อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด
เมื่อเอ่ยคำว่า “วรรณกรรม” หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นงานเขียนประเภทการเล่านิทาน เรื่องสั้น นวนิยาย หรือบทกวี ทั้งที่เป็นเรื่องจริงหรืออาจเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา หรืออาจกล่าวได้ว่างานวรรณกรรมนั้น คืองานประติมากรรมทางความคิดหรืองานจิตรกรรมทางปัญญา ที่มีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของสังคมนั้นๆ โดยรวม
แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น งานวรรณกรรมไม่ได้กระจุกอยู่ที่งานประเภทต่างๆ อย่างที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้นไม่ หากแต่ยังรวมไปถึงงานเขียนทั้งหมดที่ถูกนิพนธ์ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของสังคมทั้งมวล ทั้งที่ให้ความบันเทิงความรื่นเริงและความรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สังคมยังคงแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนที่เรียกว่างานวรรณกรรมที่แท้จริงหรือวรรณกรรมสมมุติในบรรดางานเขียนทั้งหมด
เหตุผลที่เรายังมีความเข้าใจว่างานวรรณกรรมนั้นจะต้องเป็นงานเขียนที่คิดค้นขึ้นมาของผู้เขียนเอง ด้วยการจินตนาการหรือด้วยการเล่าเรื่องที่สะท้อนสังคมโดยอิงจากเหตุการณ์จริง ที่อาจมีอิทธิพลต่อผู้พบสารดังกล่าวไม่มากก็น้อย กล่าวคืองานวรรณกรรมที่เราเข้าใจกันอยู่ก็คือ งานที่เสกสรรขึ้นมาโดยผู้เขียนเอง โดยการใช้จินตนาการผ่านการเล่าเรื่องด้วยการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้คนได้อ่านได้รับความบันเทิงหรือแง่คิดในประเด็นที่ผู้เขียนเองแอบแฝงอยู่ในงานเขียนนั้นๆ
แต่มีอีกงานวรรณกรรมประเภทหนึ่ง ที่อาจอยู่นอกบริบทของความเข้าใจของเราก็คือ งานวรรณกรรมศาสนา หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าตำราทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำราที่เขียนขึ้นมาด้วยการเรียบเรียงที่มีหลักการตายตัวเป็นการเฉพาะอย่างตำราศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำราที่เขียนขึ้นมาด้วยภาษามลายูตัวเขียนยาวี ที่ค่อนข้างมีความพิถีพิถันเป็นอย่างยิ่งในการเรียบเรียงประเด็น ประโยค ตลอดจนความคิดที่ผู้เขียนปรารถนาที่จะสื่อออกไป ด้วยการอาศัยหลักไวยกรณ์เฉกเช่นเดียวกันกับตำราศาสนาในภาษาอาหรับ ที่จะต้องเขียนอิงอยู่บนหลักการของไวยกรณ์ของกฎ “นาฮู ซอรอฟ” ที่จะต้องมีความถูกต้องตามหลักไวยกรณ์อาหรับ
ซึ่งหากผู้เขียนกีตาบไม่มีความชำนาญพอในเรื่องไวยกรณ์แล้ว คงมิอาจจะเขียนตำราศาสนาเล่มใหญ่ๆ ได้อย่างแน่นอน ยิ่งงานเขียนในภาษามลายูตัวเขียนยาวียิ่งต้องมีความชำนาญหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับการเขียนในภาษาอาหรับ เพราะเมื่อตำราที่ถูกเขียนขึ้นมานั้น ผู้อ่านหรือผู้สอนเองจะต้องมีความชำนาญในหลักไวยกรณ์ดังกล่าวเช่นกัน และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้สอนเองจะต้องมีความแตกฉานในการแตกประเด็นที่แฝงนัยอยู่ในทุกบรรทัด หรือทุกตัวอักษรก็ว่าได้
ด้วยประการเช่นนี้พอจะกล่าวได้ว่า งานวรรณกรรมศาสนาที่มีอยู่ในสังคมปาตานี ถือได้ว่าเป็นงานเขียนวรรณกรรมชิ้นเอกของโลกประเภทหนึ่ง ถึงแม้ว่าในสิ่งที่ผู้เขียนเองกลำลังยืนยันในที่นี้ จะยังไม่มีใครเคยเขียนถึงสิ่งนี้หรือออกมายอมรับหรือเคยถูกศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาคแม้กระทั่งระดับพื้นที่ก็ตาม แต่อันเนื่องมาจากว่าตำราหรือกีตาบศาสนาที่เคยมีอิทธิพลต่อสังคมปาตานีรวมทั้งสังคมมลายูในอุษาคเนย์แห่งนี้ จะยังไม่ปรากฏเป็นที่ยอมรับของสากล เพียงเพราะเห็นว่า เป็นงานประเภทเฉพาะกลุ่มหรืองานประเภทศาสนา จึงทำให้ความสนใจต่อวรรณกรรมของพวกเหล่านั้นต้องพลอยไม่มีผู้ที่ให้ความสนใจตามไปด้วย
จะว่าไปแล้ว การที่งานเขียนของสังคมหนึ่ง จะยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากโลกภายนอกก็ตามแต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากซีกโลกตะวันตก ที่เป็นสังคมที่มักจะอุปโลกษณ์คำอธิบายหรือคำนิยามต่างๆ แทนคนชาวโลกอยู่เสมอ คงไม่ได้หมายถึงงานวรรณกรรมเหล่านั้น จะไร้ซึ่งคุณค่าไม่แต่อย่างใด ทว่าหากเรามองดูในด้านคุณค่าแล้ว งานวรรณกรรมศาสนาที่มีอยู่ในโลกมลายู ค่อนข้างมีความแตกต่างกันไกลลิบลับเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับงานวรรณกรรมต่างๆ ทั่วโลก ที่ได้รับการสรรเสริญที่ได้รับรางวัลในด้านต่างๆ
ตำราศาสนาที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในโลกมลายูปัจจุบันนี้หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กีตาบกูนิง” ถือเป็นงานเขียนที่มิอาจประเมินคุณค่าได้ไม่ และสิ่งที่ผู้เขียนกำลังนำเสนอนี้มิได้ต้องการโฆษณาชวนเชื่อจนเกินเลยความเป็นจริงแต่อย่างใด แต่ด้วยอาศัยการเฝ้าสังเกตเห็นวิวัฒนาการของชาวมลายูปาตานีหรือว่าชาวมุสลิมมลายูทั้งมวลที่อาศัยอยู่ในแถบหมู่เกาะมลายูทั้งหลาย ล้วนได้รับอนิสงค์จากงานเขียนเหล่านั้นแทบทุก เพียงแต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจเจกวิถีของแต่ละคน
และงานเขียนเหล่านั้นยังคงปักหมุดอยู่ในริ้วรั้วของสถาบันทางศาสนาอิสลามนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถาบันปอเนาะ อันเป็นสถาบันที่ดำรงอยู่ควบคู่กับเมืองมลายูทั้งมวล ทั้งในอาเจะห์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และปาตานี และนับวันสถาบันปอเนาะยังคงเบ่งบานผุดขึ้นราวดอกเห็ดในสังคมมลายูอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมปาตานี ที่ได้กำเนิดสถาบันปอเนาะแล้วปอเนาะเล่า ซึ่งสวนทางกับวิกฤติการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปาตานี ที่อาจมีบ้างที่สถาบันเหล่านี้จะถูกคุกคามโดยตรงทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่จากรัฐบาล แต่เป็นเพียงส่วนน้อย
ด้วยงานวรรณกรรมดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดบรรดาอูลามาอฺมากมายในสังคมปาตานี ที่เป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อสังคม อีกทั้งยังคงเป็นที่พึ่งของผู้คน ในขณะเดียวกันถือเป็นเกราะป้องกันให้กับความโดดเด่นของความเป็นตัวตนของชนมลายูอย่างมิรู้คลาย
ถึงแม้ว่าจะมีบรรดานักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์จะออกมาจัดสรรปันส่วนประเภทวรรณกรรมก็ตาม ที่ได้กำหนดให้ตำราศาสนาที่มีอยู่ในอุษาคเนย์หรือกีตาบกูนิง จะอยู่ในหมวดวรรณกรรมคลาสิค แต่ถึงอย่างไรคุณค่าที่มีอยู่ในนั้น ยังคงส่องสว่างฉายแสงจวบจนปัจจุบัน
อนึ่งจุดเด่นของวรรณกรรมศาสนาดังกล่าวก็คือ ตำราเหล่านั้นมักจะถูกตีพิมพ์ด้วยกระดาษสีเหลือง สีน้ำตาล และแม้กระทั่งสีแดงอ่อนๆ ที่บัดนี้ยังคงเป็นเรื่องปริศนาที่ยังไม่มีใครสามารถถอดความนัยนั้นได้ว่าเหตุใดถึงได้มีการใช้กระดาษชนิดดังกล่าวในการผลิต? ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นที่มาของคำว่ากีตาบกูนิง อันหมายถึง ตำราสีเหลืองนั่นเอง
ฉะนั้นตำราศาสนาถือเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งในแง่ของการใช้คำและการเรียบเรียงที่มีชั้นเชิง จนเป็นตำราได้อย่างสมบูรณ์แล้วแต่ขนาดขององค์ความรู้ที่ผู้เขียนบรรจุลงไป ที่ต่อมาได้เป็นงานเขียนที่มีอิทธิพลในการปลูกฝังคุณธรรมของผู้คน ตลอดช่วงระยะเวลาที่ตำราศาสนาดังกล่าวยังสามารถแพร่หลายได้ในสังคมที่มีสถาบันปอเนาะแบบดั้งเดิมตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิประเทศของคนมลายูมุสลิม ซึ่งตราบใดที่ยังมีสถาบันปอเนาะยังคงดำรงอยู่ในสังคม ตราบนั้นอิทธิพลของกีตาบกูนิงจะยังคงมีลมหายใจไปอีกนาน จนกว่าผู้คนจะไม่ให้ความสนใจและสังคมไมได้ให้ความสำคัญกับคุณูปการต่อวรรณกรรมศาสนาอีกต่อไป.
เผยแพร่ครั้งแรกในเพจ Patani Society