Skip to main content

 

แม่ทัพภาค 4 ร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงเนื่องในวันครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์กรือเซะ

 

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์ 
 ปัตตานี
2017-04-28
 
    TH-krue-se-1000
    เด็กนักเรียนจากหลายพื้นที่มาเยี่ยมชมมัสยิดกรือเซะ ในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเมื่อ 13 ปีก่อน ได้เกิดเหตุปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตรวม 35 ราย วันที่ 28 เมษายน 2560
     เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะที่มีผู้เห็นต่างจากรัฐถูกสังหารตาย 32 ศพ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวเรียกร้องให้ทุกฝ่ายก้าวข้ามปัญหาที่เคยมีมา และไม่ควรใช้วันนี้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อก่อเหตุรุนแรง ในขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กล่าวว่า ยากที่จะลืมเหตุการณ์

    เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบประมาณ 200 ถึง 400 คน ได้โจมตีสถานที่ตั้งของหน่วยความมั่นคงในจังหวัดยะลา ปัตตานี และสงขลา ขึ้นพร้อมกันทั้ง 11 จุด นับเป็นเหตุการณ์สำคัญของการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งถึง 108 ราย ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ราย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากขบวนการได้ปล้นอาวุธปืนจากค่ายทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม ของปีเดียวกัน ซึ่งเป็นปฐมบทแห่งความรุนแรงระลอกใหม่จนถึงปัจจุบัน

    "ไม่อยากให้เรื่องในอดีตอย่างวันครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์กรือเซะ เป็นเรื่องเก่า และถูกนำมาใช้กำหนดเป็นวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์ที่คนร้ายจะนำมาเป็นประเด็นสำหรับสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เพราะทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ และต้องก้าวข้ามผ่านปัญหาที่เคยมีมา" พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวแก่ทีมข่าวเบนาร์นิวส์

    อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ ทหารพรานที่ปฏิบัติการในพื้นที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ถูกโจมตีด้วยระเบิดและอาวุธปืนสงครามจนเสียชีวิต รวมทั้งสิ้น 6 นาย นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดอย่างน้อยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

    พล.ท.ปิยวัฒน์ ได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตามล่าตัวผู้ก่อเหตุโดยเร่งด่วน และได้ให้เจ้าหน้าที่สามฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาอย่างเข้มงวด ตามมาตรการเดิมที่ได้วางเอาไว้ โดยเน้นวันสำคัญต่างๆ เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันหยุดสำคัญ

    ยากที่จะลืม

    ที่บริเวณมัสยิดกรือเซะในวันนี้ ทุกอย่างเป็นไปอย่างปกติไม่มีการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบขึ้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้มัสยิดยังคงเดินทางไปประกอบพิธีละหมาดเป็นปกติ มีประชาชนชนทั่วไป และนักเรียน เดินทางมาเยี่ยมชมรอยกระสุนตามป้ายชื่อมัสยิดและบริเวณรอบๆ มัสยิด

    นางสาวคอลีเยาะ หะหลี ผู้ซึ่งสูญเสียบิดาไปในเหตุการณครั้งนี้ ได้เดินทางมารำลึกถึงเหตุการณ์อันแสนเศร้า เช่นในหลายๆ ปีที่ผ่านมา โดยตั้งใจว่าจะทำใจให้เข้มแข็ง

    “วันนี้ได้แวะมาเยี่ยมมัสยิดกรือเซะ ตั้งใจไว้แล้วจะเข้มแข็ง พอไปเห็นลูกประคำที่แขวนไว้บริเวณมัสยิด ภาพเหตุการณ์วันนั้นมันก็หลอนเข้ามาในหัว รู้สึกสะเทือนใจ เจ็บปวดในใจ แต่ก็ต้องยอมรับความจริง เหตุการณ์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิด เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราต้องทำใจว่า นี่คือความประสงค์ของอัลลอฮ์ ซบ. มนุษย์ไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้าอัลลอฮ์ ซบ. ไม่อนุญาต” นางสาวคอลีเยาะกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

    "เวลาผ่านมา 13 ปี ลึกๆ ทุกคนไม่ลืม มันลืมยาก แต่ก็ขอสู้ต่อไปและประคับประคองครอบครัวที่เหลืออยู่ ให้มีชีวิตที่ปลอดภัยและให้ดีกว่าเดิม"

    ในความพยายามแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ ส่งตัวแทนรัฐบาล “พูดคุยเพื่อสันติสุข” กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้ชื่อว่า “องค์กรมาราปาตานี”

    เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานี ได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองตั้ง หนึ่งอำเภอเป็นพื้นที่ปลอดภัย เบื้องต้นได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ เพื่อเสนอแล้วจะคัดเลือกให้เหลือเพียงหนึ่งพื้นที่

    อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 เมษายนนี้ แผนกสารนิเทศบีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ หักหน้าองค์กรมาราปาตานีในทำนองว่า มาราปาตานี ไม่ได้รับฉันทานุมัติและไม่ได้รับมอบอำนาจให้ทำการเจรจาอย่างถูกต้องจากกลุ่มผู้เห็นต่าง และเรียกร้องว่า รูปแบบกระบวนการเจรจาต้องมีนานาชาติเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์และเป็นพยาน

    ขณะที่นักวิชาการด้านการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่ถือว่าพัฒนาขึ้นตามลำดับ ส่วนตัวมองว่าอยู่ในภาวะทรุดทรง คือ แม้จะยังคงเกิดเหตุรุนแรง แต่ภาพรวมความถี่ถือว่าลดลงจาก 2-3 ปี ที่ผ่านมา

    "ปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่สงบนั้นตั้งไว้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ปัญหายาเสพติด 2.การค้าของเถื่อน ผิดกฎหมาย และ 3.กระบวนการต่าง ๆ เช่น แบ่งแยกดินแดนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถือเป็นเวทีแห่งการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย เนื่องจากภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย ไม่มีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ เหมือนในอดีต จึงทำให้ภาคใต้เป็นสนามของการเข้ามาใช้เวที เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ทราบดีว่าอะไรเป็นอะไร" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรยศ ราฮิมมูลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์