Skip to main content

 

ทำไมอาหารจากญี่ปุ่นต้องฮาลาล

 

โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

หลายปีมาแล้ว ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งเดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะเยี่ยมชมโรงเชือดสัตว์เพื่อจัดเตรียมเนื้อวากิวที่มีชื่อเสียงก้องโลกของญี่ปุ่น ผู้จัดการโรงเชือดแจ้งว่าการเชือดสัตว์ใช้หลักศาสนาอิสลามเพื่อให้ได้เนื้อฮาลาล หนึ่งในข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กลับมาถามผมที่กรุงเทพฯว่า ผู้เยี่ยมชมโรงเชือดไม่มีมุสลิมเลยสักคน ทั้งญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ประเทศมุสลิมทำไมต้องเตรียมเนื้อฮาลาล ผมตอบไปว่าการเตรียมเนื้อฮาลาลทำให้โรงเชือดสามารถส่งผลิตภัณฑ์ขายได้ทั่วโลก หากไม่ทำฮาลาลทางโรงงานจะสูญเสียตลาดนอกประเทศถึงหนึ่งในสาม เป็นคำตอบที่ผมเข้าใจว่าถูกต้องมาตลอดแต่ปรากฏว่าผิด

สามสี่ปีหลัง มีนักธุรกิจญี่ปุ่นแวะเวียนมาเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่บ่อยๆ บางครั้งเป็นองค์กรศาสนาอิสลามจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ผมดีใจเมื่อรู้ว่าวิทยาศาสตร์ฮาลาลทำให้คนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มั่นใจสภาพฮาลาลของเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทย มาวันนี้ทางญี่ปุ่นรวมถึงเกาหลีใต้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากประเทศไทยขายได้ดีขึ้นในสองประเทศ ผมเข้าใจว่าญี่ปุ่นนำวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากประเทศไทยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกจากญี่ปุ่นอีกครั้งซึ่งหากฮาลาลทั้งหมดย่อมทำให้ตลาดส่งออกเปิดกว้างขึ้น ทว่าคำตอบจากนักธุรกิจญี่ปุ่น รวมทั้งในเวลาต่อมาเป็นคำตอบจากนักวิจัยในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นสองสามแห่งที่ได้รับทุนจากหน่วยงาน JICA และ JETRO ของรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่จาก JICA และ JETRO เองทำให้รู้ว่าสิ่งที่เคยเข้าใจมาตลอดว่าถูกต้องนั้นเอาเข้าจริงเป็นความเข้าใจที่ผิด

คำตอบที่ถูกต้องกลายเป็นว่าประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนใน ค.ศ.2020 รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งมั่นว่าปีนั้นญี่ปุ่นจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนโดย 20% หรือ 4 ล้านคนเป็นมุสลิม รัฐบาลญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับตลาดฮาลาลรวมถึงการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิม (Muslim friendly tourism) มากขึ้น วิธีคิดของคนญี่ปุ่นที่น่าชื่นชมคือคนญี่ปุ่นเชื่อว่าหากจะส่งเสริมฮาลาล คนญี่ปุ่นต้องรู้จักฮาลาลให้ได้ก่อนไม่เพียงเท่านั้นยังต้องบริโภคอาหารฮาลาลด้วย ใครไปญี่ปุ่นวันนี้จึงเจอะเจอร้านอาหารในญี่ปุ่นมากมายที่ปิดป้ายว่าฮาลาลแม้จะเป็นร้านอาหารเฉพาะสำหรับคนญี่ปุ่นก็ตาม

ผมไปเข้าใจว่าญี่ปุ่นทำฮาลาลเพื่อค้าขาย เพื่อนผมที่เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นบอกว่าไปเข้าใจอย่างนั้นอาจเข้าข่ายดูแคลนคนญี่ปุ่นว่าหน้าเลือด ว่าเข้าไปนั่น เขาว่าชาติญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมว่าเมื่อเห็นสิ่งที่ตนทำหรือบริโภคเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ก็แนะนำไปให้เพื่อน ดังนั้น เมื่ออยากขายสินค้าฮาลาลก็ต้องบริโภคสินค้าฮาลาลของตนเองเสียก่อน เมื่อมั่นใจว่าดีแล้วจึงแนะนำให้เพื่อนได้บริโภค ญี่ปุ่นคิดอย่างนี้ เกาหลีใต้อาจจะคิดเหมือนกัน หากเป็นเช่นนั้นจริง ญี่ปุ่นรวมทั้งเกาหลีใต้อาจกลายเป็นคู่แข่งผู้ผลิตอาหารฮาลาลป้อนตลาดโลกที่ได้รับการยอมรับสูงในอนาคต ประเทศไทยต้องระวังการสูญเสียตลาดไว้ให้ดี

(ภาพจาก http://halalnavi.com)