Skip to main content

ปกรณ์ พึ่งเนตร, ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

หลังจาก "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ของกองทัพภาคที่ 4 ถูกปรับเปลี่ยนแปรสภาพไปเป็น "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" หรือ ศสฉ. เนื่องจากเหตุ "ซ้อมผู้ต้องหา" ที่เป็นข่าวใหญ่โตไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

ล่าสุดวานนี้ (26 ก.ค.50)  พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ได้พาคณะผู้สื่อข่าวเข้าไปพิสูจน์ความจริงถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

พ.อ.อัคร กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการปรับรูปเป็นศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ในวันนี้ เดิมคือ ศูนย์วิวัฒน์สันติ' ถูกใช้เป็นสถานที่ซักถามเพื่อรองรับปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัยแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ ทำหน้าที่เสมือนเป็น "แหล่งพัก" เมื่อผู้ต้องสงสัยผ่านกระบวนการ "ซักถาม" หากคนไหนยอมรับสารภาพว่า เคยกระทำความผิดจริง และเป็นอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้ ก็จะถูกส่งไปให้ตำรวจดำเนินคดี หรือกันไว้เป็นพยาน

ส่วนคนไหนเป็นเพียง "ผู้สนับสนุน" หรือ "กลุ่มเสี่ยง" ก็จะถูกส่งไปเข้าโรงเรียนการเมือง อาทิ  "ศูนย์สันติสุข" ที่ค่ายรัตนพล อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เพื่อปรับทัศนคติ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และฝึกอาชีพตามความต้องการของเจ้าตัว ก่อนจะส่งกลับไปยังภูมิลำเนาเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป

พ.อ.อัคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศูนย์วิวัฒน์สันติปฏิบัติหน้าที่ตามยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารอย่างเรียบร้อย กระทั่งเมื่อราว 1 เดือนที่ผ่านมา เกิดกรณีทำร้ายผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวตามแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้ จนมีเรื่องร้องเรียนไปยังองค์กรสิทธิมนุษยชน     

"จริงๆ แล้วกรณีนี้จบไปตั้งแต่เกิดเรื่อง คือแม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อพบว่ามีการกระทำตามที่ร้องเรียนจริง แม้เบื้องหลังของเหตุการณ์จะเป็นปัญหาส่วนตัวที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ถูกยั่วยุและท้าทายก่อน แต่แม่ทัพก็ถือว่าขัดนโยบายของรัฐบาล จึงสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ยกชุด และปรับโครงสร้างภายในศูนย์ใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเปลี่ยนชื่อศูนย์ฯ เป็นศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการก่อนที่จะปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์เสียอีก"  โฆษกกองทัพบก ระบุ

   

สำหรับสภาพสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตาม พรก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก ทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้พื้นที่ของ "เรือนจำทหาร" ซึ่งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธ เป็นสถานที่แรกรับเพื่อ"คัดกรอง" ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้ ก่อนจะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูแลต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางผู้สื่อข่าวไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปภายในบริเวณชั้นในได้ แต่จากการสังเกตจากด้านนอก พบว่า สถานที่ที่ใช้ควบคุมตัวมีลักษณะเป็นสนามหญ้าโล่ง ด้านหลังติดเขา มีรั้วคอนกรีตและเสริมลวดหนามโดยรอบ ส่วนที่พักเป็นอาคารคอนกรีตสีขาวขนาดใหญ่ 2 ชั้น จากการสอบถามแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเคยต้องโทษขังในสถานที่ดังกล่าว ระบุว่า ภายในตัวอาคารเป็นพื้นที่โล่ง ไม่ได้แบ่งแยกเป็นห้องๆ แต่สามารถพักอาศัย หลับนอนได้หลายคน อีกทั้งยังติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ด้วย ส่วนบริเวณด้านล่างจะถูกจัดให้สถานที่รับประทานอาหาร

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนเดิมรับว่า สภาพภายในศูนย์ฯ ขณะนี้ น่าจะค่อนข้างแออัด เนื่องจากต้องรับควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยอยู่กว่า 140 คน จากยอดผู้ถูกควบคุมตัวอย่างเป็นทางการทั้งหมดร่วม 400 กว่าคน ซึ่งเป็นไปในลักษณะสับเปลี่ยนเข้ามาเป็นระยะๆ

นอกจากนี้ ในรายผู้ต้องสงสัยที่ผ่านกระบวนการซักถามแล้วเชื่อได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบ แต่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ทางเจ้าหน้าที่จะนำตัวมาพักบริเวณด้านนอก เพื่อรอการ "ส่งต่อ" ตามคำสั่งของ พตท. ต่อไป โดยสถานที่พักเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเดิมเป็นที่พักชั่วคราวของเจ้าหน้าที่ โดยทางการจัดให้อยู่ห้องละ 3-4 คน ทุกห้องจะติดเครื่องปรับอากาศ แต่มีเพียงบางห้องเท่านั้นที่จะมีห้องน้ำส่วนตัว อย่างไรก็ดีทางเจ้าหน้าที่ก็ได้จัดห้องน้ำไว้บริเวณใกล้ๆ ที่พักจำนวนหนึ่งด้วย

จากการพูดคุยกับผู้ถูกควบคุมตัวบางคน บอกว่า เนื่องจากภายในห้องปิดทึบ อากาศจึงไม่ค่อยถ่ายเท และอับชื้น ทำให้บางคนมีอาการผื่นแดงและคันตามร่างกาย แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ดูแลเรื่องยารักษาให้เป็นอย่างดี

ผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่ (เฉพาะที่พักตู้คอนเทนเนอร์ด้านนอก) บอกว่า ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเรื่องการกินการอยู่ แต่สิ่งที่ต้องการทราบที่สุดก็คือว่า เมื่อไรจะได้กลับบ้าน เนื่องจากบางคนเข้ามาอยู่ในศูนย์แห่งนี้เป็นเวลานานร่วมเดือนแล้ว  และแม้ว่าทางศูนย์จะอนุญาติให้บรรดาญาติๆ เดินทางมาเยี่ยมได้ทุกวัน แต่จะมีเวลาเพียงวันละครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายในศูนย์ ศสฉ. นี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดให้ผู้ถูกควบคุมอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางศูนย์ ศสฉ.ก็มิได้จัดให้ทำงานหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดใด แต่ละคนสามารถนอนพักผ่อนหรือจับกลุ่มคุยกันได้อย่างอิสระ รอเพียงให้เจ้าหน้าที่เรียกมา "ซักถาม" เป็นรายบุคคล หรือรอให้ญาติมาเยี่ยมเท่านั้น  

 

กรณีดังกล่าว ทาง พ.ท.ภูมิเดชา พ่วงเจริญ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการและดำเนินกรรมวิธี ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ยอมรับว่า เป็นเพราะขนาดของศูนย์ฯ ยังไม่เพียงพอกับขนาดของปัญหา และศักยภาพการบริหารจัดการภายในก็ยังไม่เอื้อพอที่จะทำให้ภารกิจบรรลุประสิทธิผล 

"ด้วยความคับแคบของสถานที่ ทำให้เราต้องให้ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมมาจากสถานที่ต่างๆ ต้องพักอยู่รวมกัน ทั้งๆ ที่แต่ละคนมีระดับของความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบแตกต่างกัน ฉะนั้นถ้าจะให้ดีจะต้องปลูกสร้างเรือนพักแยกกลุ่ม และควรใช้สถานที่นอกพื้นที่สามจังหวัด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องสงสัยถูกข่มขู่คุกคามจากผู้ไม่หวังดีที่แฝงตัวเข้ามาด้วยวิธีการต่างๆ" พ.ท.ภูมิเดชาเสนอ

เปิดใจผู้ต้องสงสัย "เมื่อออกจากศูนย์แห่งนี้ไป จะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร"

หันมาฟังความรู้สึกจากทางฝั่งผู้ต้องสงสัยที่ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ภายใน "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ หรือ ศสฉ." แม้จะได้รับคำยืนยันตรงกันว่า ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ไม่มีกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกแล้ว แต่ปัญหาของพวกเขากลับไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น

ผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งซึ่งผมบนศีรษะและเคราขาวโพลน บ่งบอกอายุอานามไม่ต่ำกว่าค่อนชีวิต เปิดใจเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นกรรมการมัสยิดแห่งหนึ่งใน อ.ยะหา จ.ยะลา ถูกจับกุมในข้อหาให้ที่พักพิงและสนับสนุนด้านการเงินให้แก่กลุ่มก่อความไม่สงบ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เต็มใจที่จะเข้าร่วมในขบวนการแต่อย่างใด    

"ผมจำเป็นต้องอยู่ เพราะพวกเขาโทร.มาขู่ให้ผมดูแลพวกเขา ผมแก่แล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งๆ ที่ในใจไม่เคยอยากได้ยินเสียงระเบิด ไม่อยากเห็นคนตาย อยากเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานอย่างสงบที่บ้านมากกว่า ผมไม่เคยไปร่วมก่อเหตุรุนแรงอะไรเลย แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นที่มัสยิด และพบข้อมูลว่าผมเป็นคนเก็บเงินให้กับสมาชิก ก็จับตัวผมมา โดยบอกว่าผมให้ที่พักพิงกับคนร้าย ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีใครเข้ามาหลบซ่อนอยู่ในมัสยิดบ้าง เพราะมัสยิดก็เปิดรับทุกคน ผมก็กลับบ้านทุกวัน ไม่ได้รู้เห็นอะไร"  ชายชราเล่าด้วยภาษาไทยกระท่อนกระแท่น

เขาบอกด้วยว่า ตนเข้ามาอยู่ในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ไม่เคยถูกซ้อมหรือทำร้าย แต่ก็ไม่รู้จะให้ข้อมูลอะไรกับเจ้าหน้าที่ เพราะจริงๆ แล้วเขาก็ไม่รู้ข้อมูลอะไรมากนัก แต่สิ่งที่กำลังคิดหนักอยู่ในขณะนี้ก็คือ เมื่อออกจากศูนย์แห่งนี้ไป เขาจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร เพราะเคยได้ยินข่าวว่า คนที่เคยผ่านศูนย์ซักถามและกลับไปอยู่บ้าน มักจะถูกยิงตาย

 "ผมคิดอยู่ทุกวัน คิดจนปวดหัวก็ยังคิดไม่ออกว่าจะอยู่อย่างไร"  ชายชราเอ่ยขึ้นมาในตอนท้าย