ถือศีลอดไม่สร้างปัญหาต่อวงจรการนอน
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
ถือศีลอดแบบอิสลาม (Islamic Fasting เรียกย่อว่า IF) ในทางการแพทย์จัดเป็นการอดอาหารแบบไม่ต่อเนื่อง (Intermittent Fasting เรียกย่อว่า IF) อีกแบบหนึ่งเนื่องจากอดแล้วหยุดแล้วจึงเริ่มอดใหม่ นักวิชาการด้านโภชนาการจัดกลุ่มการอดอาหารลักษณะนี้ว่าเป็นกระบวนการปรับรูปแบบการกินมากกว่าการอด ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์พบในระยะหลังว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินให้ออกจากความเคยชินที่มีอยู่เดิมเช่นนี้ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมากโดยช่วยพัฒนาการทำงานของสมองและเพิ่มอายุขัยให้กับชีวิต
อย่างไรก็ตาม IF แบบอิสลามมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจาก IF แบบตะวันตกที่แนะนำกันทั่วไป ความพิเศษที่ว่านั้นคือไม่เพียงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินแต่ยังปรับเปลี่ยนรูปแบบการนอนพร้อมกันไปด้วย นักวิทยาศาสตร์สุขภาพแนวตะวันตกบางกลุ่มให้ความเห็นว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควรทำที่รูปแบบการกินเพียงอย่างเดียวโดยไม่ควรไปยุ่งกับการนอน ด้วยเหตุนี้ IF แบบตะวันตกจึงแนะนำวิธีการอดอาหารที่เรียกว่า “วิธีอดอาหาร 16/8” (16/8 Method) โดยกินอาหารได้ตั้งแต่ 13.00 น.ถึง 21.00 น.และอดอาหารอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ 21.00 น.ถึง 13.00 น.ของอีกวันหนึ่ง เห็นได้ว่านับเอาเวลานอนปกติรวมเข้ากับการอดอาหาร จะบอกว่าหยุดอาหารเช้ามื้อเดียวก็ไม่น่าจะผิด คำถามคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนอนพร้อมกับรูปแบบการกินตามวิธี IF แบบอิสลาม มีปัญหาอย่างที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์แนวตะวันตกเข้าใจจริงๆหรือ
นายแพทย์ฆอสรอวี (Qasrawi SO) แห่งมหาวิทยาลัยคิงซาอุด ประเทศซาอุดีอารเบียและคณะทำรายงานวิจัยเสนอในวารสาร Sleep Breath เดือนกุมภาพันธุ์ 2017 ไว้น่าสนใจโดยศึกษารายงานการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนโดยสถาบันทางวิชาการทั่วโลกเพื่อดูว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนอนจากที่คุ้นเคยกลายมาเป็นต้องตื่นกลางดึกเพื่อกินอาหารก่อนแสงเงินแสงทองจับท้องฟ้า ทำให้รูปแบบการนอนเปลี่ยนแปลงไป ลักษณะนี้กระทบต่อการทำงานของสมองส่วนการรับรู้หรือสำนึกรู้ (Cognitive Function) หรือกระทบต่อรูปแบบการนอนและการตื่น (Sleepness-Wakefulness Pattern) อย่างที่นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อกันหรือเปล่า
จากผลการศึกษาที่ได้จากงานวิจัยที่มีอยู่ทั่วโลก พบว่าการถือศีลอดแบบอิสลามไม่สร้างผลกระทบทางด้านลบต่อรูปแบบการนอน ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและสมอง ที่บ่นกันว่ามึนงง คิดอะไรไม่ออก ง่วงหรือแอบงีบหลับกลางวัน ทำงานได้น้อยลงนั้นอาจเกิดขึ้นกับบางคนโดยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ขณะที่คนส่วนใหญ่ที่ถือศีลอดไม่รู้สึกว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนในเดือนรอมฎอนสร้างผลกระทบอะไร เชื่อว่าในระยะยาวอาจพบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนในเดือนรอมฎอนสร้างประโยชน์ต่อสุขภาพเสียด้วยซ้ำ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
อดอาหารแบบอิสลาม (Islamic Fasting) ช่วยพัฒนาเซลล์สมองและยืดอายุ โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน