ไชยยงค์ มณีพิลึก
ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “มท 3” และนโยบายเฉพาะหน้า 6 ข้อ ของ “แม่ทัพภาค 4” ลดความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือ?
ปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกัน ทั้งจากฝ่ายการเมือง ทหาร และปกครอง คือการออกมาประสานเสียงว่า การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดความถี่ลง โอนมีการนำตัวเลขการเกิดเหตุของปี 2552 มาเทียบเคียงกับปี 2553 ซึ่งพบว่าการก่อเหตุของ “แนวร่วม” ลดลงกว่าครึ่ง
ดังนั้น ถาวร เสนเนียม มท. 3 จึงมีความเห็นว่า ควรจะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ ซึ่งเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นน้อย คือ อ.เบตง จ.ยะลา อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เป็นการ”นำร่อง” โดยใช้กฎหมายทั่วๆ ไป คือ ป.วิอาญา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้แทน ซึ่งหลักจากเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ก็ไม่มีเหตุร้ายที่รุนแรงเกิดขึ้น
โดยข้อเท็จจริงนั้น การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้กลายเป็นข้อ “ถกเถียง” กันมาโดยตลอด โดยฝ่าย กอ.รมน.ให้เหตุผลที่ต้องใช้ว่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่มี “กฎหมาย” พิเศษ ที่สามารถปฏิบัติการต่อ “แกนนำ” และ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้อย่างสะดวก โดยเชื่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของ “สุจริตชน”
.
ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่ง รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษย์ชน ต่างเชื่อว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างความเดือดร้อน และความไม่พอใจให้กับคนในพื้นที่ และเชื่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้นได้
โดยข้อเท็จจริง นับแต่มีการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้สร้างความหวาดกลัว หรือเป็นอุปสรรคในการก่อการร้ายแต่อย่างใด เพราะการก่อเหตุร้ายยังเกิดขึ้นทุกวัน รวมทั้งการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตรวจค้น จับกุม ผู้ต้องสงสัย แม้จะจับกุมได้จำนวนมากก็จริง แต่สุดท้าย ต้องปล่อยตัว ทั้งในชั้นสอบสวน และในชั้นศาล เพราะพนักงานสอบสวน หาพยาน และหลักฐาน มาพิสูจน์ต่อศาลไม่ได้
ดังนั้นการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยกลับมาใช้กฎหมายอาญา หรือ ป.วิอาญา เพียงอย่างเดียว จึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่งในการลดความขัดแย้ง สร้างความเสมอภาพ และเป็นธรรมกับคนในพื้นที่ รวมทั้งลดเงื่อนไขสงครามให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปโจมตีเจ้าหน้าที่ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ และถ้าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว เกิดความรุนแรงขึ้นอีก กอ.รมน.ก็สามารถนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาประกาศใช้ใหม่ได้เช่นเดิม
ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับ นโยบายเฉพาะหน้า 6 ข้อ ของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าคนใหม่ ซึ่งประกาศว่า นอกจากจะคงนโยบายของ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร รอง ผบ.ทบ. อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 คนเก่าที่วางไว้ด้วยการสานต่อ ยังเพิ่มนโยบายเฉพาะหน้า 6 ข้อ ที่เป็นของตนเอง นั้นคือ 1. อำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเดินทางกลับมายังภูมิลำเนา 2. เปิดโอกาสให้ผู้มีความคิดต่างจากรัฐได้มีช่องทางแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมในการแก้ปัญหา 3. ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรง อันส่งผลให้เกิดความไม่สงบในสังคม ให้เกิดประสิทธิพลอย่างเป็นรูปธรรม 4. ฟื้นฟูและส่งเสริมวิธีชีวิตตามหลักคุณธรรมที่ดีงามของสังคม โดยเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม 5. สนับสนุนภาคประชาชนและประชาสังคมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกด้าน 6. รณรงค์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
ความจริงนโยบายเฉพาะหน้าทั้ง 6 ข้อของ พล.ท.อุดมชัย ไม่ใช่ ของใหม่แต่อย่างใด ที่ผ่านมาได้มีการทำกันแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ไม่มีการประกาศให้เป็น “วาทกรรม” รวมทั้งที่ผ่านมามีความ “ล้มเหลว” มาโดยตลอด เพราะไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ทุ่มเท และ “บูรณาการ” กับหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมรับผิดชอบอย่าง จริงๆ จังๆ ถ้า พล.ท.อุดมชัย มีความมุ่งมั่น เอาจริง โดยสามารถ “หลอมรวม” ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของหน่วยงานอื่นๆได้ และ “ก้าวข้าม” ความ “แตกต่าง” ไปสู่ความเป็น “เอกภาพ” ในการบังคับบัญชาได้ คนในประเทศชาติ อาจจะได้เห็น “สัญญาณ” ที่ดีๆ เกิดขึ้นกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้
แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น คำตอบ “สุดท้าย” ของการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ถาวร เสนเนียม มท. 3 หรืออยู่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 แต่อย่างใด ทุกอย่างอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เพียงคนเดียวเท่านั้น
และวันนี้ งานเร่งด่วนที่สุดของ มท.3 และ แม่ทัพภาคที่ 4 คือ ทำอย่างไรจึงจะรักษาชีวิต และหยุดการตายเป็น “ใบไม้ร่วง” ของคนไทยพุทธ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ นี่ต่างหากคืองานเร่งด่วนที่แท้จริง