หน่วยงานรัฐร่วมสร้างฝายมีชีวิต บรรเทาปัญหาภัยแล้งในจังหวัดแดนใต้
ยะลา
เมื่อย่างเข้าห้วงเดือนมีนาคม และเมษายนของทุกปี ชาวบ้านในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักประสบกับสถานการณ์ภัยแล้ง หลายพื้นที่ขาดน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค หน่วยงานรัฐหลายหน่วยในพื้นที่จึงร่วมมือกัน โดยนำยุทธศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งแก่ประชาชน
กระทรวงวัฒนธรรม โดยวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ได้นำเครือข่ายสภาวัฒนธรรม 4 จังหวัดภาคใต้ ร่วมสร้างฝายมีชีวิต ที่คลองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อบรรเทาภัยแล้งตามศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพัฒนาการด้านคุณภาพชีวิต การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในการดำรงชีพของชุมชน โดยไม่ทำลายธรรมชาติ และยังสามารถใช้เป็นที่พักผ่อนเชิงธรรมชาติแก่ประชาชนในพื้นที่ เด็กๆถือโอกาสเล่นน้ำ คลายร้อน
"การนำข้าราชการ บุคลากร และเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรม มาสร้างฝายกั้นน้ำในครั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การพัฒนาชุมชนพื้นที่อำเภอเบตงอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้กับข้าราชการ สร้างความสามัคคี การสร้างฝายครั้งนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยแล้ง" นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
"ดีใจที่ได้ฝาย ต่อไปชาวบ้านคงหมดห่วงปัญหาน้ำ ขอบคุณทุกฝ่ายที่นำยุทธศาสตร์ในหลวง ร.9 มาใช้กับพวกเรา ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้จริง" นายหามะ ดอเลาะ ชาวกรงปินัง จังหวัดยะลา กล่าว
ภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดยะลาเป็นเทือกเขา ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ และสวนยางพารา มีเทือกเขาที่สำคัญอยู่ 2 แห่ง คือ เทือกเขาสันกาลาคีรี เริ่มจากอำเภอเบตง เป็นแนวยาวกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย และเทือกเขาปิโล ซึ่งเป็นเทือกเขาอยู่ภายในจังหวัดยะลา
มีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี อันมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ไหลผ่านบางอำเภอของจังหวัดยะลา และไหลลงสู่ทะเลที่จังหวัดปัตตานี