (cluster bombs) ซึ่งเป็นอาวุธที่ต้องห้ามในระดับสากล
ซูดานใต้: การสู้รบอย่างต่อเนื่องยังดำเนินต่อไป ทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน รวมทั้งการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชน และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ซูดาน: มีหลักฐานที่บ่งชี้ชัดเจนว่าทหารของรัฐบาลได้ใช้อาวุธเคมีในเขตดาร์ฟูร์ ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ ทางการได้ใช้กำลังอย่างรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
ซีเรีย: การลอยนวลพ้นผิดจากอาชญากรรมสงครามและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงยังเกิดขึ้นต่อไป รวมทั้งการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายและการโจมตีโดยตรงต่อพลเรือนและการปิดล้อมที่อยู่อาศัยของพลเรือนเป็นเวลานาน ประชาคมสิทธิมนุษยชนแทบจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง นักกิจกรรมถูกคุมขัง ถูกทรมาน ถูกทำให้สูญหาย หรือจำเป็นต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่น
สิงคโปร์: ทางการยังคงคุกคามและดำเนินคดีกับบล็อกเกอร์และผู้แสดงความเห็นต่าง สื่อมวลชนยังคงถูกควบคุมอย่างเข้มงวดตามพระราชบัญญัติหนังสือพิมพ์และการพิมพ์ การสั่งลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีและการใช้โทษประหารยังคงเกิดขึ้นต่อไป
ไทย: หน่วยงานทหารยังคงจำกัดด้านสิทธิมนุษยชน มีการสั่งลงโทษและห้ามการเคลื่อนไหวของผู้แสดงความเห็นต่างทางการเมืองอย่างสงบ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกด้วยการพูดหรือเขียน หรือการประท้วง นักการเมืองและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนยังคงต้องเผชิญกับการสอบสวนทางอาญาและการถูกดำเนินคดีอาญาต่อไป พลเรือนจำนวนมากต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร และการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
ตุรกี: หลังเหตุการณ์รัฐประหารที่ล้มเหลว บุคคลหลายหมื่นคนถูกควบคุมตัว และมีการสั่งให้ระงับการปฏิบัติงานขององค์กรพัฒนาเอกชนหลายร้อยแห่ง มีการปราบปรามสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง และการโจมตีอย่างต่อเนื่องในเขตพื้นที่ของชาวเคิร์ด
สหราชอาณาจักร:อาชญากรรมเนื่องจากความเกลียดชังพุ่งสูงขึ้นภายหลังการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป กฎหมายสอดแนมข้อมูลฉบับใหม่ให้อำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมากกับหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานอื่นๆ ในการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชนในวงกว้าง
สหรัฐฯ: การรณรงค์หาเสียงที่เต็มไปด้วยวาทกรรมที่สร้างการเลือกปฏิบัติ การเหยียดเพศ และการเกลียดกลัวคนต่างชาติซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลอย่างร้ายแรงต่อความสามารถของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศและระดับโลก
เวเนซูเอลา: การโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเตือนถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลที่จะคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน
เวียดนาม: การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบยังเกิดขึ้นต่อไป สื่อมวลชนและศาล รวมทั้งสถาบันทางการเมืองและศาสนายังคงตกอยู่ใต้การควบคุมของรัฐ นักโทษทางความคิดถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายและยังต้องเข้ารับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม การทำร้ายร่างกายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้นต่อไป ส่วนนักกิจกรรมคนสำคัญก็ตกเป็นเป้าการสอดแนมและการคุกคามรายวัน ผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกจับกุมและถูกศาลตัดสินลงโทษในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง มีการสั่งห้ามการชุมนุม เป็นเหตุให้ผู้จัดและผู้เข้าร่วมถูกจับกุมและถูกทรมาน ทั้งยังมีการใช้โทษประหารต่อไป