เปิดเวทีนานาชาติมุสลิมโลก 40 ประเทศ สัมมนาประเด็นการศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ณ ม.อ.ปัตตานี
วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เชิญปราชญ์และนักวิชาการมุสลิมโลก 40 ประเทศ ร่วมสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อส่งเสริมคุณค่าการศึกษาอิสลามในการสร้างสันติภาพและชี้นำสังคมสู่สันติสุข
ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เชิญปราชญ์และนักวิชาการมุสลิม 40 ประเทศ ร่วมสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 นับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 8 ปี เพื่อส่งเสริมคุณค่าการศึกษาอิสลามในการสร้างสันติภาพและชี้นำสังคมสู่สันติสุข ดังนั้นการสัมมนาครั้งนี้นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่จะกระชับความสัมพันธ์กับพันมิตรทางวิชาการ เพื่อพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทยรวมถึงสร้างเครือข่ายทางการศึกษาที่จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา การเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรในการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ สนองนโยบายที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียน ตลอดจนเสริมสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการประชุมโต๊ะกลม การแสดงปาฐกถาของผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันชั้นนำของโลกมุสลิม การนำเสนอบทความทางวิชาการ เวทีวิพากษ์และเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามศึกษา การประกาศปฏิญญาและแถลงการณ์ของการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 4 และทัศนศึกษาโครงการพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ในครั้งนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ 3 ครั้งที่ผ่านมา ผลสืบเนื่องจากการจัดสัมมนาครั้งแรกเมื่อปี 2553 ประเด็น “บทบาทอิสลามศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์” มีนักวิชาการอิสลามศึกษาและปราชญ์มุสลิม รวม 546 คน จาก 16 ประเทศ มีข้อตกลงจากทวิภาคี 14 ฉบับ มีกำหนด “ปฏิญญาปัตตานี” มีสาระสำคัญคือ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคีในการพัฒนาการศึกษาอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับให้มีคุณภาพและสามารถเป็นฐานในการประกอบอาชีพและพัฒนาสังคมให้มีความสันติสุข นอกจากนั้นยังได้มีข้อตกลงที่จะร่วมกันจัดการประชุมอิสลามศึกษานานาชาติทุกๆ 2 ปี ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำหรับการสัมมนา ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2556 มีปราชญ์และนักวิชาการมุสลิมจาก 30 ประเทศ รวม 504 คน ร่วมระดมความคิดในหัวข้ออิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย ผลจากการสัมมนาครั้งนั้นได้ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเอเซียน หรือ Asean Education Hub ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิมและสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต สร้างภาพมุสลิมในประเทศไทยต่อสายตาชาวโลกมุสลิมในมิติเสรีภาพทางวิชาการและการนับถือศาสนา เกิดเครือข่ายอิสลามศึกษา มีการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษา มีการร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยร่วมกัน และครั้งที่ 3 เมื่อปี 2558 มีปราชญ์และนักวิชาการมุสลิมโลก รวม 500 คน จาก 25 ประเทศ เปิดประเด็น “ค่านิยมอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” ผลจากการสัมมนาครั้งนี้ทำให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา เป็นสถาบันการศึกษาที่พร้อมในการบริการวิชาการแก่ชุมชนทั้งระดับนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจ และทำให้ประชาคมโลกเข้าใจถึงวิถีชีวิตของอิสลามสายกลาง
ดร.ยูโซะ ตาเละ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลสัมฤทธิ์จากการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ทั้ง 3 ครั้งว่า นอกเหนือจาการมีปฏิญญาปัตตานี และแถลงการณ์ของการประชุมนานาชาติเรื่องอิสลามศึกษา แล้ว ยังมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาทักษะภาษาอาหรับเพื่ออิสลามศึกษา (ASTEC), มีคณะกรรมการประสานงานอิสลามศึกษา (ISCC), บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี กับมหาวิทยาลัยต่างๆ, โครงการแลกเปลี่ยนแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรกับมหาวิทยาลัยต่างๆ, การจัดตั้งโรงเรียนสาธิตอิสลามศึกษา ม.อ., การจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านอิสลาม (ATSDC), การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการจัดการข้อมูลอิสลาม (ICentre), โครงการวิสาหกิจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (SEED)
“การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี นับว่าเป็นการเปิดเวทีวงวิชาการด้านอิสลามศึกษาในระดับโลก มีการแลกเปลี่ยนและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอิสลามศึกษาให้มีผลต่อการพัฒนาสังคมโลก โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างสันติภาพและการสร้างความสามัคคีของประชาคมโลก คาดหวังว่าความร่วมมือทางวิชาการระหว่างเครือข่ายอิสลามศึกษาจะเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”
ดร.ยูโซะ ตาเละ กล่าวเพิ่มเติม
**********************************
Download เอกสารได้ที่ http://pr.pn.psu.ac.th/4iisc2017.doc
ที่มา http://pr.pn.psu.ac.th/iisc2017.pdf
ภาพจาก http://www.psu.ac.th/th/node/7947