Skip to main content

 

ระดมคนวิชาการทบทวน ‘10 ปีนักข่าวพลเมือง’ ก้าวย่างสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส

ประชุม ‘พลเมืองก้าวที่ 10 : ถอดบทเรียน 10 ปี นักข่าวพลเมือง’ ชวนคนวิชาการร่วมถอดบทเรียนความร่วมมือ จากจุดเริ่มต้นปี 2551 เปิดพื้นที่การสื่อสารภาคพลเมืองในหน้าจอทีวีสาธารณะ สู่ยุคสื่อโกออนไลน์ เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป ใคร ๆ ก็เปลี่ยนแปลง


22 พ.ค. 2560 สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส จัดการประชุม ‘พลเมืองก้าวที่ 10 : ถอดบทเรียน 10 ปี นักข่าวพลเมือง’ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น โดยเชิญนักวิชาการจาก 15 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่ร่วมขับเคลื่อนงานนักข่าวพลเมืองมาร่วมถอดบทเรียน ทบทวนการทำงาน เพื่อที่จะขยับไปข้างหน้าอย่างมีทิศทางและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

คลิกดู : ไทม์ไลน์จุดเริ่มต้นนักข่าวพลเมือง ก้าวแรกถึงก้าวที่สิบ www.citizenthaipbs.net/step

00000

คอนเซ็ปต์นักข่าวพลเมือง “การสื่อสารโดยคนใน” ไม่มีใครทำแทนได้

สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ กล่าวย้อนไปถึงข้อเขียนของตัวเองเมื่อปี 2551 เกี่ยวกับการอธิบายเรื่องการสื่อสารที่น่าสนใจของ รศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวงพูดคุยถึงแนวทางเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ว่า การสื่อสารไม่ใช่เรื่องเทคนิค เรื่องทีวี หรือหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่แค่เอาข้อมูลขึ้นไปอยู่บนสื่อ แต่เป็นการสร้างความหมาย สร้างพื้นที่ในการสื่อความหมาย และให้เกิดการขับเคลื่อนในทางสังคม เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มและสื่อสารต่อขยายไปทุกระดับ

สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ รศ.ศรีสมภพพูดเกี่ยวพันธ์กับนักข่าวพลเมือง คือ 1.เมื่อพลเมืองคิดเรื่องการสื่อสารกับสังคมวงกว้าง นั่นเป็นเพราะเขาต้องการพื้นที่ในการปฏิบัติการเพื่อสร้างนิยามความหมายให้สังคมได้เรียนรู้และเข้าใจจากมุมมองของเจ้าของประเด็น หรือบางที่เราเรียกว่าคนใน ซึ่งคนนอกอย่างเราต่อให้เห็นด้วยก็ไม่อาจมองแทนกันได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดในงานของนักข่าวพลเมืองที่นำเสนอมาตลอด 10 ปี

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คำจำกัดความของนักข่าวพลเมืองชัดขึ้นมาด้วยว่าเวลาเราพูดถึงมุมมองของการทำงานต่อประเด็นต่าง ๆ ทำไมนักข่าวพลเมืองจึงไม่ใช่สื่อมวลชนมืออาชีพที่เราคุ้นเคยกัน ทำไมความเป็นคนในถึงสำคัญ แล้วคนนอกอย่างเราอยู่ตรงไหนของการสื่อสาร นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้มาโดยตลอด

2.เราพบว่าการสื่อสารภาคพลเมืองเป็นเรื่องเดียวกับการเมืองภาคพลเมือง คือถ้ามองว่าการเมืองเป็นเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม การเมืองภาคพลเมืองก็คือการเข้าไปมีส่วนร่วมของพลเมือง ซึ่งไม่สามารถให้คนอื่นมารับเหมาทำแทนได้ อันนี้เป็นวิธีการเดียวกันกับที่ภาคพลเมืองจะมีที่อยู่ที่ยืนทางสังคม

การสื่อสารผ่านตัวแทนที่ผ่านมามันมีข้อจำกัด เพราะมันถูกจำกัดวงเฉพาะผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น ดังนั้นการเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมืองคือการที่พลเมืองลุกขึ้นมาสื่อสารด้วยตัวเอง นี่เป็นนิยามสำคัญอันหนึ่งที่แยกความเป็นนักข่าวพลเมืองออกจากการสื่อสารในแบบอื่น ๆ

สมเกียรติ กล่าวว่า การที่เจ้าของประเด็นลุกขึ้นมาสื่อสารเองได้ก่อให้เกิดปฏิบัติการขึ้นในพื้นที่ และหลายครั้งนักข่าวพลเมืองได้สื่อสารก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ไปจนระดับสังคมด้วย เมื่อมาผนวกกับบทบาทของสื่อสาธารณะที่ต้องการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กับภาคพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางสังคม จึงทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาที่เรียกว่า ‘นักข่าวพลเมือง’ ขึ้น

“10 ปีผ่านไป ผมก็ยังพูดเหมือนเดิม คือ นักข่าวพลเมืองไม่ใช่ของไทยพีบีเอส เราไม่ได้เป็นเจ้าของนักข่าวพลเมือง และในทุกวันนี้นักข่าวพลเมืองเป็นแนวคิดใหญ่ ซึ่งมันอธิบายว่าทำไมภาคพลเมืองจึงต้องลุกขึ้นมาปฏิบัติการ ลุกขึ้นมาสื่อสารในเรื่องราวของตนเอง”

เนื่องจากโดยคอนเซ็ปต์ว่าจากการสื่อสารตรงนี้เป็นเรื่องที่ทำแทนไม่ได้ วงวันนี้จึงเชิญนักวิชาการทั้งที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับนักข่าวพลเมืองมาตั้งแต่ต้น บางคนเข้ามาร่วมตอนกลาง หรือบางคนเพิ่งเข้ามา มาร่วมพูดคุยเพื่อให้เห็นภาพของการพัฒนานักข่าวพลเมืองซึ่งขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อทำความเข้าใจ และที่สำคัญคือการเอาแนวคิดตรงนี้ไปออกแบบกระบวนการที่ทำให้นักข่าวพลเมืองได้ร่วมกันมองย้อนกลับไปในสิ่งที่ทำร่วมกันมา และอนาคตต่อไปนี้จะเดินไปอย่างไร เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปมากมายซึ่งก็มีผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสังคมและต่อตัวนักข่าวพลเมืองเอง จึงอยากขอความรู้จากวงนี้ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น และทิศทางในอนาคตต่อไป

 

นักข่าวพลเมือง กลไกของการเปลี่ยนแปลง

อังคณา พรมรักษา คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมแลกเปลี่ยนในวง “10 ปี นักข่าวพลเมืองสู่พลเมืองก้าวที่ 10” ว่า กระบวนการทำงานร่วมกันที่ผ่านมาทำให้คิดว่านักข่าวพลเมืองคือกลไกในการสื่อสาร โดยนักข่าวพลเมืองมีพื้นที่หน้าจอโทรทัศน์เป็นยุทธศาสตร์ แต่หลังจอก็มีการขับเคลื่อนโดยคนทำงานนักข่าวพลมืองซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน มีสถานบันการศึกษา ชุมชน ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่ และไทยพีบีเอส เคลื่อนกระบวนการหลังจอไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้งานนักข่าวพลเมืองไม่ได้แค่ตอบแค่โจทย์ On Air (การออกอากาศทางโทรทัศน์) แต่ยังมี On Ground (การมีกิจกรรม ความเคลื่อนไหว) และปัจจุบันมี Online ด้วย

อังคณา ยังกล่าวถึงคุณูปการของนักข่าวพลเมือง คือ 1.ระดับการมีส่วนร่วมในการสื่อสาร กลไกนักข่าวพลเมืองมีการตั้งคำถาม ทำให้เขาเองได้ถามตัวเอง ได้คิดเพื่อค้นพบบางอย่าง ซึ่งหากนักข่าวมืออาชีพไปถามอาจไม่ได้คำตอบหรือความเปลี่ยนแปลงเหมือนที่นักข่าวพลเมืองถาม ไปสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลมาสื่อสาร

2.การสื่อสารทำให้เกิดสถานการณ์แบบป่าล้อมเมือง เทคโนโลยีหนุนเสริมพลังการสื่อสาร เราคงต้องมาคุยกันว่าป่าจะล้อมเมือง จะเขย่าเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร

 

ปฏิบัติการเชื่อมต่อการสื่อสารหลายแพลตฟอร์ม

ผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า นักข่าวพลเมืองเป็นตัวเขย่าคนให้รู้ว่าสามารถสื่อสารได้ เรามีสิทธิ์ แต่การลงไปในตอนต้นไปในเชิงเทคนิค แต่ขาดเรื่องของไอเดียวิธีคิด เป็นการปรับเปลี่ยนโดยไม่ให้ความรู้ ทำให้วิธีคิดในการสื่อสารไม่ได้แน่น ตรงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักข่าวพลเมืองทำครั้งแรกแล้วก็หายไป เพราะทำเรื่องเทคนิค แต่อาจไม่ได้คิดเรื่องการมีส่วนร่วม แนวคิดการบริการจัดการไม่ได้ไปด้วยกัน

ภัทรา ตั้งคำถามด้วยว่า สถาบันใหญ่อย่างไทยพีบีเอส ทำอะไรมากกว่า On Air – Online – On Ground ไหม การที่นักข่าวพลเมืองเริ่มต้นงานชิ้นแรกจากการที่มีพลเมืองส่งคลิปมาให้เผยแพร่ ทำไมเขาถึงส่งให้ หาคำตอบได้ไหม

ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยน การสื่อสารมีหลายทางเลือก งานที่พลเมืองส่งให้เรามีไหม ไม่ส่งมีไหม แล้วจะผนึกมันอย่างไร เมื่อมันคือเรื่องเล่าของคนที่ถูกกดทับ แล้วจะทำอย่างไร รอ หรือจะไปเอาประเด็นมาเสนอในพื้นที่ On Air – Online – On Ground ของนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส ยุคสมัยของการเป็น Gatekeepers (ทฤษฎีผู้ปิดและเปิดประตูข่าวสาร) หมดไปแล้ว จะทำอย่างไรให้ออนไลน์มีเสียงคนมากขึ้น แตกประเด็นมากขึ้น

 

ข้อจำกัดที่ยังมีอยู่ของสื่อพลเมืองในสื่อสาธารณะ

 รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าประสบการณ์ว่า ได้เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับนักข่าวพลเมืองตั้งแต่ 51 จากกรณีปัญหาเรื่องที่ดินคลองโยง จ.นครปฐม ที่เคลื่อนเรื่องโฉนดชุมชน

จากประสบการณ์ คนที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว คนชายขอบนั้นเข้าไม่ถึงอำนาจในการจัดการเชิงนโยบาย พลังอยู่นอกวงขอบการเมือง การเดินขบวนก็เพื่อสื่อสารให้สังคมเห็นถึงความทุกข์ยาก แต่การชุมนุมไม่ได้กดดันในตัวของมันเอง ที่สำคัญคือการสื่อสาร กรณีสมัชชาคนจน 99 วัน ก็มีสื่อกระแสหลักมาช่วยสื่อสารจนเป็นที่รับรู้ของสังคม

บทบาทของสื่อพลเมือง ขยายพื้นที่ให้มวลชนได้เข้ามาใช้ในการต่อรอง ในการสื่อสารเพื่อให้ผู้คนเห็นปัญหาและมาร่วมถกเถียง พัฒนาไปสู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ตังแต่เรื่องปากมูล มาสู่เรื่องที่ดินซึ่งมีการเคลื่อนเรื่องกฎหมาย 4 ฉบับ ก็มีขยับจากการสื่อสารในนักข่าวพลเมือง ไปสู่เวทีสาธารณะ ไทยพีบีเอส

ประภาส กล่าวด้วยว่า คนที่มาใช้พื้นที่นักข่าวพลเมือง ประกอบด้วย 1.นักเคลื่อนไหว คนที่มาเดินขบวน ใช่เสร็จก็อาจหายไป 2.คนที่ไร้ตัวตน ไร้อัตลักษณ์ คนไร้รัฐ 3.ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ แต่ก็อาจไม่ครอบคลุมคนทั้งหมด อย่างกรณี คนที่โดน 112 ยังมีคำถามว่า ทำไมไม่มีนักข่าวพลเมืองไปพูดถึงชีวิตเขา นักข่าวพลเมืองยังมีข้อจำกัดในการสื่อสาร

สำหรับนักเคลื่อนไหวกับการทำข่าวพลเมือง ปัญหาในเชิงเทคนิคสำคัญ ปัญหาในเชิงวิธีคิดไม่เท่าไหร่ ส่วนแนวคิดเรื่องสื่อพลเมือง การทำให้ลงหลักปักฐานในสถาบันการศึกษาเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทำให้ข้อจำกัดเรื่องการทำเป็นคนๆ ลดลง มีการทำงานเป็นเครือข่าย ในยุคสมัยที่พื้นที่การสื่อสารมีมากขึ้น มีหลายช่องทางขึ้น มือถือก็ถ่ายได้ทำให้ข้อจำกัดลดลง

“ภาวะที่สื่อปกติไม่กล้าทำ บริบทการสื่อสารที่ถูกปิด บทบาทตรงนี้สำคัญ ต้องพยายามรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้สำหรับคนจำนวนมากที่ไม่มีพื้นที่สื่อสาร เพราะการเคลื่อนไหวเดินเท้าลำบาก ถูกปิดกันโดย พ.ร.บ.ชุมนุม”

 

จำแนกประเภทความเป็นนักข่าวพลเมือง

  ผศ.มัทนา เจริญวงศ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงงานศึกษา “การเกิดขึ้นและพัฒนาการของนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส” ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอสจำนวน 100 คน จากทั่วประเทศเพื่อให้อธิบายตัวตนของตัวเอง ในช่วงเริ่มต้นของการมีนักข่าวพลเมือง และมีการวิจัยเชิงปฏิบัติการลงไปพูดคุยในพื้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

มัทนา กล่าวว่า การลงไปพูดคุยทำให้พบว่า กับชาวบ้านไม่ได้มองเพียงการสื่อสารหน้าจอ แต่การทำข่าวพลเมืองทำให้เขาได้พูดคุย ได้เข้าใจ เกิดความรู้ และจากความรู้ที่อยู่แต่ในชุมชนได้แพร่ออกมา ส่งผลให้เกิดความตระหนักถึงพลังของการเป็นผู้สื่อสาร อีกทั้งยังมีกระบวนการที่ไปไกลกว่างานหน้าจอ โดยมีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ในชุมชน และมีการทำศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์การต่อสู้ให้เยาวชนได้เรียนรู้

“การรายงานข่าวร่วมกัน พลเมืองอาจไม่ได้เริ่มเอง แต่การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม มีความคิดของเขาอยู่ในเนื้องาน และช่วยหนุนในเรื่องเทคนิค”

มัทนา กล่าวด้วยว่า งานข่าวพลเมืองได้เปลี่ยนวิธีคิด ตัวอย่างกรณีไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง ซึ่งทำข่าวพลเมืองอย่างต่อเนื่อง จนรู้ว่าข่าวรูปแบบไหนที่ไทยพีบีเอสต้องการ และผลิตข่าวในรูปแบบนั้น เป็นการเอาไปใช้ในยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวงานสื่อสาร ตรงนี้สัมพันธ์กับประชาธิปไตยในการสื่อสาร การสื่อสารอย่างมีส่วนร่วม

มัทนา กล่าวว่า นักข่าวพลเมือง คือคนที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคนิคการสื่อสาร อยากสื่อสารประเด็นสู่สาธารณะ คือคนใน ที่ไม่ได้มีทุนในการสื่อสาร คือนักเคลื่อนไหว ต่อมาจึงมีพัฒนาการการมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการผลิตงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นลักษณะผู้ผลิตอิสระ

00000

ทั้งนี้ การพูดคุยในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนถึงการมีอยู่และการทำงานของ “นักข่าวพลเมือง” บนพื้นที่สื่อสาธารณะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และต่อจากนี้สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ มีแผนจะลงพื้นที่พูดคุยและถอดบทเรียนกับนักข่าวพลเมืองและคนทำงานร่วมสร้างนักข่าวพลเมืองในระดับภูมิภาคต่อไป

เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.citizenthaipbs.net/node/20166