ผลสอบภาษามลายู I-NET : เราต้องร่วมพัฒนาภาษามลายูเยาวชน
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน
จากผลการสอบวิชาภาษามลายูของนักเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหลักสูตรอิสลามศึกษาหรือที่เรียกติดปากว่าI-Net ประจำปีการศึกษา 2559 (Islamic National Educational Test หมายถึง การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอิสลามศึกษา) ซึ่งพึ่งประกาศเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบว่า คะแนนเต็ม 100 คะแนนนักเรียน ได้คะแนนเฉลี่ย ระดับประถมศึกษา(อิบติดาอีย์) เท่ากับ33.92คะแนน ระดับมัธยมศึกษาต้น (มุตะวัสสิต) เท่ากับ37.93คะแนน และระดับมัธมศึกษาตอนปลาย (ซานาวี)30.02 คะแนน
การสอบวิชาภาษามลายูนั้นจะทดสอบนักเรียน 3 ระดับดังกล่าวนั้นใน 4 มาตรฐาน กล่าวคือ มาตรฐานที่ 1 การฟังและพูด มาตรฐานที่ 2 การอ่านมาตรฐานที่ 3 การเขียน มาตรฐานที่ 4 หลักภาษา
ผ่านการวิเคาะห์ข้อสอบปรนัยให้เลือกตอบ
จากผลการสอบวิชาภาษามลายูของนักเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าวหากเอาผลการทำข้อสอบเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ขั้นต่ำในการวัดทักษะภาษามลายูของคนในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารและเราฝากความหวังว่าจะเป็นสะพานสู่ประชาคมอาเซี่ยน ผู้เขียนมีทัศนะว่าน่าจะทบทวน และถอดบนเรียนดูว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง จะนำบทเรียนไปพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่อย่างไรให้มีมาตรฐานทักษะการใช้ภาษามลายูผ่านเกณฑ์ ซึ่งความเป็นจริงสิ่งที่เราสัมผัสได้ทางพฤตินัยในการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันของเยาวชนและนักเรียนในพื้นที่ก็สอดคล้องกับผลสอบ
ผู้เขียนคงไม่โทษเด็กและครูแต่คงฝากการทบทวนและภาระอันยิ่งใหญ่นี้ไว้ที่ผู้ใหญ่ สถาบันวิชาการ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ สถาบันภาษามลายูแห่งประเทศไทย สมาคมตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระทรวงศึกษาธิการว่าจะร่วมพัฒนาทักษะภาษามลายูให้เยาวชนมีทักษะเชิงประจักษ์อย่างไรทั้งสี่ด้าน
หมายเหตุ
มาตรฐานที่ 1 การฟังและพูด
เข้าใจและตีความในเรื่องที่ฟัง มีทักษะและศิลปะในการพูด พูดในโอกาสต่าง ๆ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ วิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล มีวิจารณญาณในการเลือกเรื่องที่จะฟังและพูด มีมารยาทในการฟังและพูด เห็นคุณค่าในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
มาตรฐานที่ 2 การอ่าน
มีทักษะในการอ่าน นำความรู้ ความคิด คิดวิเคราะห์เรื่องที่อ่าน นำความรู้และความคิดไปประยุกต์ใช้เพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้ มีนิสัยรักการอ่าน
มาตรฐานที่ 3 การเขียน
รู้และเข้าใจรูปแบบการเขียน มีทักษะในการเขียนเพื่อการสื่อสาร เขียนเรื่องราวตามที่กำหนดได้อย่างถูกต้องตามหลักการเขียนและหลักภาษา เขียนอย่างมีสาระชัดเจนและแสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ มีมารยาทในการเขียน
มาตรฐานที่ 4 หลักภาษา
รู้และเข้าใจคำ ประเภทของคำ ประโยค ส่วนประกอบของประโยคในภาษามลายู และสามารถนำไปใช้ในการสื่อสารได้ถูกต้องเหมาะสม