Skip to main content

 

 

นี่คือสิ่งที่ผมคิด สิ่งที่ผมพูด ในการแสดงทัศนะในวงสัมมนาสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ในวันนี้ 7 พ.ค.2560 ครับ เป็นความคิดที่ผมกลั่น และสะสมจากประสบการณ์การทำงานหลังเรียนจบมา 23 ปี ถูกสั่งย้าย 2 ครั้ง ถูกปรับทัศนคติ 1 ครั้ง อยู่กับมวลชนชาวบ้านร่วมกิจกรรมปกป้องชุมชนกับชาวบ้านมายาวนาน จนผมมีข้อสรุปบางอย่างกลั่นออกมาแลกเปลี่ยนกับมวลมิตรเพื่อน NGOs ที่ร่วมเคลื่อนไหวมาด้วยกัน เผื่อเพื่อนๆ จะสนใจอ่าน แม้จะยาวไปนิด
        
       วันนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่ เราเคลื่อนไหวสังคมไปเพื่ออะไร อะไรคือเป้าหมาย อะไรคือเส้นทางสู่เป้าหมายนั้น เราจะสร้างสังคมปลอดถ่านหินหรือ เราจะสร้างสังคมบริโภคปลอดภัยหรือ เราสร้างสังคมเกษตรอินทรีย์กระนั้นหรือ หรือเรากำลังสร้างสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำ แต่อาจไม่ใช่เรากำลังสร้างสังคมแห่งสุขภาวะต่างหาก
        
       ผมว่าทั้งหมดนี้คือ “วาทกรรม” และยังไม่ใช่เป้าหมายร่วม เป้าหมายลึกๆ ที่แท้จริงของพวกเรา
        
       แท้จริงเรามีเป้าหมายร่วมกัน เป้าหมายที่ทำไปทำมาแอบซ่อนไว้ข้างหลังจนลืมๆ กันไป แท้จริงพันธกิจของเราคือ “การสถาปนาประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” ประชาชนต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าประชาชนจะมีอำนาจขนาดนั้นได้ เราต้องร่วมกันลดอำนาจรัฐ และลดอำนาจทุน สถาปนาอำนาจต่อรองของภาคประชาชน นี่คือภารกิจร่วมของพวกเรา
        
       ส่วนประเด็นที่เราขับเคลื่อน และที่เราสนใจอยู่นั้น คือ พาหนะสำหรับการเรียนรู้ประชาธิปไตย และการถางทางไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่มวลชนเข้มแข็งพอที่จะปกป้องชุมชน และกำหนดอนาคตตนเอง คานกับอำนาจรัฐ และอำนาจทุน
        
       การจะได้มาซึ่ง “ประชาธิปไตยของประชาชน” นั้น สำหรับผมหนทางสำคัญที่สุดหนทางเดียวที่จะเป็นจริง นั่นคือ ประชาชนต้องตื่นตัว ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง ลุกขึ้นมาสร้างบ้านแปลงเมืองให้เป็นบ้านเมืองที่เขาอยากให้เป็น
        
       ดังนั้น หัวใจของการขับเคลื่อน และการทำงานของเราก็คือ การสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของภาคประชาชน ให้ขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเชื่อมั่น และรับมือต่อการตอบโต้ของอำนาจรัฐ อำนาจทุนให้ได้
       หากนี่คือพันธกิจที่ชัดเจน
        
       เราจะต้องไม่เอาชัยชนะเชิงประเด็นเป็นเป้าหมาย การชนะในประเด็นที่เรียกร้องโดยที่มวลชนไม่ตื่นตัวร่วมสู้ทุ่มสุดตัว ถือว่ายังไม่ใช่ชัยชนะที่ควรจะเป็น แม้ว่าเราจะสามารถใช้กลยุทธ์อันหลากหลายเพื่อชัยชนะเชิงประเด็นได้ แต่ต้องรู้ และตระหนักว่า นั่นไม่ใช่เป้าหมาย นั่นเป็นเพียงเครื่องมือ
        
       เราอาจจะชนะเชิงประเด็นด้วยการนำโด่งของ “ผู้นำ” ซึ่งส่วนใหญ่คือ NGOs แต่มวลชนตามไม่ทัน
       เราอาจชนะเชิงประเด็นด้วยการล็อบบี้ ชนะด้วยการต่อรอง เราอาจชนะวันนี้ แต่ไม่ยั่งยืน และที่สำคัญไม่สร้างความเข้มแข็งให้แก่มวลชนเลย
        
       เราอาจชนะเชิงประเด็นหยุดนโยบายได้เป็นครั้งคราวจากการจัดเวทีวิชาการ จากการระดมพลเครือข่ายมาแสดงออก ชนะด้วยแถลงการณ์ที่ดุดันกินใจ ชนะด้วยชนชั้นนำบางคนมาหนุนช่วย ชนะมติในคณะกรรมการที่เราร่วมอยู่ หรือชนะจากการต่อสู้ด้วยกระแส Online แต่นี่ก็เป็นชัยชนะที่ต้องตระหนักว่า  เราจะต้องไม่ละเลยเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชน

 

 

  ผมจึงเห็นว่า เราต้องกลับไปสู่กระบวนงานการสร้างความเข้มแข็งให้มวลชนอย่างจริงจัง วันนี้เราละเลยงานมวลชนพื้นฐานอย่างมาก 

        
       เราถูกทฤษฎีนโยบายสาธารณะชี้นำว่า นโยบายดีๆ คือคำตอบ เน้นงานวิชาการ ใช้ความรู้นำ มวลชนคือตัวประกอบ
        
       เราถูกทฤษฎีเครือข่ายชี้นำว่า เราต้องเชื่อมประสาน แบ่งบทกันเล่น แบ่งไปแบ่งมาชาวบ้านก็ได้บทเป็นเพียงคนเข้าร่วมให้ห้องประชุมเต็มๆ ให้ม็อบดูดีมีจำนวนมาก แต่บ่อยครั้งที่เราก็ละเลยการใส่ใจกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการต่อสู้ให้แก่ชาวบ้าน
        
       เราถูกทฤษฎีการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัลชี้นำว่า การสร้างกระแสสร้างวาทกรรม คือ การต่อสู้ด้วย Air War ที่นับเป็นหัวใจการต่อสู้แบบใหม่ แต่นั่นเป็นเครื่องมือของชนชั้นกลางมากกว่าชาวบ้านในชนบท
        
       เราถูกทฤษฎีนักเลือกตั้งบ่มเพาะให้เราเชื่อผู้นำ เชื่อตัวแทน ซึ่งพิสูจน์มาชัดแจ้งแล้วว่า ผู้นำที่ขาลอย มักจะต้านทานอำนาจรัฐอำนาจเงินได้ไม่นาน
        
       ทั้งหมดนี้คือ ทฤษฎีการขับเคลื่อนสังคมที่มีส่วนถูก แต่ไม่ใช่ถนนสายหลักที่มุ่งสู่ประตูชัย “ประชาธิปไตยของปวงชน”
        
       ดังนั้น เราจึงควรใส่ใจต่อการติดอาวุธทางความคิดให้แก่มวลชน เราต้องทนรอให้เขาคิดอ่านแลกเปลี่ยน และเลือกวิธีการเคลื่อนด้วยตัวเขาเอง เราต้องทนยินดีต่อการเดินอ้อมเส้นทางเพื่อมวลชนได้ทดลองและเรียนรู้ เราต้องทนที่จะไม่นำเพื่อให้มวลชนก้าวออกมานำ แล้วเราคอยตามดู ตามสนับสนุน เราต้องใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้น ไม่ใช่ด่วนสรุปบอกคำตอบหรือชี้นำ เราต้องสรุปบทเรียนอย่างให้เกียรติแก่พี่น้องมวลชนของเรา ไม่ปิดกั้นความคิด ยอมรับทั้งสิ่งที่เป็นบทเรียนร่วมกัน ทั้งที่ชนะ และบาดเจ็บพ่ายแพ้
        
       และที่สำคัญ เราต้องฝึกให้มวลชนก้าวข้ามความกลัว ก้ามข้ามวิธีคิดแบบพึ่งพารัฐ ที่เข้าไปเพียงยื่นจดหมายขอให้รัฐทำ 1, 2, 3 แล้วให้เรารอฟังผล ซึ่งไม่เคยได้ผล แต่เราต้องร่วมกับมวลชนหล่อหลอมความกล้าหาญในการกล้ารบนาย หากเรายังเชื่อมั่นในคำของบรรพชนคนใต้ที่สรุปประมวลมาแล้วว่า “ไม่รบนายไม่หายจน” แต่แน่นอนว่าต้องเป็นความกล้าบนหนทางอหิงสา รอบคอบ และมองให้ไกล อย่ามองเพียงกิจกรรม แต่ให้มองไปให้ถึงเป้าหมาย และหลักชัย
        
       ถึงตรงนี้ ผมคิดว่าเราจะขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายการยกระดับศักยภาพของมวลชน โดยมีมวลชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่มุ่งทำกิจกรรมเป็นศูนย์กลาง หรือเอาชนะในประเด็นที่เราเคลื่อนอยู่เท่านั้น เราจะก้าวเดินด้วยการสะสมมวลชน หล่อหลอมพวกเขา สร้างเครือข่ายของมวลชนด้วยกันให้เป็นแนวร่วมที่พร้อมสนับสนุนกันและกัน สร้างเครือข่ายของกลุ่มคนกลุ่มอื่นในสังคม เช่น นักวิชาการ สื่อ ปัญญาชน นักศึกษา โดยมีมวลชนเป็นศูนย์กลางที่ทุกฝ่ายระดมกำลังมาสนับสนุน
        
       นี่คือเส้นทางของการสร้าง “ประชาธิปไตยรากฐาน” ประชาธิปไตยที่เป็นหลักประกันว่า ในระยะยาวอำนาจของภาคประชาชนจะเพิ่มขึ้น จนสามารถสร้างดุลกับอำนาจรัฐ และอำนาจทุนได้อย่างแท้จริง